|
โอโตยะเสริมทัพซีอาร์จี เพิ่มแชร์อาหารญี่ปุ่นไล่บี้ผู้นำ
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(10 สิงหาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
จากกระแสฮิตของคนรุ่นใหม่ในการบริโภคอาหารญี่ปุ่น กอปรกับการเป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่กำลังอินเทรนด์ขณะนี้ ส่งผลให้ร้านอาหารญี่ปุ่นกลายเป็นตลาดที่มีแต่โอกาสและแข่งขันรุนแรง เห็นชัดจากบรรดาผู้เล่นหน้าใหม่ที่ทยอยเข้าสู่ตลาดต่อเนื่อง ขณะที่รายเก่าก็มีการขยับปรับตัวเองทั้งเมนู บริการ และตอกย้ำจุดขายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงการขยายแบรนด์และสาขาใหม่อย่างต่อเนื่อง ไม่เว้นแม้แต่ “เซ็นทรัล เรสตอรองส์” ล่าสุด ซื้อกิจการ โอโตยะ เพื่อช่วยเสริมแกร่งธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นของซีอาร์จี โดยจะส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 15% ภายใน 5 ปี
ซีอาร์จีไม่ใช่มือใหม่ในธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นผู้เล่นรายหลักที่อยู่ในตลาดมานานอย่างฟูจิ เซน และโออิชิ ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดเกือบเบ็ดเสร็จ โดยปัจจุบันซีอาร์จีมีแบรนด์ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นด้วยกัน 2 แบรนด์หลัก ได้แก่ เปปเปอร์ลันช์ และชาบูตง ราเมง ซึ่งเมื่อรวมกับการเข้าซื้อกิจการโอโตยะ จะทำให้ซีอาร์จีมีส่วนแบ่งทางการตลาดอาหารญี่ปุ่นประมาณ 10% ในปีนี้
แต่ภายใน 5 ปีนับจากนี้ ธีระเดช จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือซีอาร์จี เชื่อว่า ซีอาร์จีจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจอาหารญี่ปุ่นมากขึ้นกว่า 15% ของตลาดรวมธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยที่มีมูลค่ารวมกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท และมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี
นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ซีอาร์จี สนใจธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และล่าสุดตัดสินใจทุ่มเม็ดเงิน 720 ล้านบาทในการซื้อกิจการร้านอาหารญี่ปุ่นภายใต้แบรนด์ “โอโตยะ” ซึ่งอยู่ในเครือของบริษัท โอโตยะ โฮลดิ้งส์ จำกัด จากประเทศญี่ปุ่น โดยซีอาร์จีจะได้รับสิทธิในการบริหารแบรนด์โอโตยะในประเทศไทยและสามารถขยายกิจการในเอเชีย ในประเทศที่ยังไม่มีธุรกิจโอโตยะเปิดให้บริการ
อีกจุดหนึ่งที่ทำให้ ธีระเดช มีความมั่นใจอย่างมากว่าซีอาร์จีจะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจอาหารญี่ปุ่นได้มากกว่า 15% ใน 5 ปีจากนี้ ก็เพราะว่า นอกเหนือจากการซื้อกิจการโอโตยะแล้ว ซีอาร์จียังมีแผนที่จะซื้อกิจการร้านอาหารญี่ปุ่นอีก 1-2 แบรนด์ในปีหน้า เพื่อเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งในธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นมากขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูล
สำหรับกลยุทธ์การรุกตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นภายหลังการซื้อกิจการโอโตยะ ซีอาร์จีจะเดินหน้าขยายสาขาเพิ่ม 3 แห่งภายในสิ้นปีนี้ ได้แก่ เซ็นทรัล ลาดพร้าว, พระราม 9 และโครงการเทอร์มินอล 21 โดยลงทุนเฉลี่ย 15 ล้านบาทต่อแห่ง ซึ่งจะส่งผลให้โอโตยะมีสาขารวมเป็น 36 สาขา จากปัจจุบันมีสาขารวม 33 แห่งในไทย และอยู่ระหว่างวางแผนขยายสาขาในปีหน้า เบื้องต้นวางเป้าหมายเปิดบริการไม่ต่ำกว่า 2-3 แห่งต่อปี
ส่วนตลาดต่างประเทศนั้น ยังอยู่ระหว่างศึกษาตลาด โดยประเทศที่น่าสนใจที่จะเข้าเปิดตลาดในเบื้องต้น ได้แก่ จีน มาเลเซีย และเวียดนาม
การซื้อกิจการร้านอาหารญี่ปุ่นโอโตยะในครั้งนี้ นอกจากจะทำให้ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นของซีอาร์จีแข็งแรงขึ้นแล้ว ยังเป็นการเสริมความแข็งแรงในการขยายตลาดให้กับพอร์ตธุรกิจอาหารของซีอาร์จี ซึ่งปัจจุบันซีอาร์จีมีเครือข่ายร้านอาหารทั้งหมด 11 แบรนด์ รวม 600 แห่ง ประกอบด้วยแบรนด์ มิสเตอร์โดนัท, เคเอฟซี, อานตี้แอนส์, เปปเปอร์ลันช์, เบรด ปาป้า, ชาบูตง, โคล สโตน, ริว ชาบูชาบู, เดอะ เทอเรซ, อันโดนัน คาเฟ่ พรีเมียม คอฟฟี่ แอนด์ โดนัท และโอโตยะ เป็นแบรนด์ล่าสุด
ทั้งนี้ ซีอาร์จีคาดว่า สิ้นปีนี้จะมีรายได้รวมของร้านโอโตยะไม่ต่ำกว่า 600 ล้านบาท เติบโต 20% ซึ่งจะทำให้ซีอาร์จีมียอดขายรวมเป็น 7,000 ล้านบาทในปีนี้ พร้อมตั้งเป้าหมายอีก 5 ปีข้างหน้าโอโตยะจะมีรายได้รวมถึง 2,000 ล้านบาท และจะสร้างรายได้รวมของซีอาร์จีเติบโตถึงระดับ 15,000 ล้านบาท
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|