เปิดสาแหรก “สิงห์” รุ่นที่ 4 ขอโตกับ “นอนแอลกอฮอล์”


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(10 สิงหาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ถ้า สันติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ แห่ง สิงห์ คอร์เปอเรชั่น บุตรชาย “ประจวบ ภิรมย์ภักดี” บุตรคนที่ 2 ของ “พระยาภิรมย์ภักดี” ผู้ก่อตั้ง บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ “สิงห์” ในวันนี้กำลังจะก้าวสู่ยุคที่ 4 ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของธุรกิจตระกูล “ภิรมย์ภักดี” ซึ่งปรากฏภาพการ Diversify ไปสู่ธุรกิจอื่นๆ

โดยผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดในกลุ่มทายาทรุ่นเหลนของ “พระยาภิรมย์ภักดี” และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวงสังคม และธุรกิจ ก็คงเป็นสองหนุ่มพี่น้อง “สันต์” และ “ปิติ” บุตรชายของ “สันติ” ที่เข้ามารับช่วงต่องานสำคัญในยุคที่วิกฤตเศรษฐกิจกำลังคลี่คลายประมาณปี 2545 เป็นช่วงที่องค์กรของสิงห์กำลังเข้าสู่ช่วงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ

โดยเฉพาะ “สันต์” ทายาทคนโตของตระกูล “ภิรมย์ภักดี” ดูเหมือนจะถูกวางไว้ตั้งแต่ครั้งแรก กับธุรกิจที่เป็นนอนแอลกอฮอล์ นับตั้งแต่ถูกโปรโมตในฐานะผู้จัดการฝ่ายการตลาดของ Non-Alcohol และผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ Business Innovation Center ที่เขาเป็นตัวตั้งตัวตีในการก่อตั้ง BIC ขึ้นมา หน่วยงานใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในบุญรอดฯ มีหน้าที่หลักกับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด

และนั่นคือ จุดเริ่มของการบุกตลาดธุรกิจนอนแอลกอฮอล์ของบุญรอดฯ

“ผมเสนอตั้งสำนักงานนวัตกรรมทางธุรกิจ เพราะเดิมบริษัทมีแต่อาร์แอนด์ดี การออกสินค้าใหม่ค่อนข้างลำบาก ก็มองว่าควรพัฒนาตรงนี้ขึ้นมา เพราะการอยู่ในตลาดเราจะทำน้ำโซดาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องหาธุรกิจใหม่ๆ มาทำด้วย ซึ่งตอนนี้ก็แตกไลน์สินค้าออกไปมาก”

ในวันนี้ สันต์ กลายเป็นแม่ทัพใหญ่ และเป็นศูนย์กลางของการ Diversify โดยรับผิดชอบ 4 ตำแหน่งใหญ่ในบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด คือ ผู้อำนวยการกลุ่มการตลาด นอนแอลกอฮอล์, ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมทางธุรกิจ, กรรมการบริหาร และที่ปรึกษาของบุญรอดเทรดดิ้ง

นอนแอลกอฮอล์
ภารกิจของรุ่นที่ 4


ปัจจุบันธุรกิจนอนแอลกอฮอล์ของสิงห์ จะแบ่งโครงสร้างหลักๆ เป็น 1.ธุรกิจนอนแอลกอฮอล์ อาทิ โซดา, น้ำดื่ม, เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ, ขนมขบเคี้ยว, ข้าว 2.ธุรกิจพิเศษ อาทิ เสื้อผ้า, ร้านอาหาร, ค่ายเพลง และล่าสุดก็ยังมีธุรกิจที่แตกออกไปอย่าง ธุรกิจเกษตร-พลังงาน และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ที่สำคัญ ธุรกิจใหม่เหล่านี้ ภิรมย์ภักดี รุ่นที่ 4 ได้ถูกมอบหมายให้ดูแลและรับผิดชอบเกือบทั้งสิ้น

วุฒินันต์ ภิรมย์ภักดี ผู้จัดการกลุ่มกิจกรรมและฝ่ายกิจกรรมดนตรีทางการตลาด บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ซึ่งปัจจุบันยังรั้งตำแหน่งและกรรมการอำนวยการ บริษัท สหภาพดนตรี จำกัด ธุรกิจใหม่เอี่ยมถอดด้ามของ “สิงห์” ซึ่งเป็นกลไกสำคัญทั้งในการขยายความรับรู้ของผู้บริโภคที่มีทั้งธุรกิจแอลกอฮอล์ และนอนแอลกอฮอล์

เหตุหนึ่ง วุฒินันต์ เข้ามาดูแลธุรกิจนี้โดยตรง ก็อาจเป็นเพราะต้องการสานฝันส่วนตัว หลังจากที่เคยชนะการประกวดร้องคาราโอเกะที่ The Voice ตามมาด้วยการออกผลงานเพลงอัลบัมชุดแรก บ่ายวันอาทิตย์ ภายใต้สังกัด สโตน เอนเตอร์เทนเมนท์ อัลบัมชุดที่ 2 วัน ฟายน์ เดย์ สังกัด วอร์เนอร์ มิวสิค อัลบัมชุดที่ 3 INSPIRE อัลบัม Talkin about love สังกัด โซนี่ มิวสิค และอัลบัม วุฒินันต์ เวนเจส สังกัด อากู เรคคอร์ดส ในเครือแกรมมี่ การดูแลงานทั้งสองอย่างข้างต้นจึงกล่าวได้ว่าเป็นการ Put the right man on the right job อย่างยิ่ง

ปรีดิ์รติ ภิรมย์ภักดี น้องสาวของสันต์ ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ สิงห์ไลฟ์ ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของGen 4 ซึ่งภารกิจล่าสุดกำลังศึกษาพัฒนาผลิตภัณฑ์คอนซูเมอร์โปรดักส์ เช่น แชมพู สบู่ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และเครื่องสำอาง ฯลฯ เข้ามาจำหน่ายในชอป “สิงห์ไลฟ์”

ปัจจุบัน สิงห์ไลฟ์ มีสินค้า 3 กลุ่ม คือ สิงห์ เวิร์ก, สิงห์ เพลย์ และสิงห์ เลดี้ รวมทั้งมีแผนจะเพิ่มไลน์สินค้าเป็น สิงห์ สปอร์ต และต่อยอดจากโครงการ สิงห์ไลฟ์ อวอร์ด ทำเป็นคอลเลกชั่นพิเศษขึ้นมาด้วย

ทั้งนี้ สิงห์ไลฟ์ ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2551 เปิดให้บริการ 2 สาขา ที่ สยามสแควร์ และเซ็นทรัลเวิลด์ มีรายได้ประมาณปีละ 20 ล้านบาท ปี 2554 คาดว่าจะมีรายได้ 25 ล้านบาท เติบโต 15%

ส่วนโครงการล่าสุด ซึ่งมีข่าวออกมาเมื่อไม่นานนี้ คือการที่บริษัท “มหาสาน เอ็นเตอร์ไพรส์” ผู้ผลิต “ข้าวพันดี” บริษัทร่วมทุนระหว่างสิงห์ คอร์ป กับเอจีอาร์ กรุ๊ป โฮลดิ้ง ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ ลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ขนาด 90 เมกะวัตต์ วงเงินลงทุน 4,000 ล้านบาท ที่จังหวัดอ่างทอง นอกจากนั้น ยังมีแผนจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 8-10 เมกะวัตต์ ที่กาญจนบุรี และชัยนาท

แหล่งข่าวจาก “สิงห์” เปิดเผยว่า ชญานิน เทพาคำ กรรมการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นหลานของ “วิทย์ ภิรมย์ภักดี” ที่ดูแลเรื่องข้าว จะเข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบโครงการดังกล่าวจากสันต์อีกทีหนึ่ง

ทั้งนี้ การขยายเข้าสู่ธุรกิจพลังงาน ถือเป็นการนำจุดแข็งของทั้งสองบริษัทมาผนวกกัน โดยสิงห์นำของเหลือจากกระบวนการผลิตเบียร์ไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตพลังงานชีวมวล ขณะที่เอเซีย โกลเด้น ไรซ์ ส่งแกลบป้อนให้โรงงานไฟฟ้าพลังงานแกลบที่จะจัดตั้งขึ้น

จับตาสินค้าที่ไม่ใช่เบียร์

สันต์ บอกว่า ธุรกิจที่เกิดจากกลุ่มการตลาด นอนแอลกอฮอล์ และสำนักงานนวัตกรรมทางธุรกิจ ที่เปิดตัวไปแล้วก็มี เอส.33 (EST.33) ที่คริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ต้องการให้เป็น Learning Center ของกลุ่ม อาทิ น้ำแร่แบรนด์เพอร์ร่า สาหร่ายแบรนด์มาชิตะ ข้าวสารแบรนด์ข้าวพันดี

ส่วนที่กำลังจะเปิดตัว คือ ฟาร์มดีไซน์เป็นร้านขนมหวาน และโคโนย่าเป็นร้านแกงระดับพรีเมียมของญี่ปุ่น ยิ่งกว่านั้น ปลายปีนี้ก็จะมีสินค้าแบรนด์ใหม่ๆ ออกมาอีก 1 ตัว แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นสินค้าประเภทใด ส่วนบีอิ้งก็จะมีการแตกไลน์อีกเช่นกัน

สันต์กล่าวถึงที่มาและวิธีคิดการเกิดขึ้นของสินค้าแต่ละตัว

“การทำน้ำแร่ เราต้องการเป็นผู้นำตลาด จึงต้องมีน้ำทุกกลุ่ม แค่ปีแรก มาร์เกตแชร์น้ำแร่ของเราอยู่ที่ 12% สาหร่ายก็เหมือนกันขายดีมาก เราวางยอดขายไว้ที่ 12% แต่เท่าที่ดูทำท่าจะไม่พอ เราต้องเพิ่มกำลังการผลิตเป็นเท่าตัว ทั้งที่ยังไม่มีโฆษณาด้วยซ้ำ คงเป็นเพราะเราใช้คยูฮยอนซึ่งเป็นหนึ่งในซูเปอร์จูเนียร์เป็นพรีเซนเตอร์ เขามีแฟนคลับในเมืองไทยมาก

ส่วนข้าวตอนนี้อยู่ในช่วงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ พูดได้ว่ายังไม่นิ่ง สินค้าของเราต้องการรองรับลูกค้าทุกช่องทาง ซึ่งข้าวเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนมาก เช่น ถ้าเราเอาข้าวหอมมะลิไปขายแต่เขาใช้ข้าวผสมก็ใช้ไม่ได้ หรือร้านข้าวแกงเราเอาข้าวหอมมะลิไปขายก็ไม่ได้ เพราะเขาใช้ข้าวขาว จึงต้องปรับสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการ”

ส่วนการวัดผลความสำเร็จของสินค้าที่ออกโดยสำนักงานนวัตกรรมทางธุรกิจนั้น จะมี KPI ชัดเจน โดยสินค้าทุกตัวก่อนที่จะผลิตออกจำหน่ายต้องเสนอบอร์ดให้อนุมัติก่อน

“ปีนี้เราออกสินค้าใหม่ 4-5 ตัวถือว่ามากแล้ว การออกสินค้าไม่ใช่ทุกตัวออกแล้วประสบความสำเร็จ บางตัวออกแล้วไม่ประสบความสำเร็จก็มี เราให้ความสำคัญกับผู้บริโภคเป็นอันดับแรก สินค้าอะไรที่ออกมาแล้วไม่ดี เราไม่ทำต่อ อย่างโมชิทำออกมาแล้วไม่ประสบความสำเร็จก็เลิก หรือเอ็น-จอย (ขนมขบเคี้ยวกลุ่มฟิชสแน็ก) เรายังไม่ได้ทำตลาด แต่รู้ปัญหาของการผลิตว่าปลามีอายุอยู่ได้แค่ 3 เดือน กว่าจะส่งออกมาจำหน่ายก็เหลือเวลา 1 เดือน เราจำหน่ายไม่ทัน อย่างนี้ก็ไม่ทำ”

ความท้าทายของ Gen 4

ปัจจุบันการบริหารงานของสิงห์มีบุคลากรที่เป็นคนรุ่นใหม่เข้ามามาก โดยเฉพาะส่วนนอนแอลกอฮอล์ และสำนักงานนวัตกรรมทางธุรกิจ ความท้าทายจึงไม่ใช่มีแค่เรื่องคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แต่เป็นเรื่องการบริหารบุคคลด้วย

สันต์ กล่าวว่า แนวทางของเขาก็คือ ผสานความคิดของคนรุ่นเก่าและใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงในการบริหารงานลง เพราะคนรุ่นใหม่อาจผลีผลามในการทำงาน ขาดประสบการณ์ ขณะที่คนรุ่นเก่าจะช่วยตรงนี้ได้

“บริษัทเราไม่ทิ้งคนรุ่นเก่า คนเหล่านี้มีประสบการณ์ มีเหตุผลในการตัดสินใจ อาจไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงแต่ก็ยอมรับได้ถ้ามีเหตุผลเพียงพอ เราต้องเอาเหตุผลมาคุยกับเขา ไม่ได้มองตรงนี้เป็นอุปสรรค”
ด้านการคิดค้นสินค้าใหม่ มีความท้าทายตลอดเวลาในตัวอยู่แล้ว โดย สันต์ ก็มีวิธีคิดชัดเจนเช่นกัน

“สินค้าทุกตัวที่ออกมาผมภูมิใจหมด เพราะออกจากหน่วยงานของเรา แต่เราภูมิใจคนเดียวไม่ได้ ต้องให้คอนซูเมอร์ภูมิใจด้วย”

“ผมจะบอกทุกคนว่าไม่ใช่ออกสินค้าที่ตัวเองชอบ แต่ต้องออกสินค้าที่ตลาดชอบ คุณคิดว่าสินค้าตัวนี้ออกมาแล้วจะเป็นแมสโปรดักส์หรือนิชโปรดักส์ คุณวางโพซิชั่นของตัวเองได้อย่างไร ไม่ใช่บอกว่าสินค้าตัวนี้ผมชอบมากเลย แต่ตลาดไม่ชอบจะขายได้ยังไง”

“สินค้าตัวไหนขายไม่ดีผมจะเลิกทำ ไม่มองเรื่องความเสียหายของชื่อเสียงบริษัท แต่ผมมองเรื่องเสียเงินมากกว่า เราออกมา 10 ตัว ประสบความสำเร็จตัวสองตัว ผมถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว เพราะเราไม่มีสิทธิรู้ได้เลยว่าสินค้าที่ออกมาจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ถ้าไม่ประสบความสำเร็จก็ต้องตัดออกไป อย่างเบียร์อาซาฮีออกสินค้ามาหลายตัว ก็ประสบความสำเร็จแค่ 2 ตัว”

เตรียมรุกธุรกิจน้ำอัดลม-อสังหาฯ

นอกจากนี้ผู้ผลิตวิเคราะห์ตลาดเครื่องดื่มยังคงแข่งขันสูง จับตาความเคลื่อนไหวครั้งใหม่ค่ายสิงห์ กับตลาดน้ำอัดลม บทสรุปคู่กรณีศึกษาเสริมสุข-เป๊ปซี่-โค ที่โค้กต้องจับตามอง รวมถึงปฏิบัติการสร้างปรากฏการณ์ บิ๊กโคล่า ฝ่าด่านค่ายยักษ์ ในภาวะเครื่องดื่มน้ำอัดลมขาลง

อย่างไรก็ดี มีบทวิเคราะห์รอบใหม่ล่าสุดของคนในวงการเครื่องดื่มน้ำอัดลมในเวลานี้ ที่ดูจะสร้างความตื่นเต้นไม่น้อยทีเดียว คือ ข่าวความสนใจที่จะเข้ามาชิมลางในตลาดน้ำอัดลมของค่ายสิงห์ ซึ่งเป็นข่าวล่าสุดในวงการเครื่องดื่ม

เพราะหากสิงห์จะเข้าสู่ตลาดนี้ก็สามารถทำได้ เพราะเครือข่ายการจัดจำหน่ายของสิงห์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าใคร อีกทั้งยังมีประสบการณ์ในธุรกิจเครื่องดื่มมานาน แม้จะเป็นกลุ่มแอลกอฮอล์ก็ตาม

เนื่องจากระยะหลังนโยบายใหม่ของสิงห์ คือ การเพิ่มพอร์ตของกลุ่มเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น แต่จะฮือฮาขนาดไหนนั้นไม่สามารถบอกได้ เนื่องจากตลาดเครื่องดื่มในเมืองไทยวันนี้แข่งขันสูง ด้วยมูลค่าตลาดมหาศาลกว่า 3 หมื่นล้านบาท

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการเปิดเผยจากผู้บริหารสิงห์คอร์ปด้วยว่า มีความสนใจจะรุกเข้าไปสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งมีรายงานข่าวว่า บริษัทได้มีการประมูลที่ดินของสถานทูตญี่ปุ่นเดิมบริเวณแยกอโศก-เพชรบุรี ได้จำนวน 9 ไร่ และที่ดินขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า) อีก 1 ไร่เศษ บริเวณแยกอโศก-เพชรบุรี เพื่อนำมาพัฒนาโครงการอสังหาฯ แต่จะเป็นรูปแบบใดนั้นยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ แต่คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ พร้อมดำเนินธุรกิจในปีหน้า

อย่างไรก็ตาม จากรายงานข่าวก่อนหน้านี้ระบุว่า ตระกูลภิรมย์ภักดีได้มีการประมูลที่ดินมาในราคาต่ำกว่า 4.7 แสนบาท/ตร.ว. ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด ขณะที่รูปแบบของโครงการจะเป็นการพัฒนาแบบผสมผสานทั้งศูนย์การค้าและที่อยู่อาศัย

ปัจจุบัน รายได้ของธุรกิจนอนแอลกอฮอล์ของ “สิงห์” มีสัดส่วน 15% ของรายได้รวม โดยตั้งเป้าว่า ช่วง 3-5 ปีข้างหน้าสัดส่วนจะเปลี่ยนเป็น 30% ทั้งนี้ สินค้าที่มีรายได้สูงสุดในกลุ่ม คือ โซดา ซึ่งเป็นผู้นำ มีส่วนแบ่ง 80% ของตลาด หลังจากช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดพฤติกรรมใหม่ในกลุ่มผู้บริโภค คือ ใช้โซดาผสมกับเครื่องดื่มอย่างอื่น ไม่ใช่ผสมเหล้าอย่างเดียว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.