|
K-POP เปลี่ยนพฤติกรรมคนญี่ปุ่น แห่ชอปสินค้าเกาหลี
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(10 สิงหาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
หลังจากที่เกิดพิบัติภัยสึนามิเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา การฟื้นตัวของกิจการต่างๆ ในญี่ปุ่นยังคงเป็นเรื่องที่วงการตลาดโลกสนใจ โดยเฉพาะกิจการขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น ซึ่งการสำรวจเบื้องต้นพบว่ากิจการด้านอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นเริ่มส่อสัญญาณการฟื้นตัวเร็วที่สุดในด้านผลดำเนินงาน เมื่อเทียบกับบรรดากิจการในธุรกิจอื่นๆ และดีกว่าความคาดหมายแต่แรก
กระนั้นก็ตาม เฉพาะธุรกิจด้านการผลิตและจำหน่ายทีวี กลับพบว่าปริมาณความต้องการจากผู้บริโภคลดลงสวนทางกัน
ตัวอย่างของเรื่องนี้ดูจากนินเทนโด ผู้ผลิตวิดีโอเกมที่มีผลประกอบการแย่ลงจนถึงขนาดกลับมาประสบผลขาดทุนเป็นประวัติการณ์ เมื่อยอดการจำหน่ายเครื่องเล่นเกมแบบพกพา 3DS ลดลง แถมค่าเงินเยนที่สูงขึ้นก็กลับเพิ่มอุปสรรคในการจำหน่าย จนมีการประมาณการใหม่แล้วว่ากำไรรายปีในปีนี้จะต่ำที่สุดในรอบ 27 ปีทีเดียว
ขณะเดียวกัน ทางโซนี่และพานาโซนิค ก็ออกมาแย้มพรายว่ายอดการจำหน่ายทีวีของทั้งสองกิจการจะลดลงไปอีกมาก โดยเฉพาะในสหรัฐและยุโรป หลังจากก่อนหน้านี้ฟิลิปส์ก็ออกมาระบุว่าแนวโน้มธุรกิจลดลง แม้ว่าทุกกิจการจะยังหวังว่าแนวโน้มทางธุรกิจจะดีขึ้นในครึ่งหลังของปีนี้ก็ตาม
ที่จริง ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา กิจการญี่ปุ่นได้สูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดทีวีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยคู่แข่งที่เข้าไปแย่งตลาดเรื่อยๆ คือ ยักษ์ใหญ่จากเกาหลีใต้ โดยเฉพาะซัมซุงและแอลจี ดิสเพลย์
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้พานาโซนิคตัดสินใจปรับกลยุทธ์ใหม่ หนีสภาพการแข่งขันที่ดุเดือดด้วยการหันไปเน้นเทคโนโลยีที่ใส่ใจสภาพแวดล้อมแทน และประกาศขายกิจการบางส่วนของซันโยออกไปให้กับกิจการจีนรายไห่เอ๋อ กรุ๊ป ไปแล้ว
ส่วนทางโซนี่ ซึ่งกาลครั้งหนึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์ของกิจการยักษ์ใหญ่ที่เป็นหน้าตาของญี่ปุ่น มีการปรับค่าพยากรณ์ยอดการจำหน่าย LCD TV จาก 27 ล้านเครื่อง เหลือเพียง 22 ล้านเครื่อง และอาจจะมีผลการขาดทุนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าต่อไป อันเนื่องมาจากสมรรถนะด้านการสร้างสรรค์สินค้าถดถอยลงไป โดยเปรียบเทียบกับกิจการชั้นนำของเกาหลีใต้อย่างซัมซุง และยังมีคู่แข่งขันรายใหม่ที่น่ากลัวอย่างอุปกรณ์แท็บเลตของกิจการแอปเปิลด้วย
ทั้งนี้ ดูได้จากการที่กำไรจากการดำเนินงานของโซนี่ในไตรมาสที่ 2 สิ้นสุดมิถุนายนที่ผ่านมาลดลงไปถึง 59% ซึ่งไม่ได้แตกต่างมากนักจากกำไรของพานาโซนิคที่ลดลงเหลือ 5,600 ล้านเยนจาก 83,800 ล้านเยน และชาร์ปก็มีกำไรลดลงไปเหลือ 3,500 ล้านเยน จากที่คาดไว้ถึง 8,200 ล้านเยน
การสูญเสียตลาดสินค้าให้กับผู้ประกอบการเกาหลีใต้นี้เกิดขึ้นแม้แต่ในตลาดญี่ปุ่นเอง ที่พบว่าลูกค้าชาวญี่ปุ่นหันไปซื้อสินค้าของซัมซุงและแอลจีเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความนิยมและคลั่งไคล้ดาราเกาหลี หรือ K-POP ทั้งที่ก่อนหน้านี้ คนญี่ปุ่นจะซื้อสินค้าของตนเองก่อนสินค้าชาติอื่นๆ โดยเฉพาะเกาหลี
แต่ด้วยความนิยมชมชื่นนักร้อง ดารา บอยแบนด์เกาหลีใต้ และการที่กิจการเกาหลีใต้ใช้บรรดาดารา นักร้องช่วยเป็นพรีเซนเตอร์ในงานโฆษณาและการส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าอย่างต่อเนื่อง ได้ช่วยเป็นแรงกระตุ้นให้ลูกค้าชาวญี่ปุ่นเกิดความต้องการที่จะมีพฤติกรรมเลียนแบบ หรือใช้สินค้าอย่างเดียวกับที่ดาราหรือนักร้องที่ตนชื่นชอบใช้กัน
ปัจจัยดังกล่าวทำให้สมาร์ทโฟน Galaxy S II ของซัมซุงเป็นมือถือที่ขายดีที่สุดในตลาดญี่ปุ่น และมียอดการส่งเข้าไปในตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นถึง 50% ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ โดยลูกค้ากลุ่มหลักๆ ของซัมซุงยังเป็นกลุ่มหนุ่มสาวไปถึงคนทำงานช่วงต้นๆ อายุระหว่าง 20-39 ปี
จากกระแสความนิยม K-POP ทำให้กิจการญี่ปุ่นอย่างพานาโซนิคต้องจับมือกับซัมซุงในการทำการตลาดในญี่ปุ่น เพื่อให้สามารถขยายการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จนขึ้นมาเป็นผู้จำหน่ายมือถือที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของตลาดญี่ปุ่น ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการเกาหลีใต้ไม่เคยก้าวขึ้นมาเกินตำแหน่งอันดับ 6 มาก่อน
ยิ่งกว่านั้น ทีวีของแอลจีก็เริ่มเข้าไปจำหน่ายในญี่ปุ่นอีกครั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังหายไปจากตลาดกว่า 2 ปีทีเดียว จนมีส่วนแบ่งตลาดเกือบจะครบ 5% ตามเป้าหมายแล้ว
การตลาดในญี่ปุ่นถือว่าเป็นบททดสอบที่สำคัญทั้งกรณีของกิจการญี่ปุ่นและกิจการของเกาหลีใต้ เพราะลูกค้าญี่ปุ่นได้ชื่อว่าให้ความสำคัญกับคุณภาพอย่างมาก จะมาขายของราคาถูกแต่ไม่มีคุณภาพไม่ได้ง่ายๆ การที่ยอดการจำหน่ายสินค้าของกิจการเกาหลีใต้ในตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แสดงว่าตลาดญี่ปุ่นให้การยอมรับสินค้าเกาหลีพอสมควร
นอกจากความยากลำบากในการชนะใจลูกค้าชาวญี่ปุ่นแล้ว ช่องทางการจำหน่ายในตลาดญี่ปุ่นให้สำเร็จก็ยุ่งยากสำหรับกิจการเกาหลี เพราะเป็นกลไกที่สร้างเพื่อเอื้ออำนวยการเติบโตของกิจการญี่ปุ่นมากกว่า
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|