เถ้าแก่ยุคใหม่พลังอันน้อยนิดแต่วิญญาณธุรกิจยิ่งใหญ่

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ บุญศิริ นามบุญศรี
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

"...กลุ่มของคุณเป็นสัญลักษณ์การวิวัฒนาการของเศรษฐกิจสังคมไทย ที่ผู้มีการศึกษาสูงจำต้องเปลี่ยนความคิดจากพยายามประกอบอาชีพรับจ้างและรับราชการไปเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ

ความจริงสังคมไทยเต็มไปด้วยผู้ประกอบอาชีพอิสระมาช้านานแล้ว

แต่ค่านิยมของผู้มีการศึกษาสูงมักชอบไปสมัครงาน ไปหางานทำ เป็นการสร้างภาระให้สังคม ทั้งๆ ที่ได้เปรียบคนอื่นอยู่แล้ว

บัดนี้การหางานแบบนั้น เกือบจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้.."

(ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เขียนไว้ในหนังสือรุ่นโครงการอบรมนักลงทุนรุ่นเยาว์ รุ่นแรกปี 2528)

แม้ว่าโครงการ "นักลงทุนรุ่นเยาว์" ของบรรษัทฯ ซึ่งพยายามจับผู้เพิ่งพ้นรั้วมหาวิทยาลัยมานั่งสัมมนาทำความเข้าใจธุรกิจและแนะแนวประกอบอาชีพอิสระ จะผ่านไปแล้ว 2 รุ่นและผลก็ไม่ออกมาชนิดจับต้องได้ แต่ก็เป็นการ "จุดประกาย" ความคิด (ค่อนข้าง) ใหม่ให้กับคนรุ่นใหม่ และแม้ว่าสิ่งที่บรรษัทฯ คิดและทำจะช้ากว่าสถานการณ์ไปหลายก้าว แต่ก็นับได้ว่าเป็นครั้งแรก ๆ ที่สถาบันการเงินสำคัญของประเทศแสดงการยอมรับปัญหาอย่างเป็นทางการ ในฐานะที่เป็น "เงื่อนไขสำคัญอันหนึ่งในการสร้างผู้ประกอบการ (ENTREPENUER)" ขึ้นในสังคมธุรกิจ

เขาทั้ง 5 คนซึ่ง "ผู้จัดการ" จะพูดถึงต่อไปนี้ได้ออกหน้าเดินตามทางเส้นนี้ก่อนหน้ามานานพอสมควรแล้ว

เขาเริ่มต้นจากแทบจะไม่มีอะไรเลย มีแต่ความมุ่งมั่น ความทะเยอทะยาน และมีความจำเป็นแห่งการดำรงชีพ เป็นพลังขับเคลื่อน

บรรพบุรุษของพวกเขามิใช่เศรษฐี นักธุรกิจใหญ่หรือเจ้าที่ดินศักดินามาเป็นฐานรองรับ เขาเริ่มนับหนึ่งท่ามกลางเวทีธุรกิจที่แทบจะไม่มีช่องว่าง ทั้งพวกเขาก็ไม่ใช่ผลิตผลบรรษัทต่างชาติส่งเข้ามาในประเทศไทยอย่างง่ายดายด้วย

อาจจะเรียกได้ว่าพวกเขาไม่มี "สายสัมพันธ์" (CONNECTION)" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "สายสัมพันธ์" ในความหมายเก่า พวกเขาส่วนใหญ่คิดว่าสิ่งนี้ไม่สำคัญที่สุด หากจะมีรูปลักษณ์คงเปลี่ยนไปมาก คงไม่ใช่บางคนที่ "เกาะ" ทหาร "เกา" ผู้มีอำนาจในแผ่นดินแล้วสร้างอาณาจักรธุรกิจใหญ่โตขึ้นมา แม้ในบางครั้งจะไม่เป็นไปตามครรลองแห่งศีลธรรม เช่นอดีตอีกแล้ว ปัจจุบันรูปลักษณ์ "สายสัมพันธ์" ได้พลิกโฉมหน้าอันเนื่องมาจากศูนย์อำนาจกระจัดกระจาย กรณียักษ์ใหญ่เอทีแอนด์ที ซึ่งพยายามขยายธุรกิจในประเทศไทยโดยผ่านนายทหารใหญ่คนหนึ่ง (โปรดอ่าน "ผู้จัดการ" ฉบับที่ 34) หรือกรณีไม้ซุงพม่าอันอื้อฉาว ล้วนเป็นดัชนีอันแจ่มชัดถึงรูปลักษณ์ที่ล้าสมัยไปตามกาลเวลา

นี่มิใช่เรื่องเลว หากแสดงให้เห็นวิวัฒนาการก้าวไปข้างหน้าของธุรกิจไทย ซึ่งให้กำลังใจแก่ผู้ประกอบการ และมืออาชีพรุ่นใหม่

อีกจุดหนึ่ง KNOW-HOW ด้านบริหารธุรกิจสมัยใหม่ไหลบ่าเข้ามาประเทศไทยอย่างไม่หยุดยั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันภาษาบริหารธุรกิจสมัยใหม่ปลิวว่อน แม้ว่า KNOW-HOW ดังกล่าวจะยังไม่แสดงอิทธิฤทธิ์มากมายนักก็ตาม แต่ก็นับว่าเป็น "เครื่องมือ" ชนิดใหม่อันน่าจับต้อง

ธนดี โสภณศิรินักบริหารธุรกิจมืออาชีพคนหนึ่งเคยกล่าวไว้นานแล้วว่านักบริหารมืออาชีพ (PROFESSIONAL CLASS) จะรวยสู้ผู้ประกอบการ (ENTREPENUER) ไม่ได้ แต่ว่าโอกาสของ ENTREPENUER นั้นมิใช่เรียกหามาได้ง่าย ๆ เช่นกัน

ธนดีกล่าวในทรรศนะของเขาว่า พวกเขามีโอกาสร่ำรวยมากในธุรกิจ 4 ประเภท หนึ่ง-ธนาคารและสถาบันการเงิน สอง-ธุรกิจที่ดิน (REAL ESTATE) สาม-รวยจากทรัพย์สมบัติ (INHERITED) และสี่-เป็นนักพัฒนาสินค้าใหม่ (INOVATOR)

แต่ในสังคมไทย 3 ประเภทแรกโอกาสแทบจะไม่เปิดต้อนรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (YOUNG ENTREPENUER) เลยก็ว่าได้ กิจการธนาคารและสถาบันการเงินปัจจุบันถูกคุมกำเนิดอย่างเข้มงวดแม้ "ผู้ใหญ่" "ผู้ทรงอิทธิพล" ทั้งในและต่างประเทศวิ่งกันทุกวิถีทางก็ไม่สัมฤทธิ์ผล ธุรกิจที่ดินต้องพร้อมด้วยปัจจัยสำคัญ 2 ประการหรืออย่างใดอย่างหนึ่ง 1.มีสินทรัพย์มากพอ 2.ได้รับความสนับสนุนเพียงพอและต่อเนื่องจากแหล่งเงินทุนซึ่งล้วนเป็นภาระหนักที่ไม่มีวันบรรจบกัน YOUNG ENTREPENUER

เวทีธุรกิจสำหรับพวกเขาจึงเหลือ INOVATOR เท่านั้น!

และพวกเขาทั้ง 5 คนเดินมาเส้นทางเดียวกันนี้

เกียรติศักดิ์ บุญพร้อมสรรพ (2505) เจ้าของร้านเสื้อผ้าแฟชั่น "ไฝ โปรดิวส์" 2 แห่งบนสยามสแควร์จับเส้นวัยรุ่นถูก เขาเริ่มต้นทำกระเป๋าสะพายแฟชั่นในยุคบุกเบิก จนมาถึงบูติค "เปรี้ยว" ที่สุดในเวลานี้

จิระ จิริยะสิน (2506) กรรมการผู้จัดการบริษัทถาวรคอมพิวเตอร์เขาเคยเปิดร้านวิดิโอเป็นแห่งที่สองของกรุงเทพฯ แล้วเปลี่ยนมาจับธุรกิจคอมพิวเตอร์พีซี.ราคาถูกมากๆ โดยปะยี่ห้อไทยรายแรกและรายเดียวในขณะนี้

ไตรภพ ลิมปพัทธ์ (2498) เขามากับรายการ "เกมโชว์" ซึ่งบูมมากๆ ในปี 2526 ต่อ 2527 ด้วยมีความเป็นผู้ประกอบการ (ENTREPENUERSHIP) ในตัวเขาจึงกระโดดมาดำเนินธุรกิจนี้ด้วยตนเอง โดยอาศัยโอกาสที่หยิบยื่นให้ในเวลาอันสั้น

ณรงค์ศักดิ์ ตันติพินิจวงศ์ (2499) กรรมการผู้จัดการร้านดอกหญ้าและสำนักพิมพ์สามัคคีสาส์นแม้เขาจะดำเนินธุรกิจหนังสือซึ่งถือเป็นธุรกิจดั้งเดิม แต่เขาเป็นผู้บุกเบิกใช้การตลาดสมัยใหม่นำหน้าเป็นรายแรกๆ ที่เปิดฉากลดราคาหนังสือครั้งใหญ่และใช้กลยุทธ์ทางการตลาดอาทิ "พรีเมียม" มัดใจลูกค้าอย่างเหนียวแน่น

และธีรพล นิยม (2494) กรรมการบริหารกลุ่มแปลนอาคิเตค กลุ่มธุรกิจของคนหนุ่มที่ DIVERSIFIED ออกไปอย่างรวดเร็วจากจุดเริ่มต้นเป็นสถาปนิกเจ้าของไอเดียทาวน์เฮ้าส์ในกรุงและเจ้าของรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นหลายรางวัล อันแสดงถึงความไม่หยุดนิ่งของพวกเขา

เขาทั้ง 5 คนเป็น "ตัวอย่าง" ของคนรุ่นใหม่ที่เจริญเติบโตท่ามกลางสภาพธุรกิจในประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ปี 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชจ์ขึ้นเถลิงอำนาจด้วยการเปิดฉากเชื้อเชิญต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาเข้ามาลงทุนในประเทศอย่างขนานใหญ่ รัฐบาลไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรก และตั้งสำนักงานส่งเสริมการลงทุน อัตราการเติบโตธุรกิจในช่วงนั้นพุ่งปรู๊ดปร๊าด

หมดยุคสฤษดิ์ ธุรกิจก็เติบโตต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง นักลงทุนหลากชาติเข้ามามากขึ้นโดยเฉพาะญี่ปุ่น ที่สำคัญตามมาด้วยธุรกิจไทย ซึ่งครอบงำโดยคนไทยเชื้อสายจีนได้ค่อยๆ เปลี่ยไปร่วมทุน (JOINT VENTURE) กับต่างประเทศ

บรรษัทข้ามชาติมิเพียงส่งทุนเข้ามา ยังได้ส่ง KNOW-HOW สมัยใหม่ทั้งการผลิตและการบริหารธุรกิจเข้ามาด้วย ผลพวงเช่นนี้ได้ส่งผลสะท้อนต่อธุรกิจไทยตลอดจนกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เกิดและเติบโตในยุคนี้เช่นพวกเขาทั้ง 5 คนด้วย

นอกจากนั้นการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งสำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้การนำของนักศึกษาเมื่อเดือนตุลาคมของปี 2516 และปี 2519 ซึ่งพวกเขาบางคนในที่นี่เข้าร่วมด้วยนั้น บ่งบอกภาพอันคมชัดทรรศนะของคนรุ่นใหม่ที่เป็นนักเสรีนิยม (LIBERAL) อันชัดแจ้ง

เมื่อพวกเขาก้าวเข้าสู่ธุรกิจ ความคิดและวัฒนธรรมของพวกเขาจึงแตกต่างจากคนรุ่นก่อนอย่างมาก พวกเขาทันสมัยไม่อนุรักษ์นิยม แสวงหาความรู้กว้างขวาง สายตายาวไกล เป็นนักธุรกิจที่ไม่มีพรมแดนอยู่แค่ประเทศไทย และเป็นนักประชาธิปไตย

เกียรติศักดิ์ หรือไฝ มีกิจการตัวเองมาแล้วเกือบ 5 ปี ธุรกิจปรับตัวครั้งใหญ่ๆ 2 ครั้ง เปลี่ยนกลยุทธ์ ปรับสินค้าอยู่ไม่หยุดวันนี้เขากำลังศึกษาลู่ทางทำธุรกิจส่งออกนำเข้าสินค้า (EXPORT-IMPORT) อยู่ ไฝชอบเดินทางไปฮ่องกง เพื่อหาลู่ทางทำการค้าในขณะเดียวกันก็ "จับ" ชีพจรหรือความแปลกใหม่ในวงการแฟชั่น แม้ธุรกิจของเขาต้องใช้ ONE MAN SHOW อันเนื่องมากจากลักษณะและขนาดของธุรกิจ แต่ความคิดของเขาไม่มีพรมแดนเขามองโลกธุรกิจเป็นเนื้อเดียวกับธุรกิจในประเทศไทย และรู้จัดวิธีปรับใช้

จิระ เป็นคนหนุ่มที่ใฝ่หาความรู้มากทีเดียว อันเนื่องมาจากธุรกิจคอมพิวเตอร์ของเขาซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา เขาบอกว่าเขาเสียค่าใช้จ่ายไม่น้อยเลยสำหรับ "ข่าวสาร" เพื่อทำให้เขาทันสมัยอยู่เสมอ ขณะเดียวกันก็วางแผนสำหรับอนาคตถาวรคอมพิวเตอร์ในปี 2529 จะมีแผนกงานสำคัญอีกแผนก คือพัฒนาและวิจัย (R&D) อันเป็นหัวใจของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จิระทุ่มเททำงานหนัก เป็นตัวอย่างของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ทำงานในห้องทำงานแคบๆ ในสำนักงานใหญ่โอ่โถง

ไตรภพ เกิดจากสถานการณ์กำหนดกว่าคนอื่น ๆ ทุกวันนี้เขากำลังต่อสู้กับวิกฤติการณ์ครั้งแรกเพื่อพิสูจน์ความเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ของเขา ไตรภพให้ความสำคัญของงานที่ผลิตออกมามาก เขาบอกว่าบอร์นออปเปอร์เรชั่นจะต้องมีทีมงานมันสมองมากพอแม้ค่าใช้จ่ายตรงจุดนี้จะสูงมาก เพราะมันถืออนาคตของเขาและบอร์นฯ อีกทางหนึ่งเขามาร่วมทุนกับกันตนาซึ่งเป็น PRODUCTION HOUSE วางการทีวีมานาน แม้ไตรภพไม่ชอบนั่งเครื่องบินเดินทางไปต่างประเทศ แต่เขาต้องทุ่มเทศึกษาบทเรียนจากหนังสือไม่น้อยทีเดียว

ณรงค์ศักดิ์ เพิ่งจะเปิดสาขาร้าน "ดอกหญ้า" แห่งใหม่ที่หน้าพระลาน เขาบอกว่าเมื่อไม่นานมานี้เขารู้สึก "ตัน" ต้องการสิ่งใหม่ในธุรกิจ เขาเดินทางไปต่างประเทศ เรียนรู้สิ่งใหม่ เขาเพิ่งจะกลับจากญี่ปุ่นเมื่อไม่นานมานี้ กลับมาพร้อมกับแผนการงานที่จะช่วยเสริมร้านดอกหญ้าของเขาให้ดึงดูดลูกค้ามากขึ้นในช่วงปลายปี ณรงค์ศักดิ์บอกว่าร้านดอกหญ้าเตรียมก้าวกระโดดขึ้นศูนย์การค้าด้วยความพร้อมทุกด้านแล้ว เพียงแต่ว่าขณะนี้เขากำลังทำงานอย่างหนักต้อนรับปลายปีก่อน เชื่อว่าแผนการนั้นจะเริ่มเดินเครื่องต้นปีหน้า

แปลน อาคิเตคเป็นแบบฉบับธุรกิจของคนรุ่นใหม่ที่บริหารงานแบบประชาธิปไตย ระดมความคิดจากหลายฝ่าย ธีรพล เป็นเพียงคีย์แมน 1 ใน 7 คนเท่านั้น และแปลนกรุ๊ปนับได้ว่าประสบความสำเร็จมาก ในวิถีดำเนินของพวกเขามีกิจการที่แตกแขนงออกไปไม่ต่ำกว่า 5 กิจการ ทั้งกิจการที่เล่นกับ ASSET เช่นการพัฒนาที่ดินและเทคโนโลยี-ผลิตของเล่นเด็กส่งออก เป็นกลุ่มที่มีพลังในการขยายธุรกิจมากอย่างน่าจับตา

เถ้าแก่ยุคใหม่เป็นคนเรียบง่าย ทำงานหนัก มีเพียงไตรภพเท่านั้นที่นั่งรถยุโรป ส่วนคนอื่นๆ นั่งรถเล็กจากญี่ปุ่น เวลาว่างส่วนใหญ่จะอยู่กับครอบครัว หรือเดินทางท่องเที่ยวมากกว่าจะเริงราตรี ยกเว้นไฝที่ชอบดิสโก้นอกจากเหตุผลเพื่อคลายความเครียดจากการงานแล้ว เขาบอกว่าการที่คลุกคลีกับวัยรุ่นทำให้เข้าใจวัยรุ่น ทั้งยังศึกษาการแต่งกายของวัยรุ่นเพื่อปรับปรุงธุรกิจของเขาอีกด้วย และไตรภพ ที่บางครั้งบางคราว

พวกเขาให้ความสนใจการบริหารธุรกิจสมัยใหม่มากขึ้นไม่ว่าการศึกษาอัตราแลกเปลี่ยนของเงินตรา การใช้บริการของธนาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้คู่แข่ง

"ผมต้องการให้มีการแข่งขันมากกว่านี้ ธุรกิจขายหนังสือจะพัฒนาขึ้น ผมมองว่าปัญหายังแข่งขันกันไม่พอ" ณรงค์ศักด์กล่าว

แต่สิ่งที่ทุกคนกลัวคือ "ภาษี" เป็นความกลัวอันอมตะเหมือนๆ กับนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการยุคก่อนๆ หลายคนไม่ยอมบอกตัวเลขรายได้ กำไรที่แท้จริง หรือไม่ก็ขอไม่เปิดเผย "ภาษีบ้านเราโหดมาก หากเราเสียตามจริงกิจการไม่มีทางอยู่ได้ผมไม่เชื่อว่าใครจะแจ้งจริง" คนหนึ่งพูดอย่างตรงไปตรงมา

มีคนตั้งคำถามว่า ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ล้วนดำเนินธุรกิจตรงไปตรงมา ตามครรลองแตกต่างจากคนรุ่นเก่ามาก คำตอบคือที่เป็นเช่นนั้นเพราะไม่มีโอกาสมากกว่า พวกเขาบางคนบอกว่าการเรียนรู้วิธีซิกแซกจำเป็น แต่โอกาสไม่เปิดกว้างให้ทำอะไรได้มาก "กลยุทธ์การค้าเราต้องรู้ ไม่รู้เราอยู่ไม่ได้ เช่นบอกว่าขายเสื้อผ้าเฉพาะบนห้างเท่านั้นไม่เคยลงตลาดล่าง พอเห็นสินค้าอยู่ข้างล่างก็แกล้งโวยวายฟ้องกันก็มี แต่แท้ที่จริงเป็นคนทำเอง"

พวกเขา 5 คนเป็นเพียง "ตัวอย่าง" มิใช่ "ต้นแบบ" ที่ "ผู้จัดการ" พยายามควานหาในธุรกิจที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งในที่สุดแล้วก็ได้ข้อสรุปว่า หนทางธุรกิจของคนรุ่นใหม่มีแต่ธุรกิจที่เกิดจากสถานการณ์ ธุรกิจเกี่ยวกับ INOVATION ซึ่งมีความเสี่ยงอยู่มาก ผู้มีความสามารถเท่านั้นที่จะอยู่รอด

พวกเขาสะสมประสบการณ์มาได้จำนวนหนึ่ง รักษาความมั่นคงท่ามกลางการปรับตัวของธุรกิจในระยะที่ยาวนานพอสมควรอนาคตเป็นของพวกเขา ที่พวกเขาจะต้องกำหนดกันเอง

"ผู้จัดการ" พบว่าในแขนงธุรกิจแฟชั่นเสื้อผ้ามีผู้ประกอบการรุ่นใหม่ประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่งมากกว่าไฝอีกหลายราย แต่พวกเขาเหล่านั้นยังอยู่ในระยะสะสมทรัพย์อย่างเงียบๆ เขาบอกว่าการเปิดตัวจะทำให้ถูกจับตามองและไม่เป็นอันทำงาน ปัจจุบันพวกเขาต้องทำงานหนักไม่ต่ำกว่า 12 ชั่วโมงต่อวันและยังไม่มี "ตัวตายตัวแทน"

เชื่อหรือไม่ว่าในธุรกิจนี้บางคนเข้าไปเพียง 4 ปี มีสินทรัพย์แล้วไม่ต่ำกว่า 30 ล้าน เปิดสาขาแล้วเกือบ 10 แห่งทั้ง ๆ ที่อายุเขาไม่ถึง 30 ปีด้วยซ้ำ

ธุรกิจนี้ดูเหมือนเปิดกว้าง มีศักยภาพสูง แต่ความจริง "แดนสนธยา" ยังแฝงอยู่ "ผู้จัดการ" จะเปิดปริศนานี้ออกในไม่ช้านี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.