"เราคิดว่างานด้านซอฟท์แวร์จะไปได้ไกล สำหรับเมืองไทยมีแนวโน้มไปในทางที่ดีพวกเราจึงรวบรวมกันมาตั้งเป็นซอฟท์แวร์
เฮาส์ ในอนาคตเราจะพยายามผลิตซอฟท์แวร์แข่งขันกับต่างประเทศ พวกเราทั้ง 6
คนที่เป็น DIRECTOR ก็มาจาก FIELD คอมพิวเตอร์คนหนึ่ง ๆ กว่า 15 ปี และแต่ละคนมี
BACK GROUND หน้าที่การงานมาดี ๆ ทั้งนั้น" ปัญญา พรไพบูลย์สถิตย์ หนึ่งในหกผู้ก่อตั้งบริษัท
อินโฟซอฟท์บอกกับ "ผู้จัดการ" อย่างนั้น
อินโฟซอฟท์ เป็นซอฟท์แวร์เฮาส์ ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี
2528 ผู้ร่วมก่อตั้งแต่ละคนมาจาก FIELD คอมพิวเตอร์และมีประสบการณ์ทั้งทางด้านซอฟท์แวร์
และฮาร์ดแวร์มาอย่างโชกโชนอย่างที่ปัญญากล่าวจริง ๆ
ไพศาล สินพัฒนานนท์ MARKETING & ADMINISTRATION DIRECTOR ก่อนมาก่อตั้งอินโฟซอฟท์
ตำแหน่งล่าสุดที่บริษัทซัมมิท เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็น COMPUTER DIVISION
MANAGER
วิชัย ไกรสิงขร RESEARCH & DEVELOPMENT DIRECTOR เคยเป็น TECHNICAL
MANAGER บริษัท ซัมมิท คอมพิวเตอร์ จำกัด ซึ่งขายเครื่องสเปอรี่ยูนิแวค
ปัญญา พรไพบูลย์สถิตย์ SOFTWARE DEVELOPMENT DIRECTOR ผ่านตำแหน่ง SOFTWARE
MANAGER จากบริษัท อีสต์ เอเชียติ๊ค ซึ่งเคยขายเครื่องฮิตาชิมาก่อน
อุทัย หาญบุญตรง TECHNICAL OPERATION DIRECTOR อดีต SYSTEM DEVELOPMENT
MANAGER จากธนาคารกรุงไทย
ลิขิต พิพิธธินันท์ APPLICATION DEVELOPMENT DIRECTOR ก่อนมาร่วมในอินโฟซอฟท์
บินไปทำงานที่ซาอุฯเป็น COMPUTER DEPARTMENT MANAGER บริษัท ABDUL LATIFF
JAMEEL
และเสถียร พูลทรัพย์ SPECIAL PROJECT DIRECTOR อดีตหัวหน้าพัฒนาระบบงานธนาคารไทยพาณิชย์
เพิ่งบินกลับจากซาอุฯ มาเป็นผู้ร่วมหุ้นคนล่าสุด
"พวกเราส่วนใหญ่เคยร่วมงานกันมาตั้งแต่สมัยอยู่บริษัทยิบอินซอย แล้วแต่ละคนก็ไปทำงานอีกหลายแห่ง
เรียกว่ามีประสบการณ์ทางด้าน BANKING และ GENERAL TRADING ดีทีเดียว และเมื่อพอมีเงินทองเก็บสะสมไว้บ้างก็เอามาร่วมกันทำ
พวกเราออกทุนกันเองไม่มีใครเป็น BACK" ปัญญาเล่าต่อ
อินโฟซอฟท์จดทะเบียนด้วยเงินทุน 1 ล้านบาท เป็นเงินของกรรมการทั้ง 6 คน
ที่เก็บหอมรอมริบสะสมมาตลอดการทำงานเกือบ 20 ปี ขณะนี้แต่ละคนอายุไล่เลี่ยกันประมาณ
38-40 ปี ก่อนจะมาร่วมก่อตั้งอินโฟซอฟท์ตำแหน่งหน้าที่การงานของแต่ละคนอยู่ในระดับบริหาร
ทั้งเชี่ยวชาญในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่แตกต่างกันทำให้เมื่อมารวมกันประสบการณ์ที่ผ่านมาสามารถครอบคลุมความรู้ความชำนาญใน
FIELD คอมพิวเตอร์ได้อย่างกว้างขวาง
"พวกเราอยู่ใน FIELD คอมพิวเตอร์มานาน แต่ละคนไม่ได้รู้เพียงเครื่องใดเครื่องหนึ่งเฉพาะเรารู้เครื่องเบอโร่ห์
เครื่องยูนิแวค เครื่องไอบีเอ็ม เครื่องฮิตาชิ หลาย ๆ ยี่ห้อ ยิ่งประสบการณ์ของพวกเรามารวมกันยิ่งมั่นใจได้ว่างานทางด้านนี้อินโฟซอฟท์ทำได้"
ปัญญากล่าวเสริม
งานซอฟท์แวร์ เป็นงานที่ต้องอาศัยความรู้ความสามารถและความชำนาญของบุคลากรเป็นอย่างมาก
ในเมืองไทยอาจมีซอฟท์แวร์ เฮาส์เปิดขึ้นหลายสิบบริษัท แต่ซอฟท์แวร์เฮาส์ที่เชี่ยวชาญเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกขนาดทุกยี่ห้อนั้นหายาก
และสำหรับบริษัทใหญ่ ๆ ที่จำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์แม้จะมีแผนกบริการซอฟท์แวร์แต่ก็มักจะชำนาญเฉพาะเครื่องที่บริษัทจำหน่ายเท่านั้น
และบริษัทเหล่านี้จะเน้นให้พนักงานเชี่ยวชาญในการใช้เครื่องของตนมากกว่าทางด้านซอฟแวร์
ผู้บริหารอินโฟซอฟท์เข้าใจเรื่องนี้ดี พวกเขามีประสบการณ์กว้างขวางมีความรู้ความสามารถมากพอ
พวกเขามีเงินทุนถึงแม้ไม่มากนัก แต่สำหรับซอฟท์แวร์เฮาส์เงินทุนไม่จำเป็นต้องใช้มากมายเพราะไม่ต้องลงทุนซื้อสินค้าหรือเครื่องจักร
เพียงลงทุนทางด้านคนเท่านั้น
"งานด้านซอฟท์แวร์ เฮาส์มีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นหนี้สินน้อยมาก เพราะเราไม่ได้สั่งสินค้าเข้ามา
เราไม่ต้องชำระเงินตราต่างประเทศ เราขายบริหารขายสมอง ขายความสามารถเราจะขาดทุนก็ขาดทุนตัวเราเองเท่านั้น
อย่างเงินเดือนเราจะตั้งสูง 3-4 หมื่นเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้ เราก็ตั้งให้น้อยลงแต่ก็ได้เท่ากันทุกคน
พวกเรารู้ว่าฐานของเราแข็งขึ้นด้วยความเสียสละของพวกเราเอง" ไพศาล สินพัฒนานนท์
คนที่เพื่อน ๆ ให้เป็น M.D. และรับผิดชอบทางด้านการเงินด้วยกล่าว
"ขณะนี้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์เริ่มเห็นความสำคัญของซอฟท์แวร์ ฮาร์ดแวร์มันเริ่มถูกลงเพราะผลิตขึ้นมาชิ้นหนึ่งก็ก๊อปปี้ออกมาเป็นร้อยเป็นพันชิ้นได้
ทำให้ค่าใช้จ่ายมันถูกลง แต่ซอฟท์แวร์ไม่มีทางถูกลง เพราะ ซอฟท์แวร์ผลิตขึ้นได้จากแรงงาน
จากสมองคน ยังต้องเอาคนเข้าไปนั่งทำงานอยู่" ปัญญากล่าวถึงความสำคัญของคนในงานซอฟท์แวร์
งานหลัก ๆ ของอินโฟซอฟท์ขณะนี้เป็นงานทางด้าน-พัฒนาระบบงานคอมพิวเตอร์ทุกชนิด
ทุกขนาด ตั้งแต่ไมโคร-เมนเฟรม
- ให้คำปรึกษาแก่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ต่าง ๆ
- บริการ MAN POWER ทางด้าน TECHNICAL
กรรมการบริษัทแต่ละคนของอินโฟซอฟท์ มีหน้าที่รับผิดชอบแบ่งกันตามความถนัดอย่างเห็นได้ชัด
จึงไม่มีการก้าวก่ายหน้าที่กัน และแต่ละคนก็ทุ่มเทความสามารถให้กับงานในส่วนที่ตนรับผิดชอบอย่างเต็มที่
แต่อีกหน้าที่หนึ่งที่ทุกคนต้องทำคือการช่วยกันหางานเข้าบริษัทในระยะเริ่มต้น
"เราต้องพยายามสร้างชื่อเสียงในนามบริษัท โดยใช้ชื่อเสียงของกรรมการแต่ละคนที่เป็นที่ยอมรับและรู้จักในวงการเข้าไปถึงตัวลูกค้า
หรือมีเพื่อน ๆ แนะนำกันต่อ ๆ มา ใหม่ ๆ ก็ยากหน่อยแต่ช่วงนี้เราได้งานมากทีเดียว"
ไพศาล บอก "ผู้จัดการ"
งานที่อินโฟซอฟท์ได้รับความไว้วางใจให้เข้าไปทำนั้นที่ผ่านมาเป็นงานในหน่วยงานใหญ่
ๆ เกือบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นที่ แบงก์ชาติที่ให้ทีมงานเข้าไปสอนทางด้านสื่อสารข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์,
ที่บางจากปิโตรเลี่ยม ได้ทำโปรแกรมทางด้านควบคุมการซ่อมบำรุง, ที่เดลินิวส์
เข้าไปช่วยจัดระบบโฆษณานอกจากนี้ยังมีที่ธนาคารกสิกรไทย, อเมริกัน เอ็กซเพรส
ฯลฯ
ขณะนี้เมืองไทยมีการใช้คอมพิวเตอร์กันมาก แต่ซอฟท์แวร์ส่วนใหญ่กลับเป็น
PACKAGE จากต่างประเทศซึ่งบางครั้งอาจไม่สะดวกแก่การใช้กับลักษณะงานในเมืองไทย
การที่ซอฟท์แวร์ เฮาส์ในเมืองไทยพยายามพัฒนา PRODUCT ของตนเองขึ้นมาเป็นสิ่งที่ดี
และการที่จะมีหน่ายงานกลางที่จะคอยควบคุมมาตรฐานของ PRODUCT นั้นก็เป็นสิ่งที่ดีเช่นกัน
"การที่จะทำงานทางด้าน OFFECE AUTOMATION หรือข่าวสารต่าง ๆ ในบ้านเราตอนนี้ยังไม่มีหน่วยงานที่มาวางมาตรฐาน
อย่างตอนนี้บ้านเรามี WORD PROCESSER เป็นภาษาไทยหลายยี่ห้อ ยี่ห้อหนึ่งก็เอาไปใช้กับเครื่องอีกยี่ห้อหนึ่งไม่ได้
ซึ่งอันนี้เป็นจุดเสียอย่างอนาคตอาจผลิตกันมาถึง 100 ยี่ห้อ แต่เอามาใช้ด้วยกันไม่ได้เลย
มันจะเป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์มาก เราจึงควรมีหน่วยงานกลางมาวางมาตรฐาน
ทุกคนที่จะพัฒนา PRODUCT จะได้คำนึงถึงมาตรฐานนี้ให้มันเข้ากันได้ อันนี้จะเป็นประโยชน์มาก"
วิชัย ไกรสิงขร คนรับผิดชอบด้าน R&D เปรยให้ฟัง
วันนั้น "ผู้จัดการ" ได้คุยกับผู้ร่วมก่อตั้งอินโฟซอฟท์เพียง
3 คน คือ ไพศาล, ปัญญา และ วิชัย แต่ก็รู้สึกได้ถึงความมุ่งมั่นและจริงจังในการทำงานของพวกเขา
และเชื่อว่าผู้ร่วมงานคนอื่น ๆ ในทีมนี้ก็คงมีความมุ่งมั่นในการทำงานไม่แพ้กัน
"...เราเน้นคุณภาพของบุคลากร เราจะแข่งกับเขาได้ก็ต่อเมื่อคนของเราเก่งจริง
และมันจะแสดงออกมาที่ผลงาน จะเป็นที่กล่าวขานกันต่อไปเรื่อย ๆ ...ไพศาลกล่าวปิดท้ายถึงคนของอินโฟซอฟท์
ขณะที่เพื่อน ๆ พยักหน้าอย่างเห็นด้วย
และนี่ก็คงจะเป็นการเริ่มต้นของคนรุ่นใหม่ในอาณาเขตใหม่ ๆ ทางธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องอิงฐานอำนาจหรืออาศัยพื้นฐานชาติตระกูลมารองรับ