|
“โตชิบา”ชูไทยฮับรับเออีซี อัดรัฐขึ้น300บาทต้องเป็นขั้น
ASTV ผู้จัดการรายวัน(9 สิงหาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
โตชิบาวางไทยเป็นฮับเครื่องซักผ้ารองรับ AEC และเอเชีย พร้อมลุยตลาดในประเทศเต็มสูบ หลังพบสัญญาณที่ดี 4เดือนโตเกิน27% เชื่อถึงเดือนมี.ค. รายได้รวมพุ่ง 9,400 ล้านบาท เติบโตกว่า 27% สูงสุดในรอบ20ปี
นายยูกิฮาระ อาดาชิ ประธาน บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด เปิดเผยว่า ปีนี้ทางบริษัทแม่มีนโยบายให้ฐานการผลิตสินค้าในกลุ่มเอชเอโดยเฉพาะตู้เย็นและเครื่องซักผ้าเป็นศูนย์กลางการส่งออกรองรับ AEC เนื่องจากไทยมีความพร้อมอยู่แล้ว โดยเฉพาะโรงงาน ที่มีมากสุดในย่านนี้มากวา 10 แห่ง เช่น โรงงานโตชิบาคอนซูเมอร์โปรดักส์ และโรงงานไทยโตชิบาอิเล็คทริคอินดัสทรีซึ่งตามหลักแล้วทางบริษัทแม่พร้อมสนับสนุนในการรุกตลาดอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มเครื่องซักผ้านั้น พบว่าในประเทศไทย เราเป็นอันดับหนึ่งเมื่อเทียบกับแบรนด์ญี่ปุ่นด้วยกัน ส่วนในตลาดรวมเครื่องซักผ้า 1.5 ล้านเครื่องในปีนี้ปัจจุบันเรามีส่วนแบ่งที่ 8% ภายในสิ้นปีนี้มั่นใจว่าจะขยับแชร์ขึ้นเป็น 11% ได้ โดยล่าสุดได้เปิดตัวภาพยนตร์โฆษณาชุดใหม่ที่มาพร้อมผลิตภัณฑ์ใหม่ในรุ่น Super Direct Drive Inverter (S-DD Inverter) ขนาด 11,13 และ15 กิโลกรัมคาดว่าจะส่งให้มียอดขายเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 50% ได้ในสิ้นปี
นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวต่อว่า ปีนี้เรามีความพร้อมทั้งในแง่ของสินค้าที่ครบไลน์ รวมถึงการขยายช่องทางขายไปสู่ช่องทางใหม่ๆ เพื่อเพิ่มฐานลูกค้าให้กว้างมากขึ้น ภายใต้งบการตลาดรวมกว่า 500 ล้านบาทใช้มากขึ้น 25% บวกกับสถานการณ์ทางการเมืองและเศรฐกิจที่ดีส่งผลให้ยอดขายตั้งแต่เม.ยถึงปัจจุบันมีอัตราเติบโตไม่ต่ำกว่า 27%
ดังนั้นตามปีงบประมาณ 2554 (เม.ย54- มี.ค55) จากเดิมที่จะวางเป้าเติบโตที่ 15% เช่นปีก่อนๆ บริษัทได้ปรับเป้าเติบโตใหม่ไว้ที่ 27% สูงสุดในรอบ 20 ปี หรือคาดว่าถึงเดือนมี.คปีหน้า จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 9,400 ล้านบาท จากปีก่อนมีรายได้ที่ 7,400 ล้านบาท เติบโต 15% โดยปีนี้กลุ่มสินค้าทั้งไอทีและเอวีมีการเติบโตมากสุดและเมื่อเทียบเป็นชนิดสินค้า พบว่า โน็ตบุค แอลซีดีทีวี ตู้เย็น และเครื่องซักผ้า สร้างรายได้ให้โตชิบามากสุดตามลำดับ
อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหากรัฐบาลใหม่มีเสถียรภาพที่ดี ไม่เปลี่ยนตำแหน่งบ่อยๆ ได้คนดีจริงมาร่วมบริหารประเทศ โดยเฉพาะรัฐมนตรีที่จะมาดูแลกระทรวงอุตสาหกรรม และพาณิชย์ ที่ได้คนมีความรู้ความสามารถ เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจและประเทศต่อไป ซึ่งในส่วนของนโยบายค่าแรง 300 ต่อวันนั้น มองว่าในระดับองค์กรใหญ่ไม่กระทบ แต่ส่วนย่อยอย่าง เอสเอ็มอี ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งของเราจะเดือดร้อน และต่อไปเราก็อยู่ไม่ได้ตามเช่นกัน ดังนั้นจึงมองว่าการปรับค่าแรงขึ้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ควรเป็นสเต็ปเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|