"นักธุรกิจต้องมี CORPORATIVE มิใช่ CLIMB TO THE MOUNTAIN อย่างเดียว"


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

นิด้า (สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์) เปิดหลักสูตรปริญญาโทบริหารธุรกิจ (เอ็มบีเอ.) ตั้งแต่ปี 2509 เป็นแห่งแรกของเมืองไทย ในสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมฉบับแรก ดร. อำนวย วีรวรรณ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพปัจจุบันเป็นคนเสนอ เราเริ่มต้นจากการอิมพอร์ตหลักสูตรและอาจารย์มาทั้งดุ้นในระยะแรก จนสามารถสร้างคณาจารย์ของเราเอง รุ่นแรกคือรุ่น ดร. วีรวัฒน์ กาญจนดุล แห่งเจริญโภคภัณฑ์ในปัจจุบัน

เมื่อสัก 7 - 8 ปีที่ผ่านมา นิด้าประสบปัญหาการขาดแคลนอาจารย์ เมื่อภาคเอกชนเล็งเห็นความสำคัญของบุคลากรด้านบริหารธุรกิจมากขึ้น อาจารย์เหล่านั้นจึงถูกดึงเข้าสู่ธุรกิจภาคเอกชน ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่

แต่เราก็แก้ปัญหาได้ในเวลาต่อมา การส่งคณาจารย์ไปศึกษายังต่างประเทศของเอ็มบีเอนิด้า ต่อเนื่องตลอดมา แม้ในปัจจุบันมีอาจารย์ประจำถึง 16 คนแล้ว ยังมีอยู่ระหว่างการศึกษาในต่างประเทศอีก 6 - 7 คน

นิด้ามีประสบการณ์ในการสอนวิชาการบริหารธุรกิจในเมืองไทย เราเข้าใจความเป็นมืออาชีพ (PROFESSIONAL) และเถ้าแก่ (ENTREPRENEUR)

มืออาชีพในปูนซีเมนต์ไทยหรือบริษัทเอสโซ่ พวกเขามีลักษณะต่อสู้เพื่อการดำรงอยู่ทางธุรกิจสูงกว่าการบริหารของเถ้าแก่อันเป็นพื้นฐานธุรกิจครอบครัว

พวกเถ้าแก่มีกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจประเภทบุกเบิกดีกว่าพวกมืออาชีพ พวกเขาต้องเรียนรู้การทำงานตั้งแต่ระดับปฏิบัติการจนถึงระดับตัดสินใจทุกขั้นตอน โดยมุ่งแสวงหา EQUITY ตลอดเวลา จึงดูเหมือนว่าเขาเป็น RISK TAKER มากกว่ามืออาชีพ

พวกเถ้าแก่มีจุดอ่อนตรงที่ความต่อเนื่องของธุรกิจ การสร้างองค์กรให้มีระบบ เป็นช่วงต่อที่สำคัญซึ่งโรงเรียนสอนวิชาบริหารธุรกิจในบ้านเราจะต้องเสริมตรงจุดนี้

และนี่ก็คือที่มาของโครงการนิด้า - ไอเมท (NIDA - IMET - INSTITUTE FOR MANAGEMENT EDUCATION FOR THAILAND) และบทเรียน 4 ปีในโครงการนี้นิด้าได้รับประสบการณ์อย่างมากในการประสานวิชาการบริหารธุรกิจกับสภาพความเป็นจริงในบ้านเรา ซึ่งพื้นฐานจริง ๆ เริ่มจากการค้าพืชไร่และได้ตกผลึกเป็นประสบการณ์และบทเรียนในการสอนนักศึกษาในหลักสูตรเอ็มบีเอ. ต่อไป

หลักสูตรเอ็มบีเอ. ของนิด้า มุ่งสอนผู้บริหารระดับกลางลงมา โดยมีจุดประสงค์หลัก 3 ประการ หนึ่ง - เราปรารถนาให้พวกเขานำวิชาการบริหารธุรกิจไปปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารธุรกิจให้ดีขึ้น ทั้งในแง่การบริหารองค์กร บริหารการเงิน การบริหารคน การตลาด สอง - INTERNATIONAL PERSPECTIVE เป็นนักธุรกิจที่มีสายตาไกล มองภาพวงจรการดำเนินธุรกิจทุกวันนี้ มิใช่อยู่แค่ต่างจังหวัด กรุงเทพฯ หรือประเทศไทย พูดง่าย ๆ ต้องดูทั้งโลก ปัจจุบันเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงเร็วมาก กระทบถึงกันทั่วโลก และไม่เพียงแต่ด้านเศรษฐกิจเท่านั้น ยังต้องตระหนักถึงทางสังคมและการเมืองด้วย สาม - CORPORATIVE เราไม่สอนให้นักธุรกิจมุ่ง CLIMB TO THE MOUNTAIN อย่างเดียว เมื่อธุรกิจโตขึ้นเราจะต้องตระหนักถึงความเป็นหน่วยหนึ่งของสังคมด้วย ความร่ำรวยอย่างเดียวแล้วสังคมไม่มีความสุขก็ไม่มีประโยชน์อะไร ผลจากข้อนี้กำลังเป็นที่วิตกวิจารณ์กันมาก ในประเทศผลิตเอ็มบีเอ. ต้นตำรับเอง (สหรัฐอเมริกา) เกิดคำถามกันขึ้นมาว่าการมุ่งความเป็นเลิศในทางธุรกิจ แล้วมองตนเองเป็นศูนย์กลาง พร้อมจะเหยียบคนอื่นสู่ความสำเร็จ ผมเคยไปสัมมนาในเอ็มไอเอ็ม (ASIAN INSTITUTE OF MANAGEMENT) มีการพูดกันว่าพวกจบฮาร์วาร์ดทำงานเป็นทีมไม่เป็น

ผมไม่อยากเห็นบ้านเรากำลังเดินซ้ำรอยเขาเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา

บ้านเรามีความเชื่อกันว่า พวกที่เรียนเอ็มบีเอ. ต้องมีความรู้ภาษาอังกฤษ ผมว่าสับสนกันพอสมควร ประเด็นนี้ผมมองว่าต้องแยกให้ออก ระหว่างความสามารถในการบริหารธุรกิจกับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งจำเป็นทั้งสองอย่าง แต่ไม่ใช่เป็นสิ่งเดียวกัน ความสามารถทางธุรกิจมิอาจแทนที่ด้วยความรู้ภาษาอังกฤษอย่างแน่นอน การสอนและฝึกฝนให้คนมีสองสิ่งโดยดูเป็นสิ่งเดียวกัน เป็นการมองภาพที่ไม่ชัดเจน ภาระหน้าที่ของโรงเรียนวิชาบริหารธุรกิจ ต้องมุ่งสอนและฝึกฝนให้คนมีความสามารถทางธุรกิจเป็นหลัก และหากคนนั้นมีความสามารถทางธุรกิจโดยมีความรู้ภาษาอังกฤษด้วยจะเป็นสิ่งที่ดี

เช่นเดียวกับการเรียนเอ็มบีเอ. มิใช่ยันต์กันผี มิใช่ FORM REPRESENTATIVE ต้องมุ่ง SUBSTANCE เพราะเอ็มบีเอ. มิใช่เครื่องมือนำไปสู่ความสำเร็จทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว

ทำไมประเทศญี่ปุ่นไม่มีเอ็มบีเอ. และในอดีตความสนใจศึกษาภาษาอังกฤษน้อยกว่าปัจจุบันมาก แต่ก็ประสบความสำเร็จต่อเนื่อง สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศต้นตำรับวิชาเอ็มบีเอ. เองด้วยซ้ำที่มีปัญหาเศรษฐกิจหนักหน่วงกว่า

ประเด็นสุดท้าย ผมใคร่จะเน้นว่านักธุรกิจก็คือคนมีเป้าหมายชีวิตที่แน่นอน หากต้องการเป็นมืออาชีพช่วงชีวิตทางธุรกิจของคุณก็จะสั้น หากต้องการชีวิตทางธุรกิจที่ยืนยาวก็ต้องเป็น ENTREPRENEUR ส่วนผู้ที่ต้องการให้ชนรุ่นหลังจารึกชื่อของคุณอย่างถาวร คุณอาจจะต้องทนความเจ็บปวดสร้างสิ่งที่คนในยุคปัจจุบันไม่เข้าใจ เช่น ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.