RoboCup 2011 ชัยชนะที่มากกว่าถ้วยรางวัล

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( สิงหาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

เดือนกรกฎาคมถือว่าเป็นช่วงเวลาดีๆ ของเยาวชนได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการคว้าเหรียญทองแข่งขันฟสิกส์โอลิมปิก หรือนักเรียนระดับประถมชนะการแข่งขันคณิตศาสตร์โลก รวมถึงแชมป์โลกในการแข่งขันหุ่นยนต์ช่วยชีวิต ประเทศตุรกี

หลายต่อหลายครั้งที่ได้ยิน ไม่ว่าการแข่งขันอะไรก็ตาม หากเป็นการแข่งขันเดี่ยวคนไทยจะเก่ง แต่เมื่อไรก็ตามที่รวมตัวกันเป็นทีมมักจะพ่ายแพ้เสมอ ทว่าคำปรามาสเช่นนี้ ไม่น่าเป็นจริงเพราะหลังจากการเห็นการทำงานเป็นทีมของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถรักษาแชมป์สมัยที่ 5 ในการแข่งขัน World RoboCup 2011 ได้เป็นผลสำเร็จ

การแข่งขัน World RoboCup 2011 ครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 5-11 กรกฎาคม 2554 ในเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี มีทีมเข้าร่วมจาก 43 ประเทศ เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

โดยแบ่งการแข่งขันออกเป็น 4 ประเภทหลักๆ 1. หุ่นยนต์เตะฟุตบอล ขนาดกลางและเล็ก 2. หุ่นยนต์ Humanoid มีลักษณะคล้ายคน (แข่งเตะฟุตบอล) 3. หุ่นยนต์ช่วยชีวิต (World RoboCup Rescue) และ 4. หุ่นยนต์ดูแลบ้าน (RoboCup@home)

นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ มีโอกาสเดินทางร่วมไปกับบริษัทเอสซีจี ในฐานะผู้สนับสนุนทีม iRAP_Judy จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผู้ชนะการแข่งขัน Thailand Rescue Robot Championship 2010

นอกจากทีม iRAP_Judy แล้วยังมีมหาวิทยาลัยไทยอีก 2 แห่งที่เข้าร่วมแข่งขันในโปรแกรมหุ่นยนต์ช่วยชีวิต คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ทีม Success และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ทีม Stabilize

นอกจากนี้ยังมีทีมเยาวชนรุ่นเล็กเข้าร่วมแข่งขันหุ่นยนต์ช่วยชีวิตประเภท RoboCup Junior ทีม Thailand Team มีมูลนิธิไทยคมสนับสนุน ส่วนการแข่งขันหุ่นยนต์เตะฟุตบอล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทีม SKUBA เข้าร่วม

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับชัยชนะหุ่นยนต์แข่งขันเตะฟุตบอล ในขณะที่ทีม Thailand จูเนียร์ไม่ได้รางวัล เพราะเป็นครั้งแรกในการเข้าร่วมแข่งขัน และไม่ได้คาดหวังชัยชนะตั้งแต่แรกแต่มาเก็บเกี่ยวประสบการณ์

ส่วนการแข่งขันหุ่นยนต์ช่วยชีวิตทีม Success อยู่ในอันดับที่ 4 ทีม Stabilize คว้าอันดับ 3 ประเทศอิหร่าน ทีม MRL ได้ที่สอง และแชมป์อันดับ 1 ตกเป็นของทีม iRAP_Judy ประเทศไทย

ภาพรอยยิ้มทีมนักศึกษาไทยทั้ง 3 มหาวิทยาลัย ที่นำธงชาติไทยไปโบกสบัดคว้าชัยชนะในการแข่งขันหุ่นยนต์โลก ณ ฮอลล์ อิสตันบูล เอ็กซ์โป เซ็นเตอร์ ประเทศตุรกี ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเยาวชนไทย

เบื้องหลังการแข่งขัน 3 วัน วันที่ 7-8-9 กรกฎาคม ได้สร้างความกดดันให้กับทีม iRAP_Judy ไม่น้อย เพราะการแข่งขันในครั้งนี้มาเพื่อรักษาแชมป์ การแข่งขันจึงต้องมีสมาธิและเต็มไปด้วยปฏิภาณไหวพริบ

การแข่งขันหุ่นยนต์ช่วยชีวิต มีวัตถุประสงค์เพื่อประดิษฐ์หุ่นยนต์กู้ภัยในสถานการณ์จำลองอุบัติภัย เช่น อัคคีภัย อุทกภัย ภัยจากแผ่นดินไหว

หุ่นยนต์ต้องทำหน้าที่ค้นหาผู้รอดชีวิตหรือผู้เสียชีวิตที่ตกค้างอยู่ในซากปรักหักพังต่างๆ รวมถึงแสดงผลเส้นทางการเข้าไปช่วยเหลือ และรายงานข้อมูลผู้ประสบภัย เช่น ตรวจจับการเคลื่อนไหว ตรวจเช็กอุณหภูมิร่างกาย จับสัญญาณเสียงขอความช่วยเหลือ หรือจับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ทีมทำงานของ iRAP_Judy มีประมาณ 13 คน และมีสายันต์ พรายมี อาจารย์ที่ปรึกษา ส่งหุ่นยนต์เข้าแข่งขัน 2 รุ่น หุ่นยนต์บังคับด้วยมือ 2 ตัว ตัวที่ 1 ขนาด 50x70x40 ซม. น้ำหนัก 50 กิโลกรัม แขนกล้องสามารถยกขึ้นสูง 1.5 เมตร (ชื่อดิน) และตัวที่ 2 ขนาด 55x70x40 ซม. น้ำหนัก 55 กิโลกรัม หุ่นยนต์เคลื่อนที่สายพาน (ชื่อลูกเสือ) และอีกรุ่นที่ 2 หุ่นยนต์อัตโนมัติ ขนาด 35x40x55 ซม. น้ำหนัก 20 กิโลกรัม (ชื่อไฟ) ซึ่งทีมงานจะต้องเริ่มออกแบบหุ่นยนต์บังคับด้วยมือ และหุ่นยนต์อัตโนมัติ รวมถึงออกแบบด้านวงจรไฟฟ้า

กฎกติกาการแข่งขันจะแข่ง 3 ครั้ง ครั้งละ 15 นาที ใน 1 วัน สนามแข่งขันแบ่งพื้นที่ออกเป็น 6 โซน มีไม้อัดเป็นฉากกั้น แต่ละโซนจะมีความยากง่ายต่างกันไป เช่น พื้นที่ลาดเอียง บันได พื้นผิวขรุขระ พื้นที่อับสัญญาณ พื้นที่ในรถ และพื้นที่หยิบจับวัตถุสิ่งของส่งให้กับผู้ประสบภัย

ในวันแรก iRAP_Judy ทำคะแนนนำมาเป็นที่หนึ่ง โดยเฉพาะหุ่นยนต์บังคับมือสามารถเก็บคะแนนในการอ่านข้อมูลผู้ประสบภัยได้ค่อนข้างมาก ในขณะที่หุ่นยนต์อัตโนมัติเก็บคะแนนได้น้อย ส่วนทีม Success มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ รวมถึงทีม Stabilize ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครตามมาเป็นที่ 2 และ 3 ในขณะที่ทีม YRA และทีม MRL จากอิหร่านตามมาเป็นอันดับ 4 และ 5

หลังจากเข้าวันที่สอง ประเทศอิหร่าน ทีม MRL เริ่มตีตื้นขึ้นมาอยู่ใกล้เคียงกับ iRAP_Judy เพราะสามารถทำคะแนนในส่วนของหุ่นยนต์อัตโนมัติได้ดี โดยเฉพาะการสร้างแผนที่

การสร้างแผนที่เป็นจุดอ่อนของ iRAP_Judy มาตั้งแต่สร้างหุ่นยนต์ เพราะไปมุ่งเน้นให้ความสนใจเก็บคะแนนจากเหยื่อเป็นหลัก จึงทำให้วันที่สามรอบชิงชนะเลิศหากอิหร่านยังเก็บคะแนนสร้างแผนที่ได้ดี และพัฒนาในส่วนของการเก็บเหยื่อได้เพิ่มมากขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ที่อิหร่านจะคว้าชัยชนะ

ในสนามช่วงเวลาแข่งขันหุ่นยนต์จะถูกปล่อย ณ จุดเริ่มต้น โดยแข่งขันทีละทีมใช้เวลา 15 นาที ในสนามจะมีทีมงานอยู่ 2 คน ติดตามการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ ส่วนอีกหนึ่งคนทำหน้าที่บังคับหุ่นยนต์จะอยู่นอกสนาม ทำหน้าที่บังคับหุ่นยนต์ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ และรายงานคำตอบจากหุ่นยนต์ให้กับกรรมการที่ยืนอยู่ข้างๆ

ช่วงเวลาการบังคับหุ่นยนต์จะมีคู่แข่งเข้าร่วมสังเกตการณ์ตลอดเวลา เพื่อรายงานให้ทีมได้รับรู้ถึงสถานการณ์ต่างๆ อีกอย่างเป็นการป้องกันการตุกติกของผู้ร่วมเข้าแข่งขัน จนทำให้บางครั้งเกิดการปะทะคารมกันระหว่างทีมไทยและทีมอิหร่าน เพราะการสังเกตอย่างใกล้ชิดย่อมสร้างความกดดันให้อีกฝ่าย

ช่วงการแข่งขันที่ใช้เวลาติดต่อกันทุกวัน หุ่นยนต์อัตโนมัติของทีม success ประสบปัญหามีเหตุขัดข้อง ทำให้ไม่สามารถลงแข่งได้ ในขณะที่ทีม MRL ของอิหร่านหุ่นยนต์บังคับมือกล้องหักในขณะแข่งขัน จึงทำให้ iRAP_Judy ค่อนข้างได้เปรียบ แต่ก็ไม่สามารถวางใจได้เมื่อทีม Stabilize มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนครจับมือกับทีมกรีซ เข้าชิงชนะเลิศ

ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศมีทั้งหมด 5 ทีมเข้ารอบ ทีมไทย 3 ทีม และทีมอิหร่าน 2 ทีม ที่ขับเคี่ยวกันมาตั้งแต่วันแรก

สนามในรอบชิงชนะเลิศจะมีการปรับปรุงใหม่ให้มีความยากมากขึ้น พื้นที่ลาดเอียงมากขึ้น และเพิ่มจำนวนไม้กั้นเพื่อสร้างอุปสรรคให้หุ่นยนต์ลำบากมากขึ้น และเพิ่มเวลาแข่งขันเป็น 20 นาที

หลังจากปรับสนามแล้ว ทุกทีมโดยเฉพาะในส่วนของคนบังคับหุ่นยนต์จะมีโอกาสเข้าสังเกตสนามใหม่จากบริเวณด้านนอกได้

ทีมแรก เริ่มด้วยทีม Stabilize ทำคะแนนได้น้อยที่สุด ตามด้วยทีม YRA อิหร่าน ทีม Success ทีม MRL และทีม iRAP_Judy

ทีม MRL คาดหวังว่าจะเก็บคะแนนจากหุ่นยนต์อัตโนมัติเพราะสามารถเขียนแผนที่ได้ดี จนทำให้ฉุดขึ้นมาเป็นอันดับ 2 รองจาก iRAP_Judy

ทีม MRL ที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นนักวิจัยระดับหัวกะทิของอิหร่าน ในขณะที่ทีม iRAP_Judy เป็น เด็กเรียนหนังสือระดับปานกลาง แต่มีใจรักในการสร้างหุ่นยนต์

ทีม MRL ก็ต้องพลาดจากการเลือกใช้หุ่นยนต์อัตโนมัติ เพราะช่วงเวลาแข่งขัน หุ่นยนต์ไม่สามารถเก็บคะแนนได้เหมือนในวันแรกและวันที่สอง

สายันต์ พรายมี อาจารย์ที่ปรึกษาทีม iRAP_ Judy บอกว่า ทีมอิหร่านตั้งโปรแกรมออฟไลน์ให้กับหุ่นยนต์อัตโนมัติ สั่งให้หุ่นยนต์เดินทางตามกำหนด จึงทำให้วันแรกและวันที่สองเก็บคะแนนได้ดี และสังเกตได้ว่า หุ่นยนต์จะเก็บคะแนนจุดเดิม แต่เมื่อมีการปรับสนามใหม่ อิหร่านไม่ได้ปรับโปรแกรมทำให้หุ่นยนต์ทำงานตามโปรแกรมเดิม จึงทำให้การทำงานผิดพลาด

ในขณะที่หุ่นยนต์อัตโนมัติของ iRAP_Judy ใช้โปรแกรมระบบอัตโนมัติธรรมดา เมื่อหุ่นยนต์เจออุปสรรค โปรแกรมจะสั่งให้หลบหลีกอุปสรรคได้เอง

ทีมอิหร่านพลาดพลั้งในครั้งนี้ ทำให้ iRAP_Judy กลับมาได้เปรียบอีกครั้ง หลังจากเริ่มออกจากจุดสตาร์ท หุ่นยนต์ลูกเสือ (หุ่นยนต์บังคับมือสายพาน) ที่ iRAP_Judy เลือกใช้เพื่อคว้าแชมป์ในครั้งนี้สามารถผ่านอุปสรรคได้อย่างราบรื่น แม้กระทั่งคู่แข่ง อย่างทีม Success ชมว่า “สุดยอด” หรือแม้แต่ทีมอิหร่าน YRA ดูการแข่งขันจนนาที สุดท้ายยังออกปากว่า “very smooth”

กัญจนัศ แสนบุณศิริ (แสตมป์) รับหน้าที่บังคับหุ่นยนต์และงานเครื่องกล บอกว่าทีมจะให้ความสำคัญในการเก็บเหยื่อ มากที่สุด เพราะจะเป็นตัวเพิ่มคะแนนและหลีกเลี่ยงบางจุด เช่น ยื่นน้ำให้เหยื่อเพราะต้องใช้เวลานานเกินไป แม้กระทั่งการอ่านแผนที่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก

แต่ก็ยอมรับว่าการสร้างแผนที่เป็นเรื่องสำคัญ ทว่าทีมยังไม่มีคนชำนาญด้านการเขียนโปรแกรม ซึ่งอาจต้องหามาเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต

“ในความจริงแล้ววัตถุประสงค์ของการแข่งขันหุ่นยนต์ช่วยชีวิต ต้องการให้หุ่นยนต์สามารถสร้างแผนที่ เพื่อให้คนด้านนอกเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย เพราะหุ่นยนต์ไม่ใช่ทำหน้าที่ช่วยชีวิต” ดร.พรภพ นัยเนตร ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานจัดการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์ประเทศไทยกล่าว และเขายังบอกอีกว่าการแข่งขันในประเทศ ที่ผ่านมา ทีมที่เข้าแข่งขันในส่วนของการสร้างแผนที่จะได้คะแนนเพียง 1 หรือ 0 คะแนนเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ชัยชนะของทีม iRAP_Judy ในครั้งนี้เกิดจากการทำงานหนักของทีมนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มาร่วมปี และนักศึกษาส่วนใหญ่รู้จักกันมาตั้งแต่ระดับ ปวช. มีการถ่ายทอดความรู้รุ่นพี่สู่รุ่นน้อง

จึงทำให้มหาวิทยาลัยรักษาแชมป์ได้ในสมัยที่ 5 ของปีนี้ ที่ผ่านมาเป็นแชมป์ มา 4 สมัยคือ ปี 2549 แชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัย เยอรมนี ปี 2550 ชนะการแข่งขันในสหรัฐอเมริกา ปี 2552 ประเทศออสเตรีย และปี 2553 ประเทศสิงคโปร์ โดยปี 2551 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้แชมป์โลก หุ่นยนต์กู้ภัยที่ประเทศจีน

เป้าหมายของการแข่งขัน World RoboCup ในแต่ละปี ไม่ได้จัดเพื่อชิงถ้วยรางวัลเพียงอย่างเดียว แต่แก่นแท้ของการแข่งขันก็เพื่อฝึกฝนพัฒนาให้เยาวชนโลกได้มีการแลกเปลี่ยนผลงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และวิศวกรรมเพื่อสร้างหุ่นยนต์ให้สามารถช่วยเหลือมนุษย์ได้อย่างแท้จริง คือเป้าหมายสูงสุด

การเตรียมพร้อมของทีมงานแต่ละประเทศเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การแข่งขันประสบความสำเร็จในทุกปี รวมถึงทีม iRAP_Judy ได้ฝึกฝนอย่างหนักทำให้สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี โดยเฉพาะกัญจนัศที่ทำหน้าที่บังคับหุ่นยนต์ต้องทุ่มเทในการฝึก บางวันมากกว่า 10 ชั่วโมง หรือซ้อมจนกระทั่งหุ่นยนต์พัง และหัวใจความสำเร็จที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ “การทำงานเป็นทีม” ที่มีใจรักในหุ่นยนต์

ในปีหน้ามหาวิทยาลัยจะส่งหุ่นยนต์กู้ภัยแข่งขันเช่นเดิมและส่งหุ่นยนต์ Robo Cup@home เป็นครั้งแรก เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่อไป

ชัยชนะของเยาวชนไทยในการแข่งขันหุ่นยนต์ หรือด้านอื่นๆ แสดงให้เห็นแล้วว่า คนไทยแท้จริงไม่ได้เก่งเฉพาะการแข่งขันประเภทเดี่ยว แต่การแข่งขันเป็นทีม ก็ไม่เป็นรองใครในโลกนี้เช่นกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.