ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ ณ ไร่ปลูกรัก

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( สิงหาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

คำว่า “ออแกนิก เกษตรอินทรีย์” เป็นคำที่ได้ยินได้ฟังบ่อยครั้งมากขึ้นในระยะหลัง เพราะสุดท้ายแล้วคนไทยบางส่วนเริ่มมองเห็นว่าการบริโภคอาหารไม่เป็นพิษ ย่อมทำให้สุขภาพจิตและร่างกายแข็งแรง

“ไร่ปลูกรัก” เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการหลายๆ แห่งที่ริเริ่มน้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อ 11 ปีก่อน

ภายในงาน “MADE IN THAILAND 2011” ณ เมืองทองธานี เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการระดับเอสเอ็มอีได้มีโอกาสส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ

สินค้ามากมาย อาทิ เสื้อผ้า เครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน รวมถึงอาหารนานาชนิด ได้นำมาจัดแสดงแลกเปลี่ยนกับนักธุรกิจด้วยกัน รวมทั้งเปิดขายให้กับประชาชนทั่วไป

จากการสังเกต ภายในงานจะเห็นว่าเริ่มมีสินค้าสุขภาพเพิ่มมากขึ้น เครื่องดื่มธัญพืช เช่น น้ำข้าวโพด น้ำข้าวสาลี หรือแม้แต่น้ำยาชีวภาพป้องกันไรฝุ่นภายในรถยนต์

มีบูธเล็กๆ วางสินค้าเป็นขวดขนาดย่อมสีน้ำตาลจำนวนหนึ่ง มีฉลากติดไว้ข้างขวดว่าเป็น “น้ำส้มสายชูหมัก” ผลิตจากข้าวหอมมะลิอินทรีย์ มีกระบวนการปลูกด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ เป็นสินค้าใหม่ที่จะเริ่มออกจำหน่ายในเดือนสิงหาคมนี้

กานต์ ฤทธิ์ขจร ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไทยออแกนิกฟูดส์ จำกัด เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่หันมาทำธุรกิจเกษตรอินทรีย์ให้ผู้จัดการ 360 ํ ฟังว่า เริ่มจากตัวเขาทำงานในเมืองมานาน มองว่าคุณภาพชีวิตไม่ค่อยดี จึงทำให้เขาและครอบครัวตัดสินใจย้ายออกสู่ต่างจังหวัดเพื่อมองหาที่ดินสักแปลงปลูกพืชไร่ปลอดสารพิษไว้กินและขายไปด้วย

เขาได้เลือกซื้อที่ดินจำนวน 60 ไร่ ในจังหวัดราชบุรี เริ่มจากปลูกข้าวหอมมะลิ พืชผักสวนครัว เช่น พริก หอม กระเทียม ทำบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด และเลี้ยงวัว ซึ่งกระบวนการจัดการดูแลไร่จะเป็นระบบเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด พืชผักที่ปลูกในไร่จะไม่ใช้ยาฆ่าแมลง จะใช้พืชบางประเภทฆ่าแมลง เช่น ฆ่าเพลี้ยด้วยสะเดา ส่วนมูลสัตว์จะนำไปทำปุ๋ยให้กับต้นไม้

ผลผลิตที่ได้นอกจากใช้ในการบริโภคภายในครัวเรือนแล้ว ส่วนหนึ่งจะนำส่งขายในห้างสรรพสินค้า แต่หลังจากทำธุรกิจค้าขายช่วงระยะเวลาหนึ่ง พบว่า ผักที่ส่งขายไปตามร้านค้าจะมีอายุอยู่ได้ไม่นาน และเน่าเสียเร็ว จึงทำให้เริ่มคิดค้นผลิตสินค้าแปรรูปเพื่อให้อาหารอยู่ได้นาน และสินค้ามีราคาสูงขึ้น

กานต์เริ่มศึกษาตลาดและความต้องการของผู้บริโภคเป็นสิ่งแรก เรียนรู้และศึกษาทำการวิจัยและพัฒนาสินค้า โดยร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา

หลังจากนั้นเริ่มออกไปมองหาตลาดในต่างประเทศ โดยไปพร้อมกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อไปแสวงหาโอกาสว่าสินค้าที่ควรนำออกไปจำหน่ายมีอะไรบ้าง

การศึกษาตลาดทำให้พบว่าสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการ เช่น ซอสพริก น้ำพริกเผา น้ำส้ม โดยเฉพาะน้ำส้มสายชูหมัก ตลาดในย่านยุโรป สหรัฐอเมริกา และเอเชีย บางแห่งได้รับความนิยมเพราะสินค้ามีคุณประโยชน์ต่อร่างกายหลายประการ เช่น ปรุงอาหาร ทำเป็นเครื่องดื่มล้างพิษ ลดการเกิดภูมิแพ้ หรือช่วยลดความดัน อย่างไรก็ดี แม้สรรพคุณของสินค้าจะหลากหลาย แต่ผู้บริโภคควรศึกษาสินค้าที่ใช้บริโภค โดยไม่เชื่อคำบอกเล่าโฆษณาสินค้าจนเกินไป

จากแนวโน้มความต้องการในตลาดต่างประเทศ ทำให้บริษัทตัดสินใจสร้างโรงงานเมื่อปี 2550 ส่งสินค้าออกจำหน่ายในต่างประเทศเป็นหลัก หรือร้อยละ 80 ส่งออกและขายในประเทศเพียงร้อยละ 20

ก่อนที่จะส่งสินค้าไปขายในต่างประเทศ บริษัทต้องนำสินค้าทดสอบมาตรฐานอาหารของต่างประเทศ เช่น ผ่านการรับรองสถาบัน IFOAM accredited เป็นมาตรฐานที่ได้รับการรับรองจากประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรอง หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่มาจากฟาร์มหรือสถานประกอบการที่มีการจัดการ ดิน น้ำ และระบบการผลิต (พืชและสัตว์) การเก็บเกี่ยว การจัดเก็บ การแปรรูป-บรรจุ และการขนส่งจนถึงมือผู้บริโภค โดยไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ต้องห้าม เน้นการป้องกันและรักษาโรคโดยคำนึงถึงระบบนิเวศ รวมถึงการดูแลสวัสดิภาพของลูกจ้าง ในฟาร์ม

เพื่อให้สินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นไปตามมาตรฐานในประเทศไทยจะมีสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย (ACT) หรือ Organic Agriculture Certification Thailand เข้าไปตรวจอย่างเป็นทางการหนึ่งครั้งในระยะเวลา 1 ปี

ในเวลา 1 ปี หน่วยงานสามารถเข้าไปสุ่มตรวจได้อีกหลายครั้ง โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้ากับผู้ประกอบการ นั่นแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการต้องมีความซื่อสัตย์ในการปฏิบัติตามกฎระเบียบให้เป็นไปตามกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์

ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์กลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภคที่ต้องการดูแลสุขภาพร่างกาย แต่ด้วยความสามารถการผลิตของไร่ปลูกรักที่ได้ผลผลิตปีละ 50-60 ตันต่อไป จึงไม่เพียงพอต่อการผลิต บริษัทจึงได้ร่วมมือกับเกษตรกรภาคเหนือและภาคอีสาน ร่วมมือกันในรูปแบบคอนแทคฟาร์มมิ่ง บริษัทรับซื้อผลผลิตเพื่อนำมาแปรรูป

เหตุผลในการทำคอนแทคฟาร์มมิ่ง เพราะบริษัทไม่ต้องการลงทุนขยายธุรกิจเพิ่มมากจนเกินไป เพราะการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ลงทุนสูง โดยเฉพาะค่าแรงเป็นต้นทุนหลักถึงร้อยละ 60 ส่วนที่เหลือเป็นต้นทุนการจัดการบริหาร เช่น ด้านวัตถุดิบ และยังมีความเสี่ยงสูงในการทำธุรกิจที่เกิดจากภัยธรรมชาติ อาทิ น้ำท่วม ไฟป่า และสภาพอากาศร้อน

ความเสี่ยงเหล่านี้มีทั้งควบคุมได้ และควบคุมไม่ได้ จึงทำให้บริษัทไม่ต้องการรับภาระหนักจนเกินไป ดังนั้น จึงเลือกความร่วมมือกับเกษตรกรด้วยกันเอง

ผลิตภัณฑ์หลัก บริษัทจะผลิตจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของตนเอง และรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์อื่น (Original Equipment Manufacturer: OEM) ให้กับคู่ค้าในต่างประเทศ สำหรับแบรนด์ที่จำหน่ายเองชื่อว่า Thai Organic food

แม้ว่าบริษัทจะมีแบรนด์เป็นของตนเองแล้วก็ตาม แต่ยอมรับว่ายังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เพราะบริษัทอยู่ในช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจ ซึ่งกานต์ยอมรับว่าธุรกิจของเขาเปรียบเหมือนเด็กเกิดใหม่

ด้วยธุรกิจเพิ่งเริ่มก่อตั้งไม่นาน ทำให้ผู้บริหารต้องเดินทางไปต่างประเทศเพื่อแนะนำสินค้าจนถึงปัจจุบัน ใน 1 ปีต้องเดินทางนับสิบครั้ง เพราะยังไม่สามารถโหมโฆษณาสินค้าเนื่องจากทุนไม่มาก เพราะปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท

แม้ว่าที่ผ่านมาบริษัทจะเน้นจำหน่ายสินค้าในตลาดต่างประเทศถึงร้อยละ 80 แต่ในช่วงปีนี้ได้เริ่มหันมาผลิตสินค้าเพื่อป้อนตลาดในประเทศไทยและเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า โดยจะนำน้ำส้มสายชูหมัก บรรจุขวดแก้วปริมาณ 310 มิลลิลิตร ราคา 120 บาท จำหน่ายในห้างท็อปซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านเลมอนฟาร์ม ซึ่งทั้งสองร้านค้าจะให้ความสำคัญกับอาหารที่ผลิตจากเกษตรอินทรีย์

ในขณะเดียวกันบริษัทจะเปิดร้านจำหน่ายสินค้าแห่งแรกในจังหวัดราชบุรี บนถนนเพชรเกษม และสินค้าภายในร้านจะนำมาจากฟาร์มทั้งหมด

ด้วยประสบการณ์ในการผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ครบวงจร ทำให้บริษัทรับเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ที่สนใจ และผู้ประกอบการ เช่น การปรับปรุงคุณภาพดิน การทำปุ๋ยหมัก เทคนิคการเพาะเมล็ดและกล้าพันธุ์ การวางแผนระบบขนส่ง การบริหารจัดการแรงงาน การรับซื้อ ผลผลิตจากเกษตรกรอินทรีย์ เป็นต้น

นอกจากให้คำปรึกษาด้านเกษตรอินทรีย์ บริษัทยังได้เปิดไร่ปลูกรักให้เป็นศูนย์เรียนรู้สำหรับครอบครัว โดยเฉพาะเด็กๆ ให้มีโอกาสได้สัมผัสกับพืชผักสวนครัว บริษัทจึงได้จัดโปรแกรม Organic Family Day ทัวร์ไร่ 1 วัน โดยเก็บค่าใช้จ่าย ผู้ใหญ่ 650 บาทต่อคน เด็ก 350 บาท ต่อคน

www.thaiorganicfood.com เป็นช่องทางสร้างรายได้ให้กับบริษัทอีกส่วนหนึ่ง ธุรกิจที่เริ่มต้นจากทุนไม่สูง แต่กานต์ก็มีความมุ่งมั่นว่าผลผลิตที่ได้จากไร่ของเขาสร้างคุณภาพชีวิตให้กับครอบครัว ไม่เพียงเท่านั้นยังสร้างรายได้ให้อีกทางด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.