ฟาร์มของพระราชินี ห้องเรียนสู่สมดุล 'ชีวิต' และ 'สิ่งแวดล้อม'

โดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( สิงหาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

“ที่ฉันทำฟาร์มตัวอย่างนี้ เพื่อสอนชาวบ้านให้สะสมอาหารเพิ่มขึ้น จะได้ไม่มีปัญหาเรื่องอาหารการกิน และทำฟาร์มตัวอย่าง และอย่างที่ 2 คือต้องการให้ทุกๆ คน ที่ข้าพเจ้าพบปะได้มีอาชีพ มีทางทำมาหากิน คือ รับเขาเข้ามาแล้วจ่ายเงินให้เขาเป็นลูกจ้างในฟาร์มฯ เวลาเดียวกันเขาก็เห็นวิธีเลี้ยงเป็ด เลี้ยงแกะ เลี้ยงอะไร ตั้งหลายอย่าง ได้เงินและได้ค่าจ้างทุกวัน ข้าพเจ้าก็บอกว่าต้องการคนงานมากๆ เพื่อให้ชาวเขาเหล่านี้ได้มีงานทำ” พระราชดำรัสในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2546 ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

วันที่ 11 สิงหาคมของทุกปี หนึ่งวัน ก่อนวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หนึ่ง ในหัวข้อที่ปรากฏอยู่ในพระราชดำรัสที่พระองค์ท่านฯ พระราชทานแก่พสกนิกรเป็นประจำทุกปี คือเรื่องของฟาร์มตัวอย่าง

ฟาร์มตัวอย่างถือเป็นโครงการในพระราชดำริของสมเด็จฯ ที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยราษฎร นอกเหนือจากโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีอยู่มากกว่า 4,000 โครงการทั่วประเทศไทย เป็นโครงการซึ่งส่งเสริม สนับสนุน และเป็นส่วนเติมเต็มซึ่งกันและกันในการช่วยเหลือราษฎร และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยในรูปแบบที่ยากจะหาโครงการเช่นนี้ที่ไหนในโลกมาเทียบเคียง ทั้งด้วยวัตถุประสงค์และรูปแบบที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินและผู้อยู่อาศัยในแผ่นดินโดยแท้จริงอย่างมิทรงหวังผลตอบแทนใดๆ

รูปแบบและการปฏิบัติของฟาร์มตัวอย่าง มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งอาหาร และจ้างแรงงานให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ เป็นแหล่งเรียนรู้งานด้านการเกษตร และเพื่อพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรตามความเหมาะสมในโอกาสต่อๆ ไป หาก แต่ประโยชน์ระหว่างนั้นที่ราษฎรได้รับ มีตั้งแต่การได้ความรู้ในการประกอบอาชีพเพิ่มขึ้น เพื่อพัฒนาไปสู่การมีอาชีพ อาชีพเสริมและการมีรายได้ที่มั่นคง มีแหล่งอาหารไว้บริโภคในครัวเรือน และมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นและพอเพียงแก่การดำรงชีวิต

“ประโยชน์ในขั้นต้นเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะพระองค์ฯ ท่านทรงเล็งเห็นแล้วว่า เมื่อชาวบ้านมีรายได้พอเพียง มีที่ประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่ง พวกเขาก็จะไม่บุกรุกทำลายป่า ไม่อพยพทิ้งถิ่นฐานไปประกอบอาชีพอื่น แถมยังเกิดจิตสำนึก หวงแหนทรัพยากรป่าไม้ของชาติและร่วมมือดูแลรักษาให้คงอยู่ตลอดไป เพราะการเรียนรู้เกี่ยวกับเกษตรในฟาร์มจะทำให้เขารู้ว่าธรรมชาติมีผลต่อการประกอบอาชีพของพวกเขาอย่างไร ขณะที่ฟาร์มฯ ก็สามารถพัฒนาเป็นศูนย์สาธิตและนำรูปแบบไปพัฒนาในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป” จรูญ อิ่มเอิบสิน นักเกษตรในพระองค์กล่าว

เป้าหมายและประโยชน์ของฟาร์ม ทำให้ฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จฯ เปรียบเสมือนห้องเรียนที่จะนำพาผู้คน โดยเฉพาะเกษตรกรและกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสทางอาชีพ พัฒนาตัวเองไปสู่สมดุลของ 'ชีวิต' สู่การเป็นผู้มีโอกาส มีช่องทางการ เรียนรู้เพื่อพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตของตนเองจากการเข้ามาทำงานในฟาร์มซึ่งเปิดกว้างสำหรับทุกคน

ขณะเดียวกันการพัฒนาให้ชาวบ้านสามารถปักหลักเลี้ยงชีพเป็นหลักแหล่ง ก็ส่งผลดีต่อการรักษาและช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะป่าไม้และต้นน้ำไม่ให้ถูกบุกรุกเพื่อประโยชน์ของคนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงกลุ่มเดียว แต่อาจจะเกิดผลเสียในวงกว้างอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์อีกด้วย

“อาจจะพูดได้ว่า เป้าหมายจริงๆ ของโครงการฟาร์มฯ คืออยากได้ป่าคืนมา เพราะทรงเล็งเห็นว่าเมื่อมีป่า คนในประเทศ ก็ได้ใช้ประโยชน์จากป่า นั่นเท่ากับว่าพระองค์ฯ ท่านไม่ได้ทรงช่วยแต่ชาวเขาดังที่ชาวบ้านบางกลุ่มสับสนและเข้าใจผิด เพราะมองไม่ลึกถึงเป้าหมายที่แฝงลึกลงไป ขณะที่พระองค์ฯ ท่านทรงตระหนักดีว่า ชาวเขาคือกลุ่มคนที่อาศัยอยู่บริเวณต้นน้ำ อาศัยป่า หากไม่เข้าไปดูแลจัดการ ย่อมเสี่ยงที่ป่าและต้นน้ำจะเกิดความเสียหายจากการรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำกิน”

ฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จฯ จึงเริ่มต้นดำเนินงานโครงการแรกๆ ในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการสูญเสียทรัพยากรป่าไม้และต้นน้ำ เนื่องจากมีชาวเขาอาศัยทำกินอยู่ใกล้พื้นที่ป่าจำนวนไม่น้อย จนเป็นที่มาถึงความเข้าใจที่สับสนว่าทรงช่วยชาวเขาเป็นหลัก แต่ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาก็ประสบความสำเร็จทั้งในแง่ของการสร้างอาชีพ การพัฒนาคุณภาพชีวิต และการรักษาป่าต้นน้ำไปพร้อมๆ กัน

“การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและป่าไม้เป็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้โครงการเกษตรส่วนพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่ได้นำมาอธิบาย โดยตรงแต่เป็นแนวทางที่แฝงอยู่ และไม่ได้ระบุอยู่ในวัตถุประสงค์ของโครงการที่เผยแพร่ออกไป การที่โครงการฟาร์มตัวอย่างสามารถให้ชาวเขามีอาชีพเลี้ยงตัวอยู่กับที่ดินเดิม นอกจากถือว่าประสบความสำเร็จในด้านการจัดการฟาร์ม ยังถือเป็นความสำเร็จในการรักษาต้นน้ำลำธารให้คงอยู่และฟื้นฟูพื้นที่ป่ากลับมาให้ประเทศได้ด้วย”

โครงการเกษตรส่วนพระองค์ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เริ่มต้นจากโครงการฟาร์มตัวอย่าง แต่ปัจจุบันขยายรูปแบบออกไปเพื่อให้เหมาะสมกับการจัดการตามสภาพพื้นที่ต่างๆ เป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ โครงการฟาร์มตัวอย่าง ซึ่งส่วนประกอบในโครงการจะมีกิจกรรมด้านการเกษตรที่หลากหลาย ทั้งทำนา ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลา ไปจนถึงการ พัฒนาผลิตภัณฑ์จากการเกษตรและการพัฒนาการอาชีพเสริมตามความเหมาะสมกับพื้นที่หลากหลายกิจกรรม ปัจจุบันมีอยู่ 56 แห่ง กระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศไทย

แบบที่สองเป็นการพัฒนาการเกษตรที่สูง ประมาณ 20 กว่าแห่ง โครงการดังกล่าวมีเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อเข้าไป จัดการเขตพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านที่อยู่ติดต่อกับเขตป่า และเพื่ออนุรักษ์ป่าและป้องกันการบุกรุกไปในตัว หากชาวบ้านสามารถมีอาชีพและสร้างความพอเพียงและพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ตามอัตภาพ เป็นโครงการที่สมเด็จฯ ทรงได้รับพระราชทานแนวทางดำเนินงานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และส่วนหนึ่งมาจากการปรับปรุงโครงการฟาร์มตัวอย่างซึ่งมีกิจกรรมหลากหลายและบางกิจกรรมไม่เหมาะที่จะทำในเขตที่สูงหรือใกล้เขตป่าไม้

ส่วนรูปแบบที่สามคือโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ เป็นโครงการในช่วงเริ่มต้น จัดเป็นงานทดลองเพื่อหาแนวทางที่จะทำให้คนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืนและไม่ทำลายป่า ปัจจุบันมีเพียง 5 แห่งทั่วประเทศ ส่วนมากเป็นโครงการที่อยู่ตามแนวชายแดน

สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่าลงมือทำ คงเป็นสุภาษิตที่นำมาใช้ในการอธิบายหลักการของฟาร์มตัวอย่างได้ชัดเจน ดังที่สมเด็จฯ ทรงพระราชทานแนวทางดำเนินงานของฟาร์มฯ ไว้ตั้งแต่ต้นว่า ควรจัดให้เป็นสถานที่ให้เกษตรกรใช้เป็นเหมือนโรงเรียน เป็นเหมือนห้องปฏิบัติการ เป็นสถานที่ที่ทุกคนที่ก้าวเข้ามามีโอกาสได้ลงมือทำจริงในสิ่งที่สนใจนั่นเพราะพระองค์ไม่ทรงเชื่อว่า การให้ความรู้ด้วยการแนะนำสั่งสอนโดยไม่ลงมือจะได้ผลจริง

“พระองค์ท่านทรงเชื่อว่า การจะจัดอบรมเกษตรกรโดยใช้วิธีจัดอบรมระยะสั้นสามวันเจ็ดวัน แล้วเรียนในห้องเรียน มีการทดลองทำงานบ้างเล็กๆ น้อยๆ ผลออกมามักจะทำไม่ได้ กลับไปแล้วก็ไม่ประสบความสำเร็จ ท่านทรงเชื่อว่าชาวนาไทย ราษฎรไทยเรานี่ หากให้โอกาสได้เริ่มต้นความรอบรู้ของเขา ต่อไปเขาจะเก่งยิ่งกว่าครูอีก อย่างภูมิปัญญาชาวบ้านก็เกิดในหมู่เกษตรกรเองทั้งนั้น แต่นั่นคือต้องให้โอกาสเขาได้เริ่มต้นเสียก่อน ดังนั้นท่านเลยเน้นเรื่องการเรียนรู้โดยให้ใช้วิธีปฏิบัติงานจริงๆ ซึ่งเราก็เห็นผลว่า เขาเรียนรู้แล้วเขาไปพัฒนาต่อยอดได้อย่างไร”

นักเกษตรในพระองค์ยกตัวอย่างความสำเร็จจากโครงการฟาร์มตัวอย่างที่อีแตะ ที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ในภาคเหนือ ซึ่งเป็นโครงการฟาร์มตัวอย่างโครงการแรกๆ ที่ถือว่าประสบความสำเร็จในหลายด้าน

“ที่อีแตะเป็นตัวอย่างของความสำเร็จจากที่เราปฏิบัติงานมา 13-14 ปี เราเห็นพัฒนาการของบ้านชาวบ้านจากบ้านชั่วคราวสร้างเป็นไม้ไผ่ ใบจาก มาเป็นบ้านถาวร ไม่ต้องสร้างบ่อย ไม่ต้องรบกวนป่า เป็นบ้านไม้ บ้านคอนกรีต บ้านปูน จากสภาพที่เห็นแล้วรู้ทันทีว่าเป็นชาวเขา ก็เริ่มไม่เหมือนชาวเขาเท่าไรแล้ว มีความมั่นคงของครอบครัวมากขึ้น แรงงานหลักของบ้านไม่ค่อยมาทำงานกับโครงการ ลาออกไปทำงานในที่ตัวเองสามารถส่งผลผลิตสู่ชุมชนสู่เมือง แต่ก็ยังมีการเชื่อมโยงพูดคุยกัน เพราะพื้นที่หมู่บ้านอยู่รอบฟาร์ม เขาสามารถส่งลูกเรียนจบ ปวช. ปวส. ปริญญาตรี เดี๋ยวนี้ผมได้ยินว่าจบปริญญาโทแล้วคนหนึ่ง”

จรูญยืนยันเพิ่มเติมว่า ในโครงการฟาร์มฯ บางแห่งของพื้นที่ภาคเหนือ ชาวเขายังหันมาทำนาในพื้นที่เดิม ทำให้จากที่ประเทศต้องเสี่ยงต้องระวังพื้นที่ป่าหลายหมื่นไร่ไม่ให้ถูกบุกรุก ก็จำกัดวงลงได้เมื่อชาวเขากลุ่มนี้เริ่มทำนาในพื้นที่ของตัวเองเป็นหลักแหล่ง

“ชาวเขาก็คงไม่อยากบุกรุกถากถางป่า มันเหนื่อยนะครับ ถ้าเขาผลิตข้าวได้เพียงพอ เขาก็ไม่ขึ้นไปทำอย่างอื่นแล้ว”

“โอกาส” ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงหยิบยื่นให้แก่พสกนิกรของพระองค์ ไม่ใช่แค่ทรงเปิดประตูห้องเรียนของพระองค์ สำหรับทุกคนเท่านั้น หากแต่ยังทรงคิดด้วยว่า หากใครที่สนใจจะเข้ามาศึกษาแต่มีอุปสรรคที่ต้องหาเลี้ยงครอบครัวอยู่ด้วย ถ้ามาเรียนก็จะขาดรายได้หรือไม่มีเวลาดูแลหาเลี้ยงครอบครัว ก็เท่ากับถูกตัดโอกาสในการเรียนรู้ จึงทรงพระราชทานเบี้ยเลี้ยงรายวันให้กับผู้เข้ามาศึกษางานในฟาร์มตัวอย่างแต่ละแห่งอีกด้วย

“เราไม่เรียกว่าเป็นค่าจ้างเพราะจะกำหนดเบี้ยเลี้ยงให้ต่ำกว่าค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ แต่เป็นเงินที่ทำให้เขามาเรียนได้โดยไม่เดือดร้อน บางแห่งเราต้องมีรถรับส่งชาวบ้านที่มาทำงานในฟาร์มด้วย เพราะฟาร์มแต่ละแห่งก็อยู่ในพื้นที่ห่างไกล แต่ละคนที่เข้ามาเรียนก็ใช้เวลาไม่เท่ากัน แต่ไม่มีใครคิดจะอยู่ไปตลอดชีวิตหรอกครับ เพราะถึงเวลาเมื่อเขาเรียนรู้จนเป็นแล้ว กลับไปทำงานในที่ดินของตัวเอง เขาจะได้มากกว่า เขาก็ออกจากโครงการไป”

ดังนั้น การวัดผลความสำเร็จของโครงการฟาร์มตัวอย่าง จะเริ่มวัดครั้งแรกเมื่อมีชาวบ้านหรือเกษตรกรสนใจเข้ามาศึกษาร่วมงานกับโครงการซึ่งถือเป็นความสำเร็จขั้นต้น

ส่วนความสำเร็จขั้นที่สองจะถูกวัดเมื่อผู้เรียนสามารถออกไปทำงานในที่ดินของตนได้เองตามแนวทางที่ได้เรียนรู้และสามารถยืนได้ด้วยตัวเองโดยใช้ความรู้จากฟาร์ม สร้างรายได้พอเพียงแก่การเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว รวมถึงมีคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีขึ้น นั่นถือเป็นความสำเร็จขั้นสูง แม้ว่าจะมีบ้างที่กลุ่มเกษตรกรเหล่านี้อาจจะต้องวนกลับมาหาความรู้เพิ่มเติมเมื่อเจอปัญหาในการประกอบอาชีพเกษตรบ้างในบางครั้งก็ตาม

“แต่ถ้าจะถือว่าเป็นความสำเร็จ 100% แสดงว่าฟาร์มตัวอย่างในพื้นที่นั้นๆ จะต้องปิดโครงการไปเลย เพราะนั่นเท่ากับว่าเราได้พัฒนาพื้นที่นั้นให้เกษตรกรดูแลและเลี้ยงชีพด้วยตัวเองได้แล้วอย่างทั่วถึง ไม่มีคนด้อยโอกาสหรือขาดอาชีพ เพราะการก่อตั้งฟาร์มจะเลือกพื้นที่ที่มีปัญหาที่ต้องการความช่วยเหลือ จากนั้นฟาร์มก็จะย้ายไปในพื้นที่ซึ่งยังไม่พัฒนาเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่อื่นต่อไป”

เกณฑ์การวัดผลสำเร็จของโครงการที่นักเกษตรในพระองค์สรุปให้ฟัง น่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้ดีว่า ในโลกนี้คงไม่มีห้องเรียนหรือโครงการที่ไหนในโลกอีกแล้ว ที่ยินดีจ้างคนเข้ามาเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง ดังที่โครงการฟาร์มตัวอย่างดำเนินงานอยู่ทุกวันนี้

ทั้งนี้ หากใช้ระบบการวัดผลตามหลักเศรษฐศาสตร์ทั่วไป โครงการฟาร์มตัวอย่างอาจจะไม่ประสบความสำเร็จสักโครงการ แต่นั่นก็ถือว่าเป็นหลักการวัดที่ใช้ไม่ได้กับโครงการฟาร์มตัวอย่างเช่นกัน

“พระองค์ท่านมีเป้าหมายชัดเจนที่จะช่วยเหลือเกษตรกร เพราะฉะนั้นการวัดผลอยู่ที่เราประเมิน เราอาจจะประเมินจากความสุขที่มากขึ้น คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ป่าไม้ที่ยังคงอยู่ใกล้ชุมชน ราษฎรมีอาชีพ นั่นคือเกณฑ์การวัดของโครงการ แต่ถ้าวัดเป็นตัวเงินไม่คุ้มหรอก เพราะเลี้ยงคนตั้งเท่าไร หนึ่งฟาร์มอาจจะใช้คนแค่ 20 คน แต่เราจ้าง 200 คน เพราะเป้าหมายเราคือ เพื่อเปิดโอกาสการเรียนรู้มันต่างกัน เพราะฉะนั้น สำหรับฟาร์มฯ โครงการจะสำเร็จเมื่อทุกคนพึ่งตัวเองได้ และมีความสุข ก็ถือเป็นความสำเร็จสุดท้ายแล้ว”

ณ ตอนนี้ ฟาร์มตัวอย่างแต่ละแห่ง แม้จะมีรายได้จากผลผลิตของฟาร์ม ส่วนใหญ่จะมีรายรับเฉลี่ยประมาณครึ่งหนึ่งของรายจ่ายที่ใช้ในแต่ละปี และแม้ว่า บางฟาร์มจะมีแนวทางที่สามารถทำกำไรจากผลผลิตได้เต็มที่ แต่หากผิดวัตถุประสงค์ที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อให้ชาวบ้านและเกษตรกรยืนได้ด้วยตัวเอง ฟาร์มตัวอย่างไม่เคยยอมให้จุดยืนนี้เสียไป

“มีการติดต่อขอทำสัญญาซื้อเหมาผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจากฟาร์มจากต่างประเทศ ซึ่งถ้าทำย่อมได้ราคาดีและมีตลาดรองรับแน่นอน แต่ฟาร์มไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างมาเพื่อทำกำไร เราไม่ได้ต้องการจ้างแรงงานเพื่อการผลิต เพราะฉะนั้นเป็นอันว่าปฏิเสธไป”

ขณะที่สิ่งใดที่เป็นการต่อยอดที่เกี่ยวเนื่องกับการเรียนรู้จะได้รับการตอบรับอย่างดี

ดังนั้นแทนที่ฟาร์มฯ จะเป็นแหล่งเที่ยวชมของพ่อค้าส่งพืชผลเกษตร กลับยินดีที่จะต้อนรับเกษตรกรด้วยกันเองจากต่างพื้นที่ที่มาเที่ยวชมซึ่งเป็นเป้าหมายหลักที่ตรงมากกว่า

“ในวัตถุประสงค์ข้อสุดท้ายของฟาร์มฯ ที่เรากำหนดไว้ คือการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพราะเราต้องการขยายโอกาสให้คนต่างพื้นที่ห่างไกลมีโอกาสได้รับรู้ความรู้ ข้อมูลข่าวสารในฟาร์มฯ เมื่อมาเที่ยวชมเขาจะได้คุยกับเกษตรกรตัวจริงที่ทำงานจริง แทนที่จะเจอนักวิชาการซึ่งอาจจะใช้คนละภาษาก็จะเข้าใจกันง่ายขึ้น เพราะได้คุยกับชาวบ้าน ระดับเดียวกัน”

นอกเหนือจากวิชาชีพที่เกษตรกรได้ติดตัวไปสร้างอาชีพที่มั่นคง สร้างรายได้ สร้างความสุขให้กับตัว ยังมีความรู้ที่เกษตร ได้รับติดตัวไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งถือเป็นองค์ความรู้ที่ยิ่งใหญ่อีกศาสตร์หนึ่งก็คือ ความเข้าใจในระบบนิเวศและภูมินิเวศที่พวกเขาอยู่อาศัยว่าเป็นเช่นไร แล้วพวกเขาควรจะอาศัยอยู่และทำกินอย่างไรให้เกิดผลเพียงพอที่จะอยู่ได้อย่างพอเพียง

นั่นเท่ากับการเข้าถึงความหมายอันยิ่งใหญ่ที่แฝงอยู่ของโครงการฟาร์มตัวอย่างอย่างแท้จริงอีกด้วย เพราะตามความหมายของนักมานุษยวิทยาเศรษฐกิจ “การอนุรักษ์” ถือเป็นกลไกสำคัญในการสร้างปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งครอบคลุมถึงการอนุรักษ์ภูมิปัญญาไว้ให้อยู่คู่กับชุมชน ดังจะเห็นว่าโครงการฟาร์มฯ หลายแห่งเริ่มมีการนำวิชาชีพที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้าไปฟื้นฟูเพิ่มขึ้นด้วย เช่น การจักสานไม้ไผ่ การทอผ้าไหม ฯลฯ โดยเฉพาะในโครงการในพื้นที่ภาคอีสานซึ่งเคยมีภูมิปัญญาเหล่านี้อยู่แต่ดั้งเดิม

ขณะที่กลวิธีในการทำฟาร์มฯ เพื่อรักษาป่า ก็ทำให้แนวทางการรักษาป่าที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสถึงและมีพระราชดำริเกี่ยวกับการดูแลรักษาป่าอยู่เสมอ โดยเฉพาะการกล่าวถึงคุณประโยชน์ของป่าในการเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นตลาด เป็นมรดกของภูมิปัญญาที่สืบทอดมาเป็นทุนให้กับผู้อาศัย เป็นที่เข้าใจมากขึ้นของคนทั่วไป อาทิ เกิด ความเข้าใจในกระบวนการผลิตของป่าในแต่ละช่วงเวลาและในแต่ละฤดูกาล ตีสี่หน้าฝนเก็บเห็ด ฤดูร้อน ฤดูแล้งเขย่าต้นไม้หาไข่มดแดง ฤดูใบไม้ผลิมีผักหวาน ฤดูร้อนย่างฤดูฝนแกงขี้เหล็ก เมื่อดอกขี้เหล็กบานมีแมลง เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งจะทำให้มนุษย์ดำเนินชีวิตสอดคล้องกันไปกับธรรมชาติได้อย่างไม่เบียดเบียนกันและกันจนเกินพอดี

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความรู้ในระบบนิเวศของพืชและสัตว์ที่มนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องได้โดยไม่จำเป็นต้องทำลายวงจรให้ขาด สะบั้น เช่นนี้แล้วจะไม่นับว่า ฟาร์มตัวอย่าง คือ โอกาสของการเรียนรู้อีกครั้งอันยิ่งใหญ่ ที่เปี่ยมด้วยคุณค่ามหาศาลที่คนไทยจะได้รับ เพื่อทำให้ตัวเองกลับเข้าไปอยู่ในวงจรของระบบนิเวศอย่างมีวัฒนธรรมและความรู้ที่อยู่ร่วมกับด้วยดีกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลได้อย่างมิพักต้องสงสัยใดๆ เลยได้อย่างไร

ที่สำคัญ คนในผืนแผ่นดินนี้ไม่ควรลืมว่า นี่คือหนึ่งในพระมหากรุณาธิคุณจาก “แม่ของแผ่นดิน” ที่ทรงมีต่อพสกนิกรของพระองค์เสมอมา


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.