เขตเศรษฐกิจบ่อหานปากทางเชียงรุ่ง

โดย เอกรัตน์ บรรเลง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( สิงหาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

บนพื้นที่ประมาณ 76.8 ไร่ พรมแดนจีน-ลาวที่มีเส้นทางคุน-มั่น กงลู่พาดผ่าน และจะมีทางรถไฟสายจีน-ลาว-ไทย เพิ่มขึ้นมาอีกในอนาคตไม่นานนี้ กำลังได้รับการแต่งโฉมครั้งใหญ่ให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจบนถนนสายยุทธศาสตร์อันสำคัญสายนี้

“เราหวังว่าที่นี่จะเป็นแหล่งรวมสินค้านำเข้าส่งออกระหว่างจีนกับอาเซียนอีกช่องทางหนึ่ง” หลิว หมิน จุน เลขานุการรองผู้ว่าการเขตพัฒนาเศรษฐกิจบ่อหาน เขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนาบอก

ด้วยยุทธศาสตร์เมืองหน้าด่าน จุดเชื่อมต่อเส้นทางคุน-มั่น กงลู่ จากมณฑลหยุนหนัน สป.จีน กับถนน R3a ใน สปป.ลาวที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ เริ่มเปิดใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ.2008 เป็นต้นมา กำลังจะมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงพาดผ่าน ทำให้ “บ่อหาน” ถูกใช้เป็นจุดตรวจปล่อยคน-สินค้าด้วย

โดยพื้นที่ดังกล่าว ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับการขนส่งสินค้า-คน ทั้งอาคารคลังสินค้าทัณฑ์บนศูนย์บริการศุลกากรแบบครบวงจร ภายใต้โมเดลเขตเศรษฐกิจเมืองชายแดนต่างๆ ที่ สป.จีนใช้ได้ผลมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพรมแดนด้านเหอโข่ว จีน-เวียดนาม, ชายแดนโหย่วอี้กวาน จีน-ล่างเซิน เวียดนาม, เต๋อหง จีน-มูเซ พม่า ที่มีเขตพัฒนาเศรษฐกิจแต่ละจุด สนับสนุนให้เกิดการค้าขึ้นละปีหลายหมื่นล้านบาท

(อ่านรายละเอียดเรื่อง “เต๋อหงช่องทางสินค้าจีนที่ไทยไม่อาจมองข้าม” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2553 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)

หลิวบอกว่า เขตพัฒนาเศรษฐกิจบ่อหาน เป็นเมืองหน้าด่านในการขนส่งทางบกที่เชื่อมโยงระหว่างไทย-ลาว-จีน โดยทุก สัปดาห์ได้มีการจัดแสดงสินค้าชายแดนไทย-ลาว-จีน แต่ที่ผ่านมายังขาดผู้ประกอบการจากไทยเข้าร่วมแสดงและจำหน่ายสินค้าในงานดังกล่าว เนื่องจากปัญหาด้านภาษาในการสื่อสาร

เขาเสนอให้ผู้ประกอบการไทยนำกล้วยไม้ไทยที่สวยงามไปแสดงที่สวนกล้วยไม้ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจบ่อหาน ซึ่งจะเป็นสวนขนาดใหญ่เป็นที่สนใจเข้าชมจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก

นอกจากนั้นสินค้าหัตถกรรมของเชียงใหม่ ยังเป็นสินค้าที่สวยงามและเป็นที่สนใจของชาวจีน รวมถึงผลไม้ไทยซึ่งเป็นผลไม้เมืองร้อนที่กำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

หลิวบอกอีกว่า การขนส่งสินค้าระหว่างบ่อหาน-เชียงราย-เชียงใหม่ ควรจะมีบริษัทขนส่งของ สปป.ลาว เป็นผู้เชื่อมโยงในการนำส่งสินค้าระหว่างกัน ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาการสื่อสารระหว่างเชียงใหม่และเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อหานหมดไปด้วย

ส่วนการประสานการสั่งซื้อหรือการชำระค่าสินค้าเสนอให้ใช้ช่องทางประสานงานทางอีเมลหรือทางโทรศัพท์ ก็จะทำให้เกิดความรวดเร็วและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้เห็นว่าผลไม้ไทยซึ่งเป็นผลไม้เมืองร้อนเป็นสินค้าทางการเกษตรที่ทางประเทศจีนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

สำหรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจบ่อหานนี้ Xiong Qinghua อธิบดีกรมพาณิชย์ มณฑลหยุนหนัน ระบุไว้ระหว่างนำคณะนักธุรกิจจีนกว่า 50 บริษัท เดินทางมาสำรวจลู่ทางการค้าการลงทุนผ่านคุน-มั่น กงลู่ และ R3a เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ว่า ในปี 2010 มีการค้าผ่านช่องทางนี้แล้ว 570 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.