NTHC ต้นแบบการค้าขายกับจีนที่ (น่าจะ)...แฟร์ที่สุด

โดย เอกรัตน์ บรรเลง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( สิงหาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

“NTHC ทำหน้าที่รับประกันให้กับทั้งผู้ซื้อว่าจะได้สินค้าตามที่สั่งแน่นอนและผู้ขายว่าต้องได้เงินถึงมือด้วยเช่นกัน ขจัดปัญหาการถูกโกงที่เคยเกิดขึ้นในกระบวนการค้าขายระหว่างไทย-จีน หลายครั้งที่ผ่านมาด้วย”

ในช่วงสายของวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมบนชั้น 4 วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี (วิทยาลัยสื่อ) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พงษ์เทพ บุตรชัย เจ้าของร้านรุ้งตะวัน OTOP บ้านถวาย ได้ลงนามในสัญญากับหวาง ซิง ผู้จัดการบริษัท M.R.P. group,LTD. เป็นสัญญาสั่งซื้อสินค้าหัตถกรรมจำพวกนางไหว้-เทพพนม-ช้างแกะสลัก ฯลฯ มูลค่าประมาณ 234,300 บาท เพื่อส่งขึ้นไปจำหน่ายยัง สป.จีน

เป็นดีลแรกที่เกิดขึ้นทันทีหลังพิธีลงนามในความร่วมมือระหว่างผู้บริหารวิทยาลัยสื่อ ในฐานะตัวแทนของ Northern-Thai Handicraft Center (NTHC) องค์กรนำร่องที่มีภารกิจในการทำตลาดงานหัตถกรรมใน สป.จีน กับ M.R.P.group, LTD. กลุ่มบริษัทอีเวนท์ ออแกไนเซอร์รายใหญ่จากปักกิ่ง

NTHC ได้รับความร่วมมือจากหอการค้าจังหวัดภาคเหนือตอนบนกลุ่มที่ 1 (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน) สำนักงานพาณิชย์จังหวัดภาคเหนือตอนบน จัดตั้งขึ้นภายใต้งบสนับสนุนจากกลุ่มจังหวัด 1 ล้านบาท ส่วน M.R.P.group, LTD. ก่อตั้งมานานกว่า 12 ปี ผ่านงานการสร้างแบรนด์สินค้าหลากหลายในจีน รวมทั้งมีส่วนร่วมในการจัดพิธีเปิดและปิดโอลิมปิกเกมส์ที่ปักกิ่ง เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

ภายใต้สัญญาความร่วมมือนี้ทั้ง 2 หน่วยงาน จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางนำสินค้าหัตถกรรมจากภาคเหนือตอนบนของไทย เริ่มจากกลุ่มผลิตภัณฑ์จากบ้านถวาย-สันกำแพงเข้าสู่ตลาดจีน ด้วยวิธี E-Commerce ผ่านเว็บไซต์ www.thaigo.cn และ www.thaigo.hk ที่ M.R.P.group, LTD. กำลังจัดทำขึ้น โดยมีหวาง ซิง เป็นผู้จัดการโครงการ

รวมทั้งนำเว็บไซต์ www.nthcthailand.com ซึ่งกำลังคัดสรรสินค้าบ้านถวายและแหล่งผลิตอื่นๆ ที่กำลังได้รับความนิยมจากผู้ซื้อชาวจีน อัพโหลดขึ้นเว็บไซต์ พร้อมกับเรียงร้อย Story แสดงถึงที่มาที่ไปของผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้น เพิ่มมูลค่าให้กับตัวสินค้าอีกทางหนึ่ง Link เข้ากับเว็บไซต์ Thaigo ด้วย

สัญญาระหว่างร้านรุ้งตะวันกับ M.R.P.group, LTD. อาจเป็นสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ประกอบการบ้านถวาย และผู้ซื้อชาวจีนที่จะพิสูจน์อนาคตของสินค้าหัตถกรรมภาคเหนือไทยในตลาดจีน รวมถึงลบล้างความหวาดผวาต่อการถูกก๊อบปี้ ที่คาใจ “สล่า” ภาคเหนือ สร้างความเชื่อมั่นแห่งความเป็นศิลปิน ว่าจิตวิญญาณในชิ้นงานหัตถศิลป์ของพวกเขา ไม่มีใครลอกเลียนแบบได้ 100%

หวาง ซิง ผู้จัดการบริษัท M.R.P. group, LTD. กล่าวว่า เขาสนใจในหัตถกรรมภาคเหนือของไทยที่มีเอกลักษณ์ เฉพาะ และศึกษาแล้วพบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะทำตลาดในจีน โดยจะเริ่มที่ปักกิ่งและหัวเมืองโดยรอบที่มีกำลังซื้อสูงอยู่แล้วก่อน จากนั้นก็จะขยายไปยังมณฑลอื่นๆต่อไป ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและจังหวะทางธุรกิจ

ขณะที่ E-Commerce ในจีนก็กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง มียอดการซื้อขายเกิดขึ้นนับล้านล้านหยวนต่อปี การนำงานหัตถกรรมจากภาคเหนือของไทยที่โดดเด่นอยู่แล้ว เข้าสู่ตลาดนี้ผ่านเว็บ thaigo ทั้งจีนและฮ่องกง ยิ่งจะเพิ่มโอกาสในการสร้างยอดขายมากขึ้นไปด้วย

“www.thaigo.cn และ www. thaigo.hk ที่จะทำขึ้นนี้ เชื่อว่ายอด page view ที่ 200-300 ล้านครั้งต่อปี ไม่น่าจะเป็นปัญหาสำหรับ M.R.P.group” หวาง ซิง กล่าว

ภราดร สุรีย์พงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมและการจัดการความรู้ วิทยาลัยสื่อ บอกว่าวิทยาลัยสื่อก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเพิ่ม ขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการอยู่แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการภาคเหนือตอนบนที่มีฝีมืออยู่เต็มเปี่ยม แต่ยังมี ขีดจำกัดด้านการตลาด ดีไซน์ ขนส่ง ฯลฯ ซึ่ง NTHC จะเข้าไปช่วยในส่วนนี้ ภายใต้งบประมาณสนับสนุนจากกลุ่มจังหวัด กำหนดระยะเวลาทำงาน 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2554

NTHC จะคัดเลือกสินค้าหัตถกรรมภาคเหนือตอนบนที่มีศักยภาพสำหรับตลาดจีน ให้เหลือ 500 รายการก่อน จากนั้นพิจารณาอีกชั้น ให้เหลือประมาณ 200 รายการ เพื่อเข้าร่วมโครงการนำร่องนี้ ซึ่งล่าสุดขณะนี้มีสินค้าที่ถูกคัดเลือก และอัพโหลดขึ้น www. nthcthailand.com กว่า 80 รายการแล้ว

นอกจากจะนำสินค้าที่ผ่านการคัดสรรเข้าทำตลาด E-Commerce ที่วิทยาลัยสื่อจะเข้าไปช่วยด้าน Digital Content ด้วยแล้ว NTHC ก็จะนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่างๆ ทั่วประเทศจีน ที่ M.R.P.group, LTD. ซึ่งเป็นออแกไนเซอร์คอยประสานงานให้ พร้อมกับใช้ศูนย์ประสานงาน-จำหน่ายสินค้าหัตถกรรมภาคเหนือของ NTHC ที่เปิดขึ้นแล้วที่เมืองเชียงรุ่งและนครคุนหมิง กระจายสินค้าไปยังมณฑลอื่นๆ ของจีนต่อไป รวมถึงจะมีการหารือถึงแนวทางที่จะเปิด Gallery โชว์ผลงานหัตถกรรมจากภาคเหนือของไทยที่กรุงปักกิ่งในอนาคตอีกด้วย

“ไม่เพียงเท่านั้น NTHC ยังทำหน้าที่รับประกันให้กับทั้งผู้ซื้อว่าจะได้สินค้าตามที่สั่งแน่นอน และผู้ขายว่าต้องได้เงินถึงมือด้วยเช่นกัน ขจัดปัญหาการถูกโกงที่เคยเกิดขึ้นในกระบวนการค้าขายระหว่างไทย-จีน หลายครั้งที่ผ่านมาด้วย”

ทั้งนี้ NTHC ที่ได้รับการก่อตั้งขึ้นเป็นโครงการนำร่องให้กับสินค้าหัตถกรรมภาคเหนือตอนบนในตลาดจีนนี้ นอกจากจะมีวิทยาลัยสื่อร่วมสนับสนุนหลักแล้ว ประเด็นสำคัญยังมุ่งเน้นที่จะแก้ปัญหาความเชื่อถือให้ทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขาย โดยมีสรภพ เชื้อดำรง รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ฝ่ายอนุภูมิภาค GMS เข้ามาร่วมเป็นคีย์แมนหลัก

สรภพเป็นลูกครึ่ง พ่อเป็นจีน แม่เป็นไทย ที่ได้ชื่อว่าเป็นคนที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับรัฐบาลท้องถิ่นของสิบสองปันนา จนได้รับการแต่งตั้งเป็นล็อบบี้ยิสต์เดินงานด้านการลงทุนให้กับนักลงทุนจากจีนในประเทศไทย

“การค้าขายกับจีนนั้นยาก ผมจะทำเฉพาะกับคนที่เชื่อถือได้เท่านั้น” สรภพตอกย้ำ

(อ่านรายละเอียดเรื่อง “ค้าขายกับจีนไม่ใช่เรื่องง่าย” นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนสิงหาคม 2551 หรือใน www.goto manager.com ประกอบ)

สรภพบอกว่า เคยเจอพ่อค้าจีนมาติดต่อให้พาไปซื้อของที่บ้านถวาย “พวกนี้เข้าไปถึงก้นโรงงานเลย ต่อรองราคากันสุดๆ เรายังต้องเลี้ยงข้าว เลี้ยงน้ำ แถมต้องส่งของให้อีก เรียกว่าไม่ยอมจ่ายเพิ่มนอกจากค่าสินค้าแม้แต่บาทเดียว แต่พอเอาไปขายที่จีนกลับได้กำไรหลายเท่าตัว ซึ่งผู้ประกอบการไทยก็เคยเจอกันมาแล้วถ้วนหน้าและเจ็บตัวกันก็มาก”

“NTHC จะเข้ามาแก้ไขในจุดนี้”

สรภพบอกว่าเขาได้ดึงกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่เพียรพยายามเข้าไปทำตลาดในจีนมาแล้วหลายรอบ และผ่านประสบการณ์เจ็บตัวกันมาแล้วก็มาก เข้ามาร่วมเป็นทีมงานของ NTHC

เริ่มจากธวัชชัย บุตรธรรม ผู้จัดการ NTHC สาขาเชียงใหม่ ที่เป็นคนในชุมชนบ้านถวาย มีเครือข่ายผู้ผลิตที่สามารถจัดส่งสินค้าได้ตามออร์เดอร์ในราคาที่ผู้ขายพอใจ และได้รับความเชื่อถือจากตัวบุคคลที่คุ้นเคยกันมาตั้งแต่เล็ก ว่าจะได้เงินค่าสินค้าแน่นอน

อีกคนคือ ธีระพงศ์ คำสิงห์แก้ว ผู้จัดการ NTHC สาขาคุนหมิงและสิบสองปันนา ชาว อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ที่แม้จะพูดจีนไม่ได้ แต่ก็เพียรเดินทางเข้าออกสิบสองปันนา-คุนหมิง รวมถึงมณฑลอื่นๆ ของจีน เพื่อหาช่องทางเปิดตลาดให้กับสินค้าหัตถกรรมของครอบครัวจากดอยสะเก็ดให้ได้ จนต้องควักกระเป๋าไปแล้วนับล้านบาท แต่ยังไม่สามารถหาพาร์ตเนอร์ได้

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทายาทคหบดีดังใน จ.เชียงใหม่ อย่างกาจ ตันตรานนท์ รวมไปถึงทายาทกลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ของเชียงใหม่อีกหลายรายที่เข้ามาร่วมกับปลุกปั้น NTHC พร้อมกับมองหาโอกาสในการเปิดช่องทางการค้าของตนเองกับจีน

ธวัชชัยเสริมว่า งานสิบสองปันนาแฟร์ เมื่อ 13-16 เมษายนที่ผ่านมา เขาได้เอาสินค้าจากร้านที่บ้านถวายที่เชื่อถือกันไปร่วมงาน และวางโชว์ที่ศูนย์ NTHC สาขาคุนหมิง และสิบสองปันนา” ซึ่งถ้าขายได้ เราก็รับเป็นหยวน แล้วจ่ายเป็นบาทให้กับเจ้าของสินค้า ตามราคาที่ตกลงกันจากหน้าโรงงาน หรือเลวร้ายที่สุดก็ขายขาดทุนนิดหน่อย เพื่อเปิดช่องทางให้กับตัวสินค้า-ผู้ประกอบการในอนาคต และในเดือนมิถุนายนก็จะไปที่คุนหมิงอีก”

“การันตีได้ ผู้ผลิตได้เงินค่าสินค้าเป็นเงินบาทตามราคาที่กำหนด ผู้ซื้อได้ของตามที่ตกลง”

สรภพบอกว่า NTHC มีเวลาทำงานแค่ 1 ปี และงบสนับสนุนเพียง 1 ล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นได้วางเป้าหมายที่จะทำยอดขายให้กับกลุ่มสินค้าหัตถกรรมบ้านถวาย-สันกำแพง-ดอยสะเก็ด รวมถึงสินค้าท้องถิ่นของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือกลุ่ม 1 ประมาณ 10 ล้านบาท

“หลังสิ้นสุดโครงการแล้ว เราวางไว้ว่าจะทำให้ NTHC เป็น Profit Center มีวิทยาลัยสื่อของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นพี่เลี้ยงให้” ภราดรและสรภพยืนยัน

โดย NTHC ทำหน้าที่จัดส่งสินค้าจากผู้ผลิตให้กับผู้ซื้อในจีน ซึ่งสรภพมั่นใจว่าปัจจุบันสามารถทำได้โดยสะดวก เพราะมีเส้นทางคุน-มั่น กงลู่ และเส้นทาง R3a ใน สปป.ลาวรองรับ สามารถส่งสินค้าจากไทยเข้าไปถึงสิบสองปันนาได้ภายใน 2 วัน จากนั้นศูนย์ NTHC ที่เชียงรุ่ง หรืออาจจะเป็นที่คุนหมิง ก็จะทำหน้าที่ในการกระจายสินค้าไปถึงผู้ซื้อในมณฑลอื่นๆ ของจีนต่อไป หรือถ้าผู้ซื้อต้องการให้ส่งสินค้าไปที่กวางโจว ก็สามารถทำได้แน่นอนภายในไม่เกิน 10 วัน เป็นต้น

ขณะเดียวกันภายใต้เครือข่ายที่ร่วมมือกันกับ M.R.P.group, LTD. ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติจีนก็จะช่วยแก้ปัญหาการค้าปลีกสินค้าให้กับ NTHC ได้ รวมทั้งรับประกันการชำระเงินค่าสินค้าได้ด้วยเช่นกัน ในอนาคตก็จะมีการผลักดันให้ NTHC สามารถจดทะเบียนพาณิชย์ใน สป.จีนด้วย ซึ่งถ้า NTHC ได้เป็นนิติบุคคลจีนก็จะสามารถดำเนินกิจการค้าปลีกในจีนได้ทุกอย่าง

“NTHC จะทำเหมือนเป็น Clearing House ให้กับผู้ประกอบการไทยรับหยวนจากผู้ซื้อจีน แปลงเป็นบาทให้กับผู้ผลิตไทย มีค่าส่วนต่างจากการแลกเปลี่ยนที่จะว่ากันในรายละเอียดต่อไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น” สรภพบอกโมเดลธุรกิจของ NTHC ในอนาคต

(อ่านรายละเอียดเรื่อง “Yuan Zone อาวุธหนักที่รอสับไก” ในนิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนตุลาคม 2552 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.