|
9 จอม 12 เจียง นครแห่งไท
โดย
เอกรัตน์ บรรเลง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( สิงหาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
ณ ริมฝั่งลั่นซ้างเจียงหรือแม่น้ำโขง บริเวณใจกลางที่ดินผืนงาม เนื้อที่ 1,200 หมู่ หรือประมาณ 600 ไร่ ด้านตะวันออกของเมืองจิ่งหง หรือเชียงรุ่ง เมืองเอกแห่งเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา กำลังกลายเป็นที่ตั้งเจดีย์ใหม่เอี่ยมที่ถูกสร้างขึ้นเป็น 1 ใน 9 เจดีย์ของโครงการ 9 จอม 12 เจียง โครงการพัฒนาที่ดินมูลค่า 200,000 ล้านหยวน หรือราว 940,000 ล้านบาทของ Haicheng Group
แปลนก่อสร้างเจดีย์แห่งนี้เป็นการจำลองแบบเจดีย์เก่าแก่ของสิบสองปันนา ที่เคยถูกทำลายไปในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนในอดีต
พร้อมๆ กับการออกแบบรูปทรงหลังคาอาคารทันสมัยในโครงการให้คล้ายคลึงกับปีกหงส์ หรือทรงหงส์เฮือน หรือเรือนหงส์ รวมถึงตึกสูงรูปเจดีย์ 9 หลัง ที่จะสร้างขึ้นเป็นสัญลักษณ์แห่งสิ่งก่อสร้างสิบสองปันนา
สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นชุมชนชาวพุทธของแผ่นดินแห่งต้นรากชนเผ่าไตแห่งสิบสองปันนา ซึ่งไม่ได้หมายถึงไทลื้อสิบสองปันนาเท่านั้น แต่หมายรวมถึงไทยล้านนา ไทพวน ไทดำ ฯลฯ จากแผ่นดินลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำสาละวิน ที่จะนำมาใช้เป็นจุดขายสำคัญของโครงการและตัวเมืองเชียงรุ่ง สิบสองปันนา
รวมถึงไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นศูนย์กลางของประเทศไทยในทุกวันนี้
เอกสารส่งเสริมการขายของ Haicheng Group ที่จัดพิมพ์ทั้งภาษาจีนและภาษาไทย บอกรายละเอียดโครงการ 9 จอม 12 เจียง ไว้ว่า “เป็นอัญมณีแห่งสามเหลี่ยมทองคำใหญ่ แหล่งรวม 1 แม่น้ำ 2 ประตู 9 เจดีย์ (จอม) และ 12 หมู่บ้าน (เจียง) ผสมผสานวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทลื้อและประเทศไทยกับวิถีสมัยใหม่เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว เมืองแห่งธุรกิจนานาชาติ เมืองแห่งชีวิตไทยและไทลื้อ”
ภายในโครงการจะเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมเจดีย์ พิพิธภัณฑ์สามเหลี่ยมทองคำ พิพิธภัณฑ์คัมภีร์ใบลาน ตลอดจนอาคารบ้านเรือนแบบไทลื้อ 300 กว่าหลัง ที่จะแสดงออกถึงลักษณะพิเศษของสิ่งก่อสร้างจากประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง เช่น แบบบ้านไทย บ้านลาว วัฒนธรรมไทลื้อ วัฒนธรรมสามเหลี่ยมทองคำใหญ่ รวมถึงคุ้มขันโตก บรรยากาศล้านนาไทย ฯลฯ
นอกจากนี้ยังจะเป็นศูนย์ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมและเครื่องเรือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใหญ่ที่สุดของจีน ศูนย์การค้าขาย สินค้าหัตถกรรมในลุ่มแม่น้ำโขงแห่งแรก ที่จะเป็นแหล่งรวมผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลัก เครื่องเขิน เครื่องเงินจากประเทศไทย เครื่องเรือนไม้แกะสลัก เครื่องเงิน สิ่งทอ จาก สปป.ลาว งานฝีมือเครื่องเงิน สิ่งทอ หินแกะสลักจากกัมพูชา เป็นต้น
โครงการพัฒนาที่ดินแห่งนี้ถูกแบ่งออกเป็น 3 เฟส เฟสแรกของโครงการเก้าจอมสิบสองเจียงประกอบด้วย วัดเจดีย์ใหญ่ เขตนานาชาติ หกหมู่บ้าน และถนนหลักสองเส้น
วัดเจดีย์ใหญ่ จะเป็น Landmark ของโครงการ สูง 66.6 เมตร เนื้อที่ของวัดเจดีย์ใหญ่มีประมาณห้าหมู่ วัดเจดีย์ใหญ่ชั้นหนึ่งเป็นรูปแบบเจดีย์ทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชั้นสองเป็นพิพิธภัณฑ์ beiyejing ของชาวไต ด้านหน้าเป็นลานกว้างและลานจอดรถที่จะใช้จัดกิจกรรมในเทศกาลต่างๆ ด้วย
เขตนานาชาติ จะเป็นศูนย์รวมของระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ เป็นประตูกระจายสินค้าเข้าออกระหว่างจีน-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก มีสถานีผู้โดยสารรับส่งระหว่างประเทศ ศูนย์รถเช่า ศูนย์ข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยว บริษัททัวร์ บริษัทสายการบิน บริษัทขนส่ง ผู้ค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ ซูเปอร์มาร์เก็ต และออฟฟิศ
ขณะที่ 6 หมู่บ้านประกอบด้วย 1. หมู่บ้านจิ่งเป่าและจิ่งเตื๋อ เป็นโซนเกสต์เฮาส์ ร้านขายใบชา บูติก ศูนย์รวมการแสดง ออกทางวัฒนธรรมลุ่มแม่นํ้าโขง 2. หมู่บ้านจิ่งหาร เป็นโซนศิลปหัตถกรรมและสินค้าชายแดน 3. หมู่บ้านจิ่งเม้ง โซนร้านอาหารจากทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 4. หมู่บ้านจิ่งหลาน หมู่บ้านจิ่งเรี่ยง เป็นย่านธุรกิจสันทนาการ ร้าน Wine ร้านอาหารฝรั่ง ร้านชา-กาแฟ, สปา, สถานบริการ และร้านขายของอื่นๆ
ส่วนถนนหลักมี 2 เส้นทาง เป็นถนนล้านช้าง ความยาว 340 เมตรจากฝั่งใต้ไปถึงฝั่งเหนือของโครงการ สองข้างถนนจะตั้งรูปปั้นช้าง 66 เชือก เพื่อเป็นการต้อนรับแขกผู้มาเยือนจะเกิดความรู้สึกเข้ามาในโลกแห่งวัฒธรรมสิบสองปันนาได้ทันที อีกเส้นหนึ่งคือถนนนกยูง จากฝั่งตะวันออกไปถึงฝั่งตะวันตกของโครงการ เป็นถนนที่เตรียมไว้รองรับการจัดเทศกาลต่างๆ เพราะกิจกรรมที่จะจัดในเทศกาลทุกปีจะจัดที่ถนนนกยูง เทศกาลสงกรานต์จะมีการเดินรถบุปผชาติและการสาดนํ้ากันที่นี่ได้ฉลองเทศกาลพร้อมกับชาวไทลื้อ
โดยเฟสแรกมีกำหนดแล้วเสร็จภายในสิ้นปี ค.ศ.2011 นี้
เฟส 2 เป็นกลุ่มร้านเหล้า บ้านพักริมแม่นํ้า (โรงละคร ค่ายมวยไทย โรงแรมห้าดาวซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่
โดยกรณีความร่วมมือจัดตั้งค่ายมวยไทยในเฟสที่ 2 กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเรื่องสัญญากับนักธุรกิจไทยจาก จ.แพร่ ซึ่งกำหนดก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายในปี ค.ศ.2013
ว่ากันว่า ก่อนที่จะเริ่มวางแผนโครงการนี้ ทาง Haicheng Group ได้ส่งตัวแทนไปเจรจากับชมรมมวยไทย จ.ลำปาง เพื่อให้จัดส่งนักมวยมาชกโชว์ และจัดส่งครูมวยเพื่อมาสอนและสร้างนักมวยไทยสัญชาติจีน แต่ถูกปฏิเสธ จึงได้เปลี่ยนไปเจรจากับชมรมมวยไทยและค่ายมวยไทยใน จ.แพร่ และได้รับความร่วมมือในการจัดส่งครูมวยมาสอนนักมวยชาวจีน
ส่วนเฟสที่ 3 ยังอยู่ระหว่างการวางแผนรายละเอียดอยู่
น้ำหวาน หรือ Shi Wanchun จากมณฑลกว่างสี อดีตนักศึกษาภาษาไทยจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ที่เข้ามาเป็นฝ่ายขายต่างประเทศของโครงการนี้ บอกว่าโครงการในเฟสที่ 1 ซึ่งวางไว้ให้เป็นหมู่บ้านหัตถกรรม ขายไปได้แล้ว 90% แต่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการชาวจีน ที่ผลิตสินค้าพื้นเมืองออกจำหน่ายที่ร้านจำหน่ายของที่ระลึกในกาหลั่นป้า เมืองฮำ หมู่บ้านไทลื้ออนุรักษ์ ที่เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของสิบสองปันนา และบางส่วนเป็นพ่อค้าจีนที่เดินทางเข้ามาซื้อสินค้าหัตถกรรมจากประเทศไทยไปจำหน่าย
น้ำหวานพยายามย้ำว่า ผู้ประกอบการชาวไทยจะมีโอกาสมากกว่าในการเข้ามาร่วมเปิดร้านในโครงการนี้ เพราะมีสินค้าหัตถกรรมที่งดงาม หลากหลายและศูนย์แสดงสินค้าขนาด 3 หมื่นกว่าตารางเมตร มีการจัดแบ่งพื้นที่ร่วม 1,300 ตาราง เมตร ไว้รองรับกลุ่มผู้ประกอบการผลิตสินค้าหัตถกรรมชาวไทยโดยเฉพาะด้วย
ทั้งนี้ Haicheng Group ได้เข้ามาส่งเสริมการขายในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าหัตถกรรมแหล่งใหญ่ของไทยมาอย่างต่อเนื่อง เช่นปลายปี 2553 ที่ผ่านมา ผู้บริหาร Haicheng ได้เดินทางมาเจรจากับวัชระ ตันตรานนท์ ประธานกลุ่มวีกรุ๊ป คอนสตรัคชั่น นักพัฒนาที่ดินรายใหญ่ของเชียงใหม่และภาคเหนือ เจ้าของคุ้มขันโตกอันเลื่องชื่อ ก่อนที่จะมีการลงนามใน MOU ร่วมกัน เพื่อนำคุ้มขันโตกเข้าไปให้บริการในโครงการ 9 จอม 12 เจียง
(อ่านรายละเอียดเรื่อง “วัชระ ตันตรานนท์ ยกระดับทุนภูธรสู่สากล” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนมกราคม 2553 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)
นอกจากนั้นยังเดินสายเจรจากับผู้ว่าราชการจังหวัดในภาคเหนือ เพื่อขอให้เปิดช่องทางยกแหล่งผลิตสินค้าหัตถกรรม ตลอดจนการแสดงต่างๆ ที่สะท้อนถึงความเป็นไทยล้านนาจากภาคเหนือไปตั้งไว้ สร้างเป็นจุดขายของ 9 จอม 12 เจียง
เพียงแต่ไม่ได้รับการตอบสนองตามที่ต้องการเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ระยะที่ผ่านมากล่าวได้ว่า Haicheng ได้ส่งคนเข้ามาตระเวนสำรวจแหล่งวัฒนธรรมหลายท้องที่ในภาคเหนือตอนบน วางเครือข่ายเพื่อดึง “สล่า” จากแหล่งผลิตสินค้าหัตถกรรมดังๆ ของภาคเหนือ ทั้งบ้านถวาย ดอยสะเก็ด บ่อสร้าง สันกำแพง ถนนวัวลาย จังหวัดเชียงใหม่ เข้าไปปักหลักผลิตสินค้าหัตถกรรมขายในโครงการด้วย
ว่ากันว่า ถึงกับมีข้อเสนอจ่ายค่าจ้างให้ “สล่า” รายละ 4,500 บาทต่อเดือน ให้ไปนั่งผลิตไม้แกะสลัก เครื่องเขิน เครื่องเงิน ฯลฯ แล้ววางขายกันใน 9 จอม 12 เจียง และเมื่อสินค้าที่ผลิตสามารถขายได้ ก็จะแบ่งรายได้กับเจ้าโครงการอีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้สินค้าหัตถกรรมของไทยที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณแห่งล้านนาจะถูกยกไปไว้ที่เชียงรุ่ง รอวันที่ช่างฝีมือชาวจีนจะเติมเต็มความเป็น “วิญญาณไทย” ให้กับชิ้นงานของตนเองได้อย่างสมบูรณ์ในอนาคตได้เช่นกัน
และความสุ่มเสี่ยงนี้เริ่มปรากฏให้เห็นแล้ว กรณีการดึงคนดังจากเมืองแพร่เข้าไปร่วมปั้นแต่งเวทีมวยที่โครงการ 9 จอม 12 เจียงได้สำเร็จ
น้ำหวานยังทิ้งท้ายด้วยสุภาษิตจีนว่า ทำธุรกิจใหญ่ เป็นห้างเป็นเมืองได้ ต้องเป็นที่นิยม ทำกำไรได้เท่านั้น
“เรายินดีต้อนรับนักธุรกิจไทยมาลงทุนที่โครงการของเรา”
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|