|
เมื่อ 'ไต' และ 'ไทย' ถูกสร้างให้เป็น Brand ของ 'จีน'
โดย
เอกรัตน์ บรรเลง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( สิงหาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
“ยุทธศาสตร์สิบสองปันนา” เป็นยุทธศาสตร์ที่ลุ่มลึก หากมองอย่างผิวเผินจะเกิดความรู้สึกในเชิงบวกว่าความเป็นชนเผ่า ‘ไต’ และความเป็น ‘ไทย’ กำลังเป็นที่สนใจของผู้คน โดยเฉพาะในสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่หากมองให้ลึกลงไป ทั้ง ‘ไต’ และ ‘ไทย’ กำลังถูกสร้างให้เป็นสินค้าที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้จำนวนมหาศาล...เพียงแต่ว่า ‘ใคร’ เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์
“มีการเปลี่ยนแปลงตลอด ก่อสร้าง กันทุกวัน...”
เป็นคำพูดที่เจนหูรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ในวงสนทนานักเดินทางที่เคยสัมผัส ดินแดนที่เป็นเสมือนเมืองในตำนาน เมืองที่เป็น “ราก” ของชนเผ่าไต... จิ่งหง (Jing Hong) หรือเชียงรุ่ง เมืองเอกของเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน สาธารณรัฐประชาชนจีน (สป.จีน)
นครที่ได้ชื่อมาจากเรื่องราวในพุทธตำนานของชาวไทลื้อที่ว่า เมื่อครั้งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดสัตว์ยังดินแดนริมฝั่งโขงของชาวไทลื้อแห่งนี้ เป็นเวลาเช้าพอดี จึงเรียกดินแดนแห่งนี้ว่าเชียงรุ่ง อันเป็นดินแดนริมฝั่งแม่น้ำโขง-ลั่นซ้างเจียง ที่พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อมา
โดยเฉพาะหลังจากเส้นทางคุน-มั่น กงลู่ (ทางด่วนสายคุนหมิง-กรุงเทพฯ) ถูกเปิดใช้ ทำให้ “เชียงรุ่ง” กลายเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญที่เชื่อมโยงหยุนหนัน 1 ในมณฑลทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เข้ากับสี่เหลี่ยม-หกเหลี่ยมเศรษฐกิจ รวมถึงประชาคมอาเซียน
(อ่านรายละเอียดเรื่อง “เปิดตลาด (อินโด) จีน” นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนสิงหาคม 2550 และเรื่อง “คุน-มั่น กงลู่ เส้นทางจีนสู่อาเซียน” นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนสิงหาคม 2551 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)
เป็นเมืองหน้าด่านที่มีนัยสำคัญทั้งด้านการค้า การลงทุน ด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เชื่อมโยงพม่า ลาว เวียดนาม และไทย ผ่านคุน-มั่น กงลู่ และมีนัยสำคัญด้านการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงแห่งนี้
ด้วยความเป็นเมืองต้นราก “ชนเผ่าไตหรือไท” แห่งอุษาอาคเนย์ ที่มีสายสัมพันธ์ทั้งทางเครือญาติ ภาษา วิถีชีวิต วัฒนธรรม รวมไปถึงความเชื่อทางศาสนาพุทธ เช่นเดียวกับผู้คน “เผ่าไต” อีกหลายล้านคน ในพื้นที่ต่างๆ อาทิ ไทอาหมที่แคว้นอัสสัมของอินเดีย ไทขืนหรือไทเขินที่เชียงตุง ไทใหญ่ในรัฐฉานของพม่า ไทดำในเชียงขวางของลาว และเดียนเบียนฟูของเวียดนาม รวมถึงไทยล้านนาในเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา น่าน ฯลฯ
ที่สำคัญคือไทยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
ณ ขณะนี้ เชียงรุ่งกำลังถูกปรุงแต่งให้มีมูลค่าเชิงพาณิชย์อย่างขะมักเขม้นด้วยศักยภาพด้านเงินทุนจำนวนมหาศาล ผสมผสานกับรากเหง้าทางวัฒนธรรมไทลื้อ รวมถึงวิสัยทัศน์ด้านการเมืองการปกครอง ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่แยบยลระหว่างจีนฮั่นกับชนเผ่าต่างๆ ใน สป.จีน โดยเฉพาะไทลื้อ
เป็นการปรุงแต่งโดยนำวิถีชาวไต โดยเฉพาะไทลื้อ ให้ฟื้นกลับคืนขึ้นมาใหม่ หลังจากวิถีนี้ถูกทำลายไปจนแถบจะย่อยยับในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมจีน ช่วง พ.ศ.2501
ยุทธศาสตร์ที่ได้เริ่มต้นอย่างมีกระบวนการ และมีเป้าหมายที่ซ่อนนัยสำคัญเอาไว้ไม่น้อย...
ระหว่างปี ค.ศ.1977-1980 (พ.ศ.2520-2523) เมื่อการปฏิวัติวัฒนธรรมเริ่มผ่อนคลาย จีนได้ออกนโยบาย “เจ้าแสนหวี” (อดีตกษัตริย์เชียงรุ่ง ที่ออกเสียงภาษาจีนว่า ชานเหว่ แปลว่าผู้ทำหน้าที่ปลอบโยน) โดยการรื้อฟื้นวิถี “คนไต” ขึ้นมาใหม่ รัฐบาลจีนเปิดทางให้คนพื้นเมืองที่เป็นชาวไทลื้อได้ขึ้นมาเป็นผู้นำเขตปกครองตนเอง โดยมีคนจากรัฐบาลกลางเข้ามากำกับ
หลังจากนั้นได้มีการต่อยอดจากศักยภาพของเงินทุนจำนวนมหาศาล ก่อร่าง “นครเชียงรุ่ง-เมืองไทลื้อ” โฉมใหม่ขึ้นมา ให้เป็นเมือง “ไต” ในแผ่นดินจีนโดยสมบูรณ์
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเชียงรุ่ง ย่อมส่งผลสะเทือนต่อพื้นที่รอบข้าง โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งเป็นที่อาศัยของ “ชาวไต” แม้แต่ประเทศไทยเราเองก็ไม่อาจหลีกพ้น หากมองยุทธศาสตร์นี้ไม่ทะลุ และไม่สามารถตั้งรับได้ทัน
เป็นผลสะเทือนที่เกิดขึ้นคู่ขนานกับความพยายามผลักดันให้เกิดเส้นทางสาย “คุน-มั่น กงลู่” ที่นอกจากจะเป็นท่อส่งสินค้าจากมณฑลทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนออกสู่ตลาดอาเซียนและตลาดโลกแล้ว ยังเป็นท่อรับสินค้าซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตจากนานาประเทศเข้าสู่ตลาดจีน
แต่ในอีกบทบาทหนึ่งของเส้นทางสายนี้ คือเป็นช่องทางส่งผ่านอิทธิพลในรูปแบบต่างๆ จีนออกมาสู่ประเทศที่อยู่ด้านล่าง และอาจหมายรวมไปถึงทุกประเทศในประชาคมอาเซียน (AEC) ที่กำลังจะเริ่มขึ้นในปี 2558 ที่จะถึงนี้
ดังที่เกิดขึ้นกับกระบวนการค้าลำไย-พืชผักผลไม้ไทย ตลอดจนการขยายอิทธิพลจีนใน สปป.ลาว ทุกมิติ เป็นต้น
(อ่านรายละเอียดเรื่อง “อิทธิพล “จีน” ใน “ลาว” หยั่งลึกกว่าที่คิด!!!” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนสิงหาคม 2553 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)
เชียงรุ่งในวันนี้กำลังเปิดรับ นำเข้า “จิตวิญญาณไต” ทุกรูปแบบ จากทุกแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นจากไทย พม่า ลาว เวียดนาม แม้แต่อินเดีย ก่อรูป “ศูนย์กลางไต” ขึ้นบนแผ่นดินที่เป็นรากเหง้าของชนเผ่าไตแต่บังเอิญถูกรวมเข้าไปอยู่ในรัฐอาณาเขตของ สป.จีน
แน่นอน...หากมองในมุมของ “คนไทย” ในนัยหนึ่ง เชียงรุ่งกำลังเป็นตลาดใหญ่สำหรับสินค้าหัตถกรรมและศิลปวัฒนธรรมไทย ที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นไทย ซึ่งมีตลาดรองรับอย่างมหาศาล
ขณะเดียวกัน นี่อาจเป็นจุดพลิกผันสำคัญในการรับรู้ของชนชาติอื่น โดยเฉพาะคนจีนที่มีความนิยมชมชอบในวิถีไต-วิถีไทย แม้แต่คนที่เป็นชนชาติ “ไต” ด้วยกันเอง หากไม่สามารถ “อ่าน” การวางหมากเกมยุทธศาสตร์นี้ของ สป.จีนได้ขาด และวางแผน เตรียมการตั้งรับได้ไม่ทัน
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเชียงรุ่ง สิบสองปันนา ในวันนี้ มีมากกว่าที่ปรากฏให้เห็นในเชิงกายภาพ ที่ใครเมื่อได้ไปพบเห็นแล้วคิดว่าได้กลับไปเยือน “ถิ่นกำเนิดของบรรพบุรุษ”...เท่านั้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|