สำหรับธุรกิจบันเทิง ที่ความไม่แน่นอนคือความแน่นอนนั้น ความบันเทิงที่ผู้ชมชื่นชอบในวันนี้อาจกลายเป็นอดีตได้เพียงชั่วข้ามคืน
กันตนาท้าทายความไม่แน่นอนนี้มาตลอดเวลาเวลา 30 กว่าปี จากคณะละครวิทยุเล็ก
ๆ เมื่อแรกเริ่มและดำเนินกิจการมาจนถึงทุกวันนี้ มาสู่ละครโทรทัศน์ซึ่งกันตนาก็กำลังบูมสุดขีด
ขณะที่คณะละครชื่อดังที่เกิดพร้อมหรือก่อนกันหลายคณะยอมรับสภาพเปลี่ยนแปลงด้วยการปิดม่านเดินลงจากเวทีเป็นทิวแถว
และในสถานการณ์ปัจจุบันที่ธุรกิจบันเทิงมีความเสี่ยงสูงยิ่งขึ้น กันตนากลับยิ่งขยายขอบข่ายธุรกิจบันเทิงของตนออกไปอย่างไม่หยุดยั้ง…กันตนาทำได้อย่างไร?
ในวันนี้เรามักคิดว่าความบันเทิงที่ได้รับจากกันตนาส่วนใหญ่คือละครโทรทัศน์
ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ผิด แต่โดยแท้จริงแล้วธุรกิจบันเทิงภายใต้ชื่อกันตนามีมากกว่านั้นมาก
บริษัท กันตนา วิดีโอ โปรดักชั่น จำกัด ผลิตละครเพื่อเสนอในช่วงเวลาที่กันตนาซื้อไว้
หรือรับจ้างผลิตละครให้สถานีโทรทัศน์หรือหน่วยงานต่าง ๆ
บริษัท กันตนา จำกัด รับผลิตรายการโทรทัศน์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นรายการเพื่อการศึกษา
เกมส์โชว์ มิวสิควิดีโอ งานโฆษณาต่างๆ จัดทำเทปเพลง รวมทั้งการให้เช่าโรงถ่ายและเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง
ๆ
กันตนามีเวลาเป็นของตนเองทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ช่วง 15.30 - 16.30 น.
วันอาทิตย์ และทุกวันเวลา 18.00 - 18.30 น. ทางช่อง 7
ส่วนละครวิทยุที่เล่นมา 30 กว่าปีก็ยังมีเวลาอยู่ที่สถานีวิทยุ ท.ท.ท.
และสถานีในต่างจังหวัดอีก 19 สถานี
ถ้าลองคิดดูถึงความบันเทิงในรูปแบบต่าง ๆ ที่ผลิตขึ้นในประเทศ โดยเฉพาะทางโทรทัศน์
กันตนาผลิตหรือมีส่วนเกี่ยวข้องประมาณว่ามีไม่ต่ำกว่า 10% ของรายการทั้งหมด
ถึงแม้ปี 2528 ตามเอกสารงบดุลจากกระทรวงพาณิชย์จะระบุว่า บริษัท กันตนา
วิดีโอโปรดักชั่น ขาดทุนสะสม 3 ล้านกว่าบาท แต่บริษัทที่ดำเนินธุรกิจบันเทิงภายใต้ชื่อกันตนาก็มีทรัพย์สินรวมประมาณกว่า
50 ล้านบาท และงานที่ผลิตออกมาก็เป็นที่ยอมรับของทั้งผู้ชมชอบความบันเทิงและผู้ที่อยู่ในธุรกิจบันเทิง
ไม่เพียงเฉพาะในวันนี้แต่ตั้งแต่เมื่อ 30 กว่าปีก่อนนั้นเรื่อยมาแล้ว
ถ้าจะหาเหตุว่ากันตนายืนสง่าอยู่บนธุรกิจบันเทิงจนถึงทุกวันนี้ได้อย่างไร
ก็คงต้องย้อนกลับไปดูพัฒนาการในแต่ละช่วงที่ผ่านมา จะพบคำตอบ 2 ข้อประกอบกันคือ
หนึ่ง - กันตนาสามารถปรับธุรกิจบันเทิงของตนให้เข้ากับสถานการณืที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเป็นอย่างดี
สอง - ความเป็น INNOVATOR ในการหารูปแบบความบันเทิงใหม่ ๆ มาสนองความพึงพอใจของผู้ชมได้เป็นคนแรก
ๆ
บทพิสูจน์ว่าสถานการณ์สร้างกันตนา และกันตนาสามารถปรับตัวให้เขากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลาพร้อม
ๆ กับการเป็น INNOVATOR ที่นำรูปแบบใหม่เข้าตลาดบันเทิงนั้น เริ่มตั้งแต่สมัยผงซักฟอกแฟ้บ
ยาสีฟันคอลเกต บุกตลาดเมืองไทยใหม่ ๆ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่กิจการวิทยุรุ่งเรืองมาก
งบโฆษณาประชาสัมพันธ์เทผ่านสื่อวิทยุไม่อั้น
ในเวลานั้นประดิษฐ์ กัลย์จาฤก เล่นละครวิทยุอยู่กับคณะกันตถาวรซึ่งเป็นคณะละครวิทยุที่ดังมาก
และเมื่องานบันเทิงทางวิทยุของคณะกันตถาวรมีมากขึ้น เอิบ กันตถาวร เจ้าของคณะจึงสนับสนุนประดิษฐ์แยกตัวออกมา
"ช่วงนั้นงานของคณะกันตถาวรมาก เราก็แยกออกมาตั้งคณะกันตนาช่วยรับงานอีก"
ประดิษฐ์ย้อนอดีตถึงกำเนิดกันตนาการละคร เมื่อปี 2498
เมื่อประดิษฐ์เป็นเจ้าของคณะละครวิทยุเอง ภรรยาคือ สมสุข กัลย์จาฤก เจ้าของนามปากกา
"กุสุมา สินสุข" ที่โด่งดัง เป็นคนช่วยเขียนบทละครให้
ขณะนั้น กุสุมา สินสุข เขียนบทละครวิทยุให้กันตนา และเป็นคนแรก ๆ ที่ขบถต่อรูปแบบการเขียนบทฯ
เก่า ๆ ที่มีแต่คำบรรยายฉากและเหตุการณ์ มาเขียนบทฯ ที่ใช้คำสนทนาเดินเรื่องมากกว่าการใช้คำบรรยาย
ประกอบกับ SOUND EFFECT ที่เหนือกว่าคณะอื่น ทำให้ทุกบ้านที่มีวิทยุไม่พลาดที่จะฟังละครคณะกันตนา
โดยเฉพาะเรื่องผี เรื่องลึกลับ ที่คณะกันตนานิยมเล่นเพราะชวนให้ผู้ฟังติดตามในตอนต่อ
ๆ ไป
ถัดมาในยุคที่ภาพยนตร์ไทยพากษ์ 16 มม. เฟื่อง มีปัจจัยหลายประการที่ทำให้กันตนาเข้ามีบทบาทในธุรกิจภาพยนตร์คือ
กุสุมา สินสุข เขียนเรื่องออกมาเท่าไรก็ขายได้และถูกนำไปสร้างภาพยนตร์เกือบทุกเรื่อง
คณะกันตนาการละครยกคณะไปพากษ์หนังเป็นคณะแรกแทนการพากษ์เรื่องละ 2 - 3 คน
ทำให้ภาพยนตร์ที่กันตนาพากษ์ประสบความสำเร็จ และที่สำคัญสายหนังเชื่อมือกันตนา
ด้วยปัจจัยที่สนับสนุนเหล่านี้ทำให้ประดิษฐ์ไม่ละโอกาสเข้าสู่ธุรกิจภาพยนตร์กับเขาบ้าง
"หนังเรื่องแรกคุณประดิษฐ์ทำเองเกือบทุกอย่าง ตัวแสดงก็จากละครวิทยุ
เรื่องก็เขียนเอง กำกับเอง พากษ์เอง ตอนนั้นดิฉันขายเรื่องได้หลายเรื่องและรายได้จากละครวิทยุก็มาก
และพอสายหนังรู้ว่าเราจะทำเขาก็เอาเงินมาให้" สมสุข กัลย์จาฤก พูดถึงหนังเรื่องแรก
"ผีพยาบาท" ที่ตอนนั้นทำกันด้วยทุนสร้างประมาณ 3 แสนบาท
ประดิษฐ์ สร้างภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง จนถึง "เพชรตาแมว" เป็นเรื่องสุดท้าย
ราวปี 2515 เพราะประดิษฐ์ทวนกระแสธุรกิจภาพยนตร์ด้วยการไม่ขายภาพยนตร์ที่สร้างเสร็จแล้วให้สายหนังทั้งหมด
จากการออกไปเดินสายต่างจังหวัดทำให้ประดิษฐ์เข้าใจถึงเล่ห์เหลี่ยมในธุรกิจภาพยนตร์
และยอมรับสถานการณ์ว่าธุรกิจภาพยนตร์เป็นธุรกิจที่อนาคตของผู้ลงทุนอยู่ที่เอเย่นต์สายหนัง
เขาตัดสินใจวางมือไม่ยอมหวลกลับไปอีก
แม้ว่า "เราทำหนังได้กำไรหลายเรื่อง บ้านที่บางพลัดก็ได้จากเรื่องเพชรตาแมว"
"กัลย์จาฤก" คนหนึ่งเผยกับ "ผู้จัดการ" ด้วยน้ำเสียงขมขื่นนิด
ๆ
ก็อาจจะพูดได้ว่า กันตนานั้นจะไม่ยอมสู้ในสิ่งที่ตนมองแล้วว่าไม่มีประตูแห่งชัยชนะ!
ทศวรรษที่ผ่านมากิจการโทรทัศน์ก้าวหน้าขึ้นมาก เมื่อเลิกสร้างภาพยนตร์กันตนาจึงหันมาเอาดีทางละครโทรทัศน์
และช่วงเวลานั้นวิทยุไม่ใช่สื่อที่สปอนเซอร์จะเทโฆษณาให้อย่างมากมายอีกต่อไปด้วย
"พอปนัดดาเข้าเรียนนิเทศฯ ก็เอาความรู้ทางวิชาการด้านสื่อสารมวลชนมาช่วยพัฒนาหลายอย่าง
และคณะส่งเสริมศิลปินที่ทำละครสร้างสรรค์ก็เกิดช่วงนี้" คนในวงการบันเทิงพูดถึงพัฒนาการครั้งสำคัญของกันตนาทางด้านละครโทรทัศน์
ซึ่งปนัดดาที่เขากล่าวถึงคือ ปนัดดา กัลย์จาฤก ลูกสาวของประดิษฐ์ที่ปัจจุบันเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญมาก
ๆ
กันตนาเพียรทำละครสร้างสรรค์ตั้งแต่บัดนั้นมา ทั้งที่ในระยะแรกสปอนเซอร์ไม่ชายตามองเลยก็ว่าได้
ละครสร้างสรรค์เรื่องแรกชื่อ "38 ซอย 2" ออกอากาศใหม่ ๆ โฆษณาไม่เข้า
แต่ด้วยความแปลกใหม่ที่เป็นละครสะท้อนสังคมและเป็นละครคณะแรกที่ไม่บอกบท
ให้ตัวแสดงท่องบทเอง ทำให้ผู้ชมเริ่มติด RATING สูงขึ้น สปอนเซอร์เข้ามากขึ้น
งานของกันตนาเริ่มล้นมือ งานผลิตละครขยับขยายเพิ่มอีกหลายเรื่องการถ่ายทำต้องรีบเร่ง
จากห้องส่งของสถานีโทรทัศน์หรือโรงถ่ายที่ต้องไปเช่าสถานที่หรืออุปกรณ์ในตอนนั้นมีเวลาให้ไม่พอกับงานของกันตนาเสียแล้ว
"ตอนนั้นไปเช่าโรงถ่ายเกิน 6 โมงเย็น เขาก็คิดค่าเช่าเพิ่มแล้ว เป็น
2 เท่า 3 เท่า และงานก็มากทำไม่ทัน เลยตัดสินใจมาถ่ายทำกันที่บ้านบางพลัด
ถ้าคุณจำได้จะเห็นว่าฉากในละครบาปบริสุทธิ์ก็บ้านนี้นั่นแหละ" สมสุข
กัลย์จาฤก เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง พร้อมกับชี้ให้ดูห่วงเดินสายไฟสำหรับการถ่ายทำละครที่ยังติดอยู่บนเพดานบ้านที่บางพลัด
จากการที่ผู้ชมและสปอนเซอร์ยอมรับงานของกันตนา ทำให้งานด้านการผลิตเพิ่มขึ้น
ประกอบกับเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลยอมรับให้ธุรกิจบันเทิงเป็นธุรกิจที่สามารถรับสิทธิในการส่งเสริมการลงทุนได้
และลูก ๆ ของประดิษฐ์ก็มาช่วยงานกันตนากันมากขึ้น ความคิดที่จะมีโรงถ่ายของตนเองจึงผุดขึ้นมา
ในปี 2523 บริษัท กันตนา วิดีโอ โปรดักชั่น เกิดขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 5
ล้านบาท พร้อมกับขอรับการส่งเสริมการลงทุน ขณะเดียวกันโรงถ่ายของกันตนา วิดีโอ
โปรดักชั่น ที่บางใหญ่ นนทบุรี บนที่ดิน 9 ไร่ของสุชีรา กัลย์จาฤก (ต้อยปาน)
ก็ได้ดำเนินการก่อสร้างไปด้วย และในปี 2525 ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 10
ล้านบาท โดย "กัลย์จาฤก" ถือหุ้นประมาณ 98%
เมื่อได้รับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว อุปกรณ์และเครื่องมือทางเทคนิคต่าง
ๆ ถูกทยอยนำเข้ามาเสริมความก้าวหน้า และทันสมัยในด้านการผลิตอย่างไม่หยุดยั้ง
งานของกันตนาผลิตออกสู่สายตาผู้ชมไม่ขาดสาย ทั้งละครที่ผลิตออกมาภายใต้ชื่อกันตนาที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ตามเวลาที่ซื้อไว้เอง
และละครที่กันตนารับผลิตให้กับทางสถานีโทรทัศน์หรือหน่วยงานต่าง ๆ
ปี 2527 กันตนาบูมสุดขีด เครดิตและชื่อของกันตนาเหมือนเครื่องหมายรับรองคุณภาพของงานบันเทิง
"…ผมอยากให้งานที่ออกมาในนามบอร์น ออปเปอเรชั่น เป็นที่ยอมรับเหมือนกับงานที่ออกมาจากกันตนาที่ใคร
ๆ ก็เชื่อถือ" ไตรภพ ลิมปพัทธ์ เคยพูดถึงความใฝ่ฝันในการสร้างคุณภาพของงานบันเทิงของเขาโดยนำไปเปรียบเทียบกับกันตนาอย่างยกย่อง
ในที่สุด บริษัท กันตนา จำกัด เกิดขึ้นอีกบริษัทหนึ่งเพื่อรับงานด้านการผลิตทั่วไป
งานโฆษณา รายการโทรทัศน์ เกมส์โชว์ ให้เช่าอุปกรณ์และเครื่องมือทางเทคนิค
ซึ่งนับว่าเป็นโรงถ่ายที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยขณะนี้
บริษัท กันตนา จำกัด จดทะเบียนปี 2527 ด้วยทุน 10 ล้านบาท หลังจากเพิ่มทุนเป็น
30 ล้านบาท เมื่อต้นปี 2529 ก็เริ่มงานอย่างจริงจัง แต่คราวนี้หุ้นประมาณเกือบครึ่งไม่ใช่ของ
"กัลย์จาฤก" ซึ่งก็อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ จาฤก กัลย์จาฤก เคยพูดว่าทำไมต้องแยกมาจาก
กันตนา วิดีโอ โปรดักชั่น
"ก็เหตุผลด้านการบริหาร เรื่องบุคคล เรื่องหุ้นส่วนด้วย"
แต่ที่ลึก ๆ ไปกว่านั้นว่ากันว่ากันตนารักหน้าพอ ๆ กับรักการทำธุรกิจ ขณะนั้นชื่อของ
กันตนา วิดีโอ โปรดักชั่น เป็นเหมือนตัวแทนของผู้ผลิตละครสร้างสรรค์ซึ่งคำว่าสร้างสรรค์บางครั้งก็ค้ำคอการจะทำอะไรที่หากำไรอยู่เหมือนกัน
แต่สถานการณ์ทางธุรกิจเปลี่ยนไป ละครแม้เป็นรายการหัวใจของกันตนา แต่ความบันเทิงอื่น
ๆ ที่หมายถึงรายได้มากกว่าก็มีความหมายเหมือนกัน
"เกมส์โชว์ตอนมันบูมเราก็อยากทำ แต่ก็ไม่ได้ทำเต็มตัว ให้ทางบริษัท
กันตนา เข้าไปร่วมกับทาง บอร์น ออปเปอเรชั่น ทำเกมละครปริศนา ทำรายการเอาไปเลย"
กัลย์จาฤก คนหนึ่งพูดให้ฟัง
และล่าสุดโครงการที่อยู่ในหัวประดิษฐ์ตลอดเวลา คือโรงเรียนฝึกสอนการแสดงระดับ
ปวช. ที่กระทรวงศึกษารับรอง
"นอกจากสอนการแสดงแล้ว จะมีฝึกอาชีพอื่นด้วย อาจให้เรียนทำผม ตัดเสื้อ
เรียนอิเล็กทรอนิกส์ เรียนศิลป์ ซึ่งถ้าเขาแสดงไม่ได้ เขาก็อาจอยู่ที่ใดที่หนึ่งในกระบวนการผลิตได้
อาจเป็นช่างผม ช่างไฟ" ผู้ก่อตั้งกันตนาพูดถึงโรงเรียนฝึกสอนการแสดงระดับมาตรฐาน
ซึ่งหากทำได้ธุรกิจบันเทิงด้านละครโทรทัศน์ของกันตนาจะครบวงจรทันทีตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ
กันตนาในทศวรรษนี้เป็นธุรกิจบันเทิงที่ทำงานระบบครอบครัว (อ่านล้อมกรอบ
กันตนา คือ กัลย์จาฤก) ด้วยเงินลงทุนมหาศาล ไม่ใช่ธุรกิจเงินหมุนจากแหล่งเงินนอกระบบอย่างเดียวเหมือนสมัยที่ประดิษฐ์บุกเบิกอีกต่อไป
การติดต่อกับต่างประเทศมีมากขึ้น โดยเฉพาะการสั่งซื้อเครื่องมือต่างๆ ทำให้กันตนาต้องพึ่งสถาบันการเงินมากขึ้น
"ตอนนี้เครดิตเราดี 3 - 4 ปีมานี้เราสั่งอุปกรณ์และเครื่องมือจากต่างประเทศเข้ามา
ก็ได้ธนาคารกรุงเทพค้ำ L/C ให้ ไม่เหมือนเมื่อก่อนเราลำบากมาก" จาฤก
กัลย์จาฤก พูดถึงสัจธรรมในการทำธุรกิจ "เมื่อมีเครดิตทุกอย่างก็จะตามมา"
เขาว่า
เรื่องเครดิตของกันตนาวันนี้อาจไม่มีปัญหาแล้ว แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันการขยายขอบข่ายธุรกิจออกไปสู่ธุรกิจที่กันตนาไม่มีความชำนาญ
และไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มรายแรก ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานผลิตรายการอื่น ๆ นอกจากละคร
มิวสิค วิดีโอ การทำเทปเพลง งานโฆษณาต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ต้องเอาใจใส่มากขึ้น
แม้ "กัลย์จาฤก" คนหนึ่งจะพูดถึงธุรกิจที่ขยายออกไปว่า "เรามีเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง
ๆ พร้อมอยู่แล้ว ไม่ต้องลงทุนอะไรอีก"
แต่บางทีเขาอาจจะลืมไปว่าคนยังไม่พร้อม
"งานมิวสิค วิดีโอ ของกันตนาเหมือนละคร" คนในวงการเพลงคนหนึ่งคอมเมนท์
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อธุรกิจบันเทิงที่กันตนาจะต้องเตรียมรับมือและหาทางออกไว้
ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่พัฒนาอยู่ตลอดเวลา
อย่างเช่น วิดีโอ ประดิษฐ์กรรมเพื่อความบันเทิงชิ้นมหัศจรรย์ที่ทำร้ายธุรกิจภาพยนตร์จนแทบสิ้นใจและทำเอาธุรกิจบันเทิงทางโทรทัศน์ซึมไปเหมือนกัน
หรือจะเป็นภาวะเศรษฐกิจที่เลวร้ายซึ่งมีผลกระทบต่องบการโฆษณา ดังจะเห็นว่างบโฆษณาทางโทรทัศน์ที่ลดลงตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องถูกกระทบเหมือนลูกโซ่ ซึ่งในกระบวนการผลิตงานโฆษณานั้นเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่กันตนาขยายออกไปทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นงานผลิต SPOT โฆษณา การให้เช่าเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ หรือการขายเวลาทางสถานีโทรทัศน์ที่กันตนามีอยู่
"งานด้านการผลิตที่รับทำ ทำเสร็จแล้วลูกค้าพอใจก็เรียบร้อย แต่งานละครที่เราผลิตเองไม่เพียงแต่จะทำให้ดีเท่านั้น
แต่ต้องพยายามทำให้คนติดตามด้วย" จาฤก กัลย์จาฤก พูดถึงละครที่กันตนาผลิตอย่างเข้าใจว่า
ปัจจัยสำคัญอีกอย่างที่กำหนดความเป็นความตายของธุรกิจบันเทิงคือ ความพึงพอใจของผู้ชมที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
ใครที่ครองใจผู้ชมได้ก็จะยืนอยู่บนถนนธุรกิจนี้ได้
ตลอดเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างความบันเทิงเริงใจให้ผู้ชม กันตนาต้องต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงในธุรกิจบันเทิงมาตลอด
ในวันข้างหน้าต่อ ๆ ไป กันตนาจะต้องปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้สักแค่ไหน
สิทธานต์ จาฤก ปนัดดา จะพาธุรกิจบันเทิงภายใต้ชื่อกันตนาก้าวไปได้มากน้อยเพียงไร
กิตติ โรจน์ชลาสิทธิ์ ผู้ชมชอบการเป็นหุ้นส่วนในธุรกิจบันเทิงจะมีส่วนเปลี่ยนแปลงการทำงานระบบครอบครัวของกันตนาได้หรือไม่
…ถ้าเรื่องของกันตนาที่จะดำเนินต่อไปเป็นเหมือนละคร คนเขียนบทคงไร้ความหมาย
เพราะ "กัลย์จาฤก" แต่ละคนจะกำหนดเรื่องราวของกันตนาเอง