|
ผู้หญิงในบทบาทผู้นำประเทศ
โดย
ศศิภัทรา ศิริวาโท
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( สิงหาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
หลังจากที่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมาได้สิ้นสุดลง ประเทศไทยก็ได้มีนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดี เป็นอย่างมากที่คนไทยเรายอมรับว่า ผู้หญิงและผู้ชายมีสิทธิที่เท่าเทียมกันในสังคม ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้ชาย หรือผู้หญิงก็สามารถทำหน้าที่ของการเป็นผู้นำประเทศได้เหมือนกัน
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย เมื่อประเทศไทยมีโอกาสมีผู้นำประเทศเป็นผู้นำหญิงเหมือนประเทศอื่นๆ แล้ว ความเท่าเทียมกันในสังคมระหว่างผู้ชายและผู้หญิงจะมีมากขึ้นหรือไม่ ยิ่งลักษณ์จะมีนโยบายที่สนับสนุนเรื่องของผู้หญิงออกมาหรือไม่ และเรื่องปัญหาต่างๆ ของผู้หญิงจะได้รับความสนใจและได้รับการแก้ไขหรือไม่ เรื่องเหล่านี้คงเป็นเรื่องที่หลายๆ คนจับตาดูอยู่ เพราะในหลายๆ ประเทศ เมื่อมีผู้นำประเทศเป็นผู้หญิงแล้ว เรื่องปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับผู้หญิงมักจะได้รับความสนใจจากผู้นำและหาทางแก้ไข
เช่นกรณีของประเทศบังกลาเทศ เมื่อ Sheikh Hasina ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิง เธอได้จัดตั้งศูนย์พัฒนานโยบายสำหรับผู้หญิงขึ้นมา โดยมีจุดประสงค์ คือ ทำการศึกษาถึงข้อดีข้อเสียของนโยบายที่เกี่ยวกับผู้หญิงและต้องการให้ผู้หญิงได้รับสวัสดิการและผลประโยชน์จากการทำงานเหมือนกับผู้ชาย เพราะว่าผู้หญิงมักจะถูกลืมเป็นประจำเวลาที่มีนโยบายใดๆ ออกมา เนื่องจากว่าศาสนาอิสลามไม่เคยให้สิทธิผู้หญิงเท่าเทียมกับผู้ชาย แต่ Sheikh ก็ต้องการผลักดันให้ผู้หญิงได้มีโอกาสและได้รับสิทธิมากขึ้นในสังคม
หากจะลองมองย้อนกลับไปในอดีต ผู้หญิงที่ได้รับการเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของโลกคือ Sirimava Bandaranaike นายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศศรีลังกา ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2503 เธอได้เป็นนายกรัฐมนตรีถึง 3 สมัยด้วยกัน และ 14 ปีต่อมา เราก็มีประธานาธิบดีหญิงคนแรกของโลก คือ Isabel Peron ประธานาธิบดีหญิงประเทศอาร์เจนตินา
เมื่อมาลองนับดู นับตั้งแต่ปี 2503 จนถึงปัจจุบัน ก็ 51 ปีแล้วที่ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในการเป็นผู้นำประเทศ ในช่วง 51 ปีที่ผ่านมา เรามีนายกรัฐมนตรีหญิงทั้งหมด 67 ด้วยกัน และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็จะเป็นผู้หญิงคนที่ 68 ที่ได้เป็นผู้นำประเทศ ผู้นำหญิงในอดีตที่เป็นรู้จักกันดีและทำงานบริหารประเทศได้ไม่แพ้ผู้ชายเลยก็มีหลายคน เช่น Jenny Shipley และ Helen Clark นายกรัฐมนตรีหญิงประเทศนิวซีแลนด์ Margaret Thatcher นายกรัฐมนตรีหญิงประเทศอังกฤษ Maria Gloria Macapagal Arroyo ประธานาธิบดีประเทศฟิลิปปินส์ และ Megawati Sukarnoputri ประธานาธิบดีประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น
ปัจจุบันมีนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีหญิงที่ยังทำหน้าที่เป็นผู้นำประเทศอยู่ด้วยกัน 21 คน ซึ่งมีทั้งคนที่มาจากการเลือกตั้งและได้รับการแต่งตั้ง คำว่ามาจากการแต่งตั้งในที่นี้หมายความว่า ผู้นำหญิงคนนั้นได้รับการเลือกจากพรรคการเมืองหรือคณะผู้บริหารที่มีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศในขณะนั้น ส่วนที่เหลืออีก 3 คน ล้วนมาจากการเลือกตั้ง เช่น Julia Gillard นายกรัฐมนตรีหญิงประเทศออสเตรเลีย และ Angela Merkel นายกรัฐมนตรีหญิงประเทศเยอรมนี เป็นต้น
ในปี 2554 เราก็มีนายกรัฐมนตรีหญิงเพิ่มขึ้น อีก 5 คนด้วยกันคือ 1) Dilma Rousseff ประธานาธิบดีหญิงประเทศบราซิล 2) Micheline Calmy-Rey ประธานาธิบดีหญิงประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 3) Rosario Fernandez นายกรัฐมนตรีหญิงประเทศเปรู 4) Atifete Jahjaga ประธานาธิบดีหญิงประเทศโคโซโว และ 5) ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงประเทศไทย ทั้ง 5 คนนี้มีแค่ 2 คนเท่านั้นที่มาจากการแต่งตั้งคือ ประธานาธิบดีหญิงประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และนายกรัฐมนตรีหญิงประเทศเปรู
ในบรรดา 21 ผู้นำหญิง บุคคลที่ดำรงตำแหน่งได้ยาวนานที่สุดคือ Mary McAleese ที่ปัจจุบันเธอเป็นประธานาธิบดีประเทศไอร์แลนด์มาถึง 14 ปีด้วยกัน โดยเธอได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีหญิงครั้งแรกเมื่อปี 2540 และก็ยังได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมาถึงทุกวันนี้
ในช่วง 51 ปีที่ผ่านมา มีทั้งหมด 61 ประเทศด้วยกันที่ให้โอกาสผู้หญิงได้ขึ้นมาทำงานในฐานะผู้นำประเทศ ถึงแม้ว่าจะมีเพียงแค่ 14 ประเทศเท่านั้นที่มีผู้นำประเทศเป็นผู้หญิงมากกว่าหนึ่งคน คือ เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอร์แลนด์ ฟินแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ อาร์เจนตินา นิวซีแลนด์ ศรีลังกา อินเดีย บังกลาเทศ ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ยูเครน และเฮติ ประเทศที่มีผู้นำหญิงมากที่สุดคือ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่มีประธานาธิบดีหญิงถึง 4 คนด้วยกัน และทั้ง 4 คนก็ล้วนมาจากการแต่งตั้ง และรองลงมา คือ ศรีลังกา ที่มีนายกรัฐมนตรีหญิงถึง 3 คนด้วยกัน และทั้ง 3 คนก็มาจากการแต่งตั้งเช่นกัน
เรียกได้ว่าในช่วง 51 ปีที่ผ่านมา ผู้หญิงเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในทางการเมือง นี่ก็นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีทีเดียวในการแสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงสามารถทำงานได้ดีเหมือนกับผู้ชาย จึงทำให้ประชาชนไว้ใจ และเชื่อใจว่าผู้หญิงก็บริหารประเทศได้เป็นอย่างดี
หากวิเคราะห์ดูดีๆ แล้ว ผู้นำหญิงที่สามารถชนะการเลือกตั้งได้นั้น มาจาก 2 วิธีใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ 1) ได้รับฐานเสียงมาจากพ่อหรือสามีของพวกเธอเป็นนักการเมืองที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักมาก่อน อย่างเช่นกรณีของนาง Gloria Macapagal Arroyo ผู้นำฟิลิปปินส์ และ Megawati Sukarnoputri ผู้นำอินโดนีเซียที่ได้รับเลือกเข้ามาเป็นผู้นำ เพราะว่าบิดาของพวกเธอเป็นผู้นำประเทศมาก่อน หรืออย่างกรณีของ Cristina Fernandez de Kirchner ประธานาธิบดีหญิง ประเทศอาร์เจนตินา เธอได้รับแรงสนับสนุนและฐานเสียงจากสามีของเธอคือ อดีตประธานาธิบดี Nestor Kirchner เมื่อพวกเธอเหล่านี้ได้ตัดสินใจลงเล่นการเมืองก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากที่ประชาชนจะรู้จักพวกเธออยู่แล้วและสนับสนุนพวกเธอในการเป็นผู้นำ
หรือ 2) มาจากความสามารถของพวกเธอล้วนๆ ชื่อเสียงและการทำงานของพวกเธอทำให้ประชาชนชื่นชอบและเลือกพวกเธอเหล่านี้ไปเป็นผู้นำ อย่างเช่นกรณีของ Dilma Rousseff ประธานาธิบดีหญิงบราซิล ที่เป็นแรงสนับสนุนคนสำคัญในการก่อตั้งพรรคการเมือง Democratic Labour Party เธอเริ่มจากการเป็นผู้ช่วยในการหาเสียงให้กับคนในพรรค จนกระทั่งเธอเริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานในปี 2544 จนในที่สุดก็ชนะการเลือกตั้งในปีนี้ และได้เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของบราซิล
หากลองมองดูในกรณีของยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนั้น ก็เห็นได้ชัดเจนว่า เธอชนะการเลือกตั้งเพราะว่าพี่ชายของเธอ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย เป็นที่รู้จักของประชาชนและมีฐานเสียงอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว นี่คงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ลงมาเล่นการเมืองได้เพียงแค่ 2 เดือนในช่วงก่อนการเลือกตั้งนั้นสามารถชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ได้
ไม่ว่าผู้นำหญิงจะมาจากการแต่งตั้งหรือการเลือกตั้ง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ผลงานของพวกเธอ อย่างกรณีของประธานาธิบดีหญิงไอร์แลนด์ Mary McAleese ที่ชนะการเลือกตั้งและเป็นประธานาธิบดี ถึง 2 สมัยด้วยกัน ในสมัยที่สองนี้เธอก็ชนะอย่างขาดลอย เพราะว่าผลงานของเธอนั้นเป็นที่ยอมรับของประชาชน
นโยบายหลักๆ ของ Mary McAleese ที่ทำให้ประชาชนยอมรับเธอคือ นโยบาย Bridge Building นโยบายนี้ไม่ได้เป็นนโยบายการสร้างสะพาน หรือสิ่งก่อสร้างใดๆ แต่เป็นนโยบายที่พยายามต้องการกระจายความเท่าเทียมและความเสมอภาคภายในประเทศให้มีมากขึ้น ในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจของประเทศไอร์แลนด์มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนในสังคม ประธานาธิบดี Mary จึงพยายามที่จะลดช่องว่างเหล่านี้ลง และพยายามที่จะกระจายความเจริญให้ทั่วถึงในทุกๆ ที่โดยเฉพาะบริเวณต่างจังหวัด
นอกจากนี้ Mary ยังต้องการที่จะสร้างความปรองดองระหว่างไอร์แลนด์ทางตอนเหนือและใต้ เพราะว่าในเขตเหนือและใต้นั้นมีความขัดแย้งทางด้านวัฒนธรรมกันอยู่มาก ทำให้เหมือนอยู่ในโลกสองใบที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง Mary จึงต้องการที่จะสร้างวัฒนธรรมที่มีร่วมกันระหว่างทั้งสองเขตขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าจะมีความคิดเห็นและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่เราก็อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้ เพราะเราเป็นคนไอร์แลนด์เหมือนกัน
หากเมื่อย้อนกลับมามองในกรณีของยิ่งลักษณ์ ซึ่งเพิ่งเล่นการเมืองได้เพียงแค่ไม่กี่เดือนเท่านั้น ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า เธอจะทำหน้าที่ในฐานะของผู้นำประเทศได้ดีแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ สิ่งหนึ่งที่เป็นผลดีสำหรับประเทศไทยในการมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิงคือ ในการจัดอันดับช่องว่างระหว่างเพศจากทั่วทุกมุมโลก (Global gender Gap Report) ที่จัดขึ้นทุกปีโดย World Economic Forum ในปีนี้ ประเทศไทยเราน่าจะถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ดีขึ้นจากเมื่อปีที่แล้ว ที่เราถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 57 จากทั้งหมด 134 ประเทศ เพราะว่าเมื่อเรามีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิง น่าจะเป็นจุดที่แสดงให้ทั่วโลกได้เห็นว่า ความไม่เท่าเทียมกันในสังคมไทยระหว่างผู้ชายและผู้หญิงนั้นลดลง และผู้หญิงได้รับการยอมรับมากขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น การที่มีนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิงก็น่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดีถึงการเพิ่มจำนวน ส.ส. และ ส.ว. ที่เป็นผู้หญิงในรัฐสภาให้มากขึ้น เพราะว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่บ้านเรากำลังเผชิญอยู่ เนื่องจากเมื่อเทียบสัดส่วนของผู้ชายและผู้หญิงในรัฐสภาแล้ว มีจำนวนผู้หญิงอยู่น้อยมาก ทำให้ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 105 ในด้านของสิทธิสตรีกับการเมืองในรายงานเรื่องช่องว่างระหว่างเพศจากทั่วทุกมุมโลก ดังนั้น นี่จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ดีของบ้านเราที่จะมีจำนวนของผู้หญิงในรัฐสภาเพิ่มมากขึ้น ทำให้อันดับของประเทศไทยในด้านของสิทธิสตรีกับการเมืองดีขึ้นไปด้วย
ถ้าหากว่ายิ่งลักษณ์ ชินวัตร สามารถพิสูจน์ได้ว่า เธอสามารถทำงานบริหารประเทศได้ดีไม่แพ้ผู้ชาย ในอนาคตประเทศไทยเราก็อาจจะมีนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่สองและสามตามมาอย่างแน่นอน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|