NADESHIKO JAPAN in Women’s World Cup 2011

โดย ภก.ดร. ชุมพล ธีรลดานนท์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( สิงหาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

หญิงสาวกับกีฬาประเภทใช้เท้าเตะอย่างฟุตบอล อาจดูไม่เหมาะกับอิริยาบถของสตรีสักเท่าใดนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาวเอเชีย หากยุคสมัยเปลี่ยนไป ฟุตบอลหญิงได้รับความสนใจและยอมรับมากขึ้นเป็นลำดับถึงขั้นมีการแข่งขันระดับ World Cup เช่นเดียวกับฟุตบอลชาย

ความเป็นมาของ Women’s World Cup เริ่มขึ้นในปี 1991 มีประเทศจีนเป็นเจ้าภาพและจัดการแข่งขันทุก 4 ปีต่อเนื่อง จนกระทั่งครั้งนี้มีเยอรมนีเป็นเจ้าภาพ ซึ่งฟุตบอลหญิงทีมชาติญี่ปุ่นที่รู้จักกันในชื่อ Nadeshiko Japan ได้จารึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการลูกหนัง ในฐานะทีมตัวแทนจากทวีปเอเชียที่สามารถคว้าถ้วย World Cup มาครองได้สำเร็จเป็นครั้งแรก

แม้ปัจจุบันฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่นครองตำแหน่งอันดับหนึ่งของทวีปเอเชีย ล่าสุดเป็นเจ้าของเหรียญทองจากมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ทั้งประเภททีมชายและทีมหญิงก็ตาม แต่ในระดับโลกแล้วทีมชายหรือที่เรียกว่า Samurai Blue ทำได้เพียงผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้าย

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ลีกฟุตบอลหญิงในญี่ปุ่นยังจัดอยู่ในระดับลีกสมัครเล่นในขณะที่ J. League* ของฟุตบอลชายได้พัฒนาไปสู่ฟุตบอลอาชีพ ซึ่งมีเม็ดเงินหมุนเวียนอย่างเป็นระบบเช่นเดียวกับลีกฟุตบอลของยุโรป

สถิติตัวเลขที่น่าสนใจในปี 2010 ระบุว่า นักฟุตบอลหญิงในญี่ปุ่นที่มีอยู่ราว 220 คน เป็นนักฟุตบอลอาชีพไม่ถึง 10% เกือบทั้งหมดเล่นให้กับสโมสรฟุตบอลในอเมริกาและเยอรมนี ส่วนที่เหลือยังเป็นนักฟุตบอลสังกัดสโมสรฟุตบอลสมัครเล่นภายในประเทศซึ่งหลายทีมมีรายได้ไม่พอจ่ายค่าสนามฝึกซ้อมตลอดปี บางครั้งไม่พอที่จะจ่ายค่าห้องอาบน้ำหลังการฝึกซ้อมเสียด้วยซ้ำ นอกจากนี้การนำชุดทีมที่ใส่แล้วกลับไปซักเอง ถือเป็นเรื่องปกติ

ดูเหมือนว่าสภาวการณ์ดังกล่าวแทบจะไม่ต่างจากเมื่อ 45 ปีก่อนที่เริ่มมีการแข่งขันฟุตบอลหญิงครั้งแรกในญี่ปุ่นซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดโกเบเมื่อปี 1966

หลักไมล์สำคัญของวงการฟุตบอลหญิงในญี่ปุ่นเกิดขึ้นเมื่อมีการคัดตัวนักกีฬาทีมชาติฟุตบอลหญิงครั้งแรกเพื่อส่งทีมเข้าร่วมแข่งขันภายในทวีปเอเชียในปี 1981 ช่วงปลายทศวรรษเดียวกันเริ่มมีลีกฟุตบอลหญิงสมัครเล่นเกิดขึ้นในปี 1989 ตามแบบอย่างของลีกฟุตบอลชาย

ความพยายามของ Nadeshiko เริ่มสัมฤทธิผลใน Women’s World Cup ครั้งที่ 2 ปี 1995 โดยสามารถผ่านเข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้ายได้ ก่อนที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินการของทีมสโมสรและผลการแข่งขันในระดับนานาชาติ เช่น ตกรอบแรกในการแข่งขันโอลิมปิกที่แอตแลนตาในปี 1996

ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Football Association: JFA)* ซึ่งได้ปฏิรูประบบโครงสร้างของฟุตบอลหญิงในญี่ปุ่นโดยเริ่มจากการส่งโค้ชของแต่ละทีมสโมสรเข้าร่วมอบรมหลักสูตรเพื่อเรียนรู้เทคนิค และวิธีการสอนที่ถูกต้องตลอดจนการจัดการทีมอย่างมีประสิทธิภาพ จากนั้นจึงเริ่มปูพื้นฐานฟุตบอลให้ผู้เล่นแต่ละคนเสียใหม่ตั้งแต่ทักษะการส่งบอล

อีกทั้งมีการส่งเสริมและพัฒนากีฬาฟุตบอลสำหรับเยาวชนหญิงที่สนใจรวมถึงการเตรียมทีมชาติเยาวชนชุดอายุต่ำกว่า 17 ปี และชุดอายุต่ำกว่า 20 ปีที่มีผลงานการแข่งขันในระดับที่น่าพอใจซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญและเป็นหลักประกันในการเสริมทีมชาติฟุตบอลหญิงรุ่นใหม่ได้ในระยะยาว

กระนั้นก็ดี Nadeshiko ยังคงเป็นเพียงลีกฟุตบอลสมัครเล่นที่ทุกคนสมัครใจเล่นเพื่ออนาคตของฟุตบอลหญิงญี่ปุ่นที่ดีขึ้นซึ่งความสำเร็จเริ่มฉายโชนด้วยการผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่กรุงเอเธนส์ปี 2004 ตามด้วยผลงาน 4 ทีมสุดท้ายในโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ผ่านมา

จังหวะก้าวที่เพิ่มความมั่นใจให้ Nadeshiko ก่อนสู่สนามระดับโลกใน Women’s World Cup คือการคว้าแชมป์ เอเชียมาครองได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในปีที่แล้วโดยชนะแชมป์เก่าอย่างทีมเกาหลีเหนือไปได้ 1-0 ประตู กระนั้นก็ตาม ทั้ง 2 ทีมแกร่งนี้ได้ผ่านการคัดเลือกเป็นตัวแทนทีมจากทวีปเอเชียเข้าแข่งขันใน Women’s World Cup ครั้งที่ 6 ที่ประเทศเยอรมนีในช่วงวันที่ 26 มิถุนายนถึง 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา

การแข่งขัน Women’s World Cup ครั้งนี้คัดเลือก 16 ทีมที่ดีที่สุดจากทั่วโลกโดยแบ่งการแข่งขันออกเป็น 4 กลุ่มๆ ละ 4 ทีมซึ่ง Nadeshiko Japan จับฉลากอยู่ในกลุ่ม B อันประกอบไปด้วย ทีมอังกฤษ, เม็กซิโก, นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น

ผลการแข่งขันในรอบแรกเป็นไปตามความคาดหมายคือทีมชาติอังกฤษทำคะแนนนำมาเป็นอันดับ 1 ของกลุ่มโดยชนะทีมชาติญี่ปุ่นซึ่งเป็นอันดับ 2 ไปด้วยคะแนน 2-0 ประตู

ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย Nadeshiko เฉือนชนะเจ้าภาพเยอรมนี ในช่วงต่อเวลาด้วยคะแนน 1-0 ประตูก่อนที่จะเอาชนะทีมจากสวีเดนไป 3-1 ประตูในรอบรองชนะเลิศ ซึ่งต้องไปพบกับทีมชาติอเมริกาเป็นอันดับสุดท้าย

โดยสถิติเดิมแล้ว ทีมชาติญี่ปุ่นเคยพบกับทีมชาติอเมริกามา 24 ครั้ง ซึ่งทีมญี่ปุ่นแพ้ 21 ครั้ง เสมอ 3 ครั้ง นอกจากนี้ทีมอเมริกายังมีศักดิ์ศรีเป็นทีมอันดับ 1 ของโลก, เจ้าของเหรียญทองฟุตบอลหญิงในโอลิมปิกครั้งล่าสุดและเจ้าของสถิติแชมป์ Women’s World Cup 2 สมัยเมื่อปี 1991 และ 1999 ซึ่งคาดหวังจะสร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์สมัยที่ 3 เป็นชาติแรกของโลก

ข้อเท็จจริงในการจัดอันดับโลกของกีฬาประเภททีมเป็นเพียงสถิติเดิมที่ทีมนั้นเคยสร้างไว้ หากแต่ผู้เล่นในปัจจุบันส่วนใหญ่ก็มิใช่ผู้เล่นชุดเดิมเสียทั้งหมด ดังนั้นการจัดอันดับดังกล่าวอาจมีผลต่อขวัญและกำลังใจแต่แทบไม่มีผลในทางปฏิบัติ ซึ่งจะเห็นได้จากผลการแข่งขันในรอบแรกที่ทีมชาติอเมริกาพบกับทีมชาติสวีเดนซึ่งผลปรากฏว่าทีมสวีเดนชนะไปด้วยคะแนน 2-1 ประตู

การแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ Women’s World Cup ครั้งนี้เริ่มขึ้นหลังเที่ยงคืนของวันที่ 18 กรกฎาคมตามเวลาในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทั้ง 2 ทีมใช้รูปแบบการเล่น 4:2:4 เหมือนกัน ซึ่งทีมอเมริกาเป็นฝ่ายเริ่มบุกก่อนในช่วงแรกโดยที่ครึ่งแรกเสมอกันอยู่ 0-0 ประตู

นาทีที่ 24 ของครึ่งหลังทีมอเมริกาได้โอกาสทำประตูขึ้นนำไปก่อน 1-0 แต่หลังจากนั้นถูกผู้เล่นญี่ปุ่น Aya Miyama ผู้เล่นในตำแหน่ง Midfield ตีเสมอได้ในอีก 12 นาทีต่อมา จึงต้องตัดสินกันในช่วงต่อเวลาการแข่งขัน ซึ่งเริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ โดย ที่ทีมอเมริกากลับมาทำประตูนำออกไปอีกครั้งในช่วงครึ่งแรกของการต่อเวลา

3 นาทีก่อนหมดเวลาครึ่งหลังของช่วงต่อเวลา กัปตันทีมชาติญี่ปุ่น Homare Sawa ทำประตูตีเสมอได้จากลูกเตะมุมของ Aya Miyama ทำให้ต้องตัดสินด้วยการยิงลูกโทษ ซึ่ง Nadeshiko Japan พลิกกลับชนะไปด้วยคะแนน 3-1 ประตูคว้าแชมป์ Women’s World Cup ครั้งที่ 6 ไปครองได้สำเร็จเป็นครั้งแรก

ข้อสังเกตหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนของ Nadeshiko Japan ในครั้งนี้คือทีมเวิร์กที่ดีประกอบกับเทคนิคการจัดการทีมของโค้ช Norio Sasaki ซึ่งช่วยพาให้ลูกทีมทุกคนเล่นได้อย่างมั่นใจ, ผ่อนคลายและมีขวัญกำลังใจโดยเฉพาะผู้รักษาประตู Ayumi Kaihori ในช่วงการยิงลูกโทษ

นอกจากตำแหน่งแชมป์โลกในครั้งนี้แล้ว Nadeshiko Japan ยังได้รับรางวัล Fair Play award และ Homare Sawa กัปตันทีมได้รับรางวัล Most Valuable Player, Adidas Gold Ball และ Adidas Gold Boot ในฐานะผู้เล่นยอดเยี่ยมที่ทำประตูรวมได้มากที่สุดในการแข่งขันคราวนี้ด้วย

หากไม่แบ่งแยกชายหญิงแล้วความสำเร็จของ Nadeshiko Japan ครั้งนี้ถือเป็นปฐมชัยของชาวเอเชียทั้งมวลที่สามารถชนะฝรั่งตาน้ำข้าว รวมทั้งทีมจากทวีปอเมริกาใต้ประหนึ่งเปิดประตูชัยสู่ศักราชใหม่ของฟุตบอลเอเชีย

ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นตัวอย่างที่ดีของสัมฤทธิผลแห่งความพยายามอย่างไม่ย่อท้อ แม้ว่าฟุตบอลหญิงในญี่ปุ่นจะอยู่ในระดับทีมสมัครเล่น ซึ่งใช้คณะผู้ฝึกสอนและจัดการทีมด้วยคนญี่ปุ่นล้วนๆ

อ่านเพิ่มเติม:
* นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ เรื่อง “ผ่าแผนยุทธศาสตร์ J. Leagu” ฉบับมีนาคม 2554 หรือ http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=91266


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.