|
เมื่อผู้นำอังกฤษถูกโชคชะตาเล่นตลก
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( สิงหาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
David Cameron ไม่เคยศรัทธาในอิทธิพลของสื่อสิ่งพิมพ์ แต่กลับต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องอื้อฉาวของหนังสือพิมพ์ ที่กำลังย้อนกลับมาทำร้ายความน่าเชื่อถือของตัวเขาเอง
ชีวิตการเป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษแทบทุกคน มักเริ่มต้นด้วยการเป็นคนน่าเชื่อถือ แต่แล้วความน่าเชื่อถือนั้นกลับค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ เพราะถูกรุมเร้าด้วยเรื่องอื้อฉาวและการตัดสินใจที่ผิดพลาดต่างๆ Gordon Brown เป็นตัวอย่างล่าสุดของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่สูญเสียความน่าเชื่อถือทั้งหมดในคราวเดียว จากการตัดสินใจที่ผิดพลาดในการประกาศเลือกตั้งก่อนกำหนด ซึ่งกลับกลายเป็นการเริ่มต้นของจุดจบในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของตัวเอง หลังจากที่เพิ่งได้ขึ้นเป็นนายกฯ เพียงไม่กี่เดือน
แม้ว่ากรณีอื้อฉาว “Coulson-gate” ที่เกี่ยวกับการแฮ็กโทรศัพท์ของหนังสือพิมพ์ จะเป็นวิกฤติที่หนักหนาที่สุดในชีวิตการเป็นนายกฯ ของ David Cameron แต่ยังไม่ร้ายแรงถึงขั้นจะเป็นจุดจบในชีวิตการเป็นนายกฯ ของเขา วิกฤติครั้งนี้อาจทำให้ความน่าเชื่อถือส่วนตัวของ Cameron เสียหายไปบ้าง รวมถึงกระทบกับความนิยมของประชาชน แต่ยังไม่หนักถึงขนาดจะทำลายความน่าเชื่อถือของเขาทั้งหมด จนไม่อาจฟื้นกลับคืนมาได้
วิกฤติของ Cameron ครั้งนี้ ดูคล้ายกับเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการโฆษณาบุหรี่ของ Tony Blair เมื่อปี 1997 มากกว่าที่จะคล้ายกับสถานการณ์ของ Brown ข้างต้น แต่คำเตือนก็คือ เรื่องอื้อฉาวแฮ็กโทรศัพท์ที่กำลังกระทบ Cameron นี้ยังไม่จบลงและยังไม่มีใครรู้ว่า เรื่องนี้จะจบลงอย่างไร อาจมีการเปิดโปงใหม่ๆ เกิดขึ้นอีก อาจจะทำให้วิกฤติครั้งนี้ทำลายชื่อเสียงของ Cameron มากยิ่งขึ้นไปอีกก็ได้
แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนโชคชะตาจะเล่นตลกกับ Cameron เมื่อเขาต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เขาไม่เคยให้ความสำคัญมาก่อน อย่างหนังสือพิมพ์ เป็นที่รู้กันดีว่า Cameron ไม่เคยศรัทธาในอิทธิพลของสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งเขามองว่าเป็นเรื่องที่พูดกันเกินจริง หากคุณต้องการเข้าถึงผู้มีสิทธิ์ออกเสียงจริงๆ ล่ะก็ Cameron บอกว่าต้องใช้โทรทัศน์เท่านั้น
ความคิดเช่นนี้ ไม่เพียงเกิดจากการที่เขาทำงานอยู่ในแวดวงโทรทัศน์มานานหลายปีเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะ Cameron เชื่อว่า การที่เขาสามารถชนะได้เป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมในปี 2005 นั้น เป็นชัยชนะอย่างไม่คาดฝันที่เกิดจากการปราศรัยสดทางโทรทัศน์เพียงครั้งเดียวของเขาที่ถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ ซึ่งเขาพูดอย่างคล่องแคล่วโดยไม่ต้องมีโพยในมือ แทนที่จะเป็นการอดทนหาเสียงอย่างยาวนาน เพื่อจะค่อยๆ เอาชนะใจบรรดานักเขียนในหนังสือพิมพ์
แม้จะเป็นเพื่อนกับ Rebekah Brooks ผู้บริหารสูงสุด News International เจ้าของ News of the World แต่ Cameron ไม่ค่อยสุงสิงกับนักข่าวหนังสือพิมพ์มากนัก Cameron ตัดสินใจเลือก Craig Oliver นักข่าวโทรทัศน์ มาเป็นหัวหน้าฝ่ายสื่อของเขา แทนที่ Andy Coulson อดีตบรรณาธิการ News of the World ที่ต้องลาออกไปเพราะเรื่องอื้อฉาวครั้งนี้ นี่อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนของความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองอังกฤษกับสื่อก็ได้ ต่อไปนี้นักการเมืองอังกฤษอาจจะแคร์หนังสือพิมพ์น้อยลง และหันไปให้ความสำคัญกับสื่อที่มีทั้งภาพและเสียงอย่างโทรทัศน์มากขึ้น
ใครต่อใครพากันวิเคราะห์ว่า การที่ Cameron ตัดสินใจเปลี่ยนจุดยืนจากนโยบายลดโทษให้แก่นักโทษที่สารภาพผิด เป็นเพราะถูกกดดันจากหนังสือพิมพ์อย่าง Sun, Daily Mail และหนังสือพิมพ์อื่นๆ แต่ความจริงแล้ว เป็นเพราะผลสำรวจความคิดเห็นพบว่า ชาวอังกฤษเกือบทุกคนเกลียดนโยบายนี้ หนังสือพิมพ์ไม่เคยมีความสำคัญในการตัดสินใจของ Cameron ในเรื่องนี้เลย
ถ้าหาก Cameron ไม่ได้แยแสหนังสือพิมพ์ เหตุใดเขาจึงยังเลือก Coulson มาเป็นหัวหน้าฝ่ายสื่อของเขาตั้งแต่แรก เหตุผล อาจมีหลายอย่าง เพราะในตอนนั้น Cameron เพิ่งจะได้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคหน้าใหม่ได้เพียง 1 ปีครึ่ง จึงยังไม่กล้าพอที่จะแหวกประเพณี ด้วยการเลือกนักข่าวสายโทรทัศน์มาเป็นหัวหน้าฝ่ายสื่อแทนนักข่าวสายหนังสือพิมพ์ที่ถือปฏิบัติกันมานาน อาจเป็นเพราะ George Osborne ฝ่ายประสานงานสื่อของพรรคอนุรักษนิยม และเป็นคนที่ Cameron เดินตามรอยความคิดทางการเมืองอยู่มาก เป็นคนเอ่ยปากแนะนำ Coulson หรือไม่ก็อาจเป็นเพราะพรรคอนุรักษนิยมชะล่าใจว่า จุดเลวร้ายที่สุดของเรื่องอื้อฉาวแฮ็กโทรศัพท์ได้ผ่านพ้นไปแล้ว
Cameron อาจจะเหมือนกับ Blair เมื่อสมัยเป็นผู้นำพรรคแรงงานใหม่ๆ ที่เกรงกลัวอิทธิพลของหนังสือพิมพ์ และพยายามจะเอามาเป็นพวก ถ้าเช่นนั้นวิกฤติที่ Cameron กำลังเผชิญอยู่ ก็คงจะเป็นผลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเกิดจากความบกพร่องในการเล่นการเมืองที่หยั่งรากลึกในตัวนักการเมืองอังกฤษ เหมือนกับที่ Brown ตัดสินใจผิดพลาด ที่ประกาศเลือกตั้งก่อนกำหนด เพราะความเป็นคนชอบเล่นเกมการเมืองของเขา
Cameron ไม่เหมือนกับ Blair เกี่ยวกับทัศนะที่เขามีต่อหนังสือพิมพ์ การตัดสินใจที่ทำให้เขาต้องมาเผชิญกับวิกฤติในวันนี้ คือการเลือกนักข่าวหนังสือพิมพ์มาเป็นฝ่ายสื่อตามประเพณีปฏิบัติ เพื่อให้ได้หนังสือพิมพ์มาเป็นพวกนั้น ก็ไม่ใช่การตัดสินที่เป็นแบบฉบับของตัว Cameron หากในตอนนั้น เขามีความกล้าพอที่จะทำตามที่เขาเชื่อมั่นว่า สื่อโทรทัศน์มีอิทธิพลเพิ่มขึ้นมากกว่าหนังสือพิมพ์ ไม่เลือก Coulson มาเป็นหัวหน้าฝ่ายสื่อ เขาก็อาจจะไม่ต้องมาเผชิญกับวิกฤติความน่าเชื่อถือ อย่างที่เผชิญอยู่ในตอนนี้
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง ดิ อีโคโนมิสต์
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|