|
เศรษฐกิจโลกเดินหน้าไปทิศทางใด?
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( สิงหาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
ตั้งแต่สหรัฐอเมริกาประสบปัญหาวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2551 จนลุกลามไปในประเทศยุโรป แม้จะมีความพยายาม แก้ไขปัญหาโดยรวมตลอดระยะ 4 ปี แต่ก็เป็นไปด้วยความเชื่องช้า อนาคตของเศรษฐกิจโลกไม่ทรุดแต่ก็ได้เพียงแค่ทรงๆ
ไมเคิล ไฮส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ อลิอันซ์ เอสอี เดินทางมาประเทศไทยพบปะสื่อมวลชนและนักธุรกิจเพื่อเล่าถึงมุมมองของเขาเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ เขาเริ่มพูดภาพเศรษฐกิจโลกในปี 2554 ว่าจะชะลอความเร็วลง ทั้งปริมาณการค้าโลกและผลผลิตจากทั่วโลก จนส่งผลให้การเติบโตจีดีพีของสหรัฐฯ และยุโรปลดลง
ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาได้รับผลกระทบจากวิกฤติค่อนข้างมาก โดยเฉพาะประชาชนไม่มีงานทำถึง 9 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบ 2 ปีที่ผ่านมามีอัตราว่างงานถึง 10 ล้านคน
ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลของวรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน CEO บลจ.บัวหลวง จำกัด เปิดเผยในบทความ “ปัญหาถังแตกของสหรัฐฯ” ว่า คนอเมริกันมีอัตราการว่างงานยาวนานกว่า 6 เดือน และต้องใช้เวลาหางานนานมากขึ้น จาก 4 เดือน กลายเป็น 7 เดือนครึ่ง
เหตุผลที่ทำให้อัตราการว่างงานจำนวนมาก เพราะผู้ประกอบการไม่มีความมั่นใจสภาพเศรษฐกิจ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้ดีดตัวดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น
ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้นกับสหรัฐฯ และยุโรป เกิดจากวิกฤติหนี้สาธารณะ โดยเฉพาะในยุโรปสนุกสนานกับการใช้ดอกเบี้ยต่ำ โดยเฉพาะประเทศกรีซ สเปน อิตาลี ประเทศเหล่านี้ไม่ได้กู้เงินมาเพื่อใช้หนี้ที่มีอยู่ แต่กระทำในตรงกันข้ามโดยกู้เงินเพิ่มเพื่อนำไปใช้จ่าย จึงทำให้เกิดหนี้สาธารณะและหนี้ส่วนบุคคลมากขึ้นเกือบทุกประเทศยกเว้นประเทศเยอรมนี
ทำให้ประเทศในยุโรปเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เริ่มจากประเทศกรีซ แม้จะเป็นประเทศเล็กและมีผลผลิตเพียงร้อยละ 2 ในกลุ่มยุโรป แต่กลุ่มยุโรปได้อัดฉีดเงินเข้าช่วยเหลือเป็นจำนวนเงิน 109 พันล้านดอลลาร์ และการออกพันธบัตรระยะยาว 30 ปี โดยให้ดอกเบี้ยในระดับ 3-6 เปอร์เซ็นต์
มาตรการลดหนี้ของกรีซจะต้องแลกกับเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหลายๆ ด้านตามคำแนะนำของไอเอ็มเอฟและกลุ่มประเทศในยุโรป
จากการช่วยเหลือหลายๆ ด้านของกรีซ ทำให้นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าในปี 2555 กรีซจะอยู่ในภาวะที่นิ่ง
ความพยายามช่วยเหลือของกลุ่มประเทศในยุโรป เพราะไม่ต้องการให้เกิดปัญหาลุกลามไปสู่ประเทศอื่นในยุโรป เพราะ หากมองในมุมกลับประเทศในยุโรปรวมตัวกัน ยังไม่สามารถแก้ไขประเทศเล็กๆ อย่างกรีซได้ ก็เป็นไปได้ยากที่ประเทศอื่นๆ จะได้รับการแก้ไข
อย่างไรก็ดี ความช่วยเหลือของยุโรปที่เพิ่มมากขึ้นทำให้มองว่าในปีหน้า ค่าเงินของยุโรปจะแข็งค่าขึ้น ในขณะที่สหรัฐอเมริกาคาดว่าจะไม่ทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่า แต่จะใช้มาตรการดอกเบี้ยต่ำ เพื่อดูแลหนี้สาธารณะและมาตรการดังกล่าวจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นโลก
ส่วนเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาและยุโรปจะยังไม่รุนแรง เพราะมีราคาสินค้าโภคภัณฑ์ดูแลอยู่ แต่ถ้าเงินเฟ้อกระทบน้ำมันและอาหารจะเกิดผลกระทบรุนแรงต่อผู้บริโภคแต่เหตุการณ์นี้ยังไม่เกิดขึ้น
สำหรับราคาทองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะได้รับความสนใจจากทั่วโลก และน่าสนใจกว่าพันธบัตรรัฐบาล เพราะปัญหาหนี้สาธารณะทำให้คนสนใจลงทุนในทองและราคาดีกว่าน้ำมัน
ในส่วนตลาดเอเชียได้รับมือวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และประคับประคองให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว แต่นับจากนี้ไปอัตราการเติบโตจะชะลอตัวลง เนื่องจากมีการถอดถอนการกระตุ้นทางการเงินและการคลังที่รัฐบาลในประเทศต่างๆ มากระตุ้นนาน 2 ปี และได้สิ้นสุดในปี 2553
ในขณะที่มุมมองของวรวรรณบอกว่าหลังจากสหรัฐฯ ยังอัดฉีดเงินเข้าระบบ จึงทำให้มีสภาพคล่องล้นเหลือ เพราะรัฐอัดฉีดเงินลงไปแล้วแต่ธนาคารยังไม่ปล่อยกู้ ดังนั้น เงินก็จะมาที่ตลาดเกิดใหม่ ซึ่งเอเชียดูดีที่สุด
เอเชียมีแนวโน้มการบริโภคจับจ่ายใช้สอยสูงขึ้นเรื่อยๆ อเมริกาจึงสนใจเอเชีย และประเทศไทยก็มีเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ การบริโภคได้ดี ฝรั่งจึงสนใจและมองไทยยาวขึ้น จะทยอยเข้ามามากขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|