มีนักธุรกิจไทยที่มาจาก OVERSEA - CHINESE จำนวนมากตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมธุรกิจหวั่งหลีจึงเป็นปึกแผ่นตลอดระยะเวลากว่า
120 ปี? อาจจะกล่าวได้ว่าไม่มีปัญหา ไม่มีวิกฤติการณ์ รักษาชื่อเสียงยั่งยืนจนทุกวันนี้
"ผู้จัดการ" ได้ตั้งคำถามนี้กับ สุวิทย์ หวั่งหลี ผู้นำตระกูลหวั่งหลีปัจจุบัน
"พี่น้องตระกูลหวั่งรักใคร่สามัคคีกัน มีความสำนึกในความรับผิดชอบของตนดี"
เขาตอบอย่างเคร่งขรึม
ตระกูลหวั่งหลีดำเนินธุรกิจมีเอกลักษณ์ของตัวเอง!
ผู้คนในระดับกว้างมองว่า ธนาคารนครธนซึ่งเพิ่งจะเปลี่ยนชื่อมาจากธนาคารหวั่งหลีเมื่อต้นปีที่แล้ว
คือ "สัญลักษณ์" ธุรกิจตระกูลหวั่งหลี ธนาคารนี้มีอายุยาวนานถึง
53 ปี เป็นธนาคารเก่าแก่อันดับสองของประเทศไทยที่ยังดำรงอยู่ถัดจากธนาคารไทยพาณิชย์
และธนาคารนครธนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อันมีผลประกอบการในระดับที่สูงกว่าธนาคารทั้งระบบในห้วงเวลานี้
แต่ สุวิทย์ หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารนครธนและผู้นำตระกูลหวั่งหลีรุ่นปัจจุบัน
กลับยอมรับกับ "ผู้จัดการ" อย่างตรงไปตรงมาเมื่อไม่นานมานี้ "ความจริงธนาคารนครธนเพิ่งจะดำเนินงานธนาคารอย่างจริงจังเมื่อ
7 - 8 ปีมานี้เอง"
คนในวงการธุรกิจระดับลึก ๆ มองว่าแท้ที่จริงตระกูลหวั่งหลีปักหลักหนักแน่นกับธุรกิจค้าข้าว
- โรงสี อันเป็นฐานธุรกิจสืบเนื่องมาหลายชั่วคน และแท้ที่จริงการเกิดธนาคารนครธนก็เพื่อรองรับธุรกิจนี้
แต่ทว่าในระยะ 3 - 4 ปีมานี้ ธุรกิจค้าข้าวของเขาได้หดตัวลงอย่างมาก ๆ และเพิ่งจะยุบบริษัทเกี่ยวข้องกับกิจการนี้
(บริษัท ธัญญเวฒน์) ไปเมื่อปี 2528 "หวั่งหลีมีนโยบายจะเลิกกิจการค้า
- ส่งออกข้าวแล้ว" สุวิทย์ หวั่งหลี ประกาศอย่างเฉียบขาด
หวั่งหลีเข้ามาฝังรากในเมืองไทยไม่ต่ำกว่า 120 ปีแล้ว ต้นตระกูลของพวกเขามิใช่
OVERSEA - CHINESE อันมีอดีต "เสื่อผืนหมอนใบ" ดุจคนจีนที่ร่ำรวยอู้ฟู้ในเมืองไทยปัจจุบัน
โดยทั่วไปหวั่งหลีเป็นคนจีนที่เป็น "ฟันเฟือง" สำคัญในการดำเนินการค้าระหว่างประเทศในเอเชียอาคเนย์
คนตระกูลหวั่งหลีทุกคนมีความภาคภูมิใจกับภูมิหลังของพวกเขาตลอดมา แต่ลึก
ๆ ในความภาคภูมิใจนี้ก็มี "ปมด้อย" แฝงอยู่ เนื่องมาจากนามสกุลหวั่งหลีเช่นกัน
พวกเขาเชื่อว่าคำว่า "หวั่งหลี" เป็นสัญลักษณ์ของคนไทยเชื้อสายจีน
ที่ยังไม่เป็นคนไทยเมื่อเทียบกับ OVERSEA - CHINESE เข้ามาเมืองไทยในยุคเดียวกัน
เป็นสัญลักษณ์ของการบริหารระบบครอบครัว อันดูเหมือนขัดแย้งกับมืออาชีพ (PROFESSIONAL)
ในธุรกิจสมัยใหม่ที่ก้าวหน้าไปมากเช่นนี้ ว่ากันว่าการเปลี่ยนชื่อธนาคารหวั่งหลี
บริษัทหล่วงหลีประกันภัย เป็นชื่อไทย ๆ มีเหตุผลอยู่ในตัวเองเช่นนี้ด้วย
แล้วภาพอันคมชัดของธุรกิจหวั่งหลีในปัจจุบันเป็นอย่างไร?
ตันฉื่อฮ้วง (2393 - 2468) เดินทางมากับเรือสำเภาถึงเมืองไทยครั้งแรกประมาณปี
2414 หนุ่มน้อยแซ่ตันคนนี้คือเสมียนคุมสินค้าของบิดาขึ้นล่องระหว่างฮ่องกงกับไทย
โดยนำผ้าไหมจากเมืองจีนมาขายในไทย และนำข้าวจากไทยกลับไปขายยังฮ่องกง เขากับบิดาจอดเรือสำเภาเทียบท่าใกล้วัดทองธรรมชาติ
ในเขตคลองสานในปัจจุบัน
ณ ตรงนี้ก็คือจุดยึดหัวหาดธุรกิจหวั่งหลี เป็นจุดเริ่มต้นที่คนรุ่นหลังไม่ลืม
แม้แต่การเปลี่ยนชื่อธนาคารหวั่งหลีมาเป็นธนาคารนครธนพร้อมกับย้ายสำนักงานใหญ่จากฝั่งธนมาที่อาคารสาธรธานี
ก็เพราะต้องการคงประวัติศาสตร์ของพวกเขา ซึ่งบรรพบุรุษสร้างความรุ่งโรจน์ขึ้นโดยมีที่ยืนที่ฝั่งธนบุรีนั่นเอง
ตันฉื่อฮ้วง เป็นคนจีนแมนดาริน บ้านเกิดอยู่ซัวเถา บิดาของเขาเป็นชาวจีนที่มีความภูมิใจในชาติตระกูลของตนเอง
บ้านเกิดของเขาคือที่พำนัก แต่ท้องทะเลย่านเอเชียอาคเนย์คือทางผ่านและที่ทำมาหากิน
บ้านหวั่งหลีอยู่นอกเมืองซัวเถาใหญ่โตนัก บางคนที่พูดเกินจริงไปบ้างเล่าว่า
หากคน ๆ เดียวเปิดและปิดหน้าต่าง (ปกติบ้านคนจีนประตู - หน้าต่างมากอยู่แล้ว)
บ้านหวั่งหลีก็จะเป็นงานชิ้นเดียวที่ต้องทำทั้งวัน บ้านหลังนี้ถูกยึดภายหลังการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ในแผ่นดินใหญ่ปี
2492 พวกหวั่งหลีต้องระเห็จออกจากที่นั่นมาทุกคน เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่เปลี่ยนนโยบายต้องการคืนบ้านหลังนี้
แต่คนหวั่งหลีก็ไม่ไปรับคืน จะด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบ
เพียง 5 - 6 ปีตันฉื่อฮ้วงก็เกิดความประทับใจเมืองไทยเอามาก ๆ (คำว่า "หวั่งหลี"
นำมาจากท้ายชื่อของ ตัน ฉื่อฮ้วง "ฮ้วง" อ่านออกเสียงเป็น "หวั่ง"
แปลว่าความรู้เชิงบัณฑิต มาต่อกับคำว่าหลี แปลว่าดี หรือรับเงิน) ขึ้น โดยบิดาของเขาไม่ได้ช่วยเหลือทางการเงินแต่อย่างใด
ยิ่งไปกว่านั้นภรรยาของเขาก็เป็นคนไทย (ชื่อหนู) ร้านหวั่งหลีดำเนินธุรกิจเหมือนเดิมเช่นบิดาของเขาทำ
เพิ่มกิจการโรงสีเข้าไปด้วย
พรรณี บัวเล็ก กล่าวถึงต้นตระกูลหวั่งหลีไว้ในวิทยานิพนธ์ของเธออันเกี่ยวกับ
OVERSEA - CHINESE บางตระกูล (การเติบโตและการพัฒนาของนายทุนธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย
2475 - 2516) บางตอนเธออ้างงานเขียนชื่อ TWENTIETH CENTURY IMPRESSIONS OF
SIAM ของ ARNOLD WRIGHT ถือเป็นผลงานแห่งการรวบรวมด้วยความพยายามที่พอจะทำให้เห็นภาพ
"หวั่งหลี" ยุคแรก ๆ ได้ดีพอสมควร ซึ่ง "ผู้จัดการ"
นำมาประกอบการเขียนเรื่องนี้ในบางตอน (โดยเฉพาะต้น ๆ) นอกจากนี้มีบุคคลอีก
2 คนกล่าวถึงบรรพบุรุษของเขา หนึ่ง - ตันซิ่วติ่ง หวั่งหลีในGENERATION ที่
3 ซึ่งเดินทางมาจากฮ่องกงบริหารกิจการหวั่งหลี ภายหลังตันซิ่งเม้ง (พี่ชาย)
สิ้นชีวิตอย่างกะทันหัน เคยให้สัมภาษณ์ถึงประวัติตระกูลหวั่งหลีใน BANGKOK
POST เมื่อปี 2510 และสุวิทย์ หวั่งหลี ผู้นำตระกูลหวั่งหลีปัจจุบัน ผู้ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นนายธนาคารที่
LOW PROFILE ที่สุด ได้เสียสละและเต็มใจพูดถึงธุรกิจตระกูลของเขาที่ค่อนข้างพิสดารเป็นครั้งแรกกับ
"ผู้จัดการ" เมื่อประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ไม่อาจจะกล่าวถึงบุคคลอีกจำนวนหนึ่งตั้งแต่คนในตระกูลหวั่งหลีบางคน
ญาติ คนใกล้ชิด พนักงาน และนักธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจแนวเดียวกัน ได้อธิบายถึง
"หวั่งหลี และธุรกิจของเขา" ทำให้ภาพกว้าง ๆ เติมแต่งรายละเอียดอีกมาก
ในยุคล่าอาณานิคมอันเป็นผลกระทบต่อเมืองไทยตรง ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น
ตันฉื่อฮ้วงตัดสินใจเข้าอยู่ใต้อาณัติของฝรั่งเศส อันถือได้ว่าเป็นจุดสำคัญของการเกิดตระกูลหวั่งหลีในประเทศไทยนำพาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับ
"ผู้มีอำนาจ" ในแผ่นดินขณะนั้น เป้าหมายแจ่มชัดอยู่แล้วคือเสริมรากฐานธุรกิจของเขา
และสืบเนื่องต่อมาเกี่ยวข้องกับ "อำนาจรัฐไทย" มากขึ้นเป็นลำดับ
เมื่ออิทธิพลของอาณานิคมฝรั่งเศสได้ลดทอนไป
เงื่อนไขนี้ดูเหมือนจะหลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับธุรกิจ โดยเฉพาะ OVERSEA -
CHINESE ในยุคนั้น ๆ นักค้นคว้าธุรกิจประวัติศาสตร์คนหนึ่งให้เหตุผลว่า สังคมธุรกิจขณะนั้นเล็กเหลือเกินซึ่งล้วนต้องแวดล้อมศูนย์อำนาจ
ตันฉื่อฮ้วง นอกจากจะมีกิจการค้าส่งออก - นำเข้าสินค้าแล้ว เขาได้ชื่อว่าเป็นผู้ประกอบการโรงสีที่ใหญ่ที่สุด
ในช่วงเขาอยู่เมืองไทยมีกิจการโรงสี 2 แห่งที่ฝั่งธนและสามเสน - - โรงสีเคี้ยงหลีจั่น
เป็นโรงสีโรงแรกริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สามเสนปัจจุบันเพิ่งจะสร้างเป็นคลังสินค้าให้บริษัทเสริมสุขเช่า
ตันฉื่อฮ้วงเป็นผู้นำคนจีนที่เข้มแข็ง และได้รับการยอมรับมากที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้น
ในฐานะผู้นำวงการอุตสาหกรรมที่มีบทบาทมาก เขาได้รวบรวมกลุ่มโรงสีกว่า 40
โรงอันเป็นกิจการของ OVERSEA - CHINESE เป็นส่วนใหญ่ ก่อตั้งสมาคมโรงสีไฟไทยเพื่อกำหนดราคาซื้อขายกับหน่วยข้าวที่แน่นอนเป็นครั้งแรก
เขามีลูกชาย 4 คน หญิง 5 คน คนโตเป็นคนประหยัด แต่ไม่มีหัวการค้าจึงถูกจัดสรรหน้าที่ดูแลครอบครัวในซัวเถา
คนที่สอง - - ตันลิบบ๊วย มีหัวการค้า ถูกส่งออกมาเมืองไทยดูแลกิจการค้าและโรงสีอันถือได้ว่าเป็นกิจการค้าหลักของตระกูลหวั่งหลีตลอดมา
(สุวิทย์ หวั่งหลี ยืนยัน) โดยที่ตันฉื่อฮ้วงได้เกษียณตัวเองเมื่ออายุ 50
ปี เดินทางกลับบ้านเกิดที่ซัวเถา หลังจากเร่ร่อนสร้างฐานะจนค่อนชีวิต และจบชีวิตลงที่นั่นตามความตั้งใจเมื่ออายุ
75 ปี
ตันลิบบ๊วย เข้าสืบทอดบิดาเพียงอายุ 19 ปี โดยดำเนินรอยเท้าบิดาอย่างดี
สร้างกิจการค้าใหญ่โตเป็นลำดับ แวดล้อมการค้าส่งออกข้าว - โรงสี รวมทั้งเป็นตัวแทนบริษัทเดินเรือระหว่างกรุงเทพฯ
- ฮ่องกง - ซัวเถา ธนาคารหวั่งหลีจั่น เพื่อสนับสนุนการค้าของตระกูล "ธนาคารสนับสนุนการเงินเฉพาะธุรกิจตระกูลหวั่งหลีเท่านั้น
และผู้ฝากเงินก็คือคนในครอบครัวหวั่งหลีไม่มีคนนอกเลย" ตันซิวติ่ง เคยกล่าวเอาไว้เมื่อปี
2510
ตันลิบบ๊วยประสบความสำเร็จสามารถสร้างธุรกิจและสินทรัพย์ของตระกูลงอกเงยจากโรงสี
2 โรง เพิ่มเป็น 6 แห่ง นอกจากธนาคารซึ่งหมายความเพียง "กำปั่น"
เก็บเงินของตระกูลหรือร้านแลกเปลี่ยนเงินตราไม่มีสำนักงานหรือคนทำงานแยกออกจากกันเลยแล้ว
และตั้งบริษัทหล่วงหลีประกันภัยด้วยด้วย
ในขณะเดียวกันเขาก็เข้าไปมีส่วนร่วมสังคมชาวจีนมากขึ้นลึกซึ้งมากขึ้นยิ่งกว่ายุคบิดาของเขา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมเกี่ยวกับการสนับสนุนช่วยเหลือ "ภัยพิบัติ"
บนแผ่นดินใหญ่
ตันลิบบ๊วยลาโลกไปหลังจากได้ใบอนุญาตมีธนาคารเพียง 2 ปี เขามีความตั้งใจเช่นเดียวกับบิดา
เมื่อมอบภาระหน้าที่ให้ทายาทสืบต่อแล้วบั้นปลายชีวิตของเขาจะอยู่ที่ซัวเถา
แต่แล้วเขาโชคร้ายต้องตายเสียก่อน ตันซิวติ่งเล่าว่าลูกได้ดำเนินให้เป็นตามเจตจำนงของบิดา
นำศพล่องทะเลกลับบ้านฝ่าดงโจรสลัดในช่วงนั้น พวกเขาต้องลงแรงป้องกันอย่างเต็มที่หวั่นกันว่าจะมีการลักศพผู้พ่อกลางทะเล
ซึ่งในที่สุด ก็ไปได้ตลอดรอดฝั่ง!
หากหวั่งหลี FAMILY SAGA เป็นนิยาย ตอนนี้จะตื่นเต้นสนุกครบทุกรสกว่าทุกตอนในเรื่องนี้
โดยมีตันซิวเม้งเป็นพระเอก
จากพฤติกรรมของตันซิวเม้ง ผู้นำใน GENERATION ที่ 3 ได้ก่อให้เกิดการปฏิวัติโครงสร้างและแนวคิดของคนตระกูลหวั่งหลี
ทั้งตอกย้ำยึดมั่นจารีตอย่างเหนียวแน่นตลอดตั้งแต่ต้น หรือเกิดจุดหักมุมตั้งแต่เมื่อสิ้นยุคตันซิวเม้ง
และก็ยึดมั่นสืบทอดจนทุกวันนี้
เขามีชีวิตเพียง 41 ปี แต่ผลงานของเขามากมายนัก ตันซิวเม้งเข้ามารับงานจากบิดาอย่างเต็มที่เมื่ออายุ
26 ปี เขามีเวลาอีกเพียง 14 ปีเท่านั้นในการสร้างอาณาจักรธุรกิจหวั่งหลี
ให้ธุรกิจหวั่งหลีกว้างขวางออกไปหลายประเทศในย่านเอเชีย มีกิจการธนาคารและบริษัทการค้าในต่างประเทศ
6 ประเทศ จำนวน 8 แห่ง เป็นตัวแทนเรือ (แทบจะผูกขาด) ในประเทศไทยหลายแห่ง
อาทิ Brusgard Kiosterud & Co., Dramen, Thoresen & Co., ที่ฮ่องกง
Menam River Towage & Lighter และ Chaina Siam Wharf and Godoun Company
เชื่อมการค้าในภูมิภาคนี้ ระหว่างซัวเถา ฮ่องกง ไฮเฮา สิงคโปร์ มะละกา กัวลาลัมเปอร์
อิโป ปีนัง และร่างกุ้ง
ในประเทศไทย กิจการโรงสีของหวั่งหลีนับว่าใหญ่ที่สุดในประเทศมีถึง 8 โรง
ปริมาณการสีข้าวประมาณ 1,200 เกวียน/วัน ท่ามกลางวิกฤติการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ
OVERSEA - CHINESE หลายรายที่ประกอบกิจการโรงสีต้องล้มคว่ำ แต่ตันซิวเม้งพยุงตัวมาได้
ตันซิวเม้งเป็นผู้นำคนจีนโพ้นทะเลในไทยที่เป็นที่พึ่งอย่างแท้จริง ในยุคนโยบายคณะราษฎรพุ่งเป้าต่อต้านธุรกิจชาวจีน
เขาเป็นตัวแทนคนจีนที่มีอำนาจต่อรองในระดับแน่นอน ในขณะเดียวกันก็ต้องพาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างล้ำลึก
พรรณี บัวเล็ก กล่าวถึงบทบาทตันซิวเม้งในเรื่องนี้ว่า "ไม่ได้เข้าสัมพันธ์เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเหมือนกลุ่มอื่น
การร่วมมือกับคณะราษฎร เช่นบริษัทพืชกสิกรรมเป็นไปด้วยความจำเป็นมากกว่า…"
ซึ่งค่อนข้างจะขัดแย้งของทายาทหวั่งหลีบางคนที่มีทรรศนะว่าหวั่งหลีไม่มียุคใดที่เข้าไปพัวพันการเมืองเท่ายุคตันซิวเม้ง
อันสอดคล้องกับหลักฐานบางประการในหนังสืองานศพฉบับภาษาจีน (สิงหาคม 2488)
ที่ปรากฏภาพและคำไว้อาลัยจากผู้ใหญ่ในแผ่นดินยุคนั้นหลายคน อาทิ ควง อภัยวงศ์
นายกรัฐมนตรี พันเอกช่วง เชวงศักดิ์สงคราม พลตำรวจตรีพระพินิจชนคดี!
เมื่อเขาต้องถูกปองร้ายถึงชีวิตในสงครามต่อต้านญี่ปุ่น เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่คนตระกูลหวั่งหลีตัดสินใจไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง
พร้อม ๆ กับการลดบทบาทธุรกิจอย่างมาก ๆ สุวิทย์ หวั่งหลี จะยืนยันเสมอว่าธุรกิจตระกูลหวั่งหลีไม่เคยอิงการเมืองเลย
และนี่ก็คือสิ่งหนึ่งที่คนตระกูลหวั่งหลีภูมิใจ
วัฒนธรรมชาวจีนอย่างหนึ่งคือการมีครอบครัวใหญ่ ซึ่งหนีปัญหาต้องมีภรรยาหลายคนไม่พ้น
บิดาของตันซิวเม้ง - - ตันลิบบ๊วยก็มีภรรยา 2 คน (คนจีนและคนไทย) เขาต้องสร้างบ้านขึ้นสองหลังเพื่อภรรยาสองคน
เพราะพฤติกรรมเช่นนี้จึงขัดกับจารีตของตระกูลหวั่งหลีที่ทายาททุกคนได้รับความเป็นธรรมในการกระจายทรัพย์สิน
มีเรื่องบางเรื่องที่ยังอยู่ในความทรงจำของคนตระกูลนี้จนถึงวันนี้ ตันซิวเม้งก็เกือบจะถลำไปตามครรลองนั้น
ว่ากันว่าเกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ในครอบครัว อันเป็นที่มาของความสำนึกว่าผู้นำของตระกูลควรมีภรรยาเดียวจนทุกวันนี้
นักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนบางคนตั้งข้อสังเกว่านี่คือ ปมเงื่อนประการหนึ่งแห่งความกลมเกลียวของตระกูลหวั่งหลีในปัจจุบันอันแทบจะหาไม่ได้ในธุรกิจใหญ่ที่มาจาก
OVERSEA - CHINESE ในไทยเลย เพราะมันเป็นเรื่องพูดง่ายแต่ทำยากเหลือเกิน
การตายของตันซิวเม้งนำความโศกเศร้าอย่างใหญ่หลวงมาสู่ครอบครัวหวั่งหลี ซ้ำยังคงปริศนาตราบเท่าทุกวันนี้
"…ผมเสียดายคุณงามความดีของคุณตันซิวเม้งที่ประกอบมา โดยเฉพาะในการร่วมมือประคับประคองชาวจีนโพ้นทะเลให้พ้นจากการกดขี่ของญี่ปุ่นในประเทศไทย
ทั้งยังได้รวบรวมพวกพ้องและสละกำลังใจกำลังความคิดตลอดจนทรัพย์ส่วนตัวดำเนินกิจการต่อต้านญี่ปุ่นในเมื่อถึงคราว
เฉพาะกิจการส่วนใหญ่ที่กล่าวนี้ในเวลาย่อมจะเผยแพร่ไม่ได้ ต้องช่วยกันปกปิดเป็นความลับ…การกระทำของพวกเราที่จำต้องปกปิดนั่นเอง
จะเป็นด้วยเหตุผลประการใดในขณะนี้ไม่ทราบชัด แต่คุณตันซิวเม้งถูกทำร้ายตาย…ชั้นนี้ผมจะบรรยายการกระทำของคุณตันซิวเม้งโดยละเอียดไม่ได้
แต่ในวันหนึ่งข้างหน้าผมจะเปิดเผยกิจการนั้นได้…" ข้อความปริศนานี้คือคำไว้อาลัยของ
พลตำรวจตรีพระพินิจชนคดี เพื่อนสนิทของตันซิวเม้ง ขณะนั้นเป็นนายตำรวจใหญ่
ซึ่งรู้เส้นสายกลในคนจีนในไทยดีมาก แต่ก็ไม่สามารถนำตัวคนร้ายมาลงโทษได้
ในทางตรงข้ามไม่มียุคใดสมัยใดใน 100 กว่าปีของตระกูลหวั่งหลีที่เงียบเหงาซบเซาเท่ายุคตันซิวติ่ง
น้องชายตันซิวเม้ง ซึ่งปกติพำนักและรับผิดชอบธุรกิจในฮ่องกง ต้องเดินทางมารับช่วงต่อ
เขาพูดภาษาไทยไม่ได้ ไม่เข้าใจเมืองไทยดีพอ ประกอบกับอุปนิสัยของเขาเป็นคนเงียบ
ๆ เก็บตัวชอบอยู่กับลูกหลาน ธุรกิจของตระกูลหวั่งหลีแทบจะไม่มีกิจกรรมเด่นชัดเลยในช่วงนี้ยาวนานกว่า
10 ปี
"ตันซิวติ่งนี่ติ่งจริง ๆ" นักธุรกิจเชื้อสายจีนคนหนึ่งสรุปบทบาทของตันซิวติ่งอย่างเห็นภาพพจน์
เพราะคำว่า "ติ่ง" ในภาษาจีนแปลว่า "เฝ้า"
นอกจากปัญหาข้างต้น ตระกูลหวั่งหลีไม่มีทายาท ลูก ๆ ของตันซิวเม้งกับทองพูนส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ
ลูกสาวคนโตสุดอายุเพียง 18 ปี ยังไม่สำเร็จการศึกษา ส่วนลูกชายคนเล็กนั้นอายุเพียง
5 ขวบเท่านั้น
ทองพูนนั้นเล่าถึงแม้เธอจะเป็นลูกสาวตระกูลล่ำซำนักธุรกิจใหญ่อีกกลุ่มซึ่งใกล้ชิดกับหวั่งหลีมาก
ๆ ก็ไม่สามารถเข้ามารับช่วงดำเนินกิจการได้ "คุณนายทองพูนไม่เคยทำธุรกิจ
ทรัพย์สินก็อยู่ในโฮลดิ้งคัมปะนี ไม่มีการแบ่งสมบัติ โดยเฉพาะสมบัติต้องตกอยู่ฝ่ายชาย
ผู้หญิงไม่มีสิทธิ์เกี่ยวข้อง" ผู้รู้บอก
จะหาว่าเธอไม่พยายามก็ใช่ที่ ทองพูนตั้งบริษัทของตนเองขึ้น - - บริษัทพูนผลในระยะแรก
ๆ ร่วมทุนกับตระกูลล่ำซำ และมีกิจการอีกบางบริษัทร่วมทุนกับล่ำซำ ปรากฏต่อมาว่าไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
ส่วนตันซิวติ่งสิ่งที่เขาทำได้คือค้าข้าวและโรงสี ส่วนกิจการธนาคารกับบริษัทประกันภัยนั้นมีเพียงใบอนุญาตเก็บไว้รอจนกว่าลูก
ๆ ผู้ชายของตันซิวเม้งจะเดินทางกลับ "การก่อร่างและพัฒนาธุรกิจต้องค่อยเป็นค่อยไปประหนึ่งหยดน้ำที่หยดตามจังหวะการเต้นของหัวใจ"
ตันซิวติ่งพูดถึงปรัชญาการดำเนินธุรกิจของเขากับ BANGKOK POST เมื่อปี 2510
ประหนึ่งว่า จังหวะการเต้นหัวใจของเขาช่างอ่อนล้าเสียนี่กระไร!
สุวิทย์ หวั่งหลี ลูกชายคนโตของตันซิวเม้ง - ทองพูน เดินทางกลับจากต่างประเทศพร้อมด้วยปริญญาด้านการเงินจากวอร์ตันฯ
เมื่อปี 2500 อายุถึง 38 ปีแล้ว เขาถูกจัดวางผู้นำใน GENERATION ที่ 4 จะเข้ามาดำเนินธุรกิจของตระกูลหวั่งหลีในประเทศไทย
แต่ทว่าตันซิวติ่งยังอยู่ ทั้งยังนำลูกชาย - - ทิม หวั่งหลี จากฮ่องกงเข้ามาช่วยงานด้วย
ทิมมีปัญหาเช่นเดียวกับพ่อของเขาคือเรื่องภาษาและความเข้าใจธุรกิจเมืองไทย
อย่างไรก็ตาม เขาคือบุคคลตัดสินใจสร้างอาคารหวั่งหลีสูง 10 ชั้นย่านสุรวงศ์อันเป็นที่ฮือฮามากยุคนั้น
กว่าสุวิทย์จะเข้ามารับผิดชอบธุรกิจหวั่งหลีอย่างเต็มตัวก็ใช้เวลากว่า 10
ปี ในระหว่างนั้นเองเข้าได้ช่วยมารดาฟื้นฟูกิจการบริษัทพูนผลจนก้าวหน้าไปมาก
ทองพูนเป็นแรงจูงใจ สุวิทย์เป็นผู้ปฏิบัติงานที่สามารถ ธุรกิจด้านพูนผลจึงดำเนินไปดี
"คุณนายทองพูนเป็นคนต่อสู้มาก มักสอนให้ลูกทำงาน ทั้งนี้เพราะมีลูกมากที่สุดในบรรดาคนตระกูลหวั่งหลีในยุคนั้น"
บริษัทพูนผลค้าพืชไร่ เริ่มจากปอ นุ่น และที่สำคัญที่สุดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็คือผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังส่งออกไปขายต่างประเทศ
เป็นรายแรก ๆ ของประเทศ ตืดตามมาด้วยตั้งบริษัทวิสุทธิพาณิชย์ (2502) ค้าขายเครื่องเหล็ก
และเครื่องอะไหล่สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม บริษัทสิทธินันท์ (2504) ผลิตวุ้นเส้นที่
อ. บ้านแพ้ว สมุทรสาคร บริษัทพูนพิพัฒน์ (2505) ก่อสร้างคลังสินค้าและท่าเทียบเรือเดินสมุทร
บริษัทซีอีเอส. (2507) รับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น
ช่วงปี 2500 - 2516 ธุรกิจของพูนผลเติบโตอย่างรวดเร็ว พร้อม ๆ กับการทยอยกลับจากต่างประเทศของลูกชาย
พิจารณาตามหลักฐานจดทะเบียนการค้าพบว่าในช่วงดังกล่าว ปีกด้านพูนผลจัดตั้งบริษัทขึ้นประมาณ
10 บริษัท หนึ่ง - ค้าพืชไร่ส่งออก และคลังสินค้าท่าเทียบเรือ ตลอดจนโรงงานผลิตจากวัตถุดิบสินค้าพืชไร่
สอง - ก่อสร้างและค้าขายเครื่องจักร สาม - พัฒนาที่ดิน
ประการที่สามนี้ทองพูนได้จัดสรรที่ดินออกหลายแปลง โดยตั้งบริษัทหลาย ๆ บริษัทรับผิดชอบพัฒนาไป
แบ่งให้ลูก ๆ รับผิดชอบ แต่โดยเนื้อในแล้วการถือหุ้นก็อยู่ในครอบครัวตันซิวเม้ง
- ทองพูน (ลูกชาย 9 หญิง 3)
"ในช่วงนี้คุณทองพูนกว้านซื้อที่ดินไว้มากย่านรังสิต ทุ่งมหาเมฆ ตรอกจันทน์
และย่านปู่เจ้าสมิงพราย จำเป็นต้องตั้งบริษัทขึ้นรับผิดชอบ ความจริงไม่ได้สร้างผลผลิตอะไร"
แหล่งข่าวอีกด้านเพิ่มเติม
มองในแง่กลยุทธ์แล้ว สุวิทย์และน้อง ๆ ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศได้พัฒนาแนวคิดสมัยใหม่ประสานกับวัฒนธรรมของหวั่งหลีที่สะสมมา
100 กว่าปี กล่าวคือแบ่งงานกันรับผิดชอบ กระจายอำนาจ ประสานกับโครงสร้างทรัพย์สินที่อยู่ในโฮลดิ้งคัมปะนีอย่างเหนียวแน่น
"โฮลดิ้งคัมปะนีของฝ่ายพูนผลมี 2 ลักษณะ โฮลดิ้งคัมปะนีจริง ๆ ถือหุ้นในบริษัทอื่น
ๆ เจ้าของที่ดินและกึ่งโฮลดิ้งคัมปะนี ถือหุ้นเป็นเจ้าของที่ดินและพัฒนาที่ดินด้วย
ประเภทแรกเป็นทรัพย์สินส่วนกลางแท้จริง ประเภทหลัง ลูก ๆ แต่ละคนรับผิดชอบตามความเหมาะสม
โดยอาจจะมีหุ้นมากกว่าคนอื่น ๆ" ผู้สันทัดกรณีวิเคราะห์
แต่โดยภาพรวม ๆ แล้วทรัพย์สินปีกพูนผลจะกระจาย ๆ ไม่รวมศูนย์ซึ่งทำให้ดูมากและเทอะทะเกินไป!
เมื่อ สุวิทย์ หวั่งหลี กลับมาเมืองไทย ธนาคารหวั่งหลีเป็นเพียงแผนกงานหนึ่งในบริษัทหวั่งหลีก็ว่าได้
มีพนักงานเพียง 3 - 4 คน ในระหว่างเขาทุ่มเทวางรากฐานปีกพูนผล เขาก็ทำงานที่ธนาคารด้วย
เขาเล็งเห็นว่าเวลา 40 ปีที่ผ่านมาของธนาคารหวั่งหลีไม่มีความหมายทางธุรกิจมากนัก
ซึ่งก็มีข้อดีอยู่ประการหนึ่ง ธนาคารแห่งนี้ไม่มีปัญหาหมักหมม การเริ่มต้นในลักษณะเช่นนี้บางทีดีกว่าหลายธนาคารที่มีอยู่ในปัจจุบันด้วยซ้ำ
เขาลาออกจากพูนผลมารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารหวั่งหลี (มาดำรงตำแหน่งก็ตัดคำว่า
"จั่น" ออกทันที) อย่างเต็มตัว งานชิ้นแรกซึ่งถือเป็นการวางรากฐานที่ดีคือการชักชวนซิตี้แบงก์เข้าร่วมทุน
"ซิตี้แบงก์สมัยนั้นมีออฟฟิศอยู่เป็นบริษัทไฟแนนซ์ เมื่อซิตี้แบงก์มีความต้องการที่จะเข้ามาประเทศไทยนานแล้วก็ไม่สามารถขอใบอนุญาตจากทางการได้
เขาทราบว่าเราต้องการขยายงานก็เลยเจรจากัน" สุวิทย์บอก "ผู้จัดการ
เขาต้องใช้เวลาเจรจาทั้งกับซิตี้แบงก์และหว่านล้อมให้ผู้ถือหุ้นซึ่งหมายถึงคนในตระกูลหวั่งหลีอยู่
2 ปี จึงตกลงในหลักการ โดยซิตี้แบงก์เข้ามาถือหุ้น 40%
ปี 2526 เป็นช่วงที่เหนื่อยเอาการ ธนาคารหวั่งหลีเปิดรับสมัครพนักงานครั้งแรก
40 คน ซิตี้แบงก์ส่งทีมงานเข้ามา 4 - 5 คน เป็นกรรมการรองผู้จัดการ 1 คน
ผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อ และผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคาร งานของทีมซิตี้แบงก์คือการสร้างระบบทั้งหมดและฝึกอบรมพนักงาน
ในขณะเดียวกันสุวิทย์ได้ชวน "หวั่งหลี" สายอื่น ๆ เข้ามาช่วยงาน
วรวีร์ หวั่งหลี ลูกชายของตันซิวติ่งถูกดึงตัวมาจากตำแน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาดของคาลเท็กซ์
(คนไทยตำแน่งสูงสุดในบริษัทนี้) และทำนุ หวั่งหลี ลูกชายของชลิต น้องคนละแม่ของตันซิวเม้ง
ซึ่งขณะนั้นทำงานอยู่ธนาคารฮ่องกง - เซี่ยงไฮ้
เรียกได้ว่าการจัดวางกำลังเหมาะเจาะทีเดียว!
"ซิตี้แบงก์มาตั้งระบบใหม่หมด เราเป็นธนาคารแรกที่ใช้ระบบของธนาคารอเมริกา
ผิดแผกไปจากธนาคารไทยอื่น ๆ ซึ่งใช้ระบบอังกฤษ" สุวิทย์กล่าวและอธิบายว่า
สิ่งที่ดูง่ายที่สุดคือธนาคารระบบอเมริกันใช้ TELLER SYSTEM พนักงานรับฝากเงินมีสิทธิ์จ่ายเงิน
ในขณะที่ระบบอังกฤษเสมียนผู้รับเอกสารการจ่ายเงินต้องส่งต่อสมุห์บัญชี
ข้อตกลงระหว่างธนาคารหวั่งหลีกับซิตี้แบงก์มีระยะเวลา 7 ปี ครั้นถึงเวลา
5 ปี คนของซิตี้แบงก์ก็ต้องทยอยออกไปเรื่อย ๆ สุวิทย์อ้างว่า การฝึกอบรมและการสร้างระบบเข้าที่ดีแล้ว
ในขณะเดียวกันก็มีการเพิ่มทุนต่อเนื่องโดยซิตี้แบงก์ไม่มีสิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มได้เลย
เพราะกฎหมายห้ามไว้ สุวิทย์ไม่ได้บอกว่าซิตี้แบงก์ผิดหวังหรือไม่ที่เคยตั้งความหวังว่าต้องการจะเข้ามาตั้งสาขาในเมืองไทยในตอนนั้น
(ที่ยังไม่ได้ TAKEOVER ธนาคารเมอร์เคนไทล์) พร้อม ๆ กับการถอนตัวออกไปตามสัดส่วนการถือหุ้น
หุ้นของธนาคารหวั่งหลีประมาณ 10% ได้ถูกซื้อโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
สุวิทย์กล่าวว่า เนื่องจากมองว่าหน่วยงานนี้มั่นคง และกล่าวว่าซิตี้แบงก์เป็นคนชักชวนด้วย
"ผู้จัดการ" ตั้งปุจฉาเน้นว่าการมาของสำนักงานทรัพย์สินฯ มีนัยสำคัญอย่างไร
สุวิทย์ไม่ตอบ
เมื่อสัญญาซิตี้แบงก์สิ้นสุดลง ธนาคารหวั่งหลีก็เข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี
2523
เชื่อกันว่าสุวิทย์ภูมิใจในงานชิ้นนี้เป็นอย่างมากรวมไปถึง "หวั่งหลี"
รุ่นใหม่ ๆ ด้วย
พวกเขามองว่าธนาคารหวั่งหลีก็คือ "หน้าตา" ของธุรกิจตระกูลหวั่งหลีเดินหน้าอย่างสวยสดงดงามในระยะ
7 - 8 ปีมานี้ ทั้งยังชี้ให้เห็นว่าคนยุคใหม่เช่นพวกเขาเป็นมืออาชีพเต็มตัว
แม้จะมีข่าวว่าการปรับเปลี่ยนธนาคารหวั่งหลีจะมีแรงผลักดันจากธนาคารชาติด้วยก็ตาม
ซึ่งสุวิทย์ หวั่งหลี ปฏิเสธผ่าน "ผู้จัดการ" อย่างไรก็ตามหากพิจารณาถึงท่วงท่าและความสามารถของหวั่งหลียุคใหม่นี้ก็ต้องยอมรับกันพอประมาณ
"คุณสุวิทย์ต้องการสร้างโครงสร้างแบบตะวันตก ธนาคารหวั่งหลีให้ธนาคารเป็นบริษัทมหาชน
มีกำไรค่อนข้างสูง คนมีฝีมือเข้าไปบริหาร หวั่งหลีเพียงหวังได้ประโยชน์จากเงินปันผล
จะเห็นได้ว่ามีการดึงมืออาชีพคนนอก เช่น ดร. อัศวิน จินตกานนท์ เข้ามาเสริมทีมล่าสุด"
หวั่งหลีใน GENERATION ที่ 5 กล่าวอย่างภาคภูมิใจ (ดร. อัศวิน เป็นน้องภรรยาสุจินต์
หวั่งหลี)
ธนาคารหวั่งหลีได้เปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารนครธนเมื่อต้นปี 2528
ผลประกอบการในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา เงินฝากเพิ่มขึ้นเกือบ ๆ 30% ในขณะที่สินทรัพย์เพิ่มขึ้นประมาณ
25% สุวิทย์ หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการใหญ่ตั้งเป้าใน 5 ปีข้างหน้าว่า จะคงรักษาอัตราการเจริญเติบโตในระดับเดิม
โดยจะลดความสำคัญด้านระดมเงินฝากลง เพราะเงินฝากเกินเงินทุนมาก ในขณะเดียวกันจะเน้นงานด้านการปล่อยสินเชื่อให้มากขึ้นเพื่อความสมดุล
ส่วนในเนื้อแท้ของตระกูลหวั่งหลีก็ยังคงเจริญรอยตามอดีตอย่างมั่นคง บริษัทหวั่งหลีโฮลดิ้ง
ถือเป็นโฮลดิ้งคัมปะนีของหวั่งหลี (ผู้ชายเท่านั้น) คงสัดส่วนหุ้นไม่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่เมื่อ
20 - 30 ปีก่อนเท่าใด หากพิจารณาตามสาย ซึ่งดูเหมือนหวั่งหลีสายพูนผล (ตันซิวเม้ง
- ทองพูน) หุ้นจะเหลือน้อยลงมาก เท่าที่ "ผู้จัดการ" ตรวจสอบพบว่าผู้ถือหุ้นหวั่งหลีในฮ่องกงซึ่งมีจำนวนคนไม่ถึง
10 คนมีมากกว่า 40%
อีกบริษัท - บริษัทหวั่งหลีอันเก่าแก่ ซึ่งกำลังลดการค้าลงและจะเลิกในที่สุด
โดยหันมาทำธุรกิจการพัฒนาที่ดินแทน อันเนื่องมาจากที่ดินอันเป็นที่ตั้งโรงสีเก่ารกร้างว่างเปล่ามาก
ทั้งกิจการค้าข้าวก็อยู่ในภาวะเสี่ยงภัยอย่างมาก บริษัทนี้ วุฒิชัย หวั่งหลี
ลูกชายคนหนึ่งของตันซิวติ่งรับผิดชอบ "ผู้จัดการ" ตรวจพบว่าในบริษัทนี้หวั่งหลีในฮ่องกงถือหุ้นมากกว่า
70%
ปีกหวั่งหลีที่ไม่รวมพูนผลมีอีกเพียงบริษัทเดียวเท่านั้นคือ บริษัทนวกิจประกันภัย
(เปลี่ยนจาก "หล่วงหลี") ซึ่งสุวิทย์กล่าวว่าเป็นบริษัทประกันภัยกลาง
ๆ ดำเนินนโยบายค่อนข้างคอนเซอร์เวทีฟต่อไป
หวั่งหลีทุกวันนี้ตั้งรกรากเมืองไทยอย่างถาวร กิจการในต่างประเทศในยุคตันซิวเม้งที่เฟื่องฟูสุดขีดนั้นไม่มีแล้ว
ยกเว้นที่ฮ่องกง ซึ่งเป็นแหล่งพำนักของหวั่งหลีจำนวนหนึ่ง ประกอบกิจการนำเข้าข้าวจากประเทศไทย
ชื่อบริษัทคิ้นไท้ล้ง เป็นบริษัทขนาดกลาง ๆ ปกติจะเป็นคู่ค้ากับบริษัทหวั่งหลีในประเทศไทย
ครั้นเมื่อหวั่งหลีในประเทศไทยจะเลิกค้าขาย คิ้นไท้ล้งก็คบค้ากับรายอื่น
ๆ ต่อไป บริษัทคิ้นไท้ล้งตั้งอยู่บนเนื้อที่ (นับเป็นตารางฟุต) ซึ่งเพิ่งจะสร้างอาคารเป็นตึกสูงนับสิบชั้นใหม่
อันถือได้ว่าเป็นสินทรัพย์ที่เป็นชิ้นเป็นอันเท่าที่เหลืออยู่ที่นั่น
"เราไม่แยกกันเด็ดขาด กรรมการพวกบริษัทคิ้นไท้ล้งในเมืองไทยก็เป็นกรรมการบริษัทในฮ่องกง
และที่อยู่ฮ่องกงก็เป็นกรรมการบริษัทในไทย" สุวิทย์พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างหวั่งไทย
- ฮ่องกง
สิ่งที่เหมือนกันระหว่างหวั่งหลีกับพูนผลคือดำเนินธุรกิจพัฒนาที่ดินตามจังหวะและโอกาสอำนวย
หวั่งหลีหลงเหลือที่ดินริมน้ำเจ้าพระยาซึ่งมีราคาอย่างมาก อันอยู่ในโฮลดิ้งคัมปะนีไม่มากนัก
ส่วนใหญ่ทรัพย์สินจะถูกแบ่งสมบัติไปแล้ว คนที่รวยที่สุดของหวั่งหลีคือ กิตติ
หวั่งหลี น้องชายตันซิวเม้งซึ่งยังมีชีวิตอยู่ (โปรดอ่านล้อมกรอบ "กิตติ
หวั่งหลี")
พูนผลมีที่ดินมากกว่าและส่วนใหญ่อยู่ในโฮลดิ้งคัมปะนี นับกันแล้วไม่ต่ำกว่า
200 ไร่ ซึ่งรอเก็บผลประโยชน์ในระยะยาวต่อไป
พูนผลยังค้าพืชไร่ต่อไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรไม่หยุด นอกจากวุ้นเส้น
น้ำมันพืช ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ล่าสุดคือโมดิฟายด์สตาร์ช (แป้งมันที่ใช้ในอุตสาหกรรม)
ในสายตาสุวิทย์เชื่อว่าความสำคัญของอุตสาหกรรมนี้ยังมีอยู่และเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง
คนหวั่งหลีชอบคำว่า "คอนเซอร์เวทีฟ" เขามีเหตุผลในการตัดสินใจทำอะไรหรือไม่ทำอะไรด้วยเหตุผลง่าย
ๆ เช่นนี้ "ผู้จัดการ" ถามว่า ทำไมธุรกิจกลุ่มหวั่งหลีโตช้า? ทำไมในธุรกิจค้าพืชไร่หวั่งหลีไม่รวมกลุ่มกับรายอื่น
ๆ? ทำไมหวั่งหลีไม่มีความทะเยอทะยานธุรกิจเหมือน OVERSEA - CHINESE ที่อาศัยจังหวะพัฒนาธุรกิจอย่างรวดเร็ว
สุวิทย์ หวั่งหลี ตัวแทนความคิดของตระกูลหวั่งหลีตอบว่า "เพราะเราค่อนข้างคอนเซอร์เวทีฟ"
"เท่าที่ผ่านมาก็ประสบความสำเร็จพอสมควร ไม่มีกำไรมากไม่ร่ำรวยเหมือนบางกลุ่ม
ขณะเดียวกันรากฐานก็มั่นคง"
"เราเน้นด้านคุณภาพและความมั่นคง มี SUB - CONSCIOUSE เรื่องชื่อเสียงมาก
ตระกูลหวั่งหลีความจริงไม่ใช่ตระกูลที่ใหญ่ เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง ๆ เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นในขณะนี้
แต่ว่าเนื่องจากติดต่อกันมา 5 ชั่วคนแล้ว ชื่อเสียงค่อนข้างดีในด้านความมั่นคงเป็นที่รู้จักกันดี
และผมไม่ต้องการให้มีปัญหาในยุคของผม..."
"ไม่ใช่คำสั่งเสียของบรรพบุรุษ แต่เป็นความรับผิดชอบ เป็นความสำนึกของแต่ละคนมากกว่า"
สุวิทย์ หวั่งหลี กล่าวอย่างภาคภูมิใจ!!!!