|
“ชีวิตใหม่” ของ “ผีเสื้อ” นาม “วิกรม”
โดย
สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
“ผมรู้สึกถึงการเดินทางเคลื่อนที่ของแต่ละชีวิตบนโลก โลกใบนี้ไม่เคยหยุดนิ่ง โดยเฉพาะความฝันและความคิด ทำให้ผมนึกถึงวลีที่ว่า “เวลาเปลี่ยน ทุกอย่างไม่เหมือนเดิม ทุกชีวิตต้องเปลี่ยนแปลง” การเปลี่ยนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความต้องการ ความจริงจัง และโอกาส หรือสิ่งแวดล้อมที่แต่ละชีวิตกำลังก้าวไปข้างหน้า"
ข้างต้นเป็นมุมมองต่อ “ชีวิตใหม่” และวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ของ “วิกรม กรมดิษฐ์” ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้ก่อตั้ง “อมตะนคร” ภายหลังจากคาราวานร่อนเร่ไปใน 3 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วย ลาว เวียดนาม และจีน เป็นเวลานานกว่า 2 เดือน
บนเส้นทางคดโค้งลดเลี้ยวไปตามเนินเขาเขียวของย่านชนบทบนผืนดินที่เรียกว่า “Great Mekong Sub-region” หรือ GMS ที่ยังไม่ได้คลาคล่ำไปด้วยการจราจร คาราวานรถบัสคันใหญ่ โดดเด่นด้วยสีเหลืองแป๊ด และภาพที่สะท้อนความเป็นเมืองไทย ร่วมกับคำทักทาย “สวัสดี” ในหลากภาษาของชนชาติในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง จึงกลายเป็นสิ่งดึงดูดสายตาและโจษขานของผู้คนที่อยู่อาศัยในแถบนั้น
สำหรับเมืองไทย ข่าวคราวการจัดตั้งคาราวานเพื่อเตรียมตัวท่องประเทศลุ่มน้ำโขงของวิกรมเริ่มเป็นกระแสตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และเป็นข่าวเข้มข้นราวปลายเดือนมีนาคม ที่ผ่านมาด้วยการเปิดตัวทีมงาน 14 คน ที่ออกเดินทางรอนแรมไปประเทศต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขง
พร้อมกับการเปิดตัว “มอเตอร์โฮม” หรือรถบัส “HINO” ทั้ง 3 คันที่ออกแบบให้เป็นทั้งห้องทำงาน ห้องประชุม ห้องอาหาร ห้องนอน และออฟฟิศเคลื่อนที่ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีรถปิกอัพอีก 2 คัน จักรยานยนต์และจักรยานอีกอย่างละ 1 คัน เพื่อความคล่องตัวในการเข้าถึงจุดหมายที่รถใหญ่เข้าถึงยาก
เหตุที่เลือกเส้นทางคาราวานในดินแดนที่เรียกว่า GMS เป็นเพราะศักยภาพความยิ่งใหญ่ของตลาดที่มีประชากรกว่า 1,600 ล้านคน ตลาดภายในขยายตัวราว 10% ต่อปี และการเติบโตของ GDP กว่า 8% ทั้งยังเป็นภูมิภาคที่มีความเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ด้าน และมีการก่อสร้างเกิดขึ้นแทบทุกวัน นอกจากนี้ยังเป็นภูมิภาคที่เป็นสะพานเชื่อมโยงกับเอเชีย ซึ่งวิกรมเห็นว่า คนไทยควรได้รับรู้และศึกษาความเป็นไปในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อการเตรียมปรับตัว และเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเปิดเขตการค้าเสรีที่จะเกิดขึ้นในอีก 4-5 ปีข้างหน้า
จากกำหนดการเดิม “ทัวร์นกขมิ้น” ของวิกรมจะต้องใช้เวลากว่า 3 เดือน โดยใน แผนเดิมมีประเทศพม่าเป็นอีกปลายทาง ทว่า ด้วยกฎระเบียบบางประการของรัฐบาลพม่า ทริปนี้จึงต้องลบเส้นทางสู่พม่าออกไปก่อน ขณะที่จุดหมายที่กัมพูชาก็ยังต้องเลื่อนออกไปจนกว่าสถานการณ์ระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชาจะดีขึ้น
ทัวร์นกขมิ้นของวิกรมเริ่มสตาร์ทเครื่องบริเวณด้านหน้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 มีนาคม มุ่งหน้าสู่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และภูหินร่องกล้า ต่อด้วยเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ห้วยขาแข้งและบึงบอระเพ็ด จากนั้นก็ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาวที่หนองคายเข้าสู่เวียงจันทน์ จากนั้นมุ่งหน้าสู่เวียดนามไปยังประเทศจีนตอนใต้ วกเข้าลาวตอนบน แล้วกลับเมืองไทยทางเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา
“ผมเป็นคนขี้เหนียวเรื่องเวลา คืออะไรที่ทำแล้วหมดเวลาไปโดยใช่เหตุ ก็จะไม่ทำ” ประโยคนี้มักจะได้ยินอยู่บ่อยครั้ง ในสมัยที่วิกรมยังต้องเข้าออฟฟิศไปนั่งเก้าอี้เป็นผู้บริหาร ใหญ่ให้กับกลุ่มอมตะ แต่วันนี้เขาใช้เวลานานถึง 75 วันบนท้องถนน กับหนทางเพียงกว่า 10,000 กิโลเมตร เพื่อสัมผัส 30 กว่าเมืองในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
“แต่ทำไมผมมาทำคาราวาน เพราะการเดินทางด้วยรถ มันลึกซึ้ง ละเอียด กว่าการนั่งเครื่องบิน นั่งเรือ หรือรถไฟ เพราะรถมันวิ่งไปบนเส้นทางชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ในดินแดนที่เราไปถึง นอกจากนี้ถนนมันยังเข้าไปทั่วถึงทุกซอกซอย ดังนั้นการที่เราไปแบบนี้ก็จะได้สัมผัสวิถีชีวิตผู้คน การกินอยู่ของเขา และธรรมชาติรอบข้างได้อย่าง เจาะลึกมากกว่า”
นอกจากเพื่อการเรียนรู้และเข้าใจประเทศต่างๆ ผ่านการเดินทาง ตามที่วิกรมเคยตั้งปณิธานกับตัวเองเอาไว้ว่า อย่างน้อยปีละครั้ง เขาจะต้องออกเดินทางไปต่างประเทศเพื่อการทัศนศึกษาส่วนตัว แต่สำหรับคาราวานคราวนี้ยังมีอีกวัตถุประสงค์สำคัญ นั่นคือการเป็นผู้ดำเนินรายการในสารคดี “เบิกฟ้าท้าโลก” ให้กับทางบริษัท “พาโนรามา เวิลด์ไวลด์” ซึ่งกำหนดจะออกอากาศทางช่อง 9 ราวต้นปีหน้า
อันที่จริง วิกรมเคยตั้งใจว่าจะถ่ายทอดสดสารคดีในแต่ละตอน ผ่านดาวเทียมกลับ มายังประเทศไทยเลยทันที แต่เนื่องจากอุปกรณ์และระบบการถ่ายทอดไม่อำนวย
ในฐานะ “นักสารคดี” มือใหม่ วิกรมมีภาระหน้าที่ต้องสืบเสาะค้นหาสุดยอดของอาหาร วิถีชีวิต และวัฒนธรรมประเพณีอันมีรากเหง้ามาจากลำน้ำโขงสายเดียวกัน รวมถึงแนวคิดของบุคคลที่น่าสนใจ ตลอดจนทิวทัศน์ที่งดงาม นำมาถ่ายทอดผ่านมุมมองเชิง เศรษฐกิจและสังคมของ “วิกรม กรมดิษฐ์” ในฐานะนักธุรกิจผู้มากประสบการณ์
ในฐานะนักเขียนที่เคยสร้างแรงบันดาลใจให้กับเหล่าบรรดา “แฟนคลับ” ผ่านงานเขียน มาแล้วหลายเล่ม การเดินทางท่องโลกกว้างด้วยวิถีใหม่ครั้งนี้ย่อมมีวัตถุดิบสำหรับเสกสรรมาเป็นเนื้อหาที่ดี
“ตั้งแต่ก่อนจะสตาร์ทเครื่องยนต์ด้วยซ้ำ เรารู้ว่าเราจะต้องเขียนหนังสือจากทริปนี้ กะว่าจะเขียนเรื่องราวจากสิ่งที่เราประสบมา สิ่งที่เราเห็นหรือเรารู้สึก เอามารวมเล่มว่า การเดินทางครั้งนี้เราเจออะไร แล้วในมุมมองของเรา มันได้อะไรที่เป็นข้อคิดสำหรับการเปลี่ยน และสะท้อนออกมาในฐานะคนไทย”
ณ วันแรกของการออกเดินทาง วิกรมยังไม่รู้ว่าจะตั้งชื่อหนังสือเล่มใหม่นี้ว่าอะไร แต่ ณ วันนี้ เขาตั้งใจจะตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า “ชีวิตใหม่”
นัยแรก ชีวิตใหม่ของวิกรม หมายถึงวิถีชีวิตบนรถ ไม่ว่าจะกินอยู่หลับนอน และการทำงาน การตามผลประชุม การติดตามซื้อขายหุ้น ฯลฯ ล้วนแต่ทำอยู่บนรถ อีกนัยคือจากเดิมที่ต้องเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม แต่ชีวิตในช่วงคาราวาน วิกรมรู้สึกเหมือนว่า สถานที่สวยงามเหล่านั้นต่างหากที่วิ่งเข้ามาและผ่านไป ราวกับว่าเมื่อลืมตาขึ้นมาในแต่ละวัน ทุกสิ่งล้วนเป็นสิ่งใหม่ในชีวิต
ความหมายสุดท้ายคือ วิถีชีวิตที่เขาได้ประสบพบเห็น ล้วนเป็นสิ่งใหม่ที่แตกต่างจากที่เขาเป็นอยู่และเคยได้สัมผัสมาในเมืองไทย นี่เองที่ทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆ และเกิดการเปรียบเทียบกับประเทศไทยอยู่ลึกๆ โดยที่ไม่ต้องเอ่ยคำพูดชัดเจน
แม้จะไม่สามารถถ่ายทอดภาพและเสียงกลับมาได้ตามเจตนารมณ์ที่ตั้งเอาไว้แต่แรก แต่ระหว่างการคาราวาน วิกรมและทีมงานมักอัพเดตกิจกรรมการเดินทาง สถานที่ที่ไปถึง ตลอดจนมุมมองและความคิดเห็นที่มีต่อสถานที่เหล่านั้น ผ่าน Facebook ของเขา เป็นระยะๆ อาทิ
...ตลอดเวลาเกือบ 1 เดือนที่ผมนั่งรถอยู่ในมณฑลกว่างซี-ยูนนาน ประเทศจีน แทบจะทุกแห่งที่ผมผ่านไป ผมไม่เห็นว่าจะมีพื้นที่ดินผืนไหนที่ถูกทิ้งให้ว่างเปล่าโดยไม่มีการปลูกพืชเลย แทบจะทุกตารางเมตรล้วนใช้ไปเพื่อการเกษตรทั้งหมด นาทุกแปลง ข้าวโพดทุกไร่ล้วนขึ้นงอกงามสีเขียวชอุ่ม ผมมองไม่เห็นว่ามีนาหรือไร่แปลงไหนที่มีหญ้าขึ้นรกเลย แสดงถึงว่าเจ้าของไร่มีความขยันเอาใจใส่ดูแลไร่สวนเป็นอย่างดี...
...หากเทียบขนาดประเทศจีนที่มีพื้นที่ 9.6 ล้าน ตร.กม. กับไทย 0.51 ล้าน ตร.กม. จะเห็นว่าจีนใหญ่กว่าเกือบ 20 เท่า จำนวนประชากรครั้งล่าสุดของจีน 1,374 ล้านคน ของไทย 64 ล้านคน จีนก็มากกว่า 20 เท่า ผมยังนึกไม่ออกว่า หากสภาพแบบนี้เกิดขึ้นที่เมืองไทยเราจะสามารถควบคุมดูแลหรือบริหาร จัดการฝูงชนจำนวนมากขนาดนี้ได้อย่างไร ความเด็ดขาดในการบังคับใช้กฎหมายและลงโทษขั้นรุนแรงคือคำตอบที่ทำให้ประเทศจีนเป็นเช่นทุกวันนี้ เชื่อว่าหากประเทศเราจะก้าวหน้า ได้ควรทำแบบประเทศจีน รับรองได้ว่าไทยจะเจริญก้าวหน้ากว่านี้มากทีเดียว...
...คาดว่า อีกไม่กี่ปีลาวจะสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำได้ 30,000 เมกะวัตต์และจากถ่านหินอีก 20,000 เมกะวัตต์ ลาวจะกลายเป็น”โรงไฟฟ้าแห่งเอเชีย” และได้มีโอกาสฟังแผนพัฒนาประเทศลาวในปี 2020 ให้ก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจทัดเทียมเพื่อนบ้าน ลาวจะไม่ใช่ลาวอย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้ ในอนาคตคนไทยอาจยากจนกว่าคนลาวก็เป็นได้...
สำหรับเวียดนาม วิกรมอ้างว่าเขาคือคนแรกในประเทศไทยที่พูดว่า “เวียดนามจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของประเทศไทย” ตั้งแต่ 20 ปีก่อน เมื่อครั้งที่เขาเดินทางไปเวียดนามครั้งแรกในปี 2534 และยังคงยืนยันต่อมาจนถึงนาทีนี้ วิกรมตั้งข้อสังเกตว่า ณ วันนี้ สินค้าที่เวียดนาม พยายามผลักดันให้เป็นอันดับต้นของโลก มักเป็นสินค้าประเภทเดียวกับไทย
“เวียดนามเป็นคนขยัน และแววตาของเขาฉ่ำไปด้วยพลังงาน ตรงข้ามกับคนไทยที่ส่วนใหญ่เป็นคนขี้เกียจ ไม่สู้ปัญหา ยิ่งกว่านั้นคือเราเล่นพรรคเล่นพวก งมงายแต่เรื่องโชคดวง และที่สำคัญเรามัวแต่ฟัดกันเอง เหล่านี้ล้วนแต่เป็นแรงเสียดทานต่อการเติบโตของสังคม ขณะที่เวียดนามไม่มีแรงต้านเหล่านี้ เขาถึงไปได้เร็วทั้งสังคม”
ทั้งนี้ วิกรมพูดถึงหนังสือ “ชีวิตใหม่” ที่คาดว่าวางแผงได้ราวต้นปีหน้า ว่าเขาตั้งใจจะขายในราคาเพียง 39 บาท เพื่อให้คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงมุมมองและได้รับประโยชน์จากความเห็นที่เขาสะท้อนจากการเดินทางครั้งนี้
ทันทีที่กลับถึงบ้านที่เขาใหญ่ วิกรมได้ความหมายของ “ชีวิตใหม่” ในอีกแง่หนึ่ง นั่นคือชีวิตใหม่ของวิกรม ในวัยจวน 60 ปีที่เขามองว่า เขากำลัง เข้าสู่ช่วงวัยของการเป็น “ผีเสื้อ” ดัง ปรากฏบน Facebook ของเขา
“ตอนนี้การเป็นผีเสื้อของผมได้เริ่มขึ้นอย่างค่อนข้างจะสมบูรณ์แล้ว ผมนั่งมองภาพที่ต่างกันทุกวัน ผมขี่จักรยานหรือมอเตอร์ไซค์ไปทุกแห่งที่ว่างในตอนเย็น ผมกินอาหารทุกชนิดบนทางที่ผ่าน นอนอยู่บนรถในทุกแห่งที่จอดได้ ผมรู้สึกถึงการเดินทางเคลื่อนที่ของแต่ละชีวิตบนโลก โลกใบนี้ไม่เคยหยุดนิ่ง โดยเฉพาะความฝันและความคิด วันนี้ผมกำลังทำในสิ่งที่สนใจและคิดจะทำ โดยได้วางแผนนี้มานานแล้ว ผมฝันถึงอนาคต ถึงสิ่งนี้ที่ผมอยากจะทำอยากจะเป็นมาตั้งแต่เด็ก และเมื่อเติบใหญ่ก็เพิ่มและเติมความฝันให้สมบูรณ์ขึ้น ปรับไปตามที่เข้าใจมากขึ้น...
...ผมได้แบ่งวงจรชีวิตของผมออกเป็น 3 ช่วง ตอนแรก ผมเรียกว่าเป็นหนอนผีเสื้อที่เกิดมาจะต้องกิน ต้องเรียนรู้ ต้องทำงาน ต้องสร้างธุรกิจ ช่วงสอง หลังจากครบ 4 รอบของอายุ ผมเดินไปสู่ความสงบด้วยการอยู่เงียบๆ เพื่อเขียนหนังสือมา 10 ปี ช่วงสามคือ เมื่อ 70 กว่าวันที่แล้ว ผมออกจากความสงบไปสู่การเดินทางไปเรื่อยๆ สู่ความแตกต่างในแต่ละวัน เช่นชีวิตของผีเสื้อที่ผมได้เห็นได้สัมผัสในความงดงามของโลกใหม่ๆ ที่เคลื่อนไหวและมีความต่างกัน”
สำหรับเป้าหมายการโบยบินของ “ผีเสื้อ” ที่ชื่อ “วิกรม” เขาวางไว้ว่า คาราวานนกขมิ้น ด้วยมอเตอร์โฮมคันเดิมจะต้องพิชิตการเดินทางให้ได้ 1 แสนกิโลเมตร ภายในเวลา 5 ปี โดยคาดว่าเส้นทางในปีต่อๆ ไปอาจใช้เวลานาน 6-8 เดือน ในการไปให้ถึงมองโกเลีย ทิเบต ไซบีเรีย จนถึงแคว้นแคชเมียร์ ในอินเดีย
อย่างไรก็ตาม “ผีเสื้อ” อย่างวิกรม แม้จะมีปีกกว้างและสายป่านยาวจนสามารถโบกโบยไปได้แสนไกลตามใจปรารถนา แต่ผีเสื้ออย่างเขาก็ยังต้องแบกภาระสำคัญคือการดูแลและบริหารอาณาจักร “อมตะ” ต่อไป โดยให้เหตุผลว่า เพราะอย่างไรเสีย อมตะก็คือสิ่งที่เขา สร้างมากับมือ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ เขาก็ยังไม่สามารถตัดทิ้งหรือปล่อยวางเหมือนพระที่กำลังพ้นทุกข์ได้ในขณะนี้
แม้จะยังไม่บรรลุธรรม แต่ในช่วงหลังที่วิกรมเริ่มลดทอนภาพลักษณ์ “นักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จอย่างสูง” เปลี่ยนมาเป็น “นักคิด วิเคราะห์” และ “นักสร้างแรงบันดาลใจ” เพื่อสังคม ยิ่งเมื่อหยิบยกวงจรชีวิตช่วง “ผีเสื้อ” ของวิกรม มาเทียบกับทฤษฎีความต้องการของมาสโลว์ บางคนอาจมองภาพของเขาว่ากำลังมาถึงความต้องการขั้นสูงสุดของมนุษย์ นั่นคือ “ความต้องการเข้าใจและรู้จักตนเอง” ขณะที่บางกลุ่มมองว่า เขาอาจยังวนเวียนอยู่ในขั้นของการเติมเต็ม “ความต้องการได้รับการยกย่องจากผู้อื่น” ให้สมบูรณ์
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|