ทำธุรกิจและสังคมขนานกัน ทำให้อยู่ได้นาน

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ฮาราลด์ ลิงค์เล่าให้ฟังว่า เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้กลุ่มบี.กริม ดำเนินธุรกิจมา 133 ปีได้เป็นเพราะบริษัททำธุรกิจและสังคมขนานกันไป

แน่นอนว่าในมุมของผู้ประกอบการ บริษัทบี.กริม ต้องสร้างรายได้และกำไรให้กับองค์กรอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ธุรกิจเติบโตและแข็งแรง แต่ในด้านสังคมองค์กรแห่งนี้ไม่ได้ปล่อยปละละเลย เพราะประเทศไทยเปรียบเหมือนบ้านที่สองของตระกูลลิงค์ไปแล้ว

กลุ่มบี.กริมสร้างวัด โรงเรียน และก่อตั้งมูลนิธิต่างๆ สร้างโรงเรียน 2 แห่ง โรงเรียนบีกริม จังหวัด สระแก้ว และโรงเรียน อ.ฮ.ลิงค์ จังหวัดกาญจนบุรี วัดมูลจินดาราม ย่านรังสิต ในยุคเริ่มแรกเข้ามาทำธุรกิจใน ประเทศไทย เพื่อให้คนงานและชาวบ้านได้กราบไหว้บูชา

อัลม่า ลิงค์ ภรรยาของเฮอร์เบิร์ต ลิงค์ มีอาชีพเป็นพยาบาล ได้นำเงินส่วนหนึ่งจากธุรกิจของบี.กริมมาส่งเสริมงานด้านการกุศล เช่น เป็นประธานจัดงาน YMCA Bazaar ประธาน Welfare of the Crippled Foundation (มูลนิธิและสวัสดิการเพื่อคนพิการ) สโมสรโรตารี สวัสดิการเพื่อคนตาบอด

เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิสิริวัฒนาเชสเชียร์ พ.ศ.2507 รวมถึง การจัดหาทุนให้กับหลายโครงการ โดยเฉพาะกองทุนเพื่อการกุศลของสมเด็จย่าฯ

การเข้ามีส่วนช่วยเหลืองานด้านสังคมอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัลม่า ลิงค์ได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็นคุณหญิง เป็นสตรีต่างชาติคนแรกของประเทศไทย รวมถึงเกฮาร์ด ลิงค์ บิดาของฮาราลด์ ลิงค์ ได้รับเครื่องราชย์ช้างเผือกอันดับ 2 จากการทำหน้าที่ดูแลคนไทยที่เดินทางไปเยือนประเทศเยอรมนี ในตอนนั้นได้รับแต่งตั้งให้เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ และเป็นกงสุล ใหญ่ประจำประเทศไทย จะเห็นว่าตระกูลลิงค์ที่เกี่ยวข้องผูกพันกับประวัติศาสตร์ไทยมาเป็นลำดับ

ปัจจุบันบี.กริมสนับสนุนโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์ น้อย รวมถึงส่งเสริมดนตรีคลาสสิกและกีฬาขี่ม้าโปโล ด้วยการส่งนักกีฬาไทยออกไปแข่งขันในต่างประเทศ

การช่วยเหลือด้านสังคมจึงเป็นอีกภารกิจหนึ่งของกลุ่ม บี.กริมที่เชื่อมั่นมาตลอดว่าธุรกิจจะยั่งยืนได้ ก็ต้องมีกิจกรรมด้านสังคมควบคู่กันไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.