วิชา พูลวรลักษณ์ Creative Entertainer

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ชื่อของวิชา พูลวรลักษณ์ ได้รับการยอมรับและกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่เป็น lifestyle trendsetter คนสำคัญของเมืองไทย ภายใต้อาณาจักรธุรกิจเครือเมเจอร์ของเขา ไม่แปลกเลยที่เขาจะเป็นผู้นำเข้านวัตกรรมใหม่ล่าสุดว่าด้วยโรงภาพยนตร์แบบ 4 มิติหรือ 4D Plex มานำเสนอต่อสายตาผู้ชม

หากแต่วันนี้บริบทการขับเคลื่อนของเขาดูจะไม่ได้ผูกพัน อยู่เฉพาะมิติว่าด้วยโรงภาพยนตร์เท่านั้น เพราะเขากำลังสร้างโอกาสจาก “พื้นที่” ให้เกิดมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางการเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่เป็นผู้ประกอบการและลูกค้า ที่เป็นกลไกในการหล่อเลี้ยงให้องคาพยพทางธุรกิจเกิดการขับเคลื่อน

“หลักคิดของเมเจอร์ไม่มีอะไรมาก เราเขียนคำว่า Entertain ตัวโตๆ จากนั้นก็พัฒนาทุกสิ่งทุกอย่างให้แวดล้อม อยู่กับคำคำนี้” วิชาในฐานะประธานกรรมการบริหารเครือเมเจอร์ ขยายความเป็นไปของทั้งตัวเขาและเครือเมเจอร์ด้วยประโยคง่ายๆ ตามแบบฉบับ ที่คุ้นเคย

แนวคิดของวิชา ที่ดูเหมือนง่ายๆ นี้ หากในความเป็นจริงต้องอาศัยการสังเคราะห์ข้อมูลอย่างหนักหน่วง ควบคู่กับการเจรจา กับผู้ประกอบการที่เป็นคู่ค้าหลากหลาย ก่อนที่จะผนวกและผนึกกำลังกลายเป็นเครื่องจักรกลในการสร้างรายได้ที่ทรงพลัง

ท่วงทำนองและจังหวะก้าวของวิชาเด่นชัดมากในการแสวง หาจุดยืนทางธุรกิจโดยเฉพาะมิติว่าด้วยการเป็น Total Enter-tainment Lifestyle Business ซึ่งทำให้เขามีสถานะที่แตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่นๆ ทำให้เขากลายเป็นผู้ประกอบการที่เกือบจะเรียกได้ว่าปราศจากคู่แข่งขันที่ชัดเจน

นั่นไม่ได้หมายความว่า วิชาจะหยุดหรือพึงใจกับสิ่งที่เขามี เขายังคงเดินหน้าขยายธุรกิจและต่อยอดนวัตกรรมออกมาเสริมจุดแข็งให้กับธุรกิจของเขาอยู่เสมอ

วิชาพยายามถอยตัวเองออกมาจากตำแหน่ง CEO ของเมเจอร์ ด้วยหวังว่าอาณาจักรธุรกิจที่เขาสร้างขึ้นมาจะสามารถดำเนินไปในรูปของสถาบันธุรกิจที่มีความเป็นมืออาชีพ โดยไม่ต้องพึ่งพาภาพลักษณ์ของเขาเหมือนกับที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่าความพยายามอย่างน้อย 2 ครั้งของเขา ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ทำให้ในวันนี้เขายังต้องกลับมากุมบังเหียนและกำหนดทิศทางให้กับเมเจอร์อีกครั้ง

“แม้ว่าเราจะไม่มีคู่แข่ง เพราะจริงๆ แล้ว เราต้องแข่งกับตัวเองในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีให้กับลูกค้า ซึ่งทำให้ เราต้องขยายออกตัวต่อไป เพราะธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์หยุดนิ่งไม่ได้ ต้องมีอินโนเวชั่นตลอด ต้องทำให้แตกต่าง เพราะรสนิยม ไลฟ์สไตล์ และความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงตลอด”

ความสำเร็จจากธุรกิจโรงภาพยนตร์ โบว์ลิ่ง และคาราโอเกะ ในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้วิชามองว่า ธุรกิจของเมเจอร์ฯ ไม่ได้เป็นเพียงเอ็นเตอร์เทนเมนต์เท่านั้น แต่ได้ขยายกลายเป็นธุรกิจไลฟ์สไตล์ไปแล้ว เพียงแต่ไลฟ์สไตล์นี้จะมีแกนกลางอยู่ที่โรงภาพยนตร์แล้วธุรกิจอื่นจะถูกต่อยอดจากโรงภาพยนตร์ออกมาอีกที หน้าที่ของเมเจอร์ฯ ก็คือ การมองหาธุรกิจที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคและน่าจะเป็นที่นิยม ก่อนที่จะหยิบมาปรุงแต่งเสียใหม่ให้เข้ากับจริตของกลุ่มลูกค้า

กรณีนี้เห็นได้ชัดเจนจากการหยิบโบว์ลิ่งมาทำให้ทันสมัย จนกลายเป็นกีฬาฮิตในหมู่วัยรุ่น หรือการนำเอาคาราโอเกะมาจากญี่ปุ่น แล้วดัดแปลงให้กลายเป็นกิจกรรมที่สามารถเข้าร่วมกันได้ทั้งครอบครัว

วิชาเคยแสดงทัศนะที่น่าสนใจไว้ครั้งหนึ่งว่า “คุณต้องเข้าใจว่าผู้บริโภคมีชีวิตอย่างไร เขาชอบอะไรไม่ชอบอะไร แล้วจึงครีเอตไลฟ์สไตล์ขึ้นมา จากนั้นก็ครีเอตเทรนด์ให้คนตาม”

แม้ว่าปัจจุบันทุกคนจะกล่าวถึงธุรกิจของเมเจอร์ในฐานะที่เป็น Lifestyle Business แต่หากพิจารณา จากข้อเท็จจริงจะพบว่า วิชาดำรงบทบาทของการเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพียงแต่อสังหาริมทรัพย์ ที่เขาพัฒนาขึ้นมาไม่ได้เป็นที่พักอาศัยหรือศูนย์การค้าเช่นผู้ประกอบการรายอื่น แต่เป็น Entertainment Complex ที่มีทั้งโรงภาพยนตร์ โบว์ลิ่ง และคาราโอเกะที่เป็นตัวสร้างรายได้หลัก นอกจากนี้ยังมีรายได้ค่าเช่า พื้นที่จากผู้ค้ารายอื่นด้วย

หากประเมินในมิติที่ว่านี้ สิ่งที่วิชาได้กระทำก็คือการสร้างสรรค์เศรษฐกิจด้วยการบริหารจัดการพื้นที่ ที่พร้อมจะเปิดให้เห็นโอกาสทางธุรกิจและเติบโตร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการซึ่งอยู่ในฐานะ “คู่ค้า” ของเมเจอร์ มากกว่าที่จะเป็น “คู่แข่ง” ควบคู่กับการสร้างให้เกิดเทรนด์ของการดำเนินชีวิต ที่พร้อมจะกลายเป็น mass culture ได้อย่างไม่ยากเลย

วิชาได้นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ภูมิทัศน์ทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การริเริ่มสร้าง “อาณาจักร โรงภาพยนตร์” ควบคู่กับการสร้างธีมและเซกเมนต์ของโรงภาพยนตร์แต่ละแห่งให้สอดรับกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ซึ่งกลายเป็นกลไกให้วิชาสามารถเพิ่มมูลค่าทั้งในมิติการเสพรับของลูกค้าและราคาที่เพิ่มขึ้นของ แต่ละโปรดักส์ได้อย่างลงตัว

การลงทุนเพื่อเปิดโรงภาพยนตร์แบบ 4 มิติครั้งล่าสุดก็ดำเนินไปในลักษณะที่ไม่แตกต่างจากฐานความคิดหลักที่วิชาใช้ในการดำเนินธุรกิจมานานกว่าทศวรรษ

ขณะเดียวกัน วิชาได้ใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลลูกค้า (Customer Database) และระบบการจัดการฐานข้อมูลลูกค้า (CRM) ซึ่งวิชามักกล่าวถึงอยู่เสมอในฐานะที่เป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามากที่สุดของเมเจอร์ฯ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขาสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสังเคราะห์ “วิสัยทัศน์”

ในความเป็นจริงที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ภายใต้เครือข่ายสายสัมพันธ์ที่กว้างขวางของวิชา ฐานข้อมูลลูกค้าที่เขามีอยู่ในมือ ยังเปิดโอกาสให้วิชาสามารถต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่ม ผ่านการดำเนินกิจกรรมทางการตลาดด้วยการทำ Co-CRM กับพันธมิตรที่มีอยู่หลากหลายให้เกิดเป็นมูลค่าทางธุรกิจในลักษณะ win-win อีกด้วย

“ปรัชญาทางธุรกิจของผม มีเพียงความรักและความไว้ใจ คือ love กับ trust ซึ่งทำให้ผมไม่มีคู่แข่งขัน มีเพียงคู่ค้าและครอบครัวธุรกิจ ที่ผมต้องร่วมด้วยช่วยดูแล”

ความสำเร็จของเมเจอร์ในห้วงเวลาปัจจุบัน อาจเป็นภาพสะท้อนที่พร้อมหนุนส่งให้เกิดการสร้างตัวแบบทางธุรกิจที่ต่อยอดออกไปสู่ธุรกิจอื่นที่มี synergy ช่วยเสริมกัน หากแต่ประเด็นที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เราจะผลิตสร้าง content เพื่อขยายไปสู่การสร้างรูปแบบและเทรนด์ ที่พร้อมขยายตัวออกไปต่อสู้แข่งขันในระดับสากลได้อย่างไร

หรือถึงที่สุดแล้ว โมเดลทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จของเมเจอร์ ก็เป็นเพียงการเปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการจากต่างประเทศรายอื่นๆ ที่มี content แข็งแรงกว่ามาเก็บรับประโยชน์เท่านั้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.