CJ Group: 4D Enterprise

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

การขยายตัวและความเป็นไปของ CJ Group เป็นกรณีที่น่าติดตามไม่น้อย เมื่อข้อเท็จจริงประการสำคัญของวิวัฒนาการกลุ่มบรรษัทแห่งนี้ผูกโยงเข้ากับยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศเกาหลีใต้อย่างแยกไม่ออก อีกทั้งยังเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ในลักษณะคู่ขนานกับวิถีที่ดำเนินไปของ Samsung อีกด้วย

เพราะจากจุดเริ่มต้นที่คหบดีนาม Lee Byung-chull ก่อตั้ง Samsung Sanghoe เพื่อประกอบธุรกิจค้าขายเครื่องอุปโภคบริโภคในปี 1938 ที่เมือง Daegu ซึ่งจำเริญเติบโตขึ้นเป็นลำดับ แม้เกาหลีจะต้องผ่านห้วงเวลาที่ยากลำบากจากสงคราม โลก ก่อนที่ Lee Byung-chull จะย้ายสำนักงานใหญ่ ของ Samsung มาอยู่ในกรุงโซลในปี 1947

สงครามเกาหลีในปี 1950-1953 กลายเป็นจุดพลิกผันให้ Lee Byung-chull เริ่มต้นธุรกิจใหม่ที่เมือง Busan ในนาม Cheil Jedang ซึ่งมีความหมายว่า น้ำตาล ในภาษาเกาหลี เพื่อประกอบธุรกิจ โรงงานน้ำตาล และหากกล่าวในอีกมิติหนึ่ง Cheil Jedang ก็คือจุดเริ่มต้นของการสร้างหน่วยการผลิตสำหรับ Samsung Group ในเวลาต่อมา

การเกิดขึ้นของ Cheil Jedang เมื่อปี 1953 ในฐานะโรงงานน้ำตาลแห่งแรกของเกาหลีใต้ ถือเป็นจังหวะก้าวที่มีบทบาทอย่างสำคัญต่อความเป็นไปของเกาหลีใต้ในขณะนั้น เพราะในมิติหนึ่งนอกจากจะช่วยลดทอนการนำเข้าน้ำตาลซึ่งถือเป็นหนึ่งในยุทธปัจจัยจากต่างประเทศแล้ว ในห้วงเวลาแห่งสงคราม ความขาดแคลนอาหารยังส่งผลให้เกิดภาวะ ข้าวยากหมากแพงอย่างหนักหน่วง

Cheil Jedang กลายเป็นหนึ่งในกลไกที่ลดทอนปัญหาและสถานการณ์ดังกล่าว นอกเหนือจากโรงงานน้ำตาลแล้ว Cheil Jedang ยังขยายธุรกิจไปสู่การผลิตแป้งสาลีในปี 1958 อีกด้วย

นี่คือจุดเริ่มต้นให้ Cheil Jedang พัฒนาจน กลายเป็นบรรษัทด้านอาหารอย่างเต็มตัว ซึ่งไม่เพียง แต่ผลิตน้ำตาลเพื่อการบริโภคภายในประเทศเท่านั้น หาก Cheil Jedang ยังเป็นผู้เริ่มประวัติศาสตร์หน้า ใหม่ ด้วยการเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลไปยัง Okinawa ซึ่งถือเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายแรกของเกาหลี ก่อนที่ จะเริ่มการผลิตผงชูรส (MSG) ในปี 1963 และเดินหน้าเข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องปรุงรส (seasoning) ในเวลาต่อมา

วิสัยทัศน์ของ Lee Byung-chull ในฐานะผู้ประกอบการ ในด้านหนึ่งได้ให้น้ำหนักอยู่ที่การพัฒนาระบบอุตสาหกรรมการผลิต ขณะเดียวกันก็แสวงหาโอกาสทางธุรกิจอื่นๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง นั่นเป็นเหตุให้ธุรกรรมของทั้ง Cheil Jedang และ Samsung ขยายไปสู่ธุรกิจประกันภัย หลักทรัพย์ และค้าปลีก ควบคู่กับการปกป้องและกีดกันการรุกทางธุรกิจจากผู้ประกอบการต่างประเทศอีกด้วย

พัฒนาการของทั้ง Cheil Jedang และ Samsung ดังกล่าว ได้รับอานิสงส์อย่างกว้างขวางในช่วงทศวรรษ 1970 เมื่อความพยายามที่จะเติบโต เป็นชาติอุตสาหกรรม (Newly Industrialized Country) กลายเป็นนโยบายหลักของเกาหลีใต้ และอีกหลายเขตเศรษฐกิจในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง หรือแม้กระทั่งประเทศไทยเอง

การขยายตัวของ Cheil Jedang และ Samsung ในช่วงทศวรรษ 1970-1980 ดำเนินไปอย่างก้าวกระโดดภายใต้ยุทธศาสตร์ที่แบ่งแยกบทบาทและความชำนาญการของ 2 บรรษัทนี้อย่างเด่นชัด โดย Cheil Jedang เน้นหนักไปที่อุตสาหกรรมอาหารและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเวชภัณฑ์และอุตสาหกรรมขนส่ง ขณะที่ Samsung มุ่งเน้นการขยายตัวลงทุนในอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์ควบคู่กับการขยายขอบเขตทางธุรกิจออกไปสู่ต่างประเทศ

แม้จะมีรากฐานที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน แต่ด้วยอัตราเร่งของการเติบโตขึ้นของ Samsung ในช่วงทศวรรษ 1980 การถึงแก่กรรมของ Lee Byung-chull ผู้ก่อตั้งในปี 1987 ทำให้กลุ่มบรรษัทในเครือของ Samsung ปรับเปลี่ยนและจัดสรรการบริหารภายในใหม่ ในช่วงทศวรรษ 1990 แต่ละบรรษัทได้พัฒนากลายเป็นกลุ่มบรรษัทที่เป็นเอกเทศต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของ Hansol Group ซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้างรายใหญ่ของเกาหลีใต้ Shinsegae ผู้ประกอบการค้าปลีก เจ้าของห้างสรรพ สินค้ารายใหญ่ของเกาหลีใต้ และ CJ Group

อำนาจการบริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ในบรรษัท เหล่านี้ยังสืบทอดอยู่ในครอบครัวหรือทายาทของ Lee Byung-chull ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น Hansol Group ที่อยู่ในการดูแลของบุตรีคนโตของ Lee Byung-chull ขณะที่ Shinsegae อยู่ในการดูแลของบุตรีคนที่ 5 ของ Lee Byung-chull ส่วน CJ Group อยู่ในการดูแลของบุตรชายคนโตของ Lee Byung-chull และ Samsung ที่อยู่ในการดูแลของบุตรชายคนที่ 3

แม้ในห้วงเวลาปัจจุบันธุรกิจในทั้ง 4 กลุ่มบรรษัทนี้ก็ยังคงอยู่ภายใต้กลุ่มคนที่เป็นลูกหลานของ Lee Byung-chull และดำรงสายสัมพันธ์ที่เชื่อม โยงถึงกันอย่างแนบแน่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นกลุ่มก้อนแห่งอาณาจักรธุรกิจ (Chaebol) ขนาดมหึมา ที่พร้อมจะเติบโตและดูดซับความจำเริญทางเศรษฐกิจของทั้งเกาหลีใต้และนานาประเทศได้ไม่ยากเลย

การเติบโตอย่างรวดเร็วในตลาดต่างประเทศของ Samsung คงเป็นประจักษ์พยานที่เด่นชัดในมิติดังกล่าว ทำให้คู่แข่งขันซึ่งเคยเป็นเจ้าตลาดจากประเทศญี่ปุ่นต้องอยู่ในภาวะที่สั่นสะเทือน ไม่เพียงเฉพาะในมิติของยอดการจำหน่ายเท่านั้น

หากแต่ Samsung พัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีให้อยู่ในระดับที่สามารถสร้างกระแสตอบรับในหมู่ผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวาง และกลาย เป็นเรือธงให้ผลิตภัณฑ์จากเกาหลีใต้มีที่อยู่ที่ยืนในระดับสากล พร้อมกับการเป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับไม่น้อย

หากกล่าวเฉพาะบริบทของ CJ Group ที่กำลังเพิ่มพูนบทบาทขึ้นมาในฐานะที่เป็นบรรษัทที่ประกอบธุรกิจอันเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินชีวิต (Lifestyle Business) ภายใต้คำขวัญขององค์กรที่ว่า “Creates a Healthy, Happy and Convenient Lifestyle” และรูปธรรมที่ปรากฏออกมาเป็นโครงข่าย ธุรกิจแล้ว ต้องยอมรับว่า ห้วงเวลาเพียง 10 ปีเศษ ภายหลังจากที่แยกตัวและมีการบริหารที่เป็นอิสระออกจากกลุ่ม Samsung Group พัฒนาการของ CJ Group ได้ดำเนินไปท่ามกลางสีสันและเข็มมุ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

กลุ่มบรรษัทในเครือของ CJ Group หากจำแนกตามลักษณะของธุรกิจจะประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจการผลิตและให้บริการด้านอาหาร (Food and Food Service) กลุ่มธุรกิจค้าปลีกในรูปของ home shopping และขนส่ง กลุ่มธุรกิจเวชภัณฑ์ (Bio Pharma) และกลุ่มธุรกิจสื่อและสันทนาการ (Entertainment & Media)

CJ Group ข้ามพ้นขีดจำกัดทางธุรกิจของการเป็นผู้ประกอบการผลิตไปสู่ธุรกิจผู้ให้บริการด้าน อาหาร ด้วยการเปิดภัตตาคาร (restaurant) ซึ่งในด้านหนึ่งถือเป็นการต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ความชำนาญด้านอาหาร ที่ CJ Group มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม หากแต่ในอีกด้านหนึ่ง นี่คือจังหวะก้าวแห่งการเริ่มต้นในการเข้าสู่ธุรกิจที่ประกอบส่วนกับพื้นฐานทางวัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตที่น่าสนใจมาก

เพราะหลังจากรุกเข้าสู่ธุรกิจร้านอาหาร CJ Group ได้เริ่มโครงข่ายธุรกิจบันเทิงและสันทนาการ ด้วยการร่วมลงทุนใน DreamWorks SKG หนึ่งใน studio ผู้ผลิตภาพยนตร์ชั้นนำที่เกิดขึ้นจากแนวคิดและความพยายามของ Steven Spielberg, Jeffrey Katzenberg และ David Geffen ก่อนที่จะจัดตั้ง CJ Entertainment เพื่อรุกคืบเข้าสู่อุตสาหกรรมบันเทิงอย่างเต็มที่

นอกจากนี้ CJ Group ในนามของ CJ Corporation ได้เข้าร่วมทุนกับ Golden Harvest จากฮ่องกงและ Village Roadshow จากออสเตรเลีย ก่อตั้ง CJ CGV ในช่วงปลายปี 1996 เพื่อบุกเบิกและประกอบการโรงภาพยนตร์แบบ multiplex ในเกาหลี ซึ่งถือเป็นก้าวย่างใหม่ในแวดวงบันเทิงของเกาหลีในเวลาต่อมา ปัจจุบันเครือข่ายของ CJ CGV ถือเป็นเครือโรงภาพยนตร์แบบ multiplex ที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ด้วย

แม้กระแสเกาหลีจะได้รับความสนใจอย่างมาก แต่ด้วยวิกฤตการณ์ทางการเงินที่คุกคามนานาประเทศในเอเชียเมื่อปี 1997-1998 ส่งผลให้ผู้ผลิตภาพยนตร์ขนาดเล็กจำนวนไม่น้อยของเกาหลีต้องหยุดดำเนินการ และกลายเป็นโอกาสสำคัญให้ CJ Group ขยายบริบททางธุรกิจให้กว้างขวางและแสดงบทบาทได้เด่นชัดยิ่งขึ้น อีก

ก้าวย่างที่สำคัญอย่างยิ่งของ CJ Entertainment & Media หรือ CJ E&M อยู่ที่การเป็นจักรกลสำคัญใน การนำพา “Korean Wave” หรือกระแสเกาหลีให้ขจรขจายไปไกลในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะผลจากความสำเร็จของภาพยนตร์ Joint Security Area ซึ่งได้สร้างสถิติรายได้ box-office สูงเป็นประวัติการณ์ได้ส่งให้ CJ E&M กลายเป็นผู้ผลิตภาพยนตร์ระดับแนวหน้าของเกาหลีอย่างรวดเร็ว ควบคู่กับการเปิดพื้นที่รุกเข้าไปในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่างไม่หยุดยั้ง

ความทะเยอทะยานที่เป็นประหนึ่งแรงขับดันพัฒนาการของ CJ Group ในด้านหนึ่งเป็นผลมาจากเข็มมุ่งของการเป็น “ผู้สร้างกระแสของเนื้อหาในทุกมิติของวัฒนธรรมมวลชน” ซึ่งกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ CJ Group ในเวลาต่อมา

การจัดตั้งบริษัท CJ Joycube เพื่อดูแลธุรกิจ home entertainment การรุกเข้าสู่ธุรกิจ Cable TV โดย CJ Media การเข้าครอบงำกิจการ บริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เพื่อเป็นช่องทางในการต่อยอดธุรกิจภาพยนตร์ออนไลน์ และเกมออนไลน์ รวมถึงธุรกิจโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และการให้ บริการผ่านโทรศัพท์มือถือ ดำเนินไปอย่างมีกระบวน การที่เป็นเหตุผล และสอดรับกับยุทธศาสตร์ของการขับเคลื่อนอย่างเป็นองค์รวมของ CJ Group อย่างลงตัว

จังหวะก้าวครั้งใหม่ของ CJ Group ว่าด้วย การเป็นผู้นำในโลกภาพยนตร์ 4D อาจไม่ใช่การลงทุนที่จะเห็นผลตอบแทนในรูปของรายได้ที่พร้อมจะหักลบและสร้างตัวเลขเชิงบวกในบัญชีเมื่อเปรียบ เทียบกับกับจำนวนเงินงบประมาณที่ได้ทุ่มเทลงไป

หากแต่ 4D หรือ 4 มิติในนิยามความหมายของ CJ Group อาจหมายถึงกรอบโครงความคิดทางธุรกิจว่าด้วย delicious delight diversify และ development ที่เป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนองคาพยพของ CJ Group ที่ก้าวไปไกลกว่าความหมายของธุรกิจเชิงวัฒนธรรม และธุรกิจว่าด้วยไลฟ์สไตล์ ที่ดำเนินกันอยู่อย่างมากทีเดียว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.