|
การสร้างสรรค์ทางเศรษฐกิจและเศรษฐกิจสร้างสรรค์
โดย
สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
ความพยายามของสังคมไทยที่จะหนุนนำให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ creative economy ดูจะเป็นกรณีที่มีนัยความหมายเป็นเพียงประหนึ่งวาทกรรมที่เกิดขึ้นและเสื่อมถอยวาบหายไปอย่างรวดเร็ว โดยไม่สามารถนำมาประกอบส่วนให้เกิดผลจริงจังได้มากนัก
แม้ว่าในห้วงเวลาที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายแห่ง โดยเฉพาะในกรณีของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative & Design Center: TCDC) จะดำเนินความพยายามที่จะผ่องถ่ายและจุดประกายมิติความคิดในเรื่องดังกล่าว แต่ถึงที่สุด DNA ของสังคมไทยก็ยังไม่สามารถที่จะเก็บรับแนวคิดในเรื่องนี้มาปรับใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน
เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในสังคมไทยในห้วงที่ผ่านมา พยายามให้น้ำหนักไม่เฉพาะกับแนวความคิดใหม่ๆ ที่พร้อมจะให้ความแปลกแตกต่าง ขณะเดียวกันก็พยายามหันกลับไปพิจารณารากฐานทางวัฒนธรรมในฐานะที่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อน เศรษฐกิจสร้างสรรค์แบบไทยๆ ให้มีที่อยู่ที่ยืนในเวทีเศรษฐกิจการค้าระดับนานาชาติ
แต่กรณีดังกล่าวจะปราศจากความหมายอย่างสิ้นเชิง หากทั้งหมดดำเนินไปในฐานะที่ต้องอาศัยแบรนด์ระดับโลกเป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพ และผู้ผลิตในประเทศไทยเป็นเพียงลูกจ้างที่อาศัยความชำนาญการในการถักทอให้ได้ผลผลิตตามแบบที่ดีไซเนอร์วางไว้
ประเด็นคำถามจึงอยู่ที่ว่ากรณีเช่นว่านี้ ใครกันคือผู้ที่ประกอบการเศรษฐกิจสร้างสรรค์
สมมุติฐานของเหตุดังกล่าวในด้านหนึ่งอาจเป็นผลจากการที่สังคมไทยไม่สามารถกำหนดนิยามและหา “ตัวแบบ” ที่มีความรอบด้านมากพอให้จับต้องได้ว่าสิ่งใดคือเศรษฐกิจ สร้างสรรค์ที่พึงประสงค์ ซึ่งย่อมไม่ใช่ผลจากการที่สังคมไทยขาดความคิดสร้างสรรค์
หากแต่น่าจะเกิดขึ้นจากผลของการที่ความคิดสร้างสรรค์ที่ริเริ่มและงอกเงยขึ้นเหล่านั้น ขาดองค์ประกอบของกระบวนการผลิต และขาดปัจจัยในการบริหารจัดการทรัพยากรที่จะรังสรรค์ให้เกิดเป็นข้อเท็จจริงในเชิงเศรษฐกิจมากกว่า
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวเนื่องอย่างสำคัญต่อมิติมุมมองว่าด้วยเรื่อง “พื้นที่” หรือหากกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือเรื่องของ “โอกาส” ในการเข้าถึงและเก็บรับนำมาใช้ ซึ่งเป็นมิติที่ต่อเนื่องกว้างขวางออกไปทั้งในเชิงสังคม เศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งในทางการเมือง ไปในคราวเดียวกัน
กลไกการผลิตของสังคมไทยได้ผ่านประสบการณ์ที่ใกล้เคียงและไม่แตกต่างจากกรณีของผู้ประกอบการในญี่ปุ่น หรือหากกล่าวอย่างเฉพาะเจาะจงลงไปในกรณีของเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง ซึ่งเคยดำเนินนโยบายมุ่งสู่อุตสาหกรรมเช่นเดียวกับ ประเทศไทยในช่วงทศวรรษ 1970 จนทำให้ได้ชื่อว่าเป็น 5 เสืออุตสาหกรรมใหม่แห่งเอเชีย (Asian Newly Industrialized Countries: A-NICs) มาแล้ว
แต่เมื่อเวลาผ่านไปดูเหมือนจะมีแต่ประเทศไทยเพียงประเทศเดียวที่ถูกทิ้งค้างไว้ข้างหลัง ในขณะที่ประเทศอื่นๆ กำลังเริ่มเข้าสู่บริบทใหม่ของการพัฒนาในลำดับชั้นที่สูงขึ้นไปอีก และห่างออกไปจากความเข้าใจพื้นฐานของกระบวนการผลิตที่ประเทศ ไทยคุ้นเคยเป็นลำดับ
การพัฒนาระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เป็นสิ่งที่หลายประเทศได้ศึกษาและให้ความสนใจพัฒนาระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างจริงจัง รัฐบาล อังกฤษได้ประกาศแผนพัฒนาในปี 2544 พร้อมทั้งจัดตั้งองค์กรซึ่งทำหน้าที่เชื่อมโยงอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ให้สามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีศักยภาพ ขณะที่เกาหลีใต้ ให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้ใหม่จากความคิดสร้างสรรค์ จนปัจจุบันการแพร่หลายของวัฒนธรรมเกาหลีกลายเป็นที่มาของรายได้จากการท่องเที่ยว อาหาร แฟชั่น ดนตรี และภาพยนตร์
สำหรับประเทศไทย รัฐบาลประกาศส่งเสริมแผนพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจสร้างสรรค์และจัดสรรงบประมาณจำนวนรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาทเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างสรรค์ของไทยในช่วงระหว่างปี 2553-2555 โดยหวังว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของชาติในอนาคต
กระบวนทัศน์ของการดำเนินเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กำลังก้าวข้ามระบบการผลิตแบบ manufacturing ไปสู่การต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มด้วย content ใหม่ที่ดำเนิน ไปอย่างมีทิศทางและมีกลไกในการผลิตสร้างอย่างเป็นอุตสาหกรรม ซึ่งหมายถึงการดำเนินธุรกิจภายใต้การศึกษาวิจัยและพัฒนาที่ข้ามพ้นไปสู่บริบทของการเป็นเจ้าของวิทยาการและความรู้ใหม่ ในฐานะที่เป็นเจ้าของสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา (intellectual property) ด้วย
เรื่องราวความเป็นไปของ CJ Group ซึ่งได้บุกเบิกภาพยนตร์แบบ 4 มิติ และกำลังเปิดตลาดเข้าสู่การรับรู้ของสังคมไทยผ่านกลไกของเครือเมเจอร์ อาจให้ภาพที่ชัดเจนขึ้นในเรื่อง creative economy
เป็นเรื่องราวของการสร้างสรรค์จากฐานของการผลิตและวิธีคิดที่มีรากฐานหนาแน่นต่างกัน แต่มีจุดบรรจบที่เอื้อประโยชน์ต่อกันและกัน
บางทีสังคมไทยอาจได้ใช้ประโยชน์จากเรื่องราวเหล่านี้ก่อนการก้าวเดินครั้งใหม่ ในเส้นทางแห่งการสร้างสรรค์ทางเศรษฐกิจสำหรับอนาคต
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|