Select Committee ระบอบประชาธิปไตยในฝัน

โดย ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ทุกครั้งที่ชาวต่างชาติทั้งที่เป็นนักวิชาการนักศึกษา แม้แต่คอการเมืองถามเกี่ยวกับการเมืองในบ้านเราว่า ทำไมถึงแตกแยก ผมจะอดหงุดหงิดไม่ได้ทุกครั้ง แต่ไม่ใช่เพราะว่าเขาไม่รู้เลยสงสัยว่าทำไมเราถึงมีคนเสื้อสีต่างๆ พอๆ กับหนังขบวนการแปลงร่างของญี่ปุ่นที่ผมเคยดูตอนเด็กๆ ที่มีสามสี คือ แดง เหลือง น้ำเงิน ซึ่งตรงนี้ผมมักจะพูดเป็นเรื่องตลกว่าถ้าเป็นหนังขบวนการหลอกเด็กที่ตอนนี้ฉายอยู่ตอนเช้าวันอาทิตย์ เรายังมีได้อีกสองสีคือเขียวกับชมพู แต่ที่ผมหงุดหงิดก็เพราะว่าประเทศฝรั่งเองก็แตกแยกเป็นสีต่างๆ ตั้งมากมาย เผลอๆ อาจจะมากกว่าเจ็ดสีเสียอีก

ทำไมพวกเขาถึงอยู่ด้วยกันได้ นักวิชาการบางท่านเอา Cultural Explanation มาเป็นคำตอบ ว่าเป็นเพราะวัฒนธรรมฝรั่ง เป็นเพราะประเทศเขาพัฒนาแล้ว เขาจึงยอมรับผลการเลือกตั้ง เพราะเขาไม่ซื้อเสียง

เมื่อผมศึกษาดูแล้ว ผมไม่เห็นด้วยกับการอธิบายเชิงวัฒนธรรม เพราะว่าฝรั่งก็ยังคงแสดงความไม่พอใจหรือไม่เห็นด้วยกับผลการเลือกตั้ง แน่นอนครับ ฝรั่งมีการซื้อเสียงโดยการใช้ประชานิยมหรือลดภาษีเงินได้ เวียนเทียนในคูหาเลือกตั้งโดยพวกคนขี้โกงเป็นครั้งคราว ตรงนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าประเทศจะพัฒนาไประดับไหนเพราะคนไม่ดียังไงก็มีอยู่ในทุกๆ ที่ ในจุดนี้เองที่ทำให้ผมคิดว่าทำไมคนไทยเราไม่ค่อยยอมรับผลการเลือกตั้ง บางครั้งที่ผมได้สนทนากับบางท่านที่เชื่อในแนวคิดว่าคนต่างจังหวัดเลือกรัฐบาล คนกรุงล้มรัฐบาล ผมจะเกิดความแปลกใจในแนวคิดนี้ เพราะผู้พูดมีแนวคิดว่าคนต่างจังหวัดมีการศึกษาที่น้อยกว่า หรือโดนซื้อเสียง ผมคิดว่านั่นเป็นการมองที่ง่ายเกินไป เพราะเป็นการไปตั้งนิยามว่าคนอื่นโง่ ซึ่งไม่จำเป็นเสมอไป ว่าจะเป็นจริง ส่วนนิยามว่ารับเงิน ทำให้ผมเกิดข้อกังขามานานแล้วเพราะการประท้วงแบบที่ประชาชน มีส่วนร่วมแบบที่เรียกกันว่า Civil Society นั้นที่จริง มันก็ต้องใช้เงินกันอยู่แล้ว ในความเป็นจริงแล้ว ฝรั่งที่ไปประท้วงในงานต่างๆ นั้น จำนวนไม่น้อยก็เป็นม็อบเติมเงิน

ดังนั้น คำตอบที่แท้จริง น่าจะอยู่ที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนมากกว่า คำว่ามีส่วนร่วมไม่ได้จำกัดอยู่ที่ว่ารับเงินห้าร้อยบาทหรือสองพันบาทมาแล้ว ใส่เสื้อสีที่เขากำหนดแล้วออกมาประท้วงตามถนน ปิดถนน ปิดทำเนียบ เผาบ้าน เผาเมือง ไล่ต่อยตีคนที่ใส่เสื้อคนละสี แม้ฝรั่งเอง ก็มีประท้วงปิดสถานีรถไฟแบบในฝรั่งเศสหรือออสเตรเลีย แต่การทำลายของสาธารณะหรือปิดกั้น ถนน ละเมิดสิทธิของประชาชนคนอื่นย่อมทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเช่นตำรวจปราบจลาจลมีสิทธิที่จะสลายม็อบในระดับที่เป็นที่ยอมรับได้ในระดับสากล เช่น ใช้แก๊สน้ำตา หรือตำรวจม้าของออสเตรเลียใช้กระบองสลายผู้ชุมนุม ในนิวซีแลนด์ก็มีการจัดการกับผู้ชุมนุมของกรีนพีซ ที่เอาเรือเล็กออกไปก่อกวนเรือขุดเจาะน้ำมันของบริษัทเปโตรนาสที่ได้สัมปทาน จากรัฐบาล ตรงนี้นิวซีแลนด์ต้องให้ทหารเรือนำเรือรบออกไปเพื่อจับผู้ชุมนุม แต่การจับกุมนั้นต้องกระทำโดยตำรวจเพราะในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทหารจะไม่มีสิทธิที่รัฐบาลจะนำมาใช้ในการสลายผู้ชุมนุมในประเทศเพราะเป็นอำนาจและหน้าที่ของตำรวจ ที่ทหารทำได้มากที่สุดคือให้ความช่วยเหลือตำรวจในการเคลื่อนย้ายกำลังพลเท่านั้น

การมีส่วนร่วมที่ถูกต้องในสายตาของนานา ชาตินั้นไม่ได้อยู่ที่การเมืองข้างถนนแบบที่เราเชื่อมานานแล้วว่าม็อบต่างๆ คือพลังบริสุทธิ์ ที่จริงแล้วการใช้มวลชนหรือม็อบเพื่อกดดันรัฐบาลนั้นเป็นความคิดที่เก่ากรุในสังคมยุคสงครามเย็น เพราะแนวคิดที่เอามวลชนมากดดันรัฐบาลนั้นเป็นแนวคิดของประเทศประชาธิปไตยใหม่ เป็นการเคลื่อนไหวจากมวลชนเพื่อกดดันเผด็จการหรือคอมมิวนิสต์ที่รวบอำนาจให้คืนอำนาจให้ประชาชนโดยจัดการเลือกตั้ง แบบที่เราเห็นกันในประเทศอียิปต์ หรือลิเบียในช่วงที่ผ่านมา แต่ไม่ใช่ว่าประเทศมีการเลือกตั้งแล้ว มีคนไม่ชอบรัฐบาลจะออกมาก่อม็อบ อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องไปเล่นกันในสภาให้ฝ่ายค้านกดดันรัฐบาล หรือยื่นฟ้องศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญหากอำนาจที่ได้มานั้นไม่ชอบธรรม ไม่ใช่ เอะอะก็จะก่อหวอดตั้งม็อบกันทั้งปีทั้งชาติ เพราะตรงนี้ไม่ได้แปลว่าประชาธิปไตย แต่เป็นการกระทำที่เป็นอนาธิปไตย ที่สร้างความวุ่นวายให้ประเทศชาติ เพราะการเอาม็อบมาชนนั้นย่อมเกิดจากเหตุเดียวในประเทศพัฒนาแล้ว นั่นคือรัฐบาลอยู่เกินวาระ หรือพยายามแก้กฎหมายให้ตนเองอยู่ในอำนาจเกินขอบเขตที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง เพราะสังคมที่เป็นประชาธิปไตย เมื่อหมดวาระก็ต้องออกไปตามระบบ แต่การเอาม็อบ มากดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออก หรือให้ประมุขของรัฐปลดนายกรัฐมนตรีเพื่อแต่งตั้งผู้นำรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือกดดันให้รัฐบาลยุบสภา ก่อนกำหนดนั้นต่างไม่ถือว่าเป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตยโดยทั้งสิ้น

ปัญหาที่ฝรั่งไม่เข้าใจ อันนี้ผมพอเข้าใจประเด็นเขาอย่างหนึ่งคือเขามองว่าประเทศไทย เราก็มีประชาธิปไตยมาหลายปีดีดักแล้ว ถ้านับตอน สิบสี่ตุลา แม้แต่พฤษภาทมิฬ เราก็มีประชาธิปไตยมาจะสี่สิบปีอยู่แล้ว ทำไมเราก้าวไม่พ้นม็อบกดดันการเมือง ซึ่งเป็นมาตรฐานส่วนใหญ่ของประเทศประชาธิปไตยน้องใหม่ ซึ่งเราเริ่มมาก่อนฟิลิปปินส์ โปแลนด์ เชค แม้แต่คอมมิวนิสต์ตัวใหญ่อย่างรัสเซีย ไปๆ มาๆ เรากลับล้าหลังอดีตประเทศคอมมิวนิสต์ ไปแล้วทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ

ผมจึงเอาเวลามาศึกษาเกี่ยวกับความสมานฉันท์ของเขาควบคู่ไปกับความเปลี่ยนแปลง การเคลื่อนไหวแบบมวลชนในต่างประเทศ อย่างที่ผมได้เรียนไว้แล้วว่าไม่ใช่ในต่างประเทศไม่มีม็อบในฝรั่งเศส ออสเตรเลีย แม้แต่นิวซีแลนด์ก็มีม็อบกันเป็นครั้งคราว โดยมากจะไม่พยายามสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน เช่น ถ้าจะออกมาประท้วงก็จะมาวันเสาร์ หรือวันอาทิตย์ ถ้ามาวันธรรมดาก็จะไปตั้งม็อบในสวนสาธารณะหน้ารัฐสภา แต่โดยมากเขาพัฒนากันอย่างไรจึงพ้นม็อบไปได้ ตรงนี้มีส่วนประกอบของการพัฒนาอยู่ในสองระดับ ในระดับของภาคประชาชนคือการพัฒนาองค์กรอิสระ หรือ NGOs ให้มีความคล่องตัวในการปฏิบัติงานและภาครัฐต้องให้ความร่วมมือกับองค์กรอิสระในเรื่องที่ต้องแก้ไข สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นความแตกต่างระหว่างชาวไทยกับชาวต่างประเทศคือ สื่อมวลชนเมื่อเสนอ ข่าวแล้ว ถ้าประชาชนเห็นว่าสำคัญก็จะออกมาจี้รัฐบาลให้ทำเอง เช่น ตอนที่สิทธิมนุษยชนสากลออกมาเผยเกี่ยวกับการที่ทหารอเมริกันทรมานเชลยศึกในค่ายทหารกวนตานาโมเบย์ ตรงนี้จุดประเด็น ให้รัฐบาลบุชและผองเพื่อนหลังชนฝา เพราะโดนองค์กรอิสระอัดเข้าเต็มๆ จนต้องปิดค่ายกักกัน ในขณะที่ประเทศจีนหรือไทยเวลาที่โดนวิจารณ์แทนที่นักการเมืองของเราจะศึกษาข้อผิดพลาดเพื่อแก้ไข กลับพยายามชี้แจงแบบข้างๆ คูๆ เหมือนคนที่ทำผิดแต่พยายามแก้ตัววกไปวนมาแต่ก็หนีไม่พ้นความผิด หรือไม่ก็พาล ถามกลับว่าทำไมไม่วิจารณ์ประเทศสหรัฐอเมริกาทั้งๆ ที่เขาวิจารณ์จนรัฐบาลอเมริกายังเหนื่อยมาแล้ว

การพัฒนาในระดับต่อมาคือการให้พรรคการเมืองอื่นๆ มีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ ในบ้านเรามีคณะกรรมาธิการต่างๆ ที่ในต่างประเทศ เรียกว่า Select Committee อยู่แล้ว แนวคิดกรรมา ธิการรัฐสภานั้นได้ผลเป็นอย่างมากในสหรัฐอเมริกาเนื่องจากรัฐบาลอเมริกานั้นมีอำนาจค่อนข้างจำกัดและไม่มีอำนาจเหนือวุฒิสภาหรือคองเกรสแต่อย่างใด ดังนั้น ในอเมริกา คณะกรรมาธิการต่างๆ จะเกิดจากความร่วมมือของพรรคการเมืองต่างๆ ในอเมริกาโดยไม่มีรัฐบาลเข้ามาแทรกแซง แต่สำหรับในประเทศไทยนั้นปัญหาของเรามาจากพรรครัฐบาล หรือฝ่ายค้านจึงพยายามจำกัดบทบาทของกรรมา ธิการให้เป็นเพียงให้คำแนะนำเท่านั้น ซึ่งทำให้คณะกรรมาธิการต่างๆ ในไทยไม่ได้มีอำนาจเท่าที่กรรมาธิการควรจะมีแบบในต่างประเทศ

ในนิวซีแลนด์ คณะกรรมาธิการจะมาจากสัดส่วนของพรรคการเมืองในรัฐสภา ยกตัวอย่างเช่นพรรคใหญ่ที่สุดมีเสียง 45% ในสภาก็จะได้สัดส่วนต่อกรรมาธิการ 4 ใน 10 ตำแหน่ง พรรคที่ได้ 10% ในสภาจะได้ ส.ส.เข้าร่วมหนึ่งคนในทุกกรรมาธิการ แต่ที่มากกว่าการแบ่งเก้าอี้ให้ ส.ส.ครบทุกพรรคแล้ว กรรมาธิการในนิวซีแลนด์มีหน้าที่ออกกฎหมายโดยตรง โดยมีขั้นตอนตั้งแต่เป็นกรรมาธิการร่างกฎหมาย นำเสนอ และแก้ไข

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการได้ให้โอกาสประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม กล่าวคือนอกจากกรรมาธิการ 12 คนแล้ว ในการร่างกฎหมายใดๆ ก็ตาม ทางคณะกรรมาธิการจะประกาศหาผู้เชี่ยวชาญจากแขนงต่างๆ ทั้งนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ในเรื่องนั้นๆ องค์กรอิสระ แม้แต่สหภาพต่างๆ ดังนั้นการที่ม็อบจะไปก่อตัวที่ไหน เห็นจะไม่จำเป็น ในเมื่อผู้นำม็อบสามารถเข้าไปนั่งในคณะกรรมาธิการ และมีส่วนร่วมในการออกกฎหมายได้ ผมเชื่อว่าการพัฒนาในจุดนี้สามารถทำให้เกิดการพัฒนาการของการเมืองภาคประชาชนที่ก้าวพ้นการเมืองบนถนนไปสู่การเมืองที่มีแบบแผน

ในระดับต่อมา นิวซีแลนด์ได้เข้าสู่ระบบที่เรียกว่า Private Bill คือการให้ประชาชนสามารถยื่นเสนอกฎหมายสู่รัฐสภาได้เอง โดยรัฐสภาจะนำเข้าพิจารณา หากมีมติเห็นชอบ ทางคณะกรรมาธิการจะนำไปร่างเป็นกฎหมาย นอกจากนี้คณะกรรมาธิการในช่วงที่ผ่านมาได้เข้าสู่โลกออนไลน์ด้วยการให้ประชาชนที่ต้องการมีส่วนร่วม โดยผมได้มีโอกาส เข้าเยี่ยมชมอาคารรัฐสภาและห้องกรรมาธิการใหม่ โดยการประชุมกรรมาธิการใดๆ ก็ตามจะมีห้องประชุมที่มีการตกแต่งให้เหมาะสมกับกฎหมายหรือสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้อง เช่น ห้องเอเชียสำหรับการประชุมเกี่ยวกับนโยบายด้านการค้าหรือการทูตกับเอเชีย ห้องสายรุ้งสำหรับนโยบายเรื่องกฎหมายสำหรับกระเทย ห้องเมารีสำหรับกฎหมายเกี่ยวกับชาวพื้นเมือง ในห้องต่างๆ นั้นบนโต๊ะประชุมของ รมต. และ ส.ส.ที่ร่วมประชุมทุกคนจะมีคอมพิวเตอร์ ซึ่งเชื่อมต่อให้ประชาชนที่ต้องการมีส่วนร่วมสามารถส่งข้อความผ่านระบบอย่างทวิตเตอร์ สไคป์ หรือ อีเมลเข้าไปยังคณะกรรมาธิการ เพื่อเสนอแนวคิด หรือแนวทางการแก้ไขปัญหา การพัฒนาดังกล่าวทำให้รัฐบาลนิวซีแลนด์แทบจะไม่ได้รับแรงเสียดทานทางการเมืองหรือปัญหาม็อบเลย เพราะว่าประชาชนมีโอกาสที่จะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างเป็นระบบ

เมื่อมองประเทศนิวซีแลนด์และนำมาเทียบกับบ้านเรา ทำให้ผมเห็นข้อแตกต่างทางแนวคิดในการบริหารประเทศได้อย่างชัดเจน นักการเมืองของ เรานั้นมักจะคิดเสมอว่าประชาชนต้องการอะไรหรือควรจะเป็นอย่างไร และจะพยายามสร้างนโยบายมา ตอบรับแนวคิดที่พวกเขาเชื่อว่าดีต่อประชาชน ยกตัวอย่างเช่น การออกกฎหมายห้ามโฆษณาเกี่ยวกับเหล้าหรือบุหรี่ การนำเรื่องที่กระทรวงวัฒนธรรมเชื่อว่าจะสร้างความก้าวร้าวในสังคมอย่างกรณีเด็กไปเต้นในวันสงกรานต์หรือละครโทรทัศน์ที่ฮือฮาในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะในต่างประเทศเราก็เคยได้ยินนักการเมืองพูดเสมอว่า Trust us, because we know best

ในเมืองไทยก็เคยมีคำกล่าวเก่าๆ เช่น เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย ผู้บริหารโดยมากมักจะเป็นนักคิดที่เก่ง แต่ปัญหาหลักซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่นักการเมืองโดยมากไม่ทราบคือ การเป็นนักฟังและเป็นนักวิจัยกับนักวิเคราะห์ที่ดี เพราะในขณะที่นักบริหารคิดว่าอะไรดีสำหรับประชาชน แต่พวกเขามักจะลืมไปว่าประชาชนส่วนมากนั้นอาจจะมาจากพื้นฐานที่แตกต่างจากผู้นำเหล่านั้นโดยสิ้นเชิง และเมื่อรัฐบาลเอา แต่ป้อนสิ่งที่เขาคิดว่าดีให้ประชาชนแต่มองข้ามสิ่งที่ประชาชนเหล่านั้นต้องการ ย่อมก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมเพราะสิ่งที่ให้ไปเป็นสิ่งที่ประชาชนไม่ต้องการ แต่ที่เขาต้องการกลับไม่ได้รับการตอบรับทำให้เกิดปัญหาการเดินขบวนประท้วงหรือม็อบสารพัดชนิดเพราะพวกเขาต่างเชื่อว่า We trust ourselves, because we know best

แต่ถ้าหากว่ารัฐสามารถพัฒนากลไกให้เปิดกว้างต่อประชาชนในการเสนอแนวคิดและนโยบายและมีระบบตอบรับแบบในนิวซีแลนด์ ผมเชื่อว่า อย่างน้อยที่สุดการเมืองของไทยจะสามารถก้าวไปข้างหน้าได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.