Digital Boardcasting

โดย ภก.ดร. ชุมพล ธีรลดานนท์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

เป็นธรรมดาเมื่อคลื่นลูกเก่าหายไปย่อมมีคลื่นลูกใหม่เข้ามาแทน วัฏจักรแห่งการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ปรากฏให้เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันมิได้ยกเว้นแม้กรณีคลื่นสัญญาณโทรทัศน์ของญี่ปุ่น ซึ่งออกอากาศแพร่ภาพและเสียงในระบบอนาล็อกต่อเนื่องมานาน 58 ปีนั้นกำลังจะถูกแทนที่ด้วยระบบดิจิตอลอย่างสมบูรณ์แบบทั่วทั้งประเทศนับแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2011 เป็นต้นไป

ย้อนกลับไปในยุคที่ญี่ปุ่นฟื้นตัวภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โทรทัศน์จัดเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า ติดอันดับหนึ่งในสามที่ชาวญี่ปุ่นใฝ่ฝันอยากครอบครองมากที่สุด พร้อมกันนั้นยังสวมบทบาทในฐานะ สื่อสารมวลชนที่ทรงอิทธิพล เป็นศูนย์กลางของชุมชน ในช่วงเริ่มออกอากาศครั้งแรกในปี 1953

พัฒนาการของโทรทัศน์จำเริญขึ้นตามลำดับ จากภาพขาวดำเป็นภาพสี ต่อมามีรีโมตคอนโทรล เพิ่มขนาดหน้าจอ ลดความบางของเครื่องจนเหลือเพียงไม่กี่เซนติเมตร ปัจจุบันให้ภาพ 3 มิติและยังคงก้าวล้ำต่อไปไม่รู้จบ ขณะที่จำนวนช่องสัญญาณโทรทัศน์ในญี่ปุ่นได้ถึงภาวะอิ่มตัวไม่อาจขยับขยายให้บริการรองรับขีดความสามารถของเครื่องรับภาพที่เพิ่มศักยภาพสูงขึ้นทุกขณะได้

อีกทั้ง Digital Boardcasting ที่มาทดแทน คลื่นสัญญาณแบบเก่าซึ่งใช้มาครึ่งศตวรรษจะกลายเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานสอดคล้องไปกับวิถีชีวิตในสหัสวรรษใหม่ของผู้คนในญี่ปุ่นตามเป้าหมายการพัฒนาประเทศไปสู่ยุคสารสนเทศอย่างเต็มรูปแบบในอนาคตอันใกล้นี้

เหตุผลเหล่านี้มีน้ำหนักมากพอที่สนับสนุนการผ่านร่างกฎหมายวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ฉบับแก้ไขลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2001 ซึ่งเห็นชอบให้มีการยกเลิกการใช้คลื่นความถี่แบบอนาล็อกภายใน 10 ปีนับแต่วันประกาศ

จากนั้นแผนพัฒนาเครือข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิตอลภายใน 10 ปีภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสาร (Ministry of Internal Affairs and Communications) ได้เริ่มประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปรับทราบเพื่อเตรียมพร้อมโดยการติดตั้งอุปกรณ์เสาอากาศ UHF และเครื่องรับสัญญาณในระบบดิจิตอล ซึ่งมีทางเลือก 2 ทางคือ 1) จัดหา Tuner อุปกรณ์ เสริมสำหรับรับสัญญาณในระบบดิจิตอลประกอบเข้า กับโทรทัศน์รุ่นเก่าที่ใช้อยู่ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายราว 5,000 เยน (ประมาณ 1,500 บาท) หรือ 2) เปลี่ยนเป็นโทรทัศน์ รุ่นใหม่ที่ประหยัดไฟกว่าและรับสัญญาณดิจิตอลได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นจัดแคมเปญ ระดับชาติ “Eco Point”* ช่วยแบกรับภาระส่วนหนึ่ง เพื่อให้ประชาชนสามารถเลือกซื้อโทรทัศน์เครื่องใหม่ได้ในราคายุติธรรม

การเปลี่ยนแปลงสัญญาณให้อยู่ในระบบดิจิตอลนอกจากจะเพิ่มช่องสัญญาณขึ้น รวมถึงช่อง โทรทัศน์ในโทรศัพท์มือถือที่เรียกว่า One-seg แล้วยังช่วยเพิ่มอรรถรสในการรับชมภาพที่สวยคมสมจริง มีความละเอียดสูง คุณภาพระดับ HD 1080p (High Definition 1,080 pixel) ด้วยขนาดจอภาพที่กว้างขึ้น ในอัตราส่วนแนวนอนต่อแนวตั้ง 16:9 พร้อมระบบเสียง 5.1 ch (5 full-range channels + 1 LFE channel) ให้คุณภาพเสียงเทียบเท่าซีดีหรือสูงกว่าหากติดตั้งชุดลำโพง Surround เสริมเข้าไปก็สามารถเป็นเจ้าของ home theater ได้ไม่ยาก

ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงข้อแตกต่างอย่างชัดเจนของการถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิตอล เช่นในกรณีต่อเวลาการแข่งขันรายการกีฬา ถ่ายทอดสดซึ่งเดิมจะตัดเข้าสู่รายการปกติแล้วค่อยติดตามผลการแข่งขันในช่วงภาคข่าวนั้น Multi organization ในระบบดิจิตอลจะเพิ่มจอเสริมซึ่งถ่ายทอดช่วงต่อเวลาให้รับชมควบคู่กับจอหลักที่ถ่ายทอดรายการปกติไปได้พร้อมๆ กัน ทั้งนี้เนื่องเพราะใน 1 ช่องปกติของระบบอนาล็อกหากเปลี่ยน เป็นระบบดิจิตอลแล้วจะสามารถดูได้พร้อมกันทีเดียวถึง 3 รายการใน 1 ช่อง

บนรีโมตคอนโทรลของโทรทัศน์รุ่นใหม่ๆ จะมีปุ่มอักษร “d” ย่อมาจากคำว่า data แสดงถึงการรับส่งข้อมูลข่าวสารเกาะติดสถานการณ์ล่าสุดที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น พยากรณ์อากาศรวมถึงทิศทางการเคลื่อนที่ของพายุไต้ฝุ่น, ข้อมูลแผ่นดินไหว, คำเตือน Tsunami, ข่าวสารปัจจุบัน รวมถึงหยุดภาพนิ่งได้ทุกจังหวะเมื่อต้องการดูรายละเอียดบนจอภาพ นอกจากนี้ยังมีปุ่ม EPG (Electronic Program Guide) ที่สามารถตรวจสอบตารางรายการออกอากาศของทุกช่องล่วงหน้าหนึ่งสัปดาห์รวมถึงแสดงรายละเอียดของแต่ละรายการและสามารถตั้งเวลาบันทึกภาพรายการที่สนใจได้ล่วงหน้า ทั้งนี้หากมีการเปลี่ยนแปลงเวลา ออกอากาศกะทันหันโปรแกรมที่ตั้งไว้จะปรับเปลี่ยนเวลาบันทึกรายการตามตารางใหม่โดยอัตโนมัติ

ขณะเดียวกันสัญญาณภาพและเสียงในระบบดิจิตอล จะออกอากาศยังไปทุกบ้านพร้อมกับอักษรบรรยายใต้ภาพเช่นบทสนทนาในละครหรือความเห็นของผู้ดำเนินรายการซึ่งช่วยให้คนหูหนวกสามารถดูโทรทัศน์ได้ทุกรายการโดยไม่ต้องพึ่งพาล่ามภาษามือ (แต่เดิมมีบริการให้ในบางรายการเท่านั้น) หรือผู้สูงอายุก็ไม่จำเป็นต้องเปิดโทรทัศน์เสียงดังจนเกินไปและยังช่วยเพิ่มทักษะการเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นให้กับชาวต่างชาติหรือเด็กญี่ปุ่นได้อีกด้วย

อรรถประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นมานั้นหาได้มุ่งเน้นแต่ความบันเทิงเพียงอย่างเดียว การให้สาระความรู้ในช่องการศึกษา เช่น NHK Education รวมถึงรายการการศึกษาทางไกลของ The Open University of Japan จะเพิ่มประสิทธิภาพมาก ขึ้นโดยสามารถต่อสายอินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงกับเครื่องโทรทัศน์อำนวยโอกาสให้เกิดการสื่อสารกันได้ 2 ทาง รวมถึงการร่วมสนุกตอบคำถามหรือแสดงความคิดเห็นกับรายการถ่ายทอดสดก็ได้

ยิ่งไปกว่านั้นยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่องรายการ TV shopping ตลอด 24 ชั่วโมงและขยายผลครอบคลุมไปถึงระดับอุตสาหกรรมการผลิตโทรทัศน์และการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับการสื่อสารในอนาคต

การเปลี่ยนแปลงสู่ Digital Boardcasting ในครั้งนี้จึงเป็นเสมือนเครื่องมือที่ทำหน้าที่กำหนดทิศทางให้ญี่ปุ่นมุ่ง สู่ประเทศผู้นำแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

อ่านเพิ่มเติม:
นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ เรื่อง “Eco Point” ฉบับกันยายน 2552 หรือ http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=82132


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.