“น้ำกรด” อาวุธของใจราคาถูก

โดย ติฟาฮา มุกตาร์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ค่ำปลายเดือนเมษายน ข่าวสะเทือนขวัญสะพัดไปทั่วศานตินิเกตัน ชายหนุ่มหญิงสาวคู่หนึ่งถูกสาดด้วยน้ำกรดโดยชายสองคนที่ขับรถมอเตอร์ไซค์โฉบมา ชายหนุ่มบาดเจ็บไม่มากแต่หญิงสาวอาการสาหัส น้ำกรดอาบกัดตลอดลำตัวด้านหน้า สัปดาห์ต่อมาแม้เธอจะพ้นขีดอันตรายแต่บาดแผลทั้งทางใจและกายยังฝังลึก คนร้ายยังลอยนวล ชาวบ้านคาดเดาว่าเป็นเรื่องพิษรักแรงหึง กระนั้นไม่มีใครคาดคิดว่าชุมชนที่สงบและสันติอย่างศานตินิเกตัน ที่ซึ่งกวีและนักการศึกษาชาวเบงกาลี รพินทรนาถ ฐากูรวาดหวังให้เป็น ‘รวงรังแห่งโลก’ จะเกิดเหตุเหี้ยมเกรียมเช่นนี้ในปีแห่งการฉลองครบ 150 ปีชาตกาลของท่าน และผู้คนไม่น้อยก็ตระหนักว่า การทำร้ายด้วยน้ำกรดไม่ใช่แค่ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์อีกต่อไป

การสาดน้ำกรดส่วนใหญ่เป็นการทำร้ายที่มุ่ง ให้เหยื่อเสียโฉมมากกว่ามุ่งเอาชีวิต มักเล็งเป้าที่ใบหน้าและลำตัวด้านหน้า เป็นการทำร้ายโดยเจตนา และมีการวางแผนล่วงหน้า มากกว่าเป็นเรื่องอารมณ์ ชั่ววูบอย่างที่คนเข้าใจ ความรุนแรงของบาดแผลขึ้นกับปริมาณและความเข้มข้นของกรด กรดจะกัดผิวหนังเกิดเป็นแผลย่นไหม้ บางรายอาจทะลุเข้าไปถึงกระดูก ผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่จะมีแผลเป็นถาวร ตาบอด อวัยวะบางส่วนผิดรูป บางรายถึงกับเสียชีวิต

เหตุสาดน้ำกรดพบมากในกัมพูชา บังกลาเทศ อัฟกานิสถาน ปากีสถาน และอินเดีย จากการศึกษาพบว่าเหยื่อร้อยละ 80 เป็นผู้หญิง ในกัมพูชาพบว่าน้ำกรดเป็นอาวุธที่ภรรยาใช้แก้แค้นชู้รักของสามี ส่วนปากีสถานสถานการณ์กลับกัน เพราะคนลงมือส่วนใหญ่เป็นสามีที่ต้องการแก้แค้นภรรยาที่ทำให้ตน ‘เสียเกียรติ’ ซึ่งในที่นี้ไม่ใช่เฉพาะการนอกใจ หลายกรณีเป็นเพราะภรรยาต้องการหย่าหรือแยกทาง รวมถึงแสดงอาการปีกกล้าขาแข็ง เช่น ออกไปทำงานนอกบ้านมีรายได้เป็นของตนเอง ในบังกลาเทศก็มีลักษณะคล้ายกันคือเป็นรูปแบบหนึ่งของความรุนแรงในครัวเรือน

สำหรับอินเดีย ปัญหานี้ยังไม่ได้รับความสำคัญนักจึงไม่มีการสำรวจสรุปตัวเลขอย่างเป็นทางการ กระนั้นสื่อและเอ็นจีโอบางกลุ่มที่เริ่มจับตาปัญหานี้มีความเห็นว่าตัวเลขกำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ โดย ผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่ปฏิเสธความประสงค์หรือยอมจำนนต่อข้อเรียกร้องของฝ่ายชาย เช่น ภรรยาที่ต้องการแยกทางจากสามี ภรรยาที่ปฏิเสธจ่ายค่าสินสอด ผู้หญิงที่ขัดขืนการล่วงละเมิด ทางเพศโดยเจ้านาย เพื่อนบ้าน หรือคนรู้จัก ผู้หญิง ที่บอกเลิกกับแฟน หรือบอกปฏิเสธคนที่มาชอบพอ ฯลฯ นัยหนึ่งคนที่ลงมือหรือจ้างวาน ส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ชิดหรือรู้จักตัวเหยื่อ และการเลือกใช้น้ำกรด เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า ถ้าเธอไม่ยอมเป็นของฉันก็อย่าคิดไปเป็นของใครอื่น

Arti Shrivastav อายุ 18 ปี เมื่อเธอโดน Abhinav Mishra เพื่อนชายที่มาตามจีบสาดน้ำกรด ฤทธิ์รุนแรงของกรดกัดกินเข้าไปถึงกะโหลกศีรษะ นอกจากเสียโฉม เธอยังสูญเสียสมรรถภาพการฟัง และหลับตาไม่ได้แม้ตอนหลับอยู่เป็นเวลาหลายปีในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เธอทำศัลยกรรมพลาสติกมาแล้ว 5 ครั้ง รวมค่ารักษาพยาบาลกว่า 1.6 ล้านรูปี ที่สำคัญอารตีสูญเสียความมั่นใจ หวาดผวา และกลายเป็นคนเก็บตัว ส่วน Abhinav ซึ่งสารภาพเมื่อ โดนจับกุมว่า ต้องการแต่งงานกับอารตี และคิดว่าหากเธอเสียโฉมก็จะไม่สามารถรับรักใครได้อีกนอกจากตน เขาเรียนต่อจนจบ MBA แต่งงานและย้ายไปอยู่เมืองอื่น กระทั่งคดีถึงที่สิ้นสุดเมื่อปี 2009 เขาถูกตัดสินจำคุก 10 ปีและเสียค่าปรับเป็นเงิน 5 แสนรูปี แต่หลังจำคุกอยู่เพียงปีเศษ เขาก็ยื่นขอฑัณฑ์บนและเป็นอิสระอีกครั้ง

Nagamma อยู่กินกับ Shiva เป็นเวลาสองปีโดยไม่ได้แต่งงาน เมื่อ รู้ตัวว่าเขาไม่ได้คิดจะจริงจังจึงไปสมัครงานและได้งานทำ แต่ศิวะกลับโกรธและทุบตี นากัมมะจึงหนีกลับไปอยู่บ้านพี่สาว เขาก็ตาม ไปข่มขู่ให้กลับมาอยู่กับตน เมื่อเธอปฏิเสธ ในตอนกลางคืนที่ทุกคนหลับ เขาแอบปีนขึ้นไปบนหลังคาและเทน้ำกรดราดลงบนตัวนากัมมะ เธอได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาสามเดือนต่อมา

Haseena Hussain อายุ 19 ปี ขณะที่ทำงานกับบริษัทซอฟต์แวร์ของ Joseph Rodrigues เมื่อเห็นว่าบริษัทขาดทุนและทำท่าจะไม่จ่ายเงินเดือนพนักงาน เธอจึงลาออกและไปทำงานกับบริษัท แห่งใหม่ นายโจเซฟตามมาเรียกตัวเธอกลับไป แต่ฮาซีน่าปฏิเสธ วันหนึ่งเขาจึงมาดักรอและใช้กรดซัลฟุริกสองลิตรราดลงบนศีรษะของเธอ ฮาซีน่าเสียโฉมรุนแรงจากใบหน้าลำตัวไปจนถึงสะโพก ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เธอต้องเข้ารับการผ่าตัดถึง 13 ครั้ง และตาบอดถาวร

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับฮาซีน่า เมื่อปี 1999 ในรัฐกรณาฏกะ กลายเป็นข่าวสะเทือนขวัญ ทำให้สื่อและเอ็นจีโอเริ่มให้ความสนใจกับปัญหานี้ เมื่อมีเหตุการณ์ทำนองเดียวกันซ้ำอีก 2 รายในช่วงเวลาไม่กี่เดือน เอ็นจีโอหลายหน่วยงานจึงได้ประสานความร่วมมือ ก่อตั้ง The Campaign and Struggle Against Acid Attacks (CSAAAW) ขึ้นในปี 2003 มีเป้าหมายการทำงานเพื่อยุติการทำร้ายด้วยน้ำกรด และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เคราะห์ร้าย ซึ่งถือเป็นหน่วยงานเดียวในอินเดียที่ทำงานด้านนี้

จากการศึกษาของ CSAAAW พบว่าปัจจัยหนึ่งที่เอื้อแก่อาชญากรรมชนิดนี้ คือการที่กรดหลายชนิดจำหน่ายโดยเสรีและมีราคาถูก บางชนิด ขายอยู่เพียงลิตรละ 10 รูปี ซื้อ ได้ตามร้านขายวัสดุก่อสร้างแม้แต่ตามบาทวิถี ทางกลุ่มจึงเรียกร้องให้มีทางการออกกฎหมายควบคุมการซื้อขายกรด แต่หลายฝ่ายเห็นว่าทำได้ยาก เพราะกรดต่างๆ อาทิ กรดซัลฟุริก ไฮโดรคลอริก ไฮโดรฟลูโอริก ฟีนอล ฯลฯ เป็นกรดที่ใช้กันในงานหลายลักษณะ นับจากช่างทอง อู่ซ่อมรถ งานก่อสร้าง จนถึงบรรดาแม่บ้านเอง

ในแง่กฎหมาย อินเดียยังไม่มีกฎหมายและบทลงโทษการทำร้ายด้วยน้ำกรดโดยตรง ทำให้ไม่มีการบันทึกสถิติคดีแยกจากคดีทำร้ายร่างกายอื่นๆ จากรายงานโดยคณะกรรมาธิการด้านกฎหมาย แห่งชาติพบว่า คดีส่วนใหญ่ศาลพิพากษาด้วยบทลงโทษสถานเบาเกินไป และแนะนำให้เพิ่มบทลงโทษ เป็นการจำคุกจาก 5 ปี เพิ่มเป็น 10 ปีขึ้นไปจนถึงตลอดชีวิต และเพิ่มค่าปรับเป็นอย่างน้อย 1 ล้านรูปี โดยมอบค่าปรับนั้นแก่ผู้ถูกกระทำในคดี กระนั้น เครือข่ายทนายความแห่งชาติได้แสดงความเห็นคัดค้านต่อรายงาน โดยเห็นว่าน่าจะเพิ่มโทษจนถึงขั้นประหาร เช่นเดียวกับบังกลาเทศ

รายงานของ CSAAAW แสดงถึงปัญหาสำคัญอีกแง่มุม คือปัญหาด้านการรักษาพยาบาลและการเยียวยาด้านจิตใจ ซึ่งการสัมภาษณ์ผู้เคราะห์ร้ายที่รอดชีวิต 14 ราย พบว่าส่วนใหญ่ไม่ได้รับการรักษาพยาบาลที่ทันท่วงทีและถูกวิธี หนึ่ง เพราะหมอพยาบาลไม่มีประสบการณ์ สอง เพราะไม่มีเงินค่ารักษา เช่นกรณีของฮาซีน่า เธอต้องนอนทนพิษบาดแผลอยู่เป็นเวลาสองวัน โดยที่มีหมอพยาบาล ไม่ยอมแม้แต่ทำแผลเบื้องต้น เพราะไม่มีเงินค่ารักษา ขณะเดียวกันผู้หญิงที่โดนสาดด้วยน้ำกรดมักไม่ได้รับความเห็นใจจากคนรอบข้าง หลายคนรอดชีวิตแต่ต้องสูญเสียชีวิตและศักดิ์ศรี ความบอบช้ำทางจิตใจนั้นไม่น้อยไปกว่าผู้หญิงที่ถูกข่มขืน และทางร่างกายนั้นมันเป็นบาดแผลถาวรที่ทำให้โดนไล่ออกจากงาน โดนสามีหรือคนรักทิ้ง ไม่มีคนยอมรับเข้าทำงาน

หากอินเดียต้องการแก้ปัญหานี้ สิ่งสำคัญที่ควรแก้คือทัศนะแบบชายเป็นใหญ่ และความคิดเรื่องศักดิ์ศรีลูกผู้ชายแบบผิดๆ ขณะเดียวกันสังคมควรมองการทำร้ายด้วยน้ำกรดให้พ้นไปจากเรื่องพิษรักแรงหึง ควรตระหนักว่าเป็นอาชญากรรมที่กระทำโดยคนขี้ขลาด ลงมือโดยเจตนา เลือดเย็นและเหี้ยมเกรียม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.