|
“การเดินทัพทางไกล” ของ Huawei
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
บริษัทไฮเทคดาวรุ่งของจีนต้องทำตัวให้ลึกลับน้อยกว่านี้
“วิกฤติ ความตกต่ำ หรือแม้กระทั่งการล้มละลาย อาจกำลังมาถึง Huawei แม้เราจะอยู่ในฤดูใบไม้ผลิ แต่ฤดูหนาวก็ใกล้เข้ามาแล้ว อย่าลืมว่า Titanic แล่นออกสู่ทะเลท่ามกลางบรรยากาศแห่งความปีติยินดี”
คงจะมีผู้บริหารน้อยคนที่จะทำตัวเป็นกระต่ายตื่นตูมเสียเองเหมือนกับ Ren Zhengfei เขากล่าวข้อความข้างต้นไว้เมื่อปี 2000 ในเวลาที่ฟองสบู่เทคโนโลยีกำลังโป่งพองสุดขีด ไม่ผิดที่เขาจะกลัวว่าฟองสบู่นั้นจะแตก และอาจทำลายบริษัทที่เขาก่อตั้งมากับมือ แต่ Huawei สามารถดีดตัวกลับฟื้นขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว ในปี 2010 กลายเป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมที่ใหญ่ เป็นอันดับ 2 ของโลก ด้วยยอดขายต่อปี 28,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งแทบไม่ต่างจากเจ้าตลาดอย่าง Ericsson ที่มียอดขายสูงกว่าเพียง เล็กน้อยที่ 30,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี และในปีนี้ Huawei ซึ่งมีพนักงาน 110,000 คน อาจสามารถเบียดแชมป์เก่าสัญชาติสวีเดน อย่าง Ericsson ให้ตกจากบัลลังก์ได้
สำหรับ Ren แล้ว หนทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล เฉกเช่น การเดินทัพทางไกลของท่านประธานเหมา ภายใน 10 ปีข้างหน้า Huawei ตั้งเป้าว่า จะไม่เป็นเพียงผู้นำในตลาดเทคโนโลยีเท่านั้น แต่จะผงาดขึ้นเป็นบริษัทมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์ ที่สามารถถีบตัวขึ้นไปเล่นใน “ลีกเดียวกัน” กับยักษ์ใหญ่ IT สัญชาติตะวันตก อย่าง IBM, HP และ Cisco ได้
บริษัทเทคโนโลยีดาวรุ่งที่ส่องแสงสุกสกาวที่สุดของจีนแห่งนี้ จะทำได้สำเร็จหรือไม่ มีความหมายต่อจีนเป็นอย่างมาก เพราะนี่คือการทดสอบว่า บริษัทของจีนพร้อมเพียงใด ที่จะลงเล่นในเกมของตะวันตก เพื่อที่จะประกาศศักดาในการก้าวขึ้นสู่แบรนด์ชั้นนำของโลก ขณะเดียวกันก็เป็นการ “ขอดูใจ” ชาติตะวันตกด้วยว่า จะยอมรับผู้เล่นอย่างจีน เข้าไปเล่นด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะบริษัทอย่าง Huawei
ลองถามนักการเมืองอเมริกันสักคนเกี่ยวกับ Huawei เป็นไปได้สูงมากที่จะได้รับคำตอบต่างๆ นานา ที่ล้วนแต่สรุปได้ว่า นี่เป็นบริษัทที่ไม่น่าไว้ใจ เช่น บริษัทนี้แฝงปฏิบัติการลับทางทหาร อยู่เบื้องหลัง ไม่เคารพทรัพย์สินทางปัญญาของคนอื่น ได้รับการอุดหนุนอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูด้วยเงินกู้ดอกเบี้ยถูกจากธนาคารเพื่อการพัฒนาของจีน และที่เลวร้ายที่สุดคือ ตัว Ren เอง เคยรับราชการอยู่ในกองทัพปลดแอกของจีน
แม้ Huawei จะเข้าไปลงทุนและยังพยายามล็อบบี้อย่างหนัก เพื่อแก้ภาพลักษณ์ในสหรัฐฯ แต่ก็ยังไม่อาจลบล้างความคิดที่ว่า Huawei เป็นเพียงบริษัทบังหน้าของกองทัพจีน และจีนได้ใช้อุปกรณ์ สื่อสารโทรคมนาคมของบริษัท แอบฟังหรือแม้กระทั่ง ใช้เป็นรีโมตคอนโทรลแอบแฮ็กข้อมูล ซึ่งกลายเป็นภาพลักษณ์อันเลวร้ายที่เกาะติดแน่นกับ Huawei
และผลอันเลวร้ายที่เกิดขึ้นก็คือ Huawei ถูกกีดกันให้อยู่แต่เพียงชายขอบของตลาดสื่อสารโทรคมนาคมในสหรัฐฯ เท่านั้น ในเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว เมื่อบริษัท Sprint Nextel บริษัทมือถือใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐฯ คิดจะทำสัญญาธุรกิจมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์กับ Huawei ปรากฏว่า เจ้าของ Sprint Nextel ได้รับโทรศัพท์สายตรงจากวอชิงตัน และสุดท้ายก็เลือกไปทำธุรกิจกับเจ้าอื่นแทน Huawei ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ รัฐบาลอเมริกันถึงกับบีบให้ Huawei ต้องยกเลิกข้อตกลงซื้อสิทธิบัตรมูลค่า 2 ล้านดอลลาร์จาก 3Leaf บริษัทเล็กๆ ในชุมชน ไฮเทค Silicon Valley ที่เลิกกิจการ
แต่อาณาจักรอันไพศาลของ Huawei ในเมือง Shenzhen กลับมีภาพลักษณ์ที่แตกต่างตรงข้ามกับในชาติตะวันตก ใจกลางของอาณาจักรแห่งนี้ คือ “หอคอยแห่งวิศวกรนับหมื่น” ซึ่งผลงานของพวกเขาถูกจัดแสดงให้ชื่นชมอยู่ในศูนย์นิทรรศการของบริษัท และ “SingleRan” ซึ่งบุกเบิกโดย Huawei คือสถานีฐานที่เป็นศูนย์รวมระบบเครือข่ายอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ต่างๆ ที่สามารถตั้งโปรแกรมเพื่อให้รองรับมาตรฐานเทคโนโลยีไร้สายที่แตกต่างกันได้ทุกระบบ SingleRan ยังเป็นที่แรกที่พัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ง่าย สามารถต่อเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ laptop เพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบไร้สายได้ทันที
แต่ที่ตรงข้ามกับ Silicon Valley คือ พนักงาน Huawei ไม่สามารถนำเครื่อง laptop ออกนอกบริษัทได้ และ Huawei เพิ่งฟ้องร้องบริษัทคู่แข่ง ZTE ข้อหาละเมิดสิทธิบัตรและเครื่องหมาย การค้า ความจริงแล้ว Huawei มีทรัพย์สินทางปัญญามากมายที่ต้องปกป้อง ไม่แพ้บริษัทยักษ์ใหญ่ IT ของตะวันตกเลย เมื่อสิ้นปี 2010 Huawei ได้รับสิทธิบัตรเกือบ 18,000 ใบ ในจำนวนนี้เป็นสิทธิบัตรในต่างประเทศถึง 3,000 ใบ
Huawei พยายามจะกำจัดความกลัวเรื่องความปลอดภัยของอุปกรณ์สื่อสารของตน ด้วยการจัดตั้งจุดบริการให้ลูกค้าและรัฐบาลต่างชาติที่รู้สึกหวาดระแวง สามารถตรวจสอบสินค้าของบริษัทได้ วิธีนี้ไม่ค่อยได้ผลนักในสหรัฐฯ แต่กลับดูเหมือนได้รับการตอบรับดีในอังกฤษ หลังจากที่ Huawei ได้เปิด “ศูนย์ประเมิน ความปลอดภัยไซเบอร์” ขึ้นในอังกฤษ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เพื่อให้ลูกค้าสามารถตรวจสอบอุปกรณ์สื่อสารของบริษัทได้อย่างเปิดเผย เพื่อแสดงว่าอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมของบริษัทได้มาตรฐานด้านความปลอดภัย
เส้นทางของ Huawei
Ren เป็นผู้นำที่มีบารมีสูง เขาเกิดในปี 1944 บิดามารดาเป็นครูบ้านนอก เขาเรียนจบด้านวิศวกรรม และเข้าทำงานกับกองทัพจีน ในปี 1987 เมื่อถูกปลดประจำการจากกองทัพจีน Ren ได้ก่อตั้ง Huawei ด้วยเงินเพียง 21,000 หยวน (4,400 ดอลลาร์สหรัฐ ตามค่าเงินในขณะนั้น) ซึ่งเป็นเงินส่วนตัว เขาเริ่มต้นธุรกิจ ด้วยการนำเข้าสวิตช์โทรศัพท์จากฮ่องกง และตัดสินใจเริ่มสร้างผลิตภัณฑ์ของตัวเอง โดยยอมลงทุน 10% ของรายได้บริษัทไปกับการวิจัยและพัฒนา
ภารกิจของ Ren คือ ทำให้จีนพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมที่เป็นของตัวเองให้ได้ (Huawei แปลได้ 2 ความหมายคือ “จีนทำได้” กับ “การกระทำอันยอดเยี่ยม”) และ “ประธานเหมา” คือต้นแบบของเขา กลยุทธ์ “ป่าล้อมเมือง” คือหนึ่งในกลยุทธ์ธุรกิจของ Ren เมื่อพบว่ายากที่จะขายโทรศัพท์มือถือในเมืองใหญ่ๆ แถบชายฝั่งของจีน ซึ่งมีรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจีน และบริษัทต่างชาติครองตลาดอยู่ Huawei จึงเริ่มต้นที่มณฑลไกลๆ ก่อน ด้วยการเสนอผลิตภัณฑ์ที่ทั้งไฮเทคกว่าและถูกกว่า บวกกับการระดมทัพนักขาย ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วในระดับท้องถิ่นและเริ่มขยับขยายจากที่นั่น
Huawei ยังใช้กลยุทธ์นี้ในต่างประเทศด้วย ในยุโรป รัฐบาล รัสเซียเป็นชาติยุโรปตะวันออกชาติแรกที่เป็นลูกค้าของ Huawei และจากนั้นธุรกิจกับชาติยุโรปตะวันออกอื่นๆ ก็ไหลมาเป็นเทน้ำเทท่า ด้วยกลยุทธ์เก็บค่าธรรมเนียมต่ำกว่าคู่แข่งอย่างน้อย 25% ปรากฏการณ์มหัศจรรย์โทรศัพท์มือถือบูมในแอฟริกา คงไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากปราศจากอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมที่ทั้งดีและถูกของ Huawei
ความจริงแล้ว Huawei แตกต่างจากบริษัทอื่นๆ ของจีนอย่างเห็นได้ชัด Huawei หลีกเลี่ยงการลงทุนแบบเก็งกำไรในตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ ให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นอันดับแรก และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ร่วมกับบริษัทเจ้าของเครือข่ายเสมอๆ Ren ไม่เคยลังเลที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ เขาทุ่มเงิน 3% ของรายได้บริษัท ซื้ออุปกรณ์จากบริษัทตะวันตกอย่าง IBM
ในยุโรป Huawei สามารถรุกจากป่าเข้าสู่เมืองได้แล้ว ใน เดือนพฤษภาคม Huawei ชนะสัญญาขายอุปกรณ์เครือข่ายโทรศัพท์มือถือในอังกฤษเป็นครั้งแรก ผ่านบริษัท Everything Everywhere บริษัทร่วมทุนกับ Orange และ T-Mobile นักวิเคราะห์จาก Nomura พยากรณ์ว่า ตลาดเครือข่ายไร้สายจะกลาย เป็นเกมที่เหลือผู้เล่นหลักเพียง 2 รายคือ Ericsson ผู้นำด้านเทคโนโลยีกับผู้นำด้านราคาคือ Huawei
นอกจากปัญหาอุปสรรคในการทำธุรกิจในต่างประเทศ ปัญหาใหญ่ที่สุดของ Huawei คือการดำรงรักษาอัตราการเติบโต ที่รวดเร็วของบริษัทเอาไว้ให้ได้ เพราะตลาดอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง ในช่วงหลายปีมานี้ การลงทุนส่วนใหญ่ถูกทุ่มไปกับการสร้างเครือข่าย โดยเฉพาะเครือข่าย ไร้สาย ในตลาดนี้ Huawei สามารถสนองตลาดได้โดยตรง ด้วยอุปกรณ์ที่ออกแบบมาอย่างดีแต่ราคาถูก อย่างไรก็ตาม สำหรับตลาดผลิตภัณฑ์ด้าน IT ส่วนใหญ่แล้ว ซอฟต์แวร์และการบริการ คือส่วนที่สร้างรายได้มากกว่าหนึ่งในสามของรายได้ของ Ericsson มาจากการบริการ แต่สำหรับ Huawei ยังมีรายได้ที่มาจากส่วนนี้ เพียงครึ่งหนึ่งของที่ Ericsson เท่านั้น
ในด้านซอฟต์แวร์และบริการนั้น ยังยากที่ Huawei จะตามทันได้ เท่ากับด้านฮาร์ดแวร์ที่เป็นความถนัด ภาษาและวัฒนธรรม คืออุปสรรคใหญ่ในการเข้าใจความต้องการของลูกค้าต่างชาติ องค์กรที่มีวินัยสูงและบังคับบัญชาตามลำดับขั้นอย่างเข้มงวดอย่าง Huawei อาจเก่งมากในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ดีที่สุด แต่จะไม่ถนัดในด้านการให้บริการลูกค้าระดับ high-end และการเขียนซอฟต์แวร์ชั้นสูง
ปริศนา Huawei
อุปสรรคทางวัฒนธรรมที่ใหญ่ที่สุดของ Huawei ในการรักษาการเติบโตในตะวันตกคือ การขาดความโปร่งใส เมื่อลูกค้าเริ่มพึ่งพิงบริษัทมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาก็จะต้องการรู้เรื่องเกี่ยวกับ การทำงานภายในของบริษัทมากขึ้นตามไปด้วย ทว่า แม้แต่คนที่กุมบังเหียน Huawei จริงๆ คือใคร ยังเป็นคำถามที่ไร้คำตอบที่ชัดเจน
Huawei ระบุว่า Ren ถือหุ้นเพียง 1.42% เท่านั้น และหุ้น ที่เหลือทั้งหมดอยู่ในมือของพนักงาน ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัท holding company ของ Huawei ทำให้ความน่าสนใจไปอยู่ที่สหภาพผู้ถือ หุ้น ซึ่งบริหารโดยคณะกรรมการที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม Huawei ไม่เคยเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับสหภาพผู้ถือหุ้นและใครเป็นประธานคณะกรรมการบริหารสหภาพนี้ บางคนก็บอกว่า อำนาจที่แท้จริงตกอยู่กับสมาชิกในตระกูล Ren แต่บางคนก็เชื่อว่า Huawei ถูกควบคุมโดย “โครงสร้างเงา” จากพรรคคอมมิวนิสต์ จีน
แต่ความลึกลับที่สุดใน Huawei ก็คือตัว Ren เขาอาจเป็นเจ้าของบริษัทที่สันโดษที่สุดในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ไม่เคยให้สัมภาษณ์สื่อแม้แต่ครั้งเดียว ชีวประวัติที่ละเอียดที่สุดของ Ren ที่ Huawei เคยเปิดเผย มีความยาวเพียง 200 คำ ในจดหมายเปิดผนึกที่ Huawei เคยส่งไปถึงรัฐบาลอเมริกัน
Huawei เริ่มจัดการกับปัญหาด้านกลยุทธ์และวัฒนธรรมแล้ว ในด้านกลยุทธ์ Huawei ประกาศจะรุกเข้าสู่ “ตลาดธุรกิจ” คือการขายอุปกรณ์เครือข่ายและผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์อื่นๆ ให้แก่ลูกค้าธุรกิจ แทนการขายให้โอเปอเรเตอร์อุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่เท่านั้น และเพื่อบรรลุจุดประสงค์นี้ บริษัทวางแผนจะจ้างพนักงาน เพิ่มอีก 10,000 คนภายในสิ้นปี 2011 นี้
Huawei ยังตั้งเป้าจะรุกเข้าสู่ตลาดศูนย์ข้อมูลสำหรับการให้บริการ cloud-computing และตลาด smartphone ด้วย โดยเฉพาะหากสามารถประสบความสำเร็จใน smartphone จะทำให้ชื่อของ Huawei กลายเป็นชื่อที่ติดปากคนทั่วไป Huawei มีแผนจะออก smartphone ที่มีราคาระหว่าง 70-200 ดอลลาร์ ซึ่งถือเป็น “ช่วงราคาทอง” ภายในปี 2013 Huawei ตั้งเป้าหมาย จะติด 1 ใน 5 ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ปัจจุบัน Huawei กระจายการวิจัยและพัฒนาไปทั่วโลก ขณะนี้มีศูนย์ R&D แล้ว 20 แห่งทั่วโลก และว่าจ้างชาวตะวันตก เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในงานด้านการบริการ แต่ Shenzhen จะยังคงเป็นศูนย์กลางอาณาจักรของ Huawei ต่อไป และยังคงมีพนักงานต่างชาติน้อยมาก และยังไม่เคยมีใครสามารถล่วงล้ำเข้าสู่การบริหารวงในได้
แต่การแก้ปัญหาเรื่องความโปร่งใส Huawei ยังคืบหน้าน้อยมาก ในเดือนเมษายน รายงานประจำปีของ Huawei ซึ่งผ่านการสอบบัญชีจาก KPMG ได้เอ่ยชื่อกรรมการที่อยู่ในบอร์ดบริหารของบริษัทเป็นครั้งแรก แถมยังมีประวัติสั้นๆ ด้วย แต่กลับไม่ระบุว่า มีลูกสาวและน้องชายของ Ren อยู่ในคณะกรรมการ และเพิ่งมายอมรับในภายหลัง
ปัญหาอีกประการคือ ใครจะเป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อจาก Ren ซึ่งมีวัย 66 ปีแล้ว คาดกันว่า อาจเป็น Sun Yafang ประธานคณะกรรมการบริหารหญิงของบริษัท ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บริหารระดับ สูงสุดของ Huawei อย่างไรก็ตาม ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว มีข่าวว่า Ren พยายามจะผลักดันสมาชิกในครอบครัวคือลูกชาย Ren Ping เป็นทายาททางธุรกิจของเขา แต่โฆษกของ Huawei กลับปฏิเสธ ข่าวนี้
อีกวิธีที่จะช่วยปรับปรุงเรื่องความโปร่งใสของ Huawei ได้อย่างแท้จริง แต่ยังเป็นไปไม่ได้เลยในขณะนี้ คือการนำ Huawei เข้าตลาดหลักทรัพย์ Huawei ระบุว่า การเป็นบริษัทจดทะเบียนจะเบี่ยงเบนการบริหารและจำกัดเสรีภาพในการตัดสินใจ แต่การไม่ยอมเข้าตลาดหุ้น ยิ่งทำให้คนรู้สึกสงสัยในตัวบริษัทมากขึ้น
ดูเหมือนว่า Huawei ไม่ต้องการจะได้อย่างเสียอย่าง แต่ต้องการจะรวบทั้งสองอย่าง โดยเป็นทั้งบริษัทที่ยังคงวัฒนธรรมแบบจีนอย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งอาจรวมถึงการบริหารโดยครอบครัว แต่ขณะเดียวกันก็ต้องการแข่งขันกับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างตะวันตกอย่างเปิดเผย Huawei จะทำสำเร็จหรือไม่ ในเมื่อการทำตัวให้ลึกลับน้อยลงเป็นสิ่งจำเป็นหาก Ren ต้องการให้เป้าหมายระยะยาวที่เขาตั้งไว้กลายเป็นจริง
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง ดิ อีโคโนมิสต์
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|