แลนด์มาร์คแห่งใหม่


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

จากความร่วมมือของ 5 กลุ่มธุรกิจ ประกาศแผนร่วมมือปั้น “เพลินจิตซิตี้” ให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ ด้วยมูลค่าลงทุน 5 หมื่นล้านบาท กลายเป็นพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์รายวันในวันรุ่งเช้า

บรรยากาศในวันแถลงข่าวเมื่อต้นเดือนมิถุนายนได้รวมผู้บริหาร 5 กลุ่มอย่างเป็นทางการ พร้อมกับกองทัพสื่อมวลชนเกือบทุกแขนงที่ไม่ได้ลดจำนวนลง ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีข่าวเล็ดลอดความร่วมมือออกไปบ้างแล้วก็ตาม

แนวความคิดสร้าง “เพลินจิตซิตี้” ให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ในย่านเพลินจิต-วิทยุ เกิดจากการรวมกลุ่มของ 5 ผู้ประกอบการ คือ บริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด บมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด กลุ่ม บมจ.ยูนิเวนเจอร์ นายเลิศ กรุ๊ป และธนาคารกรุงศรีอยุธยา

การรวมตัวครั้งนี้ผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุด น่าจะ 3 ราย คือ กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มโนเบิล และยูนิเวนเจอร์ เพราะมีโครงการใหม่ที่จะผุดขึ้นเร็วๆ นี้ เช่น กลุ่มเซ็นทรัลเปิดห้างค้าปลีกและโรงแรม เรียกว่า “โครงการเซ็นทรัล เอ็มบาสซี” หลังจากซื้อที่ดินส่วนหนึ่ง จากสถานทูตอังกฤษ พื้นที่ด้านหน้าติดกับถนนสุขุมวิท และโครงการจะแล้วเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า

เซ็นทรัล เอ็มบาสซีใช้งบลงทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท บนพื้นที่ 9 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ศูนย์การค้า 8 ชั้น อีก 30 ชั้นเป็นสวนลอยฟ้า และโรงแรมพาร์ค ไฮแอท โดยให้กลุ่มไฮแอท อินเตอร์ เนชั่นแนล เป็นผู้บริหาร

ส่วนกลุ่มโนเบิลอยู่ระหว่างก่อสร้างคอนโดมิเนียม “โนเบิล เพลินจิต” สร้างเสร็จปี 2560 โดยใช้คอนเซ็ปต์เมืองแนวสูงบนพื้นที่ 9 ไร่ อ้างว่าเป็นพื้นที่ผืนสุดท้ายใจกลางเมืองเพลินจิต ประกอบ ด้วยอาคารที่พักอาศัย 3 อาคาร สูง 50 ชั้น 45 ชั้น และ 14 ชั้น และอาคารสำนักงานอีก 1 อาคารสูง 3 ชั้น

ด้านยูนิเวนเจอร์ ภายใต้โครงการ “ปาร์คเวนเซอร์-ดิ อีโค เพล็กซ์ ออน วิทยุ” เป็นโครงการอนุรักษ์พลังงานแห่งใหม่ของประเทศ เป็นอาคารสำนักงานให้เช่าระดับพรีเมียมและโรงแรมระดับ 5 ดาว และส่วนสำนักงานจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายนนี้

ส่วนธนาคารกรุงศรีอยุธยาและโรงแรมปาร์คนายเลิศตั้งอยู่ เดิมอยู่แล้วจึงไม่ได้ประโยชน์ครั้งนี้มากนัก แต่จะทำให้การเดินทางของประชากรในย่านนั้นง่ายขึ้น เพราะทั้ง 5 กลุ่มมีแผนจะสร้างทางเดินเชื่อมแต่ละตึกให้ทะลุถึงกันได้หมด พร้อมกับเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าเพลินจิต ซึ่งโครงการของทั้ง 5 กลุ่มใช้เงินลงทุน 5 หมื่นล้านบาท

สิ่งที่ผู้บริหารเล่าและพยายามชี้จุดขายของเพลินจิตซิตี้ให้เป็นการใช้ชีวิตของคนเมือง 7 วัน 24 ชั่วโมง แตกต่างจากย่าน ราชประสงค์ หรือปทุมวัน ที่อยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก เพราะทั้งสองแห่งจะเป็นห้างร้าน และสำนักงานส่วนใหญ่ จะเปิดปิดเป็นเวลา เมื่อเวลาล่วงเลย 4 ทุ่มไปแล้วทุกอย่างก็จะเริ่มมืดและเงียบ

โดยเฉพาะย่านราชประสงค์หลังจากมีเหตุการณ์การเมือง ทำให้ผู้ประกอบการมองหาทางเลือกใหม่ เพื่อกระจายความเสี่ยง ในการทำธุรกิจ

เพลินจิตซิตี้จึงกลายเป็นเมืองที่ผู้ประกอบการตั้งใจยกระดับให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติในระดับพรีเมียม

การยกระดับเพลินจิตซิตี้ให้เป็นแลนด์มาร์คระดับพรีเมียม ส่งผลทำให้ค่าเช่าอาคารสำนักงานในบริเวณนั้นราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะอาคารสำนักงานของยูนิเวนเจอร์ มีการกล่าวอ้างว่าราคาค่าเช่าแพงที่สุดในย่านเพลินจิตร้อยละ 15

ความร่วมมือกับพันธมิตร 5 รายเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเพื่อสร้างแบรนด์เพลินจิตซิตี้เท่านั้น เพราะผู้ประกอบการยังมีแผนดึง รายใหม่เข้ามาร่วมมือเพิ่มเติมเพื่อตอกย้ำให้เกิดการจดจำแบรนด์ ให้เกิดขึ้น

แลนด์มาร์คแห่งใหม่จะเป็นแม่เหล็กดึงดูด ดังผู้ประกอบการกล่าวอ้างหรือไม่ ต้องรออย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 1-2 ปี เพราะการประกาศความร่วมมือของ 5 พันธมิตรเป็นเพียงจุดพลุเพียงครั้งเดียวเท่านั้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.