"ต้องผ่าตัดโครงสร้างการทำงานของกรมบังคับคดีจึงจะมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น"


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

คดีที่ทางกรมบังคับคดีจะเข้าไปดำเนินการตามคำสั่งศาลปี 2 ประเภท คือ คดีล้มละลาย และคดีแพ่ง

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ คดีล้มละลายและคดีแพ่งเกิดใหม่มีมากขึ้น เช่น ในปี 2529 มีคดีแพ่งและคดีล้มละลายเกิดใหม่เพิ่มขึ้นกว่าปี 2528 ประมาณ 27% (ดูตารางคดีเกิดใหม่) สาเหตุใหญ่เนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา การหมุนเวียนของเงินไม่ดี สังเกตได้ว่าคดีล้มละลายที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นคดีเกี่ยวกับเงินทุนหลักทรัพย์และแชร์

เงินทุนหลักทรัพย์เป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายหุ้นต่าง ๆ การที่หุ้นขายไม่ออกแสดงว่า ต้องเกี่ยวกับความฝืดของกระแสเงินตราอยู่ไม่น้อยทีเดียว คดีเงินทุนหลักทรัพย์ที่ล้มไปและอยู่ในระหว่างการจัดการของกรมบังคับคดีนั้นมีอยู่เกือบ 20 คดี บางคดีเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2523 เริ่มตั้งแต่ ราชาเงินทุน เสรีสากลธนกิจ…จนถึงเงินทุนเยาวราช พัฒนาเงินทุน ฯลฯ

ส่วนคดีเกี่ยวกับแชร์ ซึ่งหมายถึงแชร์รายใหญ่ ๆ ที่ระดมทุนจากประชาชนจำนวนมาก บางวงก็เอาทุนสำหรับผู้ที่จะมาเล่นเป็นสมาชิกในภายหลังให้กับผู้เป็นสามชิกอยู่ก่อน และขยายวงออกไปตามลำดับ ซึ่งอันนี้เกิดจากความโลภของลูกแชร์อยากได้ผลประโยชน์งาม โดยตนเองไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรมาก และก็เป็นโอกาสของพวกหลอกลวงในการรวบรวมความโลภความต้องการของลูกแชร์ทั้งหลายนี้เข้ามารวมกัน พอหมุนเงินไม่ทันก็ต้องล้มไป คดีแชร์ที่สำคัญ ๆ มีอยู่ 9 เรื่อง ตั้งแต่คดี นางจินตนา แสงเรือง…จนถึงแม่นกแก้ว แม่ชม้อย แชร์บริษัทชาร์เตอร์ อินเตอร์เรคชั่น เป็นต้น

ในช่วงปี 2529 ทางกรมฯ มีงานบังคับคดีล้มละลายและคดีแพ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2529 ประมาณ 83% จากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น แต่การเข้าไปจัดการบังคับคดีและทุนทรัพย์ให้ได้นั้นเป็นไปได้น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนคดีและทุนทรัพย์ที่เกิดขึ้น (ดูกราฟประกอบ)

เนื่องจากอัตรากำลังคนของกรมฯ ไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้ในทันทีตามความต้องการของงานที่เพิ่มขึ้นอัตรากำลังคนของกรมปัจจุบันมีจำนวน 300 กว่าคนนั้นเป็นอัตรากำลังที่เหมาะสมกับจำนวนคดีเมื่อประมาณปี 2502-2503 แต่ในขณะนี้อย่างเมื่อปี 2529 เพียงคดีแชร์แม่ชม้อยที่ศาลสั่งล้มละลายคดีเดียวก็มีจำนวนเจ้าหนี้ที่ทางกรมฯ ต้องทำการสอบสวนและจัดสรรให้ได้รับส่วนแบ่งในการชำระหนี้ เป็นจำนวนถึง 17,703 ราย แม่นกแก้วอีกประมาณ 13,000 กว่าราย และยังมีรายอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก เพราะเมื่อเป็นคดีล้มละลายแล้วความสำคัญไม่ได้อยู่ที่จำนวนคดีที่เกิดขึ้นที่ศาลเท่านั้น จะอยู่ที่คำขอชำระหนี้ด้วย เพราะลูกหนี้คนหนึ่ง ๆ จะมีเจ้าหนี้มากมาย ทำให้งานที่ทางกรมฯ ต้องเข้าไปจัดการมีเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะการเข้าไปสอบสวนจัดสรรส่วนแบ่งในการชำระหนี้ให้แก่ผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าหนี้ต่าง ๆ

ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่สามารถเพิ่มกำลังคนได้อย่างทันทีเพื่อให้เหมาะสมกับงานที่เพิ่มขึ้น การแก้ปัญหาอีกทางหนึ่งที่น่าจะทำได้คือ การปรับโครงสร้างการทำงานของกรมบังคับคดี

ในเวลานี้โครงสร้างของกรมฯ มีการแบ่งเป็นกองต่าง ๆ ตามลักษณะหน้าที่การงาน เช่น กองพิทักษ์ทรัพย์ทำหน้าที่เกี่ยวกับสำนวนกลาง คือเมื่อได้รับคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จากศาลก็ดำเนินการแจ้งให้เจ้าหนี้เจ้าหนี้มารับขอชำระหนี้ ต้องรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มา ถ้าลูกหนี้มีกิจการอะไรที่ดำเนินอยู่และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องการทรัพย์สินนั้นมาเพื่อชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ต้องโอนสำนวนไปให้กองจัดการทรัพย์สินดำเนินการ เมื่อกองนี้ได้รับเรื่องแล้วอาจถูกคัดค้านหรือโต้แย้งจากบุคคลภายนอกอื่น ๆ กองจัดการทรัพย์สินก็ต้องส่งเรื่องไปให้กองดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาไปดำเนินการทางศาลต่อ ซึ่งความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกองพวกนี้อาจทำให้เกิดความล่าช้าขึ้นได้ ทั้งความเห็นในแต่ละเรื่องอาจไม่ตรงกัน และในกรณีที่หาข้อยุติไม่ได้ในระดับกองก็ต้องส่งเรื่องให้รองอธิบดีหรืออธิบดีชี้ขาดแล้วจึงจะดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งทำให้งานล่าช้าไม่ทันใจประชาชนมากยิ่งขึ้น

ถ้าได้ปรับโครงสร้างของกรมใหม่ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ละคน ได้รับผิดชอบงานล้มละลาย ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการเมื่อได้รับสำนวนมาให้ดำเนินการตั้งแต่แรกจะมีการจัดการทรัพย์สิน รวบรวมทรัพย์สินอย่างไร ถ้ามีกรณีพิพาทกับบุคคลภายนอกจะขึ้นศาลก็ไปศาลอย่างนี้จะเร็วขึ้นไม่ต้องไปยุ่งยากกับกองอื่น ๆ งานจะสามารถทำให้เสร็จตั้งแต่ต้นจนจบได้ภายในคนเดียว กองเดียว ถึงแม้จะมีการทำอะไรผิดพลาดไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือถูกต้องตามกฎหมายแต่ไม่เป็นที่พอใจของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้เกี่ยวข้องเหล่านั้นก็มีสิทธิตามกฎหมายล้มละลายที่จะยื่นคัดค้านต่อศาล ให้ศาลชี้ขาดได้ โดยวิธีนี้ก็ไม่ต้องให้รองอธิบดีหรืออธิบดีชี้ขาดให้เสียเวลา การปรับโครงสร้างลักษณะนี้การทำงานจะเร็วขึ้น

ขณะนี้ทางกรมฯ กำลังทดลองโครงสร้างใหม่นี้อยู่ เท่าที่ผ่านมาเกือบปีก็เป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว ซึ่งมีผลให้การบังคับคดีล้มละลายและคดีแพ่งดำเนินไปได้สะดวกขึ้น และเท่าที่เทียบยอดเงินที่บังคับได้ก่อนใช้โครงสร้างใหม่กับเมื่อทดลองใช้โครงสร้างใหม่แล้ว พบว่าเงินที่บังคับได้เมื่อใช้โครงสร้างใหม่เพิ่มมากขึ้น เพราะการยึดทรัพย์สินมาแล้วนำมาขายมันคล่องตัวมากขึ้น การที่จะเรียกทรัพย์มาอยู่ในกองทรัพย์สินของลูกหนี้รวดเร็วขึ้นขายแล้วแปลงเงินได้เร็วขึ้น

สรุปได้ว่า การดำเนินงานของกรมบังคับคดีจะรวดเร็วทันใจประชาชนได้ ในภาวะที่คดีแพ่งและคดีล้มละลายที่ทางกรมต้องเข้าไปบังคับมากขึ้น ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่สามารถเพิ่มอัตรากำลังคนได้ในทันทีทันใด คือการปรับโครงสร้างการทำงานของกรมฯ ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.