|
อองรี เดอ ตูลูซ-โลเทรก
โดย
สุภาพิมพ์ ธนะพรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
พิพิธภัณฑ์อารต์เดโก (Musee des arts decoratifs) ตั้งอยู่ในปีกหนึ่งของพระราชวังลูฟวร์ (Louvre) เลยทางเข้าพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ซึ่งอยู่เยื้องๆ กับร้านปลอดภาษีเบนลุกซ์ (Benlux) ในบริเวณเดียวกันจะมีพิพิธภัณฑ์แฟชั่นและผ้า (Musee de la mode et du textile) ซึ่งจะเปิดต่อเมื่อมีการจัดนิทรรศการเท่านั้น และพิพิธภัณฑ์โฆษณา (Musee de la publicite) ดังนั้นเมื่อซื้อบัตรเข้าชม Musee des arts decoratifs จะได้ชมส่วนที่เป็นนิทรรศการแฟชั่นและพิพิธภัณฑ์โฆษณาด้วย นอกจากนั้นยังมีห้องแสดงเครื่องประดับ แสงเพชรอร่ามตา ยกเว้นนิทรรศการพิเศษที่ Musee des arts decoratifs จัด
ในฤดูร้อนปี 2009 Musee des arts decoratifs จัดนิทรรศการ Hommages a Toulouse-Lautrec affichiste คารวะต่อตูลูซ-โลเทรก นักเขียน โปสเตอร์ สมควรไปสัมผัสจิตรกรผู้คลุกคลี กับซ่องโสเภณี
อองรี เดอ ตูลูซ-โลเทรก (Henri de Toulouse-Lautrec) เขียนโปสเตอร์ทั้งหมด 31 แผ่นระหว่างปี 1891-1900 เป็นสมบัติของ Musee des arts decoratifs 26 แผ่น โปสเตอร์เหล่านี้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ศิลป์และกรุงปารีส เพราะสะท้อนวิถีชีวิตย่านมงต์มาร์ทร์ (Montmartre) อันเป็นย่านที่อาร์ติสต์สาขาต่างๆ มารวมตัวเพื่อสร้างสรรค์งานศิลป์
อองรี เดอ ตูลูซ-โลเทรกเขียนโปสเตอร์แผ่นแรกในปี 1891 ให้ Moulin Rouge คาบาเรต์ย่านถนนคลีชี (boulevard de Clichy) และกลายเป็นภาพที่สร้างชื่อเสียงให้เขามาก เป็นการสร้างกระแสใหม่ในวงการศิลป์ นิตยสารศิลปะและวรรณกรรมต่างเปิดคอลัมน์สำหรับนักวิจารณ์ ที่ชื่นชอบโปสเตอร์ และมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของความสมัยใหม่ ผสมผสาน ศิลปะกับการค้า หนึ่งในนิตยสารเหล่านี้คือ La Plume ซึ่งก่อตั้งโดยเลอง เดส์ชองป์ (Leon Deschamps) ซึ่งต้องการสนับสนุนอาร์ติสต์ใหม่ๆ จึงคิดจัด Salon des Cent โดยเลียนแบบ Salon des Independants ซึ่งแสดงนิทรรศการภาพเขียนของจิตรกรหน้าใหม่ ในขณะที่ Salon des Cent แสดงภาพโปสเตอร์
ในปี 2001 มีการก่อตั้ง Nouveau salon des Cent แสดงผลงานของกราฟิก ดีไซเนอร์ 100 คนที่เขียนโปสเตอร์เพื่อรำลึกถึงอองรี เดอ ตูลูซ-โลเทรกในฐานะนักเขียนโปสเตอร์
1892 เป็นปีที่อองรี เดอ ตูลูซ-โลเทรกเขียนโปสเตอร์ให้หลายสถาบัน เริ่มจากหนังสือพิมพ์ La Depeche ของเมือง ตูลูซ (Toulouse) พิมพ์เรื่อง Les drames de Toulouse ลงเป็นตอนๆ จึงขอให้อองรี เดอ ตูลูซ-โลเทรกเขียนโปสเตอร์โฆษณา ตอนแรกที่ชื่อว่า Le Pendu
คาบาเรต์ Divan Japonais ไม่ยอม ตกกระแส จึงขอให้อองรี เดอ ตูลูซ-โลเทรกเขียนโปสเตอร์โฆษณาให้ มีสาวเด่นสอง คนคือ ฌาน อาวริล (Jane Avril) และอีแวต กีแบรต์ (Yvette Guibert)
วิคตอร์ โจซ (Victor Joze) ซึ่งเป็นนามแฝงของวิคตอร์ ดอบสกี (Viktor Dobski) ขอให้เขียนโปสเตอร์โฆษณาหนังสือชื่อ Reine de joie และนำไปพิมพ์ เป็นปกด้วย
อริสตีด บรูอองต์ (Aristide Bruant) เป็นนักร้องนักแต่งเพลงดังประจำ Ambassadeurs ย่านชองป์เซลีเซส์ (Champs-Elysees) อันเป็นร้านกาแฟที่มีนักร้องที่เรียกว่า cafe-concert เรียกร้องให้เจ้าของร้านไปขอให้อองรี เดอ ตูลูซ-โลเทรกเขียนโปสเตอร์ให้ และเมื่อย้ายไปยัง Eldorado อริสตีด บรูอองต์ก็เรียกร้องอย่างเดียวกัน โปสเตอร์โฆษณาอริสตีด บรูอองต์ โดดเด่นมาก และกลายเป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งของย่านมงต์มาร์ทร์ หนุ่มที่สวมหมวก ดำและเสื้อคลุมดำ มีผ้าพันคอสีแดงในโปสต์การ์ดที่ขายกันในปัจจุบันมิใช่ใครอื่นนอกจากอริสตีด บรูอองต์
เมื่อฌาน อาวริล (Jane Avril) ย้าย ไปร้าน Jardin de Paris เธอขอให้อองรี เดอ ตูลูซ-โลเทรกเขียนโปสเตอร์ให้ สาวนักเต้นนักร้องคนนี้มีสัมพันธ์ใกล้ชิดพิเศษกับอองรี เดอ ตูลูซ-โลเทรก เขามอบผลงานให้เธอหลายภาพ แล้วเธอก็นำไปให้ชู้รักทั้งหลาย
กำแพงกรุงปารีสสวยงามด้วยโปสเตอร์ของอาร์ติสต์ดังที่มิใช่มีแต่อองรี เดอ ตูลูซ-โลเทรกเท่านั้น จิตรกรอื่นอย่างปิแอร์ บอนนารด์ (Pierre Bonnard) เขียน โปสเตอร์ด้วย จวบจนปี 1901 รัฐจึงออกกฎหมายห้ามปิดโปสเตอร์ และมีป้าย Defense d’afficher-ห้ามปิดโปสเตอร์ปิดแทน
อองรี เดอ ตูลูซ-โลเทรกเกิดที่เมืองอัลบี (Albi) ในปี 1864 ในตระกูลขุนนาง พ่อคือ กงต์ เดอ ตูลูซ-โลเทรก (Comte de Toulouse-Lautrec) เขามีปัญหาเรื่องกระดูก ร่างกายท่อนล่างไม่เจริญเติบโตจึงมีร่างสูงเพียง 1.52 เมตร เขาไม่ประสบ ความสำเร็จด้านการศึกษา จึงหันไปสนใจ การเขียนรูป เริ่มจากการเรียนเขียนรูปกับเลอง บอนนาต์ (Leon Bonnat) และแฟร์นองด์ กอร์มง (Fernand Cormon) และได้รู้จักกับวาน โก๊ก (Van Gogh) หลุยส์ อองเกอแตง (Louis Anquetin) อัลแบรต์ เกรอะนีเอร์ (Albert Grenier) ชาร์ลส์ ลาวาล (Charles Laval) เอมีล แบร์นารด์ (Emile Bernard)
ในปี 1884 อองรี เดอ ตูลูซ-โลเทรก เดินทางมายังกรุงปารีส ปักหลักในย่าน มงต์มาร์ทร์ ใช้ชีวิตกลางคืนตามคาบาเรต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Elysee-Montmartre หรือ Moulin de la Galette หรือ Mirliton เขามีเอดการ์ เดอกาส์ (Edgar Degas) เป็นเพื่อนบ้าน ได้รู้จักกับซูซาน วาลาดง (Suzanne Valadon) จิตรกรอีกคนหนึ่ง ตูลูซ-โลเทรกเคยใช้ชื่อว่า Treclau เป็นการกลับพยางค์กับ Lautrec
แม้จะพิการ แต่ตูลูซ-โลเทรกมีเพื่อน ดีที่พาไปเปิดหูเปิดตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโมริซ จัวยองต์ (Maurice Joyant) ซึ่งจัดนิทรรศการเดี่ยวให้เขาถึงสองครั้ง ผลงานของอองรี เดอ ตูลูซ-โลเทรกได้รับการนำไปแสดงในเมืองต่างๆ ในยุโรป เช่น ลอนดอน บรัสเซลส์ อัมสเตอร์ดัม เป็นต้น ในปี 1896 เขาไม่ยอมขายผลงานให้อดีตกษัตริย์แห่งเซอร์เบียเพราะเห็นว่าเป็นคนหยาบคาย
อองรี เดอ ตูลูซ-โลเทรกชอบภาพเขียนญี่ปุ่นมาก ดังนั้นผลงานของเขาได้รับ อิทธิพลของภาพเขียนญี่ปุ่น เขาพัฒนาจาก การไปเที่ยวคาบาเรต์ไปคลุกคลีอยู่ในซ่องโสเภณี ทำให้เขาติดโรคร้าย ในบั้นปลายชีวิตเขาเป็นโรคซึมเศร้าจนต้องเข้ารับการบำบัดและเสียชีวิตในปี 1901 ขณะอายุเพียง 36 ปี
เรื่องของอองรี เดอ ตูลูซ-โลเทรก ได้รับการนำไปสร้างภาพยนตร์ในปี 1952 เรื่อง Moulin Rouge ของจอห์น ฮุสตัน (John Houston) นำแสดงโดยโฆเซ แฟแรร์ (Jose Ferrer) ในปี 1998 เรื่อง Lautrec ของโรเจร์ ปลองชง (Roger Planchon) ละครเพลงเรื่อง Lautrec ของชาร์ลส์ อัซนาวูร์ (Charles Aznavour)
และในปี 2001 เรื่อง Moulin Rouge ซึ่งนิโคล คิดแมน (Nicole Kidman) นำแสดง ส่วนผู้แสดงเป็นตูลูซ-โลเทรกคือ จอห์น เลกีซาโม (John Leguizamo)
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|