|

ล่องเรือเพื่อจิตอาสากับไหว้พระ 9 วัด
โดย
ธนิต วิจิตรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
“ริมคลองบางกอกน้อย วัดวาอารามแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา วัดที่พระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลต่างๆ ทรงสร้าง ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ มีมากมายหลายสิบวัด ซึ่งเป็นความผูกพันและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านร้านถิ่น”
“ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นแบบอย่างในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด และพระราชกรณียกิจหลากหลายอันเกี่ยวกับป่าไม้ แหล่งน้ำ สัตว์ป่า พันธุ์ไม้ ...ความร่มเย็นและคืนสมดุลสู่ธรรมชาติ...”
ช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา ได้มีโอกาสร่วมทำโครงการวันดีๆ เพื่อโลก ตอนเราก็ช่วยโลกได้ ตามไปดูความตื่นตัวของเยาวชนไทย โดยมีแกนนำพิมพร ศิริวรรณ กรรมการผู้จัดการ มายแบรนด์เอเจนซี ร่วมกับสื่อมวลชน เชิญเด็กจากบ้านครูหยุย (มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก) ลูกหลานสื่อมวลชนที่เคยรับรู้การทำข่าวสิ่งแวดล้อมของพ่อแม่ ได้มาสัมผัสความจริง โดยเฉพาะเหล่าลูกหลานพนักงานบริษัทที่ผลิตข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมให้มาเรียนรู้ บทบาทความสำคัญในการมีส่วนร่วมดูแลโลกใบนี้
จากทางด่วนสู่ถนนพระราม 2 มุ่งหน้าสู่จังหวัดทางภาคใต้ เมื่อถึงบิ๊กซีสาขาพระราม 2 ต้องชะลอความเร็ว สักครู่หักพวงมาลัย เลี้ยวซ้ายสู่ถนนชายทะเลบางขุนเทียน
เมื่อหลายปีก่อนถนนยังขรุขระเต็มไปด้วยหลุมบ่อ ปัจจุบัน ไม่เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว สองฟากฝั่งเต็มไปด้วยอาคารพาณิชย์ โรงงาน บ้านเรือน อพาร์ตเมนต์ ที่จะขาดเสียไม่ได้ คือ ร้านอาหารที่เรียกตัวเองว่าซีฟู้ด ถ้าจะนับกันจริงๆ คงจะนับได้เป็นร้อยๆ ร้านทีเดียว ยังดีที่บริเวณนี้ยังคงสภาพกลิ่นอายของชนบทดั้งเดิม สภาพห้วย หนอง คลอง บึง เป็นการเพิ่มบรรยากาศในการรับประทานอาหารให้อร่อยยิ่งขึ้น
ขับรถต่อไปเรื่อยๆ อีกกว่า 10 กิโลเมตรจะพบทางสามแยก เตรียมเลี้ยวขวาซึ่งจะเห็นป้าย “จุดชมวิวชายทะเลบางขุนเทียน” จุดที่คณะของเราหยุดนี้ เรียกว่า “ท่าเรือแพขวัญใจ”
ชื่อนั้นสำคัญไฉน? ฝั่งตรงข้ามท่าเรือคือสถานศึกษาสังกัดกรุงเทพมหานคร ตั้งสง่างาม เมื่อย่างกรายเข้าไปสัมผัสภายในบริเวณโรงเรียนด้วยแล้ว จะรู้สึกได้เลยว่า เด็กในชุมชนแห่งนี้ไม่ได้ด้อยไปกว่าโรงเรียนกลางใจมหานครเลยแม้แต่น้อย บางครั้งคิดว่าน่าจะมีประสบการณ์ มีโอกาสที่ดีในบางเรื่องบางอย่างเสียด้วยซ้ำไป เพราะเขาเหล่านี้เติบโตท่ามกลางทั้งความรู้ ความคิด วิถีชีวิต คุณธรรม ได้อย่างลงตัว
มีการเสริมสร้างศักยภาพให้แก่เด็กและเยาวชนเพื่อคุณภาพ ชีวิตที่ดีขึ้น เป็นแหล่งเรียนรู้สู่ธรรมชาติป่าชายเลน เป็นโรงเรียนนำร่องในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ
ด้วยเนื้อที่กว่า 30 ไร่ จริงๆ แล้วมีถึง 80 ไร่เศษ แต่ได้แบ่งพื้นที่ให้โรงเรียนระดับมัธยมไปมากกว่า 50 ไร่
แบ่งเป็นอาคารเรียน สนามกีฬา สวนปลูกผัก เลี้ยงสัตว์น้ำ ปลูกป่าชายเลนในบึงขนาดใหญ่ ทำเป็นแปลงปลูกป่าชายเลน ศาลากิจกรรมกลางน้ำ ซึ่งจะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสิงสาราสัตว์ นก หนู กุ้งหอยปูปลา โดยเฉพาะสัตว์ที่อยู่คู่ป่าชายเลนมานานแสนนาน ตัวขนาดเล็กกว่าจระเข้ ลิ้นสองแฉก ตามพจนานุกรมบัญญัติว่า “เหี้ย”
นอกจากนี้ยังมีโฮมสเตย์ เพื่อใช้ในการศึกษาอบรมดูงานด้านป่าชายเลนของนักเรียน เยาวชน และผู้สนใจ
โรงเรียนแห่งนี้ยังนิมนต์พระภิกษุมารับบิณฑบาตจากนักเรียนทุกวันศุกร์ ยังให้พระภิกษุเป็นผู้สอนวิชาศีลธรรม ศาสนา แก่นักเรียน พร้อมทั้งมีการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น เรื่องการใช้เปลือกตะบูน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่หาง่ายในท้องถิ่น เมื่อก่อน ชาวบ้านจะใช้ย้อมแห อวน โรงเรียนปรับเปลี่ยนมาใช้ในเรื่องผ้ามัดย้อม ซึ่งนำไปใช้ได้ในวิถีชีวิตปัจจุบัน ชุมชนแถบนี้นิยมเลี้ยงเป็ด จะสอนเรื่องการทำไข่เค็มด้วยดินโคลน
ปัจจุบันเด็กๆ จะไม่นิยมรับประทานขนมไทยๆ แต่ชอบขนมประเภทขบเคี้ยว ทางโรงเรียนฟื้นฟูการทำขนมจากซึ่งวัสดุ ในการทำหาง่ายในท้องถิ่น และเห็นว่าชื่อขนมจากมีความหมายไม่เป็นมงคล จึงเปลี่ยนชื่อเป็นขนมนิรันดร ซึ่งเด็กๆ ก็เริ่มหันกลับมากินขนมไทยมากขึ้น
ชาวบ้านแถบนี้มีอาชีพหลักคือทำนาเกลือและประมงชายฝั่ง จึงเรียกชื่อชุมชนแถบนี้ว่าสหกรณ์นิคมนาเกลือ
มีคลองเพื่อใช้ในการนำน้ำทะเลเข้าสู่นาเกลือ และการคมนาคมสัญจรไปมาหากันระหว่างหมู่บ้านซึ่งเป็นวงรอบติดต่อกันไปยังตัวจังหวัด สามารถออกทะเลสู่จังหวัดสมุทรปราการ และเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรีได้ หรือไปยังสมุทรสาครเพียง 16 กิโลเมตรเท่านั้น โดยมีคลองพิทยาลงกรณ์เชื่อมคลองสรรพสามิตกับแม่น้ำท่าจีน คลองขุนราชพินิจฉัย คลองศรีกุมาร เป็นคลองส่งน้ำนาเกลือ
โรงเรียนแห่งนี้เมื่อแรกตั้งใช้ชื่อว่าโรงเรียนนิคมสหกรณ์นาเกลือ แต่ประสบปัญหาเรื่องบุคลากร ไม่มีใครกล้ามาอยู่ เพราะดูชื่อแล้วเหมือนอยู่ห่างไกลความเจริญและทุรกันดาร
ในที่สุดมีการเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์ ทำให้แก้ปัญหาไปได้เหมือนกัน เพราะเป็นชื่อคลองในชุมชนนั่นเอง โดยเฉพาะคำว่าพิทยาลงกรณ์นั้น ก็คือผู้ที่ให้กำเนิดริเริ่มกิจการสหกรณ์ในประเทศไทยนั่นเอง
เมื่อถึงเวลาไปล่องเรือชมระบบนิเวศป่าชายเลนผืนสุดท้ายของกรุงเทพมหานคร ที่ท่าเรือแพขวัญใจ
ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวจะเห็นท่าเรือของร้านอาหาร จุดชมวิวทะเลกรุงเทพฯ จะมีเรือพาไป ณ จุดชมวิวในราคาผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 20 บาท
เราเริ่มสตาร์ทจากท่าเรือประมาณ 11 โมงเช้า น้ำทะเลกำลังลง ทำให้เห็นความรุนแรงของลมและกระแสน้ำในแถบนี้ เด่นชัดมากขึ้น
ริมคลองจะเห็นเสาไฟฟ้าเหมือนตั้งอยู่กลางน้ำ หรือจะเห็น ริมฝั่งป่าชายเลนที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแทบทุกคนไปปลูก ป่าชายเลน ซึ่งแถบนี้คือโกงกางและแสมเป็นส่วนใหญ่จะเหลือแต่เสาค้ำ แต่ต้นไม้ไม่อยู่เสียแล้ว คือเรียกว่าปลูกง่ายแต่ดูแลรักษา ยากกว่า
เรือวิ่งไปเรื่อยๆ จะเห็นชาวบ้านกำลังกู้อุปกรณ์จับสัตว์น้ำที่เรียกว่าโพงพาง ถ้าวันไหนจับได้มากหน่อยจะนำไปขายที่ตลาด แต่ถ้าปริมาณน้อยจะแช่น้ำแข็งไว้ขายในตอนเช้าวันรุ่งขึ้นที่ท่าเรือแพขวัญใจนั่นเอง
วิ่งเรือไปเรื่อยๆ จะเห็นฟาร์มหอยแมลงภู่ ซึ่งใช้ไม้ไผ่ลวกปักไว้เลี้ยงหอยแมลงภู่
เมื่อถึงร้านอาหารจุดชมวิว ตะลึงไปเหมือนกันว่าทำไมเขาสามารถมาใช้พื้นที่กลางทะเลได้หรือนี่
ณ บริเวณนี้ เดิมคือพื้นดินที่เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ มีโฉนดที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบให้ชาวบ้านครอบครัวละ 50 ไร่ ปัจจุบันถูกกระแสคลื่น กระแสลมกัดเซาะจนกลายเป็นพื้นน้ำนั่นเอง
ปัจจุบันจึงเห็นผู้คนในชุมชนรวมตัวกันทำแนวเขื่อนไม้ไผ่ชะลอคลื่น และพยายามปลูกต้นไม้เพื่อให้ดินตกตะกอนเพื่อรากยึดดินไว้ให้ได้
ล่องเรือห่างไปอีกเล็กน้อย เสาหลักกิโลเมตร เมื่อหลายสิบ ปีก่อนตรงพื้นที่นี้เป็นพื้นดินมาก่อน ปัจจุบันคือกลางน้ำไปซะแล้ว ตั้งเด่นเป็นสง่า นัยว่าอนาคตกรุงเทพมหานครจะลงหลักปักฐานให้แน่นหนาเพื่อผู้มาเยือนขึ้นมาถ่ายรูปเพื่อเป็นที่ระลึกได้
ในวันนั้นได้เหล่านกหลากหลายพันธุ์มายืนเป็นนายแบบนางแบบให้ได้ชักภาพไว้อย่างน่าชื่นชม
นายท้ายเรือพาลัดเลาะคลองเป็นรอบวงแหวน เขื่อนริมคลองเต็มไปด้วยหอยนางรมขนาดใหญ่ตลอดแนว วังกุ้ง กำลังถ่ายน้ำลงสู่ลำคลอง เมื่อน้ำขึ้น น้ำจะเข้าสู่วังกุ้งโดยมีสัตว์จำพวก แพลงก์ตอนซึ่งเป็นอาหารกุ้งติดเข้าไปด้วย เป็นการเลี้ยงแบบวิถีธรรมชาติ
เมื่อกลับเข้าสู่ห้องเรียน ครูแดงซึ่งเกิดในชุมชนนี้ รักและหวงแหนแผ่นดินถิ่นเกิดและยังคงรักษาสภาพบริเวณบ้านจากมรดกตกทอดให้คงสภาพเดิมไว้อย่างเหนียวแน่น พร้อมคณะครู นำเยาวชนร่วมทำกิจกรรมได้เรียนรู้ เข้าใจ และตระหนักถึงบทบาท ของตนเอง แม้ว่าจะเป็นเรื่องไกลตัว แต่สังเกตเห็นรอยยิ้มที่สดใส กระฉับกระเฉง ตื่นตัว ซึ่งช่วงแรกเริ่มเด็กๆ ห่วงหาความสนุกกับเกมคอมพิวเตอร์ ไม่สนใจในกิจกรรมมากนัก เมื่อได้รับความรู้มากขึ้น เด็กๆ บอกว่าการปลูกป่ามีส่วนช่วยในการดูแลโลก ทำหน้าที่เป็นผู้ให้บ้าง มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ทำให้รู้ถึงคุณค่าป่าชายเลนที่มีหน้าที่ปกป้องลมและคลื่น จากทะเล
เมื่อมีการปลูกจิตสำนึกโดยเฉพาะคนในชุมชนด้วยแล้ว ทำให้ทะเลบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ยังคงสภาพแหล่งท่องเที่ยวที่น่าพิสมัย ผู้คนได้ชื่นชม เรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน อันเป็นที่อยู่ ของเหล่าพืชพรรณและเหล่าสรรพสัตว์นานาชนิดได้อาศัยอยู่ต่อไป อีกยาวนาน
สำหรับพุทธศาสนิกชนการได้ไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือ ถือว่าเป็นสิริมงคลต่อชีวิต ทำจิตใจให้ผ่องแผ้วบริสุทธิ์ เป็นสิ่งดีงามและมีความสุขทั้งร่างกายและจิตใจ ตามคติความเชื่อซึ่งมีมาแต่โบราณกาล เช่น การไปวัดกัลยาณมิตร เมื่อผู้คนได้ไปกราบ ไหว้บูชาแล้ว เชื่อกันว่าจะมีมิตรไมตรีที่ดี จะเดินทางปลอดภัย
วัดระฆังโฆสิตาราม ทำให้มีคนนิยมชมชอบ หรือเมื่อได้ไป วัดอรุณราชวรารามแล้ว ถือว่าชีวิตจะมีแต่ความรุ่งโรจน์ รุ่งเรืองทุกคืนวัน เป็นต้น
หลังจากใช้ชีวิตกับการเริงราตรีมาเป็นเวลายาวนาน ตั้งแต่ เป็นวัยรุ่น ห่างเหินหันหลังให้กับวัด
เมื่อก้าวสู่วัยที่เรียกกันว่าไม้ใกล้ฝั่ง จึงเริ่มมีสติสัมปชัญญะ จิตใจมั่นคง มีความคิดรอบคอบมากขึ้น รู้ซึ้งถึงสัจธรรมของชีวิต
เมื่อเพื่อนชวนหันหน้าเข้าวัด จึงไปอย่างง่ายดาย การล่องเรือไหว้พระตามศาสนสถานที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะคลองบางกอกน้อย คลองบางกอกใหญ่ (แม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่า)
คลองบางกอกน้อย บางกอกใหญ่นั้น เดิมคือส่วนหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยามาก่อน เมื่อมีการขุดคลองลัดบางกอกในสมัยสมเด็จพระเจ้าไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเดินของกระแสน้ำที่พุ่งแรง ทำให้คลองลัดขยายใหญ่กลายเป็นแม่น้ำ ขณะที่แม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนเดิมไหลเอื่อยจนกลายเป็นคลอง
เมื่อสมเด็จพระเจ้าตาก สินมหาราชขึ้นคลองราชย์และสถาปนากรุงธน บุรีเป็นราชธานี ทรงตั้งพระ ราชวัง ณ ปากคลองบางกอก ใหญ่ บรรดาข้าราชบริพาร เหล่าข้าหลวง และขุนนาง ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้บรรดาคนจีนซึ่งได้เคยช่วยเหลือพระองค์มาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมคลองบางกอกใหญ่ ชาวบ้านจึงเรียกกันติดปากว่าคลองบางหลวงสืบมา
เมื่อเรือเริ่มแล่นเข้าคลอง เรือจะจอดคอยให้ประตูเปิดก่อน โดยมารยาทเรือเล็กกว่าจะเข้าไปก่อน ไล่มาจนถึงเรือขนาดใหญ่สุด ประตูน้ำแห่งนี้มีไว้เพื่อระบายน้ำเมื่อมีปัญหาน้ำมาก เพราะเหตุที่ ว่าพื้นที่ฝั่งธนบุรีมีระดับต่ำ น้ำท่วมถึงได้ง่าย เมื่อเข้าสู่คลองแล้ว จะได้ความรู้สึกย้อนยุค บ้านเรือนเหล่าข้าราชบริพาร ประชาชนริมน้ำยังคงสภาพเดิม วัดวาอารามมากมายตลอดแนวคลองกว่า 6 กิโลเมตร ซึ่งจอแจด้วยเรือทัศนาจรที่นำนักท่องเที่ยวชื่นชมความงามสองแนวฝั่งคลอง เป็นบรรยากาศที่เคยชินของชาวบ้านริมคลองนี้
วัดปากน้ำภาษีเจริญ ตั้งอยู่ ณ ที่ราบลุ่มซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา (ลำน้ำเจ้าพระยาเดิม) ก่อนที่จะมีการขุดคลองลัดหน้าวัดอรุณราชวราราม จนกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน
เนื่องจากวัดตั้งอยู่บริเวณปากคลองด่าน ชื่อของวัดจึงเรียก ตามตำบลที่ตั้งว่าวัดปากน้ำ “วัดสมุทรธาราม” คือชื่อที่ปรากฏในจดหมายเหตุโบราณในหลายฉบับ แต่ผู้คนไม่นิยมใช้เรียก ได้รับสถาปนาเป็นพระอารามหลวงในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง สร้างโดยราชวงศ์ แต่ไม่ปรากฏพระนามแน่ชัดว่าเป็นวัดที่พระเจ้าแผ่นดินหรือพระมเหสีทรงสร้างเป็นวัดประจำธนบุรี หัวเมืองหน้าด่านทางทะเล
หลักฐานทางโบราณวัตถุและโบราณสถานพบร่องรอยคลองเล็กทางทิศใต้และทิศตะวันตกของวัดที่สมัยโบราณขุดไว้ เป็นแนวดินของวัดหลวงสมัยอยุธยา ที่ดินของวัดมีลักษณะเป็นเกาะรูปสี่เหลี่ยม มีน้ำล้อมรอบทุกด้าน สถาปัตยกรรมและศิลปวัตถุที่ยังอยู่คู่วัด ได้แก่ หอพระไตรปิฎก ตู้พระไตรปิฎก เทคนิคการก่อสร้าง โบสถ์ล้วนเป็นฝีมือช่างหลวงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
นอกจากนี้ยังได้พบนามเจ้าอาวาสในสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ คือพระครูธนาราชมุนีอีก 1 รูปด้วย
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จพระราช ดำเนินทางชลมารค ถวายผ้าพระกฐินหลวง
ได้รับพระราชทานราชทรัพย์จากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในการซ่อมหลังคาพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้บูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่ให้คงรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยกรุงศรี อยุธยา
ทางวัดได้รับพระบรมราชานุญาตบูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่เกือบทั้งอารามในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้อนุรักษ์ศิลปะเดิมไว้ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์นำกฐินหลวงมาถวายตลอดรัชกาล
เมื่อพระสมุท์สด จนฺทสโร จากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลา ราม มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ได้มีการกวดขันพระภิกษุสามเณร ให้ปฏิบัติในพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด มีการสอนวิปัสสนากรรมฐาน การศึกษาพระปริยัติธรรม ตั้งสำนักธรรมและบาลี วัดเจริญขึ้นโดยลำดับ กลายเป็นศูนย์กลางการปฏิบัติธรรม และเป็นศูนย์กลางการศึกษาบาลี
ท่านได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระ สมณศักดิ์สุดท้ายในพระราชทินนามคือ “พระมงคลเทพมุนี” ในสมัยที่สมเด็จพระวันรัต (ปุ่น ปุณณสิริ) ได้รับสถาปนาพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช แต่ประชาชนรู้จักและเรียกขานว่าหลวงพ่อวัดปากน้ำ
ปัจจุบันวัดปากน้ำได้รับการปรับปรุงทัศนียภาพและบูรณปฏิสังขรณ์ เช่น พระอุโบสถ วิหาร ช่างได้เปลี่ยนสถาปัตยกรรมเครื่องบนเป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ตัวรากฐานและอาคารยังคงสภาพของเดิม ปัจจุบันวัดปากน้ำพัฒนาด้านการศึกษาพระปริยัติธรรม มีพระภิกษุสามเณรสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยคในนามวัดเป็นจำนวนมาก
การปฏิบัติภาวนาตามแนวหลวงพ่อวัดปากน้ำยังคงได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้มีสถานที่ปฏิบัติ คือหอเจริญวิปัสสนา โดยมีผู้เข้าปฏิบัติเป็นจำนวนมากตลอดเวลา
อีกวัดในคลองบางกอกใหญ่ที่ถือได้ว่ามีเกจิอาจารย์ชื่อดัง ตั้งอยู่คนละฟากฝั่งคลองของวัดปากน้ำภาษีเจริญที่ผู้คนรู้จักและศรัทธาคือ วัดประดู่ฉิมพลี เป็นวัดใหญ่ มีความมั่นคง มีเนื้อที่เฉพาะเขตอารามถึง 13 ไร่
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) ได้สถาปนาขึ้นในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยเหตุที่ผู้สร้างเป็นผู้สำเร็จราชการ ทั้งยังว่าการพระคลังสินค้า ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีบุญบารมี วาสนาสูงในแผ่นดิน
สถานที่ตั้งด้านหน้าติดแนวคลองยาว มีศาลาหน้าวัด ลาน กว้างขวาง เขตพุทธาวาสมีกำแพงก่ออิฐถือปูน มีบัวทั้งข้างล่างข้างบนตลอดแนว บนกำแพงทำเป็นเสาหัวเม็ดเจ็ดยอดปริกหน้าชั้นอาคาร อุโบสถ วิหารสร้างตามแบบพระราชนิยม ในรัชกาลที่ 3 คือมีความมั่นคงถาวร ทำแบบประหยัด แบบอาคารใช้อิฐและปูนเป็นเหลี่ยม ลายปูนปั้นประดับกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ หน้าบันก่อปูนปิดตัน แก้ปัญหาเรื่องน้ำฝน นก หนู
วัดที่มีความสำคัญที่ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกใหญ่ คือวัดอินทาราม หรือในนามที่ชาวบ้านเรียกขาน “วัดบางยี่เรือนอก”
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเคยเสด็จมาประทับแรมเพื่อทรงนั่งวิปัสสนากรรมฐาน ทรงศีลภาวนา ถือเป็นวัดประจำรัชกาล
ในเวลาต่อมา พระองค์โปรดเกล้าฯ อัญเชิญพระอัฐิสมเด็จ พระพันปีหลวงกรมพระเทพามาตย์ พระบรมราชชนนี มาบำเพ็ญพระกุศล
ปัจจุบันยังมีเจดีย์ที่ตั้งคู่กันบรรจุพระอัฐิของพระองค์ไว้ให้ประชาชนได้กราบไหว้สักการบูชาอีกด้วย
สำหรับปากทางเข้าคลองบางกอกใหญ่นี้จะมีวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี คือวัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร ซึ่งใกล้เคียงบริเวณนี้จะเห็นร่องรอย อาคารบ้านเรือนเหล่าข้าราชบริพารสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช และสมัยต้นรัตนโกสินทร์ให้นึกย้อนอดีตได้บ้าง
วัดโมลีโลกยารามฯ หรือวัดท้ายตลาดนี้ ตั้งอยู่ติดกับตลาด สร้างมาแต่สมัยอยุธยา
ในสมัยกรุงธนบุรีได้ผนวกเข้าเป็นวัดในเขตพระราชฐานเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา
ในรัชกาลที่ 1 สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้คณะสงฆ์จากวัดกล้วยเข้ามาจำพรรษา รัชกาลที่ 2 ทรงเปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดพุทไธศวรรย์
ในรัชกาลที่ 3 พระราชทานชื่อว่าวัดโมลีโลกสุธาราม และต่อมาจนถึงปัจจุบันเรียกกันว่าวัดโมลีโลกยาราม
สำหรับพระประธานในพระอุโบสถอายุกว่า 300 ปี สร้างมาแต่สมัยอยุธยา หอสมเด็จที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) เคยใช้เป็นที่ประทับ เป็นอาคารไม้ทรงไทยยกพื้น ที่จั่วมีช่อฟ้างามแปลกตา รวมทั้งประติมากรรมปูนปั้นรูปทหารฝรั่งเศสที่เก่าแก่และทรงคุณค่า
หอพระไตรปิฎกเก่าแก่ล้ำค่า สร้างเป็นอาคารไม้สักทรงไทย ที่งามวิจิตร ประตูเขียนลายรดน้ำอ่อนช้อยงดงาม
ชุมชนคลองบางกอกน้อยหนาแน่นไปด้วยผู้คนมากขึ้น ตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นต้นมา
แม้ในเวลาต่อมาได้ย้ายศูนย์การปกครองไปยังฝั่งพระนคร แล้วก็ตาม ความสำคัญของคลองบางกอกน้อยยังคงอยู่ ด้วยเป็นถิ่นฐานของชาวสวนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชผักผลไม้ แหล่งเพาะปลูกขนาดใหญ่ เรียงรายไปด้วยวัดซึ่งมีมาแต่สมัยอยุธยา ด้วยความศรัทธาของชุมชน ศิลปวัฒนธรรมของตัวเอง
เมื่อได้ล่องเรือสัมผัสสายน้ำ วิถีชีวิตริมน้ำในคลองนี้จะรู้สึก ได้ว่า เหมือนย้อนยุคเข้าไปอยู่ในบรรยากาศ ณ อดีตกาล
การมีเส้นทางการคมนาคมทางน้ำเป็นหลัก ชีวิตที่เรียบง่าย อาศัยอยู่กันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ยิ่งลึกเข้าไปในคลองเท่าไร ยิ่งได้เห็นการรักษามรดกตกทอดไว้อย่างเหนียวแน่น จะเห็นเรือนไม้เรียงรายไปตามริมน้ำ ตลอดแนวคลองเลยทีเดียว
เมื่อบอกว่าจะล่องเรือเข้าคลองบางกอกน้อย ทำให้คิดถึงวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่และโด่งดังที่มีผู้สร้างภาพยนตร์หรือละคร นำไปสร้างซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างไม่น่าเบื่อ “คู่กรรม” “อังศุมาลิน” สาวคลองบางกอกน้อยกับหนุ่มชาวญี่ปุ่น “โกโบริ” นั่นเอง
แค่คิดยังไม่ทันจะเอ่ยปากออกมา มัคคุเทศก์ช่างรู้ใจจริงๆ บอกว่าเราเคยมีคณะตามหาญาติสาวเจ้าผู้นี้ ซึ่งได้พบญาติเป็นสตรีสูงวัยมีตัวตนจริงๆ
ก่อนที่จะเข้าสู่คลองบางกอกน้อย ปากคลองมีสัญลักษณ์ อันเป็นประวัติศาสตร์ที่โดดเด่น คืออาคารสถานีรถไฟธนบุรี หอนาฬิกาขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2493 ด้วยสถาปัตยกรรมผสมผสานด้วยการก่ออิฐ แต่ไม่มีการฉาบปูน สามารถมองเห็นได้เด่นชัดทุกทิศทางในระยะไกล
แม้ปัจจุบันบริเวณสถานีรถไฟธนบุรีแห่งนี้กำลังเปลี่ยนแปลง ให้เป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลศิริราช แต่ยังคงอนุรักษ์สิ่งปลูกสร้าง ไว้เป็นอนุสรณ์ ซึ่งเป็นอีกหน้าของประวัติศาสตร์ชาติไทย
สถานีรถไฟธนบุรีแห่งนี้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2446 โดยจัดการเดินรถไปยังสถานีรถไฟจังหวัด เพชรบุรี และไปยังสถานีรถไฟสุไหงโกลก สถานีรถไฟใต้สุดของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2464
เมื่อเริ่มเข้าสู่คลองบางกอกน้อย จะเห็นบรรดาหมู่เรือพระที่นั่ง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี วิถีแห่งสายน้ำ และมรดกทางวัฒนธรรมของคนไทย ทำให้นึกย้อนกลับไปถึงวีรกรรมเรื่องราวที่คลองโคกขามของพันท้ายนรสิงห์ นายท้ายเรือพระที่นั่งเรือเอกชัย ซึ่งพระเจ้าเสือทรงประทับ
การทำศึกสงคราม การรบพุ่ง อดีตกรุงศรีอยุธยานั้นจะล้อมรอบด้วยแม่น้ำลำคลองมากมาย ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีเรือเป็นกำลังสำคัญ
ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็ทรงมียุทธวิธีที่จะรักษาพระนครโดยอาศัยกำลังทัพเรือ จึงทรงประดิษฐ์เรือไชย หรือเรือรูปสัตว์ และเรือกราบขึ้นใช้ หรือแสนยานุภาพของเรือ อันยิ่งใหญ่ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
เรือรบโบราณแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท คือ
- เรือแซง ใช้ในการลำเลียงพล ศาสตราวุธ ยุทโธปกรณ์ เสบียงกำลัง แล่นค่อนข้างช้า
- เรือไชย ใช้ลำเลียงพลเช่นกัน แต่แล่นเร็วกว่าเรือแซง
- เรือรูปสัตว์ ทำหัวเรือเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น ครุฑ พญานาค ใต้รูปสัตว์จะมีช่องวางปืนใหญ่ ใช้เป็นเรือปืนด้วย
- เรือกราบ คล้ายเรือไชย แต่สามารถแล่นได้เร็วกว่า
หลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2310 เรือหลวงล้วนถูกทำลายไปหมดสิ้น พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือขึ้นใหม่
สมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือพระที่นั่งและเรือประกอบขบวนขึ้นอีก 67 ลำ และได้มีการสร้างแทนลำที่ชำรุดในรัชกาลต่อๆ มา เพื่อใช้ในพระราชพิธีกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปรากฏต่อสายตา ชาวโลก
ฝีมือการสร้างเรือที่วิจิตรงดงาม ศิลปะการพายที่อาศัยจังหวะและบทขับเห่
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดแสดงเรือพระที่นั่งจำนวน 8 ลำ เรือนารายณ์ทรงสุบรรณ ร.9 เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นต้น
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 และสร้างครั้งที่ 2 ในรัชกาลที่ 5 เสร็จสิ้นในรัชกาลที่ 6 เป็นเรือพระที่นั่งที่มีความสำคัญมากที่สุด
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ประทับเรือพระที่นั่ง สุพรรณหงส์ในขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคแทบทุกครั้ง พระองค์เสด็จฯ ประทับเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ ซึ่งเป็นเรือที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2537 ในวโรกาสทรงครองราชย์ครบ 50 ปี
ชาวไทยและชาวต่างชาติได้เห็นความงดงามอลังการใน พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราชลมารค เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 ที่จะมาถึงในปลายปีนี้ แน่นอน
ริมคลองบางกอกน้อย วัดวาอารามแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา วัดที่พระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลต่างๆ ทรงสร้าง ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ มีมากมายหลายสิบวัด ซึ่งเป็นความผูกพันและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ของชาวบ้านร้านถิ่น เช่น วัดบางหว้าน้อย ถือได้ว่าเป็นวัดโบราณ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดฯ ให้ยกวัดนี้ขึ้นเป็นพระอารามหลวงคู่กับวัดระฆังโฆสิตาราม
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นแล้ว กรมพระราชวังหลังได้โปรดฯสถาปนาวัดนี้ขึ้นใหม่หมดทั้งพระอาราม คือสร้างพระอุโบสถ พระระเบียงวิหาร กำแพงแก้ว ศาลาราย หอไตร หอระฆัง หอสวดมนต์ ศาลาการเปรียญ เสนาสนะ กุฏิ และถนนในพระอาราม
รัชกาลที่ 2 ได้พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอมรินทราราม” ในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา วัดนี้ถูกทิ้งระเบิดเสียหายเกือบทั้งหมดเหลือเพียงหลวงพ่อโบสถ์น้อย จึงเป็นเหตุให้ชาวบ้านนับถือ ว่าศักดิ์สิทธิ์มาก
วัดศรีสุดารามวรวิหาร เดิมคือวัดชีปะขาว มีบรรยากาศร่มรื่นเย็นสบาย
ตามประวัติกล่าวไว้ว่า สมเด็จพระศรีสุดารักษ์ทรงบูรณะขึ้นมาใหม่จากวัดร้างที่มีสภาพทรุดโทรม หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาในครั้งที่ 2
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ เดิมวัดนี้มีศาลาการเปรียญหลังใหญ่ที่ท่านกวีเอกสุนทรภู่ รัตนกวี 4 แผ่นดิน เคยใช้เป็นที่ร่ำเรียนหนังสือ
จึงเชื่อได้อีกว่านิวาสถานบ้านช่องของท่านคงจะอยู่ในถิ่นแถบนี้ด้วย
นอกจากนี้ การล่องเรือในคลองบางกอกน้อยยังจะได้พบ เห็นบ้านเรือนริมน้ำยุคเก่าก่อนที่ยังคงหลงเหลือให้ได้พบเห็นและบ้านเรือนที่ชาวบ้านเรียกขานว่าเรือนทรงปั้นหยาก็มีให้เห็นอยู่ ซึ่งเป็นเรือนไม้แบบยุโรป มุงหลังคาด้วยกระเบื้อง หลังคาทุกด้านชนกันแบบพีระมิด ไม่มีหน้าจั่ว โครงสร้างหลังคาจะมีความแข็งแรงเป็นพิเศษ หลังคาตรงหุ้มท้ายลาดเอียงแบบตัดเหลี่ยม กระเบื้องแผ่นสี่เหลี่ยมตรงรอยตัดเหลี่ยมหลังคาครอบด้วยกันน้ำฝนรั่ว
หลังคาแบบนี้โครงหลังคาแข็งแรงมาก สามารถทนรับฝนและต้านแรงลมหรือพายุได้ดี
เมื่อพิจารณาอย่างถ่องแท้ ทั้งคลองบางกอกน้อยและคลอง บางกอกใหญ่คือเส้นเลือดสายใหญ่ เพียงเฉพาะคลองบางกอกน้อย มีความยาวกว่า 30 กิโลเมตร ยังได้แยกย่อยแตกสาขาไปอีกหลาย คลอง คลองชักพระ คลองมหาสวัสดิ์ คลองบางระมาด คลองฉิมพลี เป็นต้น
คลองทั้งสองมีชุมชนเก่าแก่แห่งประวัติศาสตร์การท่องเที่ยว ที่น่าสนใจคงอยู่ถึงปัจจุบันเลยทีเดียว
การได้ไปล่องเรือไหว้พระในครั้งนี้ ได้ความสุขอิ่มเอิบใจ โดยเฉพาะได้เห็นการมีวัฒนธรรมของชาวเรือ เช่น การรอคอยเข้าคิวให้เรือเล็กไปก่อนเมื่อถึงเวลาเปิดประตูระบายน้ำเพื่อเดินเรือ ซึ่งเป็นมารยาทที่ดีของสังคมในการอยู่ร่วมกัน
ทำให้นึกถึงเหตุการณ์เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ผ่านมาเมื่อเร็วๆ นี้ที่ประเทศญี่ปุ่น
แม้ว่าผู้คนทุกหย่อมหญ้าจะได้รับความเดือดร้อนวิกฤติกันโดยถ้วนหน้า ทั้งไร้ที่อยู่อาศัย อาหารการกิน หรือปัจจัยทั้ง 5 ก็ตาม
เมื่อมีการช่วยเหลือจากรัฐบาล ตามสถานที่ต่างๆ ประชาชนของเขาแม้จะเดือดร้อนแสนสาหัสปานใดก็ตาม พวกเขายังคงมีความเป็นระเบียบ ต่อแถวเข้าคิวรับบริการอย่างสงบ ปรากฏเป็นภาพสู่สายตาประชาคมโลก จึงได้รับความชื่นชมว่าเขาเหล่านี้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคม เป็นวัฒนธรรมที่ดีของชาติ เป็นสิ่งที่ดีงาม และควรเอาเป็นเยี่ยงอย่างมิใช่หรือครับ
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|