|
ชีวิตที่ไร้รวงรัง... “โจหลุยส์” ดั่งฝูงนกพเนจร
โดย
สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
จากชีวิตลูกสาวเศรษฐีอันแสนสุขสบายในคฤหาสน์หลังงาม เพียงข้ามคืนที่ครอบครัวเจอวิกฤติการเงินกลายเป็นคนล้มละลายไร้บ้านหลังโต ชีวิตเธอหลังจากนั้นต้องผ่านความลำบาก แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดีเพราะมีพระเอกคอยช่วยเหลือ กระทั่งรักกัน แล้วไม่นานทุกอย่างก็จบแบบ Happy Ending
พล็อตเรื่องแบบนี้เห็นได้บ่อยในละครไทย แต่ในความเป็นจริง ชีวิตไม่ได้ง่ายขนาดนั้น โดยเฉพาะชีวิตที่ไร้รัง คงไม่อาจดำเนินได้อย่างราบรื่นเช่นในละคร เฉกเช่นชีวิตนักแสดงร่อนเร่ ของเหล่า “หุ่นน้อย” ของคณะโจหลุยส์ ณ นนี้
ม่านสีดำที่เคยปิดลงแล้วกลับมาเปิดใหม่ ในวันรุ่งขึ้น ทำหน้าที่ของมันมานานร่วม 8 ปี กระทั่งคืนวันที่ 29 สิงหาคมปีที่แล้ว ที่ม่านดำกางกั้นเวทีผืนนี้ถูกปิดลงอย่างถาวร พร้อมกับการปิดตัวของโรงละครนาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก “โจหลุยส์” เพราะต้องคืนพื้นที่ให้กับสวนลุมไนท์บาร์ซา โดยไม่อาจยื้อลมหายใจ ของโรงละครแห่งนี้ไว้ได้อีกต่อไป จากกำหนดการเดิมที่โรงละครนาฏยศาลาฯ จะหมดสัญญาเช่าที่กับสวนลุมไนท์บาร์ซา ราวกลางปี 2550 แต่ก็ฉุดรั้งต่อชีพจรชีวิตของโรงหุ่นละครเล็กเอาไว้ได้นานถึง 3 ปี กระทั่งกลางปี 2553 การแสดงหุ่นละครเล็กรอบสุดท้ายเพื่ออำลาโรงละครนาฏยศาลาที่สวนลุมไนท์บาร์ซาตลอดกาล
ณ วันที่ “บ้าน” ถูกปิดตาย วันนั้น สุรินทร์ ยังเขียวสด และพี่น้องผู้ร่วมบริหารคณะโจหลุยส์ ต่างก็ยังไม่รู้ว่านักแสดงและบุคลากรของโจหลุยส์จะอยู่กันอย่างไรต่อไป พอๆ กับที่ยังนึกไม่ออกว่า พวกเขาจะต้องธำรงรักษาศิลปะหุ่นละครเล็กของผู้เป็นพ่อให้อยู่ต่อไปได้อย่างไร
ทว่า สิ่งหนึ่งที่ยังอยู่ในใจของสุรินทร์เสมอก็คือคำพูดของผู้เป็นพ่อที่ว่า “ถ้าหุ่นไม่ได้อยู่บนเวที มันก็ต้องไปอยู่ในตู้ แต่หุ่นบนเวทีต่างกับหุ่นในตู้ตรงที่มันมีคนชุบชีวิตและจิตวิญญาณ”
จากชีวิตหุ่นละครเล็กที่เคยได้ลมหายใจที่เปี่ยมไปด้วยพลัง ความรัก และความหวังของผู้เชิดช่วยทำให้หุ่นกว่า 60 ตัว โลดแล่นอย่างมีชีวิตชีวา แต่ระหว่าง 1 ปีที่ไร้ซึ่งโรงละครนาฏยศาลา แม้แต่ลมหายใจที่ใช้ต่อชีวิต “นักเชิด” เองก็ยังรวยรินไร้เรี่ยวแรง เหลือเพียงยิ้มแห้งๆ จากใบหน้าอิดโรยที่ยังยืนยันว่าจะพยายาม อนุรักษ์ศิลปะไทยแขนงนี้ให้ถึงที่สุด
“ตอนมีโรงละครอยู่ ถึงรายจ่ายเราอาจจะสูงเพราะค่าเช่าแพง แต่เราก็มีรายได้ในเรื่องร้านอาหาร ค่าบัตรเข้าชม ค่าขายสินค้าที่ระลึก และยังรับอีเวนต์ได้ด้วย แต่ตอนนี้ถึงรายจ่ายจะลดลงไปครึ่งหนึ่ง เพราะไม่มีค่าเช่า แต่มันเหนื่อย เพราะสถานที่แสดงไม่มี เราต้องวิ่งหางาน” สุรินทร์เล่าถึงช่วงชีวิตระหว่าง 1 ปีที่ผ่านมา
ขณะที่ทาวน์เฮาส์ย่านรัตนาธิเบศร์ถูกใช้เป็นออฟฟิศของคณะโจหลุยส์ บ้านอีกหลังของพี่น้องตระกูลยังเขียวสดใช้เป็นโกดังเก็บของและสถานที่ฝึกซ้อม ของเหล่านักแสดงโจหลุยส์ ซึ่งทั้งทีมเหลือเพียง 60 กว่าชีวิต จากที่เคยมีนับร้อยชีวิต โดยทีมงานแผนกอาหารส่วนหนึ่งได้งานทำที่ร้านอาหารในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งนำแฟรนไชส์ร้านโจหลุยส์ไปทำ ขณะที่นักแสดงบางส่วนออกไปตั้งคณะเอง
จากที่เคยมีโรงละครเป็นจุดศูนย์รวมให้ลูกค้าและรายได้วิ่งเข้ามาหา จากที่เคยถือตัวว่าเป็นศิลปินและผู้กำกับหุ่นละครเล็ก โดยทำหน้าที่หลักคือการออกแบบโชว์ และการพัฒนาหุ่นละครเล็ก ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นทั้งทางด้านเทคนิคหุ่นและตัวบทละคร แต่มาเวลานี้ สุรินทร์มีภารกิจเพิ่มเติมที่มีความสำคัญ เรียกได้ว่า แซงหน้าที่เดิม นั่นก็คือการวิ่งหางาน
ไม่ว่าจะเป็นการแสดงตามงานอีเวนต์ ตามโรงเรียน ศูนย์การค้า ร้านอาหาร แม้แต่งานวัด สุรินทร์เป็นฝ่ายเข้าไป ติดต่อ รวมถึงงานต่างประเทศที่เขาต้องใช้สายสัมพันธ์ที่เคย มีมาใช้หางาน
ตลอดเวลาเกือบปีที่ผ่านมา นักแสดงคณะโจหลุยส์สัญจรไปทำการแสดงหารายได้ตามจังหวัดต่างๆ เกือบทั่วประเทศ บินไปต่างประเทศมาก็หลายประเทศ แต่สุรินทร์ก็ยอมรับว่า ช่วงชีวิตของโจหลุยส์ระหว่างนี้ ทุกคนโดยเฉพาะ ผู้บริหารคณะ ยังคงต้องอดทนและอดออมใช้เงินอย่างกระเบียดกระเสียร
“ทุกวันนี้รายจ่ายเดือนละล้านกว่าบาท บางเดือนมีรายรับเข้ามาน้อย ไม่พอจ่ายเงินเดือนนักแสดง เราก็ยอมยืมเงินมาหมุน ถ้าเดือนนี้รอดแล้ว แล้วอีก 2 เดือนข้างหน้าจะรอดไหม เดือนที่ 3 จะไปหาเงิน ที่ไหน ผู้บริหารต้องมานั่งประชุมกันทุกเดือน แล้วก็แซวกันทุกเดือนว่า อย่ามาคุยว่าหายืมที่ไหน อยากได้ยินว่าจะหางานที่ไหน (หัวเราะ)”
บางเดือนที่หมุนเงินไม่ทันหรือเช็คค่าจ้างยังขึ้นไม่ได้ นอกจากการหายืมเงินมาจ่ายเงินเดือนทีมงาน อีกทางหนึ่งที่ผู้บริหารโจหลุยส์ใช้นั่นก็คือ การเปิดใจพูดความจริงและเปิดเผยให้เห็นถึงรายรับและรายจ่ายที่บริษัทกำลังเผชิญ ผลที่ได้รับจากทีมงาน เป็นเสมือนกำลังใจเล็กๆ ที่ทำให้สุรินทร์มีแรงฮึดสู้ทุกครั้งที่เจอกับปัญหาการเงินทุกสิ้นเดือน
“พอน้องๆ รับรู้ปัญหารายรับรายจ่าย เขาก็เห็นใจ แต่เราก็ต้องเก็บความทุกข์ไว้ไม่ให้คนอื่นเห็น ไม่เช่นนั้นเด็กจะไม่มีกำลังใจ เดี๋ยวเขาจะกังวลว่า เราจะไปรอดไหม”
นอกจากการวิ่งหางานจะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับที่คนที่เคยเป็นศิลปินจ๋าบนเส้นทางของหุ่นละครเล็กในการรับงานอีเวนต์ ก็ยังเต็มไปทีมนักแสดงที่แต่งตัวและมีลีลาการเชิดคล้ายคณะโจหลุยส์มาเป็นคู่แข่งอีกจำนวนมาก
“มันทำให้เราเหนื่อยขึ้น เวลาต้องอธิบายว่ากลุ่มนั้นไม่ใช่โจหลุยส์ ฉะนั้นเดี๋ยวนี้เวลาไปแสดง เราจัดไปเต็มรูปแบบ ไมใช่เอาหุ่นไป 2 ตัว ให้เขาได้รู้ว่า มาตรฐานโจหลุยส์ คืออะไร”
สุรินทร์ยืนยันว่า แม้จะเป็น “โจหลุยส์สัญจร” แต่มาตรฐานโจหลุยส์ขนานแท้ ตั้งแต่หัวจรดเท้า ทรงผมต้องเรียบแปล้ เสื้อผ้าดำทั้งชุด นักเชิดชายหน้าตาเกลี้ยงเกลาไร้หนวดเครา นักเชิดหญิงใบหน้านวลผ่อง
ขณะที่ความงามของตัวหุ่นยังคงเน้นเอกลักษณ์อยู่ที่ความประณีต ความละเอียด และจารีตที่แฝงในหุ่น
ส่วนศิลปะการแสดงยังคงต้องมีความพร้อมเพรียง และสร้างให้หุ่นโลดแล่นอย่างมีชีวิตชีวาเหมือนเมื่อครั้งอยู่บนเวทีในโรงนาฏยศาลาทุกประการ เพราะถึงแม้จะต้องซ้อม ที่โกดังเก็บของ แต่สุรินทร์ก็พยายามสร้างบรรยากาศการซ้อมและความเข้มข้นในการซ้อมให้ไม่ต่างจากเวลาที่ซ้อมบนหลังเวทีในโรงละคร บนหลักการเดียวกันที่ว่า เอกลักษณ์ของการเชิดหุ่นละครเล็กของโจหลุยส์ คือต้องแสดงด้วยหัวใจ เป็นหนึ่งเดียวกันทั้งคนและหุ่น
“มาตรฐานของเราคือทำอะไรต้องดี เคยเห็นบนเวที หุ่นมีชีวิตโลดแล่นอย่างไร วันนี้แม้จะไม่ได้เล่นบนโรงละครถาวร หุ่นของเราก็ต้องเป็นยังไง” สุรินทร์ยืนยัน
จากที่เคยเป็นศิลปินเต็มตัวพร่ำพูดแต่เรื่องศิลปะกับการพัฒนาศิลปะอย่างสร้างสรรค์ และประณีตสำหรับจัดโชว์ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติชื่นชมในเวลา 1 ชม. สิ่งที่สุรินทร์ต้องทำวันนี้ คือการคิดและจัดโชว์ให้เหมาะสมกับงานอีเวนต์ต่างๆ ด้วยงบที่จำกัด ภายในเวลา เพียง 15-20 นาที
จากที่เคยคิดว่าศิลปะที่ดีจะอยู่ได้ด้วยการอุ้มชูและการเห็นคุณค่าของคนในสังคม ไม่ช้าก็เร็ว แต่เหตุการณ์ “เสียโรง” ครั้งนี้ก็ทำให้สุรินทร์ได้เรียนรู้ว่า วันนี้ ศิลปะที่ปราศจากเชิงพาณิชย์ ไม่อาจอยู่ได้ในสังคมไทย และไม่อาจคาดหวังการเชิดชูจากหน่วยงานใดได้ โดยเฉพาะจากรัฐบาลและหน่วยราชการของไทย
ทั้งๆ ที่หุ่นละครเล็กเป็นมหรสพที่อายุเก่าแก่กว่า 100 ปี เป็นองค์ความรู้ทั้งศาสตร์ และศิลป์ชั้นสูง ทั้งหัตถศิลป์ วรรณศิลป์ นาฏศิลป์ และคีตศิลป์ ที่สะท้อนความเป็นไทยได้อย่างดี ทั้งยังได้รับยกย่องบนเวทีโลกมาแล้วหลายครั้ง สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยมาแล้วหลายคราว
“ผมไม่ได้ต้องการเป็นธุรกิจในเรื่องศิลปะ ไม่ต้องการเหนื่อยแบบนี้ ต้องการยกให้รัฐบาล รัฐบาลดูแลเงินรายได้เอง ยกให้เป็นศิลปะของแผ่นดินไปเลย แต่รัฐก็ไม่ทำ มันไม่ได้ท้อนะ แต่กำลังใจมันหาย สุดท้ายเราก็ต้องสร้างกำลังใจด้วยตัวเองว่าต้องอยู่ให้ได้”
สุรินทร์ยอมรับว่าเขาเสียกำลังใจไม่ได้ เพราะมีคนอีกกว่า 60 คนรอรับกำลังใจจากเขา ขณะที่เขาต้องใช้กำลังใจที่เคยได้รับจาก “คุณพ่อสาคร” ต่อยอดความหวังให้ตัวเองและชาวคณะ
ศิลปินตัวยงยอมรับว่า ผลงานที่ทำอยู่ทุกวันนี้ไม่อาจเรียกได้ว่าสร้างความภูมิใจหรือความประทับใจให้ตัวเขาเอง นอกจากตัวเงินเพื่อมาหล่อเลี้ยงคณะให้อยู่รอดต่อไปได้ อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้สุรินทร์มีพลังในการเดินต่อไปบนเส้นทางสายนี้ นั่น ก็คือ การที่ “โจหลุยส์สัญจร” ได้เปิดโอกาสให้ผู้คนในต่างจังหวัดทุกภาคได้สัมผัสกับศิลปะแขนงนี้อย่างใกล้ชิด
“ทำไมต้องโจหลุยส์สัญจร ก็มันไร้หัวนอนแล้วก็ต้องสัญจรสิ (หัวเราะ) เราก็พลิกวิกฤติตรงนี้ให้เป็นโอกาส ทำให้ชาวต่างจังหวัดได้รู้จักโจหลุยส์ สัญจรไปให้คนทุกภาคได้เห็น แล้วมันจะสะสมไปถึงจิตใจมนุษย์ให้มีศิลปะ มีวัฒนธรรม พ่อแม่เห็นก็อยากให้ลูกหลานได้เรียนรู้ศิลปะหุ่นละครเล็กเพิ่มขึ้น” สุรินทร์รับนี่เป็นข้อดีข้อหนึ่งจากการไร้รัง
ท่ามกลางความรู้สึกใจหายที่ไม่มีโรงละครเป็น “อู่ข้าว” ยังมีเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการที่คนโจหลุยส์ทั้งผู้บริหาร และทีมงานต่างก็ได้เรียนรู้และโตขึ้นไปพร้อมกันจากเหตุการณ์นี้ นอกจากนี้ การ “เสียโรง” ยังทำให้คณะโจหลุยส์ได้มาซึ่งโรงละครแห่งใหม่
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นับเป็นหน่วยงานแรกๆ ที่ยื่นมือเข้ามาโอบอุ้มศิลปะการแสดงของชาติ ในระหว่างที่เหล่าคณะผู้สืบสานกำลังอยู่ในภาวการณ์ที่ยากลำบากอย่างเป็นทางการ โดยมีผู้ร่วมสนับสนุนหลักที่ติดตามกันมาตั้งแต่ครั้งโรงละครนาฏยศาลาที่สวนลุมไนท์ฯ ประกอบด้วย เมืองไทยประกันชีวิต ธนาคารไทยพาณิชย์, แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง, ไทยเบฟเวอเรจ และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
“เราเพิ่งรู้ว่าท่านอธิการบดีที่นี่เป็นแฟนคลับตั้งแต่สมัยรุ่นคุณพ่อ เคยได้กราบคุณพ่อ แล้วท่านก็ติดตามโจหลุยส์มาตลอด พอทราบข่าวท่านของเราบวกกับตึกใหม่เสร็จ ท่านก็คุย กับเราว่าให้มาแสดงที่นี่ได้เพราะมีโรงละครอยู่”
โรงละครอโศกมนตรีนาฏยศาลา ตั้งอยู่บนชั้น 4 อาคารนวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร) ทั้งยังเป็นมี “หอศิลป์อโศกมนตรีนาฏยศาลา” และ “ศูนย์การเรียนรู้นาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก” เพื่อจัดแสดงและรวบรวมข้อมูลและประวัติ รวมถึงเรื่องราวเกี่ยวกับการแสดงหุ่นละครเล็กไว้ที่นี่
ทั้งนี้ โจหลุยส์ยังได้ร่วมมือกับ มศว. วางหลักสูตรการเรียนการสอนในรายวิชาภูมิปัญญาไทยในศิลปะการแสดงให้กับนิสิตภาควิชานาฏศิลป์ไทย คณะ ศิลปกรรมศาสตร์ของที่นี่ ซึ่งเริ่มเปิดสอนในภาคการศึกษาแรกของปี 2554
สำหรับแผนการเปิดแสดงโชว์หุ่นละครเล็กแบบเต็มชุดของโจหลุยส์ที่โรงละครแห่งนี้ น่าจะเริ่มรอบแรกภายในเดือนมิถุนายน เพื่อต้อนรับ “วันสุนทรภู่” ด้วยการแสดงชุดสุดสาคร โดยสุรินทร์กำหนดการเปิดแสดงคร่าวๆ เป็นวันจันทร์-ศุกร์ รอบเช้าและบ่าย สำหรับนักเรียน และรอบวันเสาร์สำหรับผู้ชมทั่วไป
ทั้งนี้เนื่องจากโรงละครอโศกมนตรีนาฏยศาลา ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับกับการแสดงแบบเต็มสตรีมของโจหลุยส์ และตั้งอยู่ในสถานศึกษา สุรินทร์จึงมองว่าโรงละครแห่งนี้ยังไม่เอื้อต่อวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่ศิลปะหุ่นละครเล็กเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้เต็มที่ แต่อย่างน้อยก็ตอบสนอง เป้าในเรื่องการเผยแพร่ให้แก่เยาวชนเพื่อการศึกษา และพอตอบสนองเรื่องความอยู่รอดของโจหลุยส์ให้ดีขึ้นได้บ้าง
“ได้โรงละครที่ มศว.จะทำให้เรามีรายรับเข้ามาเลี้ยงตัวเองได้อีกหน่อย อย่างน้อยก็จะมีเงินมาจ่ายเงินเดือนของน้องๆ ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ยังมีอีเวนต์อยู่ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เรามีพื้นที่ที่เป็นตัวตนของเราชัด นั้นจะทำให้เราเลี้ยงตัวเองได้”
ทั้งนี้ “โรงละครที่เป็นตัวตนของโจหลุยส์” ตามความหมายของสุรินทร์ หมายถึงโรงละครแห่งความหวังครั้งใหม่ของโจหลุยส์ทั้งคณะ ได้แก่ โรงละครแห่งใหม่ที่กำลังจะลงเสาเข็มเร็วๆ นี้ บนพื้นที่ 72 ไร่ ระหว่างซอยเจริญกรุง 72-76 ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ของเสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่มีแผนจะสร้างเป็นไลฟ์สไตล์มอลแบรนด์ “เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์” ด้วยเงินลงทุนสูงกว่า 6 พันล้านบาท
ภายในโรงละครแห่งความหวังนี้จะใช้เงินลงทุนของเสี่ยเจริญราว 200 ล้านบาท สำหรับสร้างโรงละครนาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก ขนาด 400 ที่นั่ง โดยชั้นล่างจะเป็นพื้นที่ใส่น้ำไว้สำหรับรองรับการแสดงหุ่นละครใต้น้ำ และมีร้านอาหารโจหลุยส์ไว้บริการด้วยคล้ายที่สวนลุมไนท์บาร์ซาด้วย
“ผมก็ดีใจที่พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ทรงมีดำรัสให้ผมเข้าเฝ้า และดำรัสว่าได้ฝากคุณเจริญกับคุณหญิงวรรณาไว้แล้วว่าให้ช่วยกันอนุรักษ์ศิลปะหุ่นละครเล็กให้อยู่ได้นานที่สุด และดำรัสฝากให้พวกเราทำให้ดีที่สุด” สุรินทร์เล่าด้วยรอยยิ้ม
2 ปีอาจเป็นเวลาไม่นานสำหรับใครหลายคนในการรอ “บ้าน” หลังใหม่แล้วเสร็จ แต่สำหรับคณะโจหลุยส์ อีก 2 ปี กว่าที่โรงละครแห่งความหวังใหม่ของโจหลุยส์จะแล้วเสร็จ พวกเขากว่า 60 ชีวิตต้องใช้พลังกายและกำลังใจอีกเยอะ เพื่อให้รอดพ้น 2 ปีที่เหลือนี้ไปให้ได้ เพราะชีวิตหลังไร้โรงละครเพียงแค่ปีแรกที่ต้องเผชิญก็ยังสาหัสเหลือเกิน
สุรินทร์ยอมรับว่า ระหว่างนี้ก็โจหลุยส์คงต้องประทังชีพโดยอาศัยงานอีเวนต์ งานตามโรงเรียนหรืองานวัดต่างๆ รวมถึงงานแสดงในต่างประเทศ และรายได้จากการจัดแสดงที่โรงละครที่ มศว. โดยไม่ต้องหวังกำไรหรือแม้แต่เงินเดือนผู้บริหารก็ยังต้องถูกหักไปบ้าง เพื่ออยู่รอดให้ได้ภายใน 2 ปีนี้
“ทุกวันนี้ เหมือนว่าพวกเราหายใจเพื่อ 2 ปีข้างหน้า แต่วันนี้ก็ต้องค่อยๆ หายใจ อย่าหายใจทีเดียวหมด ต้องเผื่อก๊อกสองด้วย เพราะอาจจะมีปัญหาอะไรที่ไม่คาดหมายเกิดขึ้นก่อนหน้าได้เสมอ พอเกิดอะไรขึ้นก็ต้องแลกด้วยหมัด เพราะตอนนี้ใจเด็กก็เริ่มกลับมาแล้ว อะไรที่พอจะไปได้ก็ต้องทำเพื่อเอา 2 ปีนี้ให้รอด”
ทั้งที่ความปรารถนาลึกๆ ของสุรินทร์ เขาหวังแค่ได้ทำงานศิลปะแล้วสนุกกับงาน เฉกเช่นศิลปินชนชาติอื่น ที่มีรัฐคอยสนับสนุนในฐานะบุคลากรที่มีคุณค่าต่อประเทศชาติและเป็นผู้เสียสละในการทำหน้าที่อนุรักษ์วัฒนธรรมของชาติ
หากผ่าน “วิกฤติชีวิต” ครั้งนี้ไปได้ สุรินทร์เชื่อว่า ปัญหาครั้งหน้าก็ไม่มีอะไรน่ากลัว สำหรับคณะโจหลุยส์อีกแล้ว แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในวิกฤติครั้งนี้ก็คือ ใจของเขาเอง
“เคยคิดว่าถอยออกได้ไหม มันเหนื่อยแล้ว ไม่อยากทำแล้ว แต่ก็คิดได้ว่า เพราะเราเอง ตอนพ่ออยู่ถ้าเราถอยทุกอย่างก็จบเลย แต่วันนี้ ถ้าเราถอนตัวได้ ถึงมีคนอื่นทำต่อ กำลังใจของเด็กที่อยู่ก็จะหายไป ก็เลยเลิกคิด แก้ไขไปตามเหตุการณ์ กูจะสู้ทั้งชีวิต วันนี้ รู้แล้วว่าทั้งชีวิต คงถอนออกไม่ได้แล้ว” สุรินทร์กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่นแต่แววตาดูอ่อนล้า
การต่อสู้ของสุรินทร์และคณะโจหลุยส์เป็นภาพสะท้อนของชีวิตอันแสนลำบากซึ่งคงไม่ต่างชีวิตของศิลปินไทยอีกหลายคนที่กำลังต่อสู้เพื่อรักษาไว้ซึ่งศิลปะ ไทยให้คงอยู่คู่เมืองไทย ชีวิตนักแสดงโจหลุยส์คงไม่ลำบากเช่น 1 ปีที่ผ่านมา หาก เขาเกิดเป็นนักเชิดหุ่นสัญชาติอื่น
สุดท้าย ระหว่าง 2 ปีนี้ สุรินทร์และคณะโจหลุยส์ต้องสูญสิ้น “ความหวัง” ที่จะมีโรงละครอีกครั้ง สุรินทร์มองว่าบางที อาจถึงเวลาแล้วที่คณะโจหลุยส์จะต้องเดินทางไปแสดงประจำในโรงละครที่ต่างประเทศ ท่ามกลางความยินดีของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนของหลายๆ ประเทศที่พร้อมอ้าแขนรับ เพื่อที่เขาและทีมงานจะได้กลับมาสร้างสรรค์และสนุกกับงานศิลปะที่ตัวเองรักได้เต็มที่เสียที
“เมื่อถึงวันนั้น ผมมองว่าประเทศไทยไม่เอาเอง ผมให้โอกาสประเทศแล้วแต่ไม่มีใครเอา ผมก็เอาศิลปะไปแสดงที่อื่น ไปอยู่เมืองนอกก็ได้ ไปสร้างศิลปะแล้วยกให้เขาไป ไม่ได้พูดเพราะความท้อ แต่เพราะเราสู้ทุกอย่างแล้ว แล้วนี่ก็น่าจะเป็นลู่ทางสุดท้ายของเราจริงๆ” สุรินทร์ทิ้งท้าย ด้วยน้ำเสียงกึ่งจะปลงได้บ้างแล้ว
ถ้าเหตุการณ์ดังกล่าวต้องเกิดขึ้นจริง นี่คงเป็นสิ่งบ่งชี้ความผิดพลาดอย่างมหันต์ของระบบสังคมที่ไม่อาจสร้างกลไกขึ้นมาธำรงรักษาศิลปวัฒนธรรมไทยที่ยังพอมีลมหายใจ ...ให้ยังคงมีชีวิตอยู่คู่แผ่นดินสืบไปได้!
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|