|
ธุรกิจของเล่นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
โดย
นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
แม้ว่าบริษัท พิณอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จะมีประสบการณ์ผลิตของเล่นกว่า 10 ปี แต่ธุรกิจจะยั่งยืนได้ต้องสร้างแบรนด์ของตัวเองมากกว่าการย่ำอยู่กับที่ในฐานะผู้ผลิตโออีเอ็ม
ในปีนี้บริษัท พิณอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายของเล่นเด็กได้กำหนดเป้าหมายว่าจะมีรายได้ประมาณ 900 ล้านบาท แม้เวลาจะผ่านไปครึ่งปีแล้ว แต่ผู้บริหารก็ยอมรับว่าต้นทุนการบริหารงาน และวัตถุดิบยังเป็นเรื่องน่ากังวลและอาจมีผลต่อแผนธุรกิจ
ของเล่นเด็กเกือบ 100 ประเภททั้งหมดผลิตจากไม้ยางพารา ซึ่งเป็นวัตถุ ดิบหลักมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 10-20 เป็นสิ่งที่บริษัทไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะบริษัทเลือกผลิตสินค้าจากไม้ยางพาราเพียงอย่างเดียว
นอกจากต้นทุนจากวัตถุดิบไม้ยางพาราที่เพิ่มสูงขึ้น แนวโน้มค่าแรงจะเพิ่มขึ้น ในอนาคตเป็น 250 บาท หลังจากรัฐบาลประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหนเข้ามา บริหารงานค่าแรงจะปรับสูงขึ้น เพราะเป็นนโยบายของทุกพรรคการเมืองที่เริ่มใช้หาเสียงในสภาวการณ์นี้ และดูเหมือนว่า ดุษฎี เลาติเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พิณอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จะรับรู้ล่วงหน้าเป็นอย่างดี เพราะปัจจุบันบริษัทมีพนักงานทำงานถึง 1,200 คน โดยมีพนักงานประมาณ 90 คน เป็นแรงงานต่างด้าวจากประเทศกัมพูชา
ดุษฎีตระหนักดีว่าหากปรารถนาจะให้ธุรกิจอยู่รอดได้ต้องเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน โดยเฉพาะการแสวงหาโอกาสในตลาดใหม่ๆ ในต่างประเทศ ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา เพราะประเทศเหล่านี้ให้ความสำคัญกับของเด็กเล่นเนื่องจากมองว่าเป็นการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของเด็กๆ
ปัจจุบันบริษัท พิณอินเตอร์เนชั่น แนลฯ ผลิตสินค้าและจำหน่ายของเล่นเด็ก ทั้งภายใต้แบรนด์ของตัวเองชื่อว่า “Pintoy” และรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์อื่นๆ หรือที่เรียกว่า OEM: Original Equipment Manufacturer และสินค้าที่บริษัทผลิตอยู่ในปัจจุบันมี 3 ประเภทคือ ของเล่นเด็ก (Toy) เกม และเฟอร์นิเจอร์เด็ก
ลูกค้ารายใหญ่ที่บริษัทรับจ้างผลิตให้ในปัจจุบันคือ อีเกีย (IKEA) ร้านขายเครื่องเรือนและของใช้ภายในบ้านรายใหญ่ ประเทศสวีเดน
บริษัทผลิตสินค้าให้กับอีเกีย อาทิ โต๊ะ เก้าอี้ ประมาณ 1 ล้านชิ้น และเตียงอีก 1 แสนชิ้น จากปริมาณการผลิตจำนวน มาก บริษัทได้ตั้งบริษัท พิณอินเตอร์วู้ด จำกัด ขึ้นมาเพื่อผลิตให้กับอีเกียโดยตรง ในขณะที่บริษัท พิณอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จะทำหน้าที่ผลิตและจำหน่ายสินค้า ภายใต้แบรนด์ Pintoy และรับจ้างผลิตโออีเอ็มให้กับแบรนด์อื่นๆ
แม้ว่าสัดส่วนการผลิตภายใต้แบรนด์ของตัวเอง และโออีเอ็มจะใกล้เคียงกัน แต่ในอนาคตบริษัทกำหนดเป้าหมายจะผลักดันแบรนด์ Pintoy ให้ตลาดรับรู้ทั้งในและต่างประเทศ เพราะการสร้างแบรนด์ของตนเองสามารถกำหนดทิศทางธุรกิจได้ชัดเจน และลดการพึ่งพาทำให้บริษัทไม่มีความเสี่ยงมากนัก
ปัจจุบันบริษัทผลิตและจำหน่ายสินค้าไปต่างประเทศร้อยละ 70 และจำหน่ายในประเทศร้อยละ 30 โดยการทำตลาดในต่างประเทศ จะผ่านตัวแทนจำหน่ายเกือบ 20 ประเทศ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส เบลเยียม อังกฤษ สวีเดน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ อิสราเอล สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น
จะสังเกตได้ว่าลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทจะอยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว และจากความร่วมมือกับตัวแทนจำหน่ายทำให้บริษัทได้มองเห็นโอกาสขยายตลาดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในตลาดโรงเรียน เพราะรัฐบาลจะสนับสนุนเงินทุนจัดซื้ออุปกรณ์โรงเรียน เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ตู้ และของเล่นเด็กเข้าไปในการเรียนการสอนของเด็ก
ดุษฎีเล่าว่าที่ผ่านมาเฟอร์นิเจอร์สำหรับเด็กที่บริษัทผลิตอยู่ในปัจจุบันจำหน่ายผ่านตัวแทนจำหน่ายจะขายให้กับลูกค้าที่เป็นบ้านมากกว่าโรงเรียน แต่หลังจากศึกษาถึงคุณภาพของสินค้าที่ผลิตแล้วพบว่ามีความคงทน และเหมาะสมกับโรงเรียน
การแข่งขันในตลาดต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีคู่แข่งทั่วโลก และสิ่งสำคัญต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบเงื่อนไข ในการผลิต และยิ่งเป็นสินค้าเด็กจะมีกฎระเบียบเข้มข้น และเงื่อนไข กฎระเบียบจะมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยเพื่อคำนึงถึงความปลอดภัย
ด้วยกฎระเบียบที่เข้มข้น บริษัทจึงมีหน่วยงานพัฒนาและวิจัย เพื่อดูแลและทำหน้าที่ทดสอบความปลอดภัยของเล่นเด็กให้อยู่ในมาตรฐานสากล เช่น ต้องไม่แหลมคม และตกกี่ครั้งของจะไม่แตก สีที่ใช้ต้องไม่เป็นอันตราย
ฝ่ายพัฒนาและวิจัยนอกจะดูแลด้าน ความปลอดภัยแล้ว ต้องดูแลเรื่องต้นแบบของผลิตภัณฑ์รวมไปถึงวัสดุที่ใช้บรรจุสินค้า
นอกจากฝ่ายพัฒนาและวิจัยที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก แผนกออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นอีกส่วนสำคัญที่บริษัทต้องคิดค้นผลิตสินค้าออกสู่ตลาดใหม่ๆ ทุกปี หรือประมาณ 20-30 รูปแบบ เพื่อรองรับกับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 ขวบไปจนถึงเด็ก 7-8 ขวบ
ดังนั้น การออกแบบสินค้าใหม่ๆ ต้องคำนึงถึงวัยของเด็ก ดุษฎีเล่าจากประสบการณ์ในฐานะที่อยู่ในวงการธุรกิจของเล่นมากว่า 10 ปีว่า เด็กวัยประมาณ 1 ขวบ จะเริ่มฟังและจับสิ่งของทุกอย่างที่ใกล้มือ และมักจะจับเข้าปากเสมอ ฉะนั้นของเล่นเด็กวัยดังกล่าวจะต้องมีขนาดใหญ่ และไม่สามารถกลืนได้ รวมทั้งสีที่ใช้ต้องไม่เป็นอันตราย
ส่วนเด็กวัย 2-3 ขวบ เริ่มรับรู้เรื่องของรูปทรง ฉะนั้นของเล่นเด็กจะต้องเริ่มมีรูปร่างวงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสสัมผัส
จึงเห็นได้ว่า สินค้าของบริษัทที่ตั้งโชว์อยู่ในห้องแสดงสินค้าบริเวณชั้น 2 ภายในโรงงานบนถนนสุขุมวิท-พานทอง จังหวัดชลบุรี เต็มไปด้วยของเล่นมากมาย ตั้งแต่ฟันน้ำนม ตึกจำลองสถานีดับเพลิง สถานีตำรวจ โต๊ะ เก้าอี้ ห้องจำลอง ห้องครัวที่เต็มไปด้วยไมโครเวฟ เตาแก๊ส ไปจนถึงของเล่นขนาดใหญ่ เช่น การจำลองการก่อสร้าง รวมไปถึงเกมหมากรุก และโกะของประเทศญี่ปุ่น ของเด็กเล่นเหล่านี้ล้วนมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมทักษะแทบทั้งสิ้น
ทีมออกแบบสินค้าจึงเป็นส่วนหนึ่งของหัวใจในการผลิตสินค้า และยอมรับว่าบางครั้งสินค้าจะถูกลอกเลียนแบบบ้าง แม้ในตอนแรกบริษัทจะกังวลแต่ก็ไม่สามารถฟ้องร้องทุกครั้ง สิ่งที่บริษัทจะทำได้ก็เพียงแต่พัฒนาสินค้าใหม่ๆ ออกมาอย่างสม่ำเสมอ และพัฒนาตลอดเวลา แนวทางดังกล่าวจะช่วยทำให้บริษัทที่ลอกเลียนแบบตามไม่ทัน
บริษัทมีทีมนักออกแบบทำงานประจำ 6 คน และมีนักออกแบบอิสระอีก 2 คน นอกจากนี้บริษัทจะเปิดรับพิจารณา ซื้อแบบจากนักออกแบบต่างประเทศบ้าง
จากการสอบถามของ ผู้จัดการ 360 ํ เกี่ยวกับนโยบายการสนับสนุนนักออกแบบเพื่อแข่งขันในตลาด บริษัทยังไม่ได้สนับสนุนโดยตรง แต่นักออกแบบจะนำเสนอผลงานเพื่อแข่งขันด้วยตนเอง ซึ่งแตกต่างจากธุรกิจในต่างประเทศที่ให้ความสำคัญในด้านการออกแบบค่อนข้างมาก
ปัจจุบันธุรกิจของเล่นเด็กส่งออกของประเทศไทยมีมูลค่า 9 พันล้านบาท มีผู้ประกอบการอยู่ 20 แห่ง ส่วนใหญ่ผู้ผลิตเลือกผลิตของเล่นจากพลาสติกร้อยละ 50 ผลิตจากผ้าร้อยละ 30 และที่เหลือผลิตจากไม้และอื่นๆ
ดุษฎีเล่าถึงเหตุผลที่ผลิตของเล่นจากไม้ยางพารา เพราะประเทศไทยมีไม้ยางพาราจำนวนมาก และมีลายสีน้ำตาลอ่อนและขาว ซึ่งสวยงามกว่าของมาเลเซีย และของเล่นไม้มีเสน่ห์และคลาสสิกมากกว่าของเล่นที่ทำจากพลาสติก สิ่งสำคัญกระบวนการผลิตของเล่นไม้ต้องใช้คนผลิต เพราะต้องใช้ความพิถีพิถันให้ของเล่นมีลักษณะมนกลม ไม่แหลมคม ทำให้ไม่เกิด อุบัติเหตุได้ง่าย
ข้อเสียของเล่นไม้ยางพาราคือไม่สามารถโดนน้ำ หรืออยู่กลางแจ้งได้เป็นเวลานาน เพราะจะทำให้เสียหายจึงเหมาะ เล่นภายในร่มมากกว่า
แม้ดุษฎีจะมีประสบการณ์ทำธุรกิจ 25 ปี ในช่วงเริ่มต้นของธุรกิจบริษัทมีอัตรา การเติบโตร้อยละ 30-40 แต่ในปัจจุบันเหลือร้อยละ 4-5 ทั้งนี้เพราะว่าฐานที่กว้าง ขึ้นจึงทำให้อัตราการเติบโตลดลง แม้ว่า การเติบโตจะลดลง แต่บริษัทก็ยืนยันที่จะขยายตลาดออกไปในยุโรปและสหัฐอเมริกา มากกว่า
ส่วนในกลุ่มประเทศเอเชียบริษัท ทำตลาดในญี่ปุ่น ไต้หวัน และฟิลิปปินส์ และโอกาสขยายธุรกิจในกลุ่มอาเซียนมีความเป็นไปได้จะขยายเพิ่มมากขึ้นและเป็นไปตามข้อตกลงการค้าของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ASEAN Economic Community: AEC)
ประเทศที่จะไม่เข้าไปลงทุนหรือขยายตลาดคือประเทศจีน เพราะจีนเป็นผู้ผลิตของเล่นรายใหญ่ของโลก และมีการลอกเลียนแบบจำนวนมาก
ดุษฎีมองว่าบริษัทเคยเข้าไปศึกษาตลาดในจีน และพบว่าจีนเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะค่าแรงที่สูงขึ้น และจีนมุ่งเน้นพัฒนาไปใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะ ในภาคใต้ของจีน ส่วนภาคเหนือแม้ว่าจะมีค่าแรงถูก แต่การเดินทางระยะไกลไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน และมองว่าจีนไม่เหมาะ ต่อการลงทุนแล้วในปัจจุบัน
แม้ว่าสภาพการแข่งขันที่สูงขึ้นทุกๆ ปีก็ตาม แต่ดุษฎีก็ยืนยันว่าจะไม่นำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะยังต้องการให้ธุรกิจอยู่ภายใต้การดูแลของครอบครัว และมองว่ามีเงินทุนลงทุนเพียงพอโดยไม่ต้องเข้าระดมเงินทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
และแม้ว่าดุษฎีจะรู้ดีว่าธุรกิจของเล่นที่ทำจากไม้จะมีโอกาสเติบโตน้อยมาก แต่จะอยู่ในสภาวะคงที่ เพราะธุรกิจนี้กระบวนการผลิตยังต้องใช้แรงงานมีฝีมือในการทำงาน สะท้อนให้เห็นถึงต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ภายในสิ้นปีนี้เขามีแผนที่จะสั่งนำเข้าเครื่องจักรใหม่ สำหรับพ่นสี เพื่อลดแรงงานคนและทำให้น้ำหนักมาตรฐาน
จะเห็นว่าบริษัทต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาศักยภาพไปสู่การแข่งขันที่นับวันจะเข้มข้นมากขึ้น เพราะตลาดของเด็กเล่นไม่เคยหยุดพัฒนา
ดุษฎียืนยันที่จะสานธุรกิจนี้ต่อไป เพื่อส่งต่อให้กับทายาทของเขา 2 คน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|