CEO มืออาชีพคนแรก

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

4 ทศวรรษของเกียรตินาคิน บริหารงานผ่านตระกูลวัธนเวคินมาตลอด โดยมี “สุพล วัธนเวคิน” นั่งตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด ทว่า ปีนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหลังจากตัดสินใจแต่งตั้ง “ธวัชไชย สุทธิกิจพิศาล” ในฐานะคนนอก นั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนแรก

แม้ว่าเอกสารข่าวของธนาคารเกียรตินาคินที่ส่งถึงสื่อมวลชนในช่วงต้นเดือนมกราคม ระบุว่าธนาคารได้แต่งตั้ง ธวัชไชย สุทธิกิจพิศาล ขึ้นเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและควบตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่อีกตำแหน่ง มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554

โดยมีสุพล วัธนเวคิน อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารขึ้นดำรงตำแหน่งประธาน กรรมการ และเหตุผลการปรับเปลี่ยนตำแหน่งในครั้งนั้นมาจากนวพร เรืองสกุล ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการและประธานกรรมการ เพื่อไปเป็นประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

แม้เหตุผลที่กล่าวมาในเบื้องต้นอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยน ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ทว่าหากตระกูลวัธนเวคินต้องการบริหารงานโดยครอบครัว ต่อไปก็น่าจะสามารถกระทำได้เพราะในธนาคารเกียรตินาคินยังมีฐิตินันท์ วัธนเวคิน ประธานสายธุรกิจเงินฝากและการตลาด น้องสาวของสุพล วัธนเวคิน ร่วมบริหารงานอยู่ แต่เธอได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นกรรมการในช่วงเวลาเดียวกัน

ก่อนธวัชไชยจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของเกียรตินาคิน เขานั่งอยู่ใน ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงรองจากสุพล วัธนเวคิน เขาเริ่มทำงานกับธนาคารเกียรตินาคิน ปี 2542 ในยุคยังเป็นบริษัท เงินทุนเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่งกรรมการและประธานสายสินเชื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย สินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่ออุปโภค บริโภค

หลังจากบริษัทเปลี่ยนมาเป็นธนาคาร เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่และกรรมการบริหารความเสี่ยงและประธานกรรมการในบริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคิน จำกัด ซึ่งเป็นการเพิ่มตำแหน่งและขยายความรับผิดชอบมากขึ้น

ก่อนเข้าร่วมงานกับธนาคารมีประสบการณ์ทำงานกับบริษัทหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ ดูแลด้านวาณิชธนกิจ (Investment Banking) บริหารควบรวมกิจการ ระดมทุนซื้อขายหลักทรัพย์ ในตอนนั้นเป็นยุคบูมของตลาดหุ้น

ผู้จัดการ 360 ํ มีโอกาสสัมภาษณ์ ธวัชไชย สุทธิกิจพิศาล หลังจากเข้ามาบริหารงานในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เป็นเวลา 5 เดือน

ธวัชไชยในวัย 51 ปี เป็นผู้บริหารมืออาชีพคนแรกที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของธนาคารเกียรตินาคิน และยังเป็นคนแรกที่นั่งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ หลังจากที่ธนาคารได้รับการยกระดับให้เป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบในชื่อว่า ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) เมื่อ 3 ตุลาคม 2548 จากเดิมบริหารภายใต้บริษัทเงินทุนเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน)

ประสบการณ์ทำงานกว่า 10 ปีในธนาคาร เขาได้รับการชี้แนะจากทั้งสุพล และผู้บริหารที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการ

งานแรกที่เริ่มทำคือปรับโครงสร้าง หนี้ ในปี 2542 หลังจากประเทศไทยประสบภาวะวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 เริ่มจากปรับโครงสร้างหนี้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และเริ่มเรียนรู้การปล่อยสินเชื่อ

“ผมโชคดีได้ดูสินเชื่อหลังจากผ่านวิกฤติ เพราะตอนทำวาณิชธนกิจไม่มีหุ้นเข้าตลาด มีแต่เรื่องแก้ไขปัญหาบริษัท มีแต่เรื่องปรับโครงสร้างหนี้ ธุรกิจขาดสภาพ คล่อง”

หลังจากมาอยู่ในสถาบันการเงิน ผู้บริหารได้สอนให้รู้จักความเสี่ยง เป็นความโดดเด่นของแบงก์ที่มองเห็นความเสี่ยง อยู่เสมอ ในขณะที่ธุรกิจจะมองเห็นโอกาส

จากประสบการณ์ทั้งสองด้าน ธวัชไชยเรียนรู้ทั้งสองด้าน คือ “โอกาส” และ “ความเสี่ยง” ทำให้เขานำมาปรับใช้ในการทำงาน โดยเฉพาะหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 มีโครงการอสังหาริมทรัพย์ มากมายที่ติดค้างอยู่กับสถาบันการเงินและในตอนนั้นธนาคารไม่ยอมปล่อยเงินกู้เพราะกลัว

แต่ธวัชชัยกลับมองเห็นโอกาสว่า มีคนต้องการซื้อบ้าน เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น มีหลักประกันแน่นอน เขาบอกผู้บริหารให้อัดฉีดเข้าไปในโครงการเริ่มจากเล็กๆ และค่อยๆ เก็บ จนประสบความสำเร็จ จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้รู้ว่าไม่ควรกลัวความเสี่ยงจนเกินไป เพราะโอกาสมันมีให้กับคนที่กล้าเสี่ยง

ความโชคดีของธนาคารเกียรตินาคินคือไม่ได้ปล่อยสินเชื่อก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ เพราะธนาคารที่ทำและหลังจาก เกิดเหตุการณ์จะกลัวเป็นพิเศษ และก่อนหน้านั้นก็กล้าเป็นพิเศษ

สิ่งที่ธวัชไชยเล่าให้ ผู้จัดการ 360 ํฟังนี้อาจเป็นผลงานชิ้นเอกของเขา ทำให้ผู้บริหารเห็นความโดดเด่นในวิสัยทัศน์ของเขาก็อาจเป็นได้ จนมีโอกาสขึ้นมายืนเป็นผู้บริหารแนวหน้าขององค์กร

รวมถึงผลงานที่ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินให้เติบโต 2 เท่า เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา จาก 68,000 ล้านบาท มาเป็น 140,000 ล้านบาท ซึ่งเขาก็ทำได้อย่างน่าพอใจ

สำหรับการแต่งตั้งธวัชไชยเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เขาก็ยอมรับว่ารู้ล่วงหน้าไม่นาน ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจ มากนัก

“การเปลี่ยนแปลง ผมมองว่าเป็นเรื่องปกติ คนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปเป็นวัฏจักร ผมมองว่าเป็นอย่างนั้นเมื่อถึงเวลาผมก็ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไป” ธวัชไชยกล่าวกับ ผู้จัดการ 360 ํ

แม้ว่าธนาคารจะถูกบริหารโดยผู้ถือหุ้นมาตลอด แต่ในระดับบริหารธนาคารได้ว่าจ้างมืออาชีพมาบริหารงานร่วม แต่การบริหารงานตลอด 40 ปีที่ผ่านมาทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่าองค์กรแห่งนี้ได้ “ยึดตัวบุคคล” เป็นหลัก

ดังนั้น ภายใต้การบริหารงานของธวัชไชย เขาจึงต้องการให้ธนาคารมีความเป็นสถาบันมากขึ้น พร้อมกับให้คำนิยามคำว่าสถาบัน

“ผมคิดว่าความหมายของสถาบัน คือยึดหลักการทำงานเป็นมืออาชีพมากกว่าบุคคล มากกว่ายึดแฟมิลี แต่สถาบันยึดตำแหน่ง หลักการ แนวปฏิบัติ สิ่งที่ตกลงล่วงหน้า ต่างกันตรงนี้”

อาจเป็นวัฏจักรของธุรกิจที่เริ่มต้นจากครอบครัว และบริหารโดยเจ้าของกิจการ เพราะในอดีตธุรกิจยังมีขนาดเล็ก การบริหารคล่องตัว แต่เมื่อองค์กรเริ่มเติบโต มากขึ้น การบริหารการจัดการจึงต้องเปลี่ยน ไปตามกาลเวลา และธนาคารเกียรตินาคิน อาจมองว่าได้เวลาเหมาะสมที่มืออาชีพควรเข้ามาบริหารองค์กรแห่งนี้

แม้ว่าธนาคารเกียรตินาคินจะยืนยันว่าระบบบริหารงานมีความเป็นสถาบันมาโดยตลอด แต่ไม่ได้เน้นในเชิงรูปธรรมมากนัก จากนี้ไปจะมีความชัดเจน มากขึ้น เช่น กระจายอำนาจตัดสินใจ มีแนวทางบอกให้รับรู้ทั้งองค์กรว่าสถาบันคืออะไร ค่านิยมคืออะไร กรอบคืออะไร

ในระดับผู้บริหารการสื่อสารความเป็นสถาบันนั้นไม่ยากเกินจะสื่อความหมาย และทำให้เห็นเป็นรูปธรรม เพราะหลักการทำงานขององค์กรมีทิศทางชัดเจน ตลอดจนอยู่ภายใต้กฎระเบียบของตลาดหลัก ทรัพย์ฯ

แต่ในฝั่งของพนักงานอาจต้องใช้เวลาในการสื่อสาร เพราะการปฏิบัติงานที่ยึดตัวบุคคลมาเป็นเวลานานจะต้องสร้างวัฒนธรรมให้พนักงานยึดตำแหน่ง และทิศทางของธุรกิจเป็นหลัก รวมถึงการปรับให้พนักงานมีความกระฉับกระเฉง และคล่องแคล่วในการทำงานมากขึ้น

สิ่งหนึ่งที่ธวัชไชยพยายามเปลี่ยนแปลงทัศนคติของพนักงาน เขาเริ่มปรับปรุงคอลเซ็นเตอร์ภายในบริษัทอย่างเป็นรูปธรรม ให้พนักงานร้องทุกข์ หรือตอบข้อสงสัยของพนักงานเกี่ยวกับระบบการทำงาน หรือสวัสดิการได้ทุกเรื่อง เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่าบริษัทเอาใจใส่ดูแลเรื่องราวของพนักงาน เพราะธวัชไชยมีความเชื่อว่าการดูแลพนักงานดีจะสะท้อน ไปสู่การบริการที่ดีให้กับลูกค้า

แม้ภาพลักษณ์ของเกียรตินาคินจะชูมืออาชีพมาเป็นผู้นำ แต่ทิศทางการทำงานไม่ได้หนีไปจากเดิม เพราะธนาคาร ได้กำหนดบทบาทว่าเป็นธนาคารขนาดเล็ก เน้นให้บริการลูกค้าเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ เช่น ธุรกิจเช่า-ซื้อรถยนต์ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจเอสเอ็มอี

ธนาคารได้ชี้ให้เห็นถึงความเป็นสถาบันการเงินขนาดเล็กว่า เมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารใหญ่ 4 แห่งที่อยู่ในตลาด มีส่วนแบ่งการตลาดรวมกันร้อยละ 66 ในขณะที่ธนาคารมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 2

ดังนั้นแนวคิดในการสร้างผลิตภัณฑ์ของธนาคารก็ยังไม่หลุดกรอบจากสิ่งที่มีอยู่ คือขายผลิตภัณฑ์ที่ธนาคารมีอยู่ เช่น สินเชื่อ รับเงินฝาก และรับผลิตภัณฑ์ของคู่ค้าเข้ามาจำหน่าย เช่น กองทุนรวม ประกันชีวิต และประกันภัย เป็นต้น

ความแตกต่างของการขายสินค้าและบริการของธนาคารจะแตกต่างจากธนาคารขนาดใหญ่ที่จะกำหนดบทบาทตนเองให้เป็น Universal Banking คือสร้างผลิตภัณฑ์ของตนเองหลากหลายและขายทุกอย่างที่มีให้กับลูกค้า พร้อมกับจูงใจ บริการในรูปแบบ one stop service

แต่ธนาคารเกียรตินาคินมีสินค้าคล้ายคลึงกับธนาคารใหญ่ เช่น เงินฝาก สินเชื่อ กองทุนรวม ประกันชีวิต ประกันภัย หรือขายหุ้น แต่สินค้าที่มีไม่ได้เป็นของธนาคารทั้งหมด ธนาคารจึงเรียกตัวเองว่า “ธนาคารเปิด” มีสินค้าให้ลูกค้าได้เลือกทั้ง ผลิตภัณฑ์และแบรนด์สินค้าที่แตกต่างและหลากหลาย

การไม่ยึดติดกับผลิตภัณฑ์ของธนาคารเพียงอย่างเดียว ทำให้ธนาคารต้องสร้างความแตกต่างจากสถาบันการเงินอื่นๆ ด้วยการพยายามสร้างความชำนาญด้าน “การขายและบริการ”

“ผู้บริหารที่เป็นธนาคารใหญ่ๆ เขา ไม่ถามหรอกว่า ทำไมลูกค้ามากู้เงินที่แบงก์ เขา แต่ผมถามตัวเองเสมอว่าทำไมเขามากู้เงินที่เกียรตินาคิน เพราะว่าเราเล็ก สาขา ไม่มาก ผมต้องหาคำตอบนี้ เพราะถ้ารู้คือ จุดแข็งที่ต้องทำต่อไป แต่สิ่งที่ผมทราบอยู่เสมอ และข้อความซ้ำๆ กันคือพนักงานเราตั้งใจ เข้าใจ ใส่ใจ ช่วยเหลือเขา คุยกับเขา เข้าใจธุรกิจของเขามากกว่า ผมจะบอกพนักงานเสมอว่าเป็นสิ่งเดียวที่เราจับต้องได้ เป็นเหตุผลเดียวที่ลูกค้าเดินเข้า มาเกียรตินาคิน เป็นเหตุผลเดียวที่เราใส่ใจ มุ่งมั่น ตั้งใจมากกว่า”

และเพื่อให้การขายและบริการจับต้องได้ชัดเจนมากขึ้น ธวัชไชยให้ตั้งหน่วยงาน “Wealth Management เพื่อดูแลลูกค้าใกล้ชิดมากขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าที่มีเงินออมตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไป และอยู่ในรูปแบบของการลงทุนหลายประเภท เช่น หุ้น เงินฝาก และหน้าที่อีกส่วนหนึ่งของกลุ่มนี้คือการนำผลิตภัณฑ์ของคู่ค้ามาพัฒนาและปรับให้เหมาะสมกับลูกค้าของธนาคาร ส่วนนี้จะเห็นชัดเจนภายในปีหน้า การขยายฐานลูกค้าเงินฝากเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการปล่อย สินเชื่อและเงินฝาก ธนาคารได้เริ่มขยายฐานลูกค้าเงินฝากให้น้อยลง เริ่มตั้งแต่ 1 แสนบาทและ 1 ล้านบาท ซึ่งได้เริ่มเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา

การขยายฐานลูกค้าเงินฝากทำให้ธนาคารต้องขยายสาขาเพิ่มอีก 10 แห่งจากปัจจุบันมีทั้งหมด 65 แห่งทั่วประเทศ ภายในปีนี้ และเริ่มเปิดให้บริการภายในห้างสรรพสินค้า บริการ 7 วัน โดยเป้าหมายของการขยายสาขาเพื่อความสะดวกของลูกค้า

การขยายสาขาไม่ได้มีวัตถุประสงค์ เพื่อรองรับลูกค้าเงินฝากเพียงอย่างเดียว แต่ธนาคารยังมีเป้าหมายให้สาขาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแบรนด์ให้เกิดความน่าเชื่อถือในวงกว้าง เพราะธนาคารเชื่อว่าหาก ลูกค้าได้รับบริการที่ดี ก็ย่อมมีการบอกต่อ

ลูกค้าเอสเอ็มอีเป็นกลุ่มที่เหมาะสมกับธนาคารมากที่สุด เนื่องจากมีความคล่องตัวทั้งสองฝ่าย ทำให้ธนาคารมีแผนจะขยายลูกค้ากลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันมีฐานประมาณ 1 พันราย อย่างไรก็ดีธนาคารกำลังอยู่ระหว่างการคัดแยกลูกค้าเช่าซื้อและเอสเอ็มอีออกจากกัน เพราะมีบางส่วนยังปนกันอยู่ และมีฐานการปล่อยสินเชื่อโดยรวมราว 25,000 ล้านบาท โดยร้อยละ 70 เป็นธุรกิจเช่าซื้อหรือมีลูกค้า ประมาณ 3 แสนราย และร้อยละ 30 เป็นเอสเอ็มอี แต่หากมีการแยกฐานลูกค้าอย่างชัดเจนจะช่วยทำให้ตลาดของเอสเอ็มอีขยายกว้างมากขึ้น เพราะปัจจุบันการปล่อย สินเชื่อให้กับลูกค้ากลุ่มนี้เริ่มตั้งแต่ 1-2 ล้านบาทไปจนถึง 100 ล้านบาท

จะเห็นได้ว่าทิศทางการทำธุรกิจของธนาคารจะมุ่งเน้นลูกค้าเดิมที่มีอยู่เป็นหลัก แต่จะพยายามแยกลูกค้าที่ปะปนกันอยู่ให้มีความชัดเจนเพื่อแบ่งกลุ่มให้สอด คล้องกับการขายและบริการให้ตรงกับความต้องการลูกค้า

แผนธุรกิจที่ชัดเจนทำให้ธวัชไชย กำหนดเป้าหมายไว้ว่าองค์กรจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ทั้งทรัพย์สินและรายได้จากปัจจุบันในปี 2553 บริษัทมีรายได้ 141,900.09 ล้านบาท มีรายได้ 11,762.10 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2,840.15 ล้านบาท และผลการดำเนินงานตลอด 4 ปีที่ผ่านมารายได้ กำไร และสินทรัพย์โตอย่างต่อเนื่อง

ธนาคารเกียรตินาคินเป็นสถาบันการเงินที่ค่อนข้างระมัดระวังในการทำธุรกิจ และจะไม่เสี่ยงลงทุนจนหมดหน้าตักเพราะจากประสบการณ์เมื่อปี 2540 ที่ผ่านมาทำให้สถาบันการเงินต้องปิดกิจการไปถึง 57 แห่ง รวมถึงบริษัทเงินทุนเกียรตินาคินในขณะนั้นด้วย แต่บริษัทก็สามารถแก้ปัญหาธุรกิจจนสามารถรอดพ้นมาได้

จึงทำให้ธนาคารเชื่อมาโดยตลอดว่าการบริหารในรูปแบบ conservative เป็นสิ่งที่ทำให้ธนาคารอยู่รอดปลอดภัยมาได้จวบจนทุกวันนี้ และได้ถูกถ่ายทอดการบริหารงานมาจนถึงผู้บริหารในปัจจุบัน รวมถึงธวัชไชยได้ซึมซับประสบการณ์ดังกล่าวเช่นเดียวกัน

เหมือนดังเช่นคำพูดของธวัชไชยที่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแข่งขันของสถาบันการเงินในประเทศไทยในปัจจุบันว่า

“ผมขอพูดถึงธนาคารขนาดเล็ก และกลางเป็นเรื่องของธุรกิจทั่วไป ไม่อยากให้เราไปสนใจเล็ก กลาง ใหญ่ แต่สิ่งที่เราสนใจกลุ่มเป้าหมายเราเป็นใคร จริงจังกับการบริหารจัดการคนยังไง ให้โอกาสทุ่มเท ให้คนได้ดี พัฒนาคนอ่อนทำยังไง ไปในทิศทางเดียวกัน ไม่เสียเวลากับเรื่องไม่เป็นเรื่อง หรือเรื่องของตัวเองจะได้อะไร”

คำกล่าวของธวัชไชยได้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นตัวตนของธนาคารเกียรตินาคินได้เป็นอย่างดีและความท้าทายของเขาในฐานะซีอีโอ คือเปลี่ยนองค์กรให้เป็นสถาบัน ยึดตัวบุคคลน้อยลง มีวัฒนธรรมที่เอื้อต่อความสำเร็จ รวดเร็ว กระฉับกระเฉง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.