|

เปลี่ยน “มะเร็งปอด” เป็น “เครื่องฟอกอากาศยักษ์”
โดย
ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
“ไม่เห็นมีน้ำเลย” เสียงเปรยที่ได้ยินไปทั่วเมื่อมือสร้างฝายสมัครเล่นจากทั่วจังหวัดระยองร่วม 2 พันคนไต่ขึ้นเขาไปยังจุดสร้างฝายบนเขายายดา ที่บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด เตรียมไว้ในงาน “สร้างฝายกับ SCG คืนชีวีให้เขายายดา” เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา ขณะที่เสียงตอบกลับของชาวบ้านในพื้นที่ที่เข้ามาร่วมเป็นแรงงานหลักในการสร้างฝายอธิบายกลับไปว่า “นี่ดีกว่าสองปีที่แล้วเยอะแล้วครับ”
สภาพแวดล้อมจากที่สัมผัสได้ด้วยตัวเอง ต้องยอมรับว่า อากาศวันนั้นช่างอบอ้าว ไม่มีลม ไม่มีฝน แดดร้อนจ้า การเดินเท้าในระยะแค่ไม่เกิน 100 เมตรจากตีนเขามาจุดสร้างฝาย ก็เรียกเหงื่อได้เต็มหน้าเต็มหลัง อาจจะทำให้รู้สึกรำคาญอยู่บ้าง แต่การได้นั่งใต้ร่มไม้ในป่าสักพักแค่ลมเบาๆ พัดมาก็รู้สึกเย็นชื่นขึ้นแล้ว ผิดกับสัมผัสของลมร้อนจากผิวคอนกรีตในเมืองที่คุ้นเคยอย่างสิ้นเชิง
เขายายดาเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่ากะเฉด-เพ-แกลง ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง ขนาดประมาณ 28,000 ไร่ เคยเสื่อมโทรมหนัก เพิ่งได้รับการฟื้นฟูจากการริเริ่ม เข้าไปรณรงค์สร้างฝายโดยกลุ่มชาวบ้านในชุมชน ภายใต้การสนับสนุนของเอสซีจี เคมิคอลส์ ซึ่งนำแนวคิดสร้างฝายของเครือเอสซีจี ที่ดำเนินงานอยู่มาทดลองทำฝายในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2550 เริ่มจากไม่กี่สิบฝายในปีแรก เพิ่มเป็นฝายที่สร้างไปแล้วจำนวน 1,200 ฝาย
ปัจจุบันสภาพของเขายายดามีเพียงครึ่งหนึ่งของพื้นที่ที่มีสภาพสมบูรณ์จัดอยู่ในระดับลุ่มน้ำคุณภาพ ชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ซึ่งมีศักยภาพในการให้บริการน้ำแก่พื้นที่โดยรอบ รวมทั้งเป็นแหล่งสร้างอากาศบริสุทธิ์ให้กับจังหวัดระยอง ในฐานะผืนป่าสมบูรณ์ที่อยู่ใกล้เขต อำเภอเมืองระยองและใกล้นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดมากที่สุด ต่างจากป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาห้วยมะหาด ป่าเขานั่งยอง และป่าเขาครอก ซึ่งอยู่ติดกับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดที่เสื่อมโทรมและปราศจากการเยียวยา ใดๆ มานานแล้ว
ผลลัพธ์ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่เขายายดาและพื้นที่เกษตรกรรมของชาวสวน ผลไม้ของชุมชนรอบเขายายดา จากสภาพร้อนแห้งแล้ง ขาดน้ำ เช่นเดียวกับหลายพื้นที่ในจังหวัดระยอง ให้กลับมาเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีอากาศเย็นลง นี่เป็นข้อมูลจากการสังเกตด้วยตัวเองของชาวสวนในพื้นที่ ซึ่งยืนยันว่าผลผลิตจากสวนของพวกเขาดีขึ้นในช่วงหลายปีหลังนี้ และที่เห็นได้ชัดคือกรณีที่พื้นที่เขายายดา ไม่เคยต้องเจอกับสภาวะแล้งน้ำ ไม่ต้องเรียกรถน้ำของกรมชลประทานเข้ามาบริการน้ำในพื้นที่เหมือนในอดีต น้ำในสระท้ายสวน ลำธาร แหล่งน้ำต่างๆ ก็ไม่เคยแห้ง ขอดอีกเลย
“เจ้าของสวนยางตรงเชิงเขาซึ่งเป็นป่ากันชน เขาเห็นว่าทำฝายแล้วมีน้ำ ก็เลยทำฝายในพื้นที่เขาเอง ด้วย เพราะอากาศเย็นต้นยางจะให้น้ำยางดีขึ้น” ผู้ใหญ่ เสวตร บุญฤทธิ์ ผู้ใหญ่หมู่ 11 ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง หรือบ้านศาลเจ้าซึ่งมีพื้นที่ติดเขายายดาเล่าให้ฟัง
ส่วนตัวผู้ใหญ่ ในฐานะที่อยู่ในพื้นที่นี้มานาน ก็ยืนยันด้วยว่า เมื่อก่อนเขายายดาเสื่อมโทรมขนาดที่กรมป่าไม้คิดจะให้สัมปทานกับนายทุนเพื่อทำไม้ ดีที่เปลี่ยนแนวทางจัดการมากันพื้นที่เชิงเขาเป็นป่าชุมชนให้ชาวบ้านปลูกสวนยางเพื่อช่วยดูแลป่าแทน แต่ที่ผ่านๆ มา ชุมชนก็ยังต้องมีการเตรียมคนให้พร้อมรับมือกรณีที่เกิดไฟป่า ซึ่งยังเกิดขึ้นบ่อยๆ เพิ่งจะมาหลังการทำฝายนี่เองที่เห็นได้ว่าไฟป่าน้อยลง
“ป่ามันไม่แห้งเหมือนเดิม เออแปลก น้ำตรงฝาย บางทีไม่มีหรอกนะ แต่ใต้ดินมีน้ำ ตอนแรกที่เอสซีจีเข้ามาได้มากี่ฝายก็แบ่งกันไปทำ กลัวไม่ครบ เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้ว ชาวบ้านรู้แล้วว่าทำแล้วได้ผลก็ไม่ต้องเกณฑ์คน”
เมื่อฝายของเครือเอสซีจีใช้ได้ผล เอสซีจี เคมิคอลส์ จึงปักธงดำเนินโครงการรักษ์สิ่งแวดล้อม และรับพันธกิจสร้างฝายจำนวน 5,000 ตัว จากเป้าหมายของทั้งเครือที่ตั้งไว้ 50,000 ตัว เข้ามาดำเนินงานต่อในพื้นที่เขายายดา เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ของการฉลองครบ 100 ปีของเอสซีจีในปี 2556 ด้วยงบประมาณ 15.2 ล้านบาท
ฝายเป็นโครงการรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนในระดับที่ให้ผลต่อชุมชนในวงกว้างของเอสซีจี เคมิคอลส์ โครงการแรกก็ว่าได้ เพราะจากเดิมการทำโครงการเพื่อสังคมแม้จะมีอยู่หลากหลายและทำมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็กระจัดกระจายไปตามชุมชนโดยเฉพาะบริเวณรอบๆ มาบตาพุด ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ตั้งโรงงาน
โครงการที่บริษัททำมามีทั้งโครงการด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โครงการเกี่ยวกับการจัดหาน้ำดื่มสะอาดให้กับชุมชน โครงการสนับสนุนด้านการศึกษาแก่เยาวชน ฯลฯ
ก่อนหน้าที่จะมีโครงการฝายที่เขายายดาในปีนี้ มีการจัดทำโครงการอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อมหาดแม่รำพึง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดระยอง แต่ก็ยังให้ภาพของการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมได้ไม่ชัดเจนเท่ากับโครงการ “สร้างฝายกับเอสซีจี คืนชีวีให้เขายายดา” ในครั้งนี้ โดยเอสซีจี เคมิคอลส์มีงบในการทำซีเอสอาร์เฉพาะบริษัทเองไม่เกี่ยวกับเครืออย่างน้อยปีละ 100 ล้านบาท สำหรับหน่วยธุรกิจที่ทำรายได้ให้กับเครือเอสซีจีมาเป็นอันดับหนึ่งด้วยรายได้ประมาณ 1.5 แสนล้านบาทจากรายได้ทั้งเครือรวมกันมากกว่า 3 แสน ล้านบาท
“การดูแลรักษาธรรมชาติต้องประกอบด้วยความสมดุลของดิน น้ำ ลม ไฟ เช่นเดียวกับการดูแลธาตุต่างๆ ในร่างกายของเรา อวัยวะต่างๆ ทำงานดีก็ส่งผลดีต่อร่างกายทั้งระบบ หากมีอวัยวะไหนเสื่อมชำรุดก็ส่งผลต่อร่างกายทั้งระบบ เช่นเดียวกับธรรมชาติที่ต้องพึ่งพากันอย่างยั่งยืน ถ้าจุดไหนดีก็จะส่งผลดีต่อพื้นที่ใกล้ เคียง” ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ประธานในพิธีเปิดงานครั้งนี้กล่าวเปรียบเปรยสภาพแวดล้อมการทำงานของธรรมชาติที่ไม่ต่างจากระบบที่ทุกคนสังเกตได้จากร่างกายตัวเอง
คำกล่าวของ ดร.สุเมธเป็นความพยายามตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของพื้นที่ป่าสมบูรณ์ที่ให้ประโยชน์ด้านต่างๆ ต่อมนุษย์ โดยเฉพาะมนุษย์ในเขตเมืองที่แวดล้อมไปด้วยมลพิษ ในแต่ละพื้นที่จึงต้องอาศัยการพึ่งพาซึ่งกันและกัน มีป่า มีเขา มีต้นไม้ มีน้ำ มีทะเล มีชุมชน มีโรงงาน เมื่อทุกส่วนอยู่ในภาวะที่สมดุล จึงจะเกิดความยั่งยืนขึ้นได้ หากแค่หวังความเจริญของเมืองและอุตสาหกรรม คนและธรรมชาติก็คงจะมีแต่เสื่อมและตายไป ซึ่งท้ายที่สุดเมืองและอุตสาหกรรมก็จะไปไม่รอดเช่นกัน
“มีคนเปรียบเปรยว่า หากระยองคือ ร่างกาย เขายายดาก็คือปอด ที่ช่วยดูดซับอากาศเสียและฟอกอากาศบริสุทธิ์ให้กับร่างกายนั่นเอง” ชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์กล่าว
หากเปรียบเขายายดาเป็น “ปอด” ที่ทำหน้าที่ฟอกอากาศบริสุทธิ์เช่นนี้ที่ผ่านมาก็อาจจะพูดได้ว่า ปอดลูกนี้เคยถูกเซลล์ มะเร็งเกาะกินไปแล้ว แต่โชคดีที่ได้รับการเยียวยาและฟื้นฟูให้กลับมาแข็งแรงอีกครั้ง เพื่อให้สูบฉีดเลือดเข้าสู่ระบบการฟอกแล้วนำเลือดดีไปสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบร่างกาย หรือจังหวัดระยองในมิติใหม่
จากการคำนวณศักยภาพของเขายายดาในแง่ของการให้น้ำ พบว่า สภาพป่าปัจจุบันซึ่งเป็นป่าดิบแล้งรุ่นที่สองที่เพิ่งฟื้นตัวจากความเสื่อมโทรม เป็นป่าที่มีความสามารถในการเก็บกักน้ำเฉลี่ยได้สูงสุด 509.49 ลบ.ม.ต่อไร่ ดังนั้นจากพื้นที่ทั้งหมด เขายายดาจึงสามารถพัฒนาศักยภาพในการเป็นแหล่งเก็บกักน้ำในธรรมชาติสำรอง ได้เต็มที่มากกว่า 14 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งคงไม่มีใครปฏิเสธว่า “น้ำ” สำหรับชุมชน ภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมในจังหวัด ระยอง มีคุณค่าไม่ต่างจากทองคำบริสุทธิ์เลยทีเดียว
ขณะที่ศักยภาพด้านการให้อากาศบริสุทธิ์ ซึ่งกรมป่าไม้คำนวณไว้ว่า ป่าประเภทนี้สามารถเก็บกักคาร์บอนได ออกไซด์ได้ถึง 65.29 ล้านตันต่อไร่ในรูปของต้นไม้และดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 7.26 ล้านตันต่อไร่ ก็เท่ากับเขายายดาเป็นเครื่องฟอกอากาศยักษ์ที่สามารถฟอกอากาศบริสุทธิ์ได้ถึง 1.8 ล้านล้านตัน ขณะเดียวกันก็ช่วยดูดซับอากาศเสียไว้ได้มากกว่า 2 แสนล้านตัน
นานไปป่าแห่งนี้เติบโตพัฒนาไปสู่ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ศักยภาพเหล่านี้ก็จะยิ่งเพิ่มพูนขึ้นไปอีก ดังนั้นสำหรับธรรมชาติ จึงยังมีที่เหลือให้มนุษย์คิดและย้อนกลับมาฟื้นฟูเพื่อชดเชยการใช้งานที่ผ่านไปได้อีกมากมาย
ส่วนผลลัพธ์ต่อองค์กรที่เข้ามาเป็นกลไกผลักดันอย่างเอสซีจี เคมิคอลส์ ซึ่งมีวิสัยทัศน์ว่า ต้องการเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายในการส่งเสริมและมีส่วนร่วมพัฒนาสังคมในจังหวัดระยองอย่างยั่งยืน ก็คงจะสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย เช่นเดียว กับเป้าหมายการสร้างภาพลักษณ์ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นต้นแบบของโรงงานสีเขียว ที่มุ่งมั่นสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นในการรับผิดชอบต่อสังคมให้กับทุกฝ่าย และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ชุมชน (Beyond CSR) ก็น่าจะผ่านเกณฑ์การประเมินได้ไม่ยากเช่นกัน
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|