|
“ช้างมรดก” ที่ผืนป่าตะวันออก
โดย
ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
ช้างเป็นสัตว์ป่าชนิดหนึ่งที่คงเหลืออยู่จำนวนมากในผืนป่ารอยต่อ 5 จังหวัดในภาคตะวันออก เป็นมรดกที่ตกทอดอยู่ในผืนป่าแห่งนี้มาตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยา และเหลือมาจนถึงยุคปัจจุบัน
คำว่า “มาก” ในที่นี้คือ “มากเกินที่ ธรรมชาติที่เหลืออยู่จะรับไหว” และ “มาก ด้วยจำนวนช้างต่อปริมาณพื้นที่ป่าที่เหลืออยู่” เพราะพื้นป่าภาคตะวันออกซึ่งเคยมีพื้นที่มากกว่า 5 ล้านไร่ในอดีต ตอนนี้มีพื้นที่เหลือเพียง 1.3 ล้านไร่เท่านั้น
ซ้ำร้ายความต่อเนื่องของผืนป่าที่ช้างเคยเดินหากิน ถูกถนนและการเข้ามาเปลี่ยนสภาพป่าเป็นที่ทำกินของมนุษย์มาตัดแยกจากกัน
การไม่รู้กฎจราจร ไม่รู้กติกาของระบบทุนนิยม ไม่รู้จักประเภทการใช้ที่ดินที่เปลี่ยนไป การดำเนินชีวิตภายใต้สัญชาตญาณเดิมๆ จึงสร้างปัญหาให้กับวงศ์วานช้าง ถูกมองว่าก่อกวนความเป็นอยู่ของมวล มนุษยชาติที่กลายเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์และสิทธิการครอบครองทุกสิ่งอย่างบนโลก ใบนี้
สิทธิความเป็นอยู่และชีวิตในธรรมชาติ ถูกมองว่าเป็นปัญหาที่มนุษย์ต้องหาทางเยียวยาแก้ไข ซึ่งมนุษย์ได้สิทธิเหล่านี้เต็มที่ในฐานะผู้กระทำการเปลี่ยนแปลงระบบดั้งเดิมของธรรมชาติ และสมควรเป็นฝ่ายที่ต้องได้รับผลกระทบแห่งการกระทำนั้นเต็มที่ด้วยเช่นกัน
ในอดีตป่ารอยต่อ 5 จังหวัด (ภาคตะวันออก) กินอาณาเขตของพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา สระแก้ว จันทบุรี ระยอง และชลบุรี เดิมเรียกว่าป่าพนมสารคาม เป็นป่า ที่ถูกบุกรุกทำลายตั้งแต่ปี 2510 เป็นต้นมา ทั้งการตัดฟันไม้ เผาป่า ล่าสัตว์ บุกรุกยึดครองที่ดินโดยนายทุนและราษฎรทั่วไป
จำนวนป่าที่ลดลงทำให้พื้นที่เกิดทั้งปัญหาความแห้งแล้งและอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง สัตว์ป่าหายากถูกล่าทำลายจนเกือบสูญพันธุ์ จนกระทั่งมีการประกาศเขตป่าต่างๆ ในพื้นที่เป็นเขตป่าสงวนหลายแหล่ง
ส่วนสำคัญหนึ่งของพื้นที่ป่าผืนนี้ คือการได้รับประกาศเป็นราชกฤษฎีกากำหนดเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2520 ครอบ คลุมพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา สระแก้ว ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี มีพื้นที่ 643,750 ไร่
ป่าเขาอ่างฤาไนเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ป่ารอยต่อฯ ที่มีพื้นที่เหลือรวมทั้งหมด ประมาณ 1.3 ล้านไร่ (จาก 5 กว่าไร่ก่อนปี 2510) บริเวณนี้มีกลุ่มสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากถึง 811 ชนิด หรือประมาณ 31.54% ของสัตว์ป่าที่เหลืออยู่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นจำนวนค่อนข้างสูง
โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ในพื้นที่ป่ารอยต่อฯ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมที่มาความหลาก หลายของสัตว์ป่าในบริเวณนี้ไว้ว่า เกิดจากความหลากหลายทางชีวภาพของกลุ่มป่าในพื้นที่ ซึ่งมีระดับความสูงตั้งแต่ 80-1,600 เมตรจากระดับน้ำทะเลซึ่งแตกต่างกันมาก และปริมาณน้ำฝนที่แตกต่างกันตั้งแต่ระดับ 1,200-2,500 มิลลิเมตรต่อปี ความสูงและปริมาณน้ำฝนที่แตกต่าง ทำให้ประเภทของป่าในพื้นที่มีความหลากหลาย และส่งผลให้มีความหลากหลายของพืช ชนิดของป่า และสัตว์ในพื้นที่สูง แม้ว่าสัตว์บางชนิดจะมีจำนวนประชากรไม่มากก็ตาม
กลุ่มสัตว์ป่าชนิดสำคัญที่พบ ได้แก่ วัวแดง กระทิง ช้างป่า ชะนีมงกุฏ ไก่ฟ้าพญาลอ จระเข้น้ำจืด กบอกหนาม และนกกระทาดงจันทบูรณ์ ซึ่งสองชนิดหลังนี้มีพบเฉพาะในพื้นที่นี้ที่เดียวเท่านั้น ส่วนไก่ฟ้าพญาลอมีมากและสวยงาม จนกระทั่ง เจ้าฟ้าชายอะกิชิโนะ ผู้มีฉายาว่ามกุฎราชกุมารแห่งไก่ฟ้าของประเทศญี่ปุ่น เคยเสด็จมาศึกษาเฝ้าดูไก่ฟ้าพญาลอในพื้นที่นี้อยู่หลายครั้ง
โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าฯ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำลองภาพลักษณะของป่าแต่ละผืนในพื้นที่ ป่ารอยต่อฯ ซึ่งทำให้เห็นถึงสภาพปัญหาปัจจุบันว่า หากเปรียบความสัมพันธ์ในสายใยอาหาร ก็จะพบว่าห่วงโซ่สัตว์ป่าในพื้นป่ารอยต่อฯ ปัจจุบัน เหมือนเชื่อมต่อกัน ด้วยขนาดของโซ่รถมอเตอร์ไซค์ ส่วนของพื้นที่ที่มีขนาดกว้างใหญ่กว่าก็เหมือนการเชื่อมต่อกันด้วยโซ่ของรถแทรกเตอร์ หากการคล้องต่อกันนั้น ถูกรบกวนด้วยแรงกระทำที่เท่ากัน โซ่รถมอเตอร์ไซค์ย่อมได้รับผลกระทบที่หนักกว่าโซ่รถแทรกเตอร์ ดังนั้น ความสัมพันธ์ของสัตว์ป่าในพื้นที่ป่า ตะวันออก จึงมีความล่อแหลมหรือเสี่ยงต่อ การสูญพันธุ์มากกว่าพื้นที่อื่น เนื่องจากสภาพป่าในปัจจุบันถูกแบ่งแยกจากกันด้วย น้ำมือมนุษย์จากการตัดถนนและการปรับพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เกษตร
ขณะเดียวกันประชากรสัตว์ป่าในพื้นที่ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น จากการกำหนดเขต ป่าสงวนและทำให้สัตว์ป่าได้รับคุ้มครองไป ด้วยในตัว แต่ชนิดของสัตว์ป่าที่เหลืออยู่ขาดความสมดุลทางธรรมชาติมานานก่อนหน้านั้น เพราะสัตว์ผู้ล่าอย่างเสือและหมี หรือแม้แต่งูพิษ ซึ่งมนุษย์มองว่าเป็นสัตว์อันตราย (แต่มีราคา) ถูกล่าจนหมดไปจาก พื้นที่ สัตว์ป่าที่เหลืออยู่จึงมีเพียงสัตว์ป่าใน กลุ่มประเภทผู้ถูกล่า ซึ่งเติบโตขยายพันธุ์ได้เต็มที่เพราะไม่มีปัจจัยเสี่ยงตามธรรมชาติ ปริมาณของสัตว์ที่เหลืออยู่บางชนิดจึงเพิ่มขึ้นอย่างขาดสมดุล เช่นในกรณีของช้างป่า
“ตอนนี้เรามีช้างป่าในพื้นที่ประมาณ 250-300 ตัว คาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้า น่าจะมีถึง 500 ตัว ถ้าอยากเจอช้างคุณมาตรง นี้ได้เลย ช้างที่นี่มีอัตราการเกิดสูงสุดใน เอเชียที่ 9.5% คือปีหนึ่งเกิด 9 ตัว ปัจจัยที่ทำให้อัตราการขยายตัวสูงเพราะความสมบูรณ์ของป่า ไม่มีใครรบกวน ไม่มีสัตว์ผู้ล่า ช้างป่าบริเวณนี้ยังเป็นช้างพันธุ์ดี มีสปีชีส์หลากหลาย แม้กระทั่งช้างเผือกก็ได้จากพื้นที่นี้จำนวนหลายช้างและมากที่สุด” อนุชา กระจายศรี ผู้อำนวยการส่วนประสานงานโครงการพระราชดำริ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ผู้รับผิดชอบดูแลในภาพรวมของโครงการที่เกี่ยวข้องกับกรมอุทยานฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการทั่วประเทศให้ข้อมูล
อย่างไรก็ตาม อนุชายืนยันว่าสัตว์ป่า ทุกชนิดมีความสำคัญ แต่ไฮไลต์เรื่องช้าง เพราะช้างเป็นสัตว์สัญลักษณ์ที่ผูกพันกับประวัติศาสตร์ชาติไทยมายาวนาน รวมทั้ง เป็นสัตว์สำคัญที่มีบทบาทต่อบ้านเมืองไม่เคยขาด เป็นที่มาที่ทำให้ช้างในพื้นป่ารอยต่อฯ นี้ เปรียบเสมือนเป็น “ช้างมรดก” ในแง่ของการสืบสายพันธุ์ที่ย้อนกลับไปได้ไกลถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา
“ป่าผืนนี้เป็นแหล่งเลี้ยงช้างตามธรรมชาติมาตั้งแต่สมัยอยุธยา” อนุชากล่าว และเล่าโดยอ้างอิงจากผลการศึกษาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของช้างซึ่งเกี่ยวข้อง กับผืนป่าแห่งนี้ว่า
ผืนป่าตะวันออกเป็นผืนป่าที่เป็นชายขอบของมหานครสำคัญของไทยตั้งแต่ กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี มาถึงยุครัตนโกสินทร์ เฉพาะช่วงกรุงศรีอยุธยายาวนาน ถึง 417 ปี เป็นธรรมดาว่า ของดี ของสวย ของแพง มักจะหลั่งไหลมาสู่เมืองหลวง เช่นเดียวกับสัตว์ป่าลักษณะดีก็ถูกขนย้าย เข้ามาในเมืองหลวงเช่นกัน โดยเฉพาะสัตว์สำคัญอย่างช้าง
เมื่อเสร็จศึกจะเลี้ยงช้างไว้ในเมืองก็เป็นภาระกับผู้เลี้ยงดู จึงต้องหาพื้นที่ปล่อยให้ช้างหากินเองตามธรรมชาติ ถึงเวลาใช้งานจึงค่อยกวาดต้อนกลับเข้าเพนียด
พื้นที่ไหนจะเหมาะเท่าผืนป่าตะวันออกก็ไม่มี เนื่องจากผืนป่าตะวันตกก็ใกล้เขตแดนข้าศึกอย่างพม่ามากไป อีกทั้งผืนป่าตะวันตกไล่ตั้งแต่ภาคเหนือลงมาถึงภาค ตะวันตกอย่างกาญจนบุรี เพชรบุรี ก็เป็นพื้นที่สู้รบระหว่างไทยกับพม่าบ่อยครั้ง สัตว์ ป่าน้อยใหญ่ย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย ทั้งจากเสียงโห่ร้องรบราฆ่าฟัน ลูกหลงและการถูกล่าเป็นเสบียงทัพ
ขณะที่ด้านตะวันออกของไทยนานๆ จะถูกรุกรานจากเขมรสักครั้ง อีกทั้งยังมีป่าที่ราบและเทือกเขาสำคัญอย่างเทือกเขา สันกำแพงและเทือกเขาจันทบุรี (เทือกเขาจันทบูรณ์) เมื่อช้างเสร็จศึกป่าทางทิศตะวัน ออกจึงเหมาะสมที่สุดและถูกเลือกเป็นแหล่ง ปล่อยช้างให้เข้าไปอยู่อาศัยและหากินเองตามธรรมชาติ
นักวิชาการที่ทำการศึกษาเรื่องช้างในประเทศไทยเชื่อว่า ภายหลังการเสียกรุง ศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2310 ช้างต้นที่เป็นทั้งช้างศึกและช้างเผือก ในพระราชวังน่าจะอพยพหนีมาอยู่ยังเขาอ่างฤาไน ซึ่งยังคงมีหลักฐานที่พบและยืนยัน หลักการนี้ได้ในระยะต่อมา
ช้างที่จะถูกจัดให้เป็นช้างศึกนั้นต้องเป็นช้างพลาย (ช้างเพศผู้) มีลักษณะตรงตามตำราคชลักษณ์คือ รูปร่างใหญ่โตกำยำ หัวกะโหลกหนาและใหญ่ แก้มเต็มสมบูรณ์ หน้าเชิดหลังต่ำ งายาวใหญ่ มีความโค้งและแหลมคมได้ที่ โดยที่ช้างเชือก ที่ฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดีและสามารถสู้เอาชนะช้างเชือกอื่นได้ จะถูกเรียกว่า “ช้างชนะงา” ปัจจุบันที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จังหวัดฉะเชิงเทรา เจ้าหน้าที่ของอุทยานสามารถบันทึกภาพช้างป่าตัวผู้ ตัวหนึ่งที่มีลักษณะตรงตามลักษณะของช้างศึก ให้ชื่อช้างตัวนี้ว่า “รถถัง” และยังพบช้างป่าอีกตัวหนึ่งที่มีลักษณะตรงตามลักษณะช้างศึกอีกเช่นกัน อีกทั้งยังเป็นสถานที่พบช้างเผือกในรัชกาลปัจจุบันอีกด้วย
จากบันทึกการค้นพบช้างเผือกซึ่งโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าฯ อันเนื่องมาจากพระราชดำริค้นคว้ามายังพบว่า ลักษณะของช้างสำคัญหรือช้างเผือก เป็นลักษณะเฉพาะทางพันธุกรรม จึงมีการถ่ายทอดกันทางพันธุกรรมจากพ่อ-แม่สู่ลูกได้ ดังตัวอย่างนี้
“ในบรรดาช้างสำคัญทั้ง 107 ช้างของราชอาณาจักรไทยนั้น มีอยู่คู่หนึ่ง พบว่า เป็นแม่ลูกกันคือ ช้างสำคัญในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ (พ.ศ.2091-2111) ทรงได้ช้างสำคัญแม่ลูกจากตำบลป่ามหาโพธิ ดังนั้นป่าตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จึงยังคงมีหน่วยพันธุกรรมของช้างสำคัญ ที่เป็นเครือญาติกับ “พังแต๋น” และเครือญาติ ของช้างสำคัญ ช้างอื่นที่เคยพบในบริเวณ ใกล้เคียงที่ถอยร่นจากการบุกรุกพื้นที่เพื่อทำการเกษตร แล้วอาศัยอยู่ในป่าผืนนี้ในปัจจุบัน”
“พังแต๋น” หรือพระศรีเศวตรศุภลักษณ์ฯ เป็นช้างที่ประสบอุบัติเหตุถูกกระสุนปืนแล้วได้รับการรักษาพยาบาล ต่อ มาพบว่าเป็นช้างสำคัญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้มีพระราชพิธีสมโภช พระราชทานนาม และขึ้นระวางในวันที่ 7 พฤษภาคม 2519
“ลูกหลานของช้างป่าในผืนป่าภาคตะวันออก จึงเป็นลูกหลานของช้างมรดกลักษณะดี สวยงาม แข็งแรง มีประวัติเคยได้รับเลือกเข้ากรุงที่สืบทอดมาหลายร้อยปี ถือเป็นแหล่งรวมพันธุกรรมช้างที่สำคัญของประเทศไทย”
เมื่อประชากรช้างเพิ่มขึ้น ปัญหา ระหว่างประชากรช้างกับคนในพื้นที่จึงมีสถิติสูงเมื่อเทียบกับปัญหาช้างป่าที่พบในพื้นที่อื่น และต้องการแนวทางการจัดการที่ ละมุนละม่อม
“ช้างหนึ่งตัวมีอาณาบริเวณหากินประมาณ 5-7 ตารางกิโลเมตร โดยจะเดิน เป็นวงกลมตามเส้นทางเดิม แต่ไม่ได้หมาย ความว่าเดินวนตลอด ถ้าอาหารในจุดไหนยังสมบูรณ์หรือมีปัจจัยอื่นเช่นมีตัวเมีย ก็อาจจะยังหากินอยู่จุดเดิม แต่ถ้าไม่มีปัจจัย เหล่านี้ก็จะเริ่มออกเดิน การที่บอกว่าช้างเดินออกจากป่านั้นไม่จริง แต่เพราะบริเวณ นั้นคือเส้นทางหากินเก่าของมันต่างหาก ถ้าในป่ายังมีอาหารมันก็จะไม่ออกมา ซึ่งปัญหาหนึ่งตอนนี้ก็คือปริมาณช้างในพื้นที่เยอะจนจะเกินที่ป่าจะรับได้นั่นเอง”
อนุชายืนยันว่า เหตุการณ์คนปะทะ ช้างบริเวณถนนสาย 3259 (หนองคอก-คลองหาด) ซึ่งตัดผ่านป่ารอยต่อฯ แห่งนี้บริเวณป่าเขาอ่างฤาไน เป็นเหตุการณ์ที่พบ ได้เป็นประจำ หากขับรถผ่านถนนเส้นดังกล่าวในช่วงกลางคืน
“ถนนเส้นนี้ถ้าคุณไปกลางคืนคุณได้เจอช้างทุกวัน แล้วต่อไปคุณจะได้เจอวัวแดง เจอกระทิง เพราะอะไร เพราะเราเริ่มปิดถนนตั้งแต่สามทุ่มถึงตีห้า พอปิดถนนมันจะเงียบ สัตว์ไม่มีคนกวน มันก็จะออกมา”
ทั้งนี้ โครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ได้คาดหวังให้ถนนเส้นทางนี้เป็นที่สัญจร ของช้าง และพยายามปิดกั้นการเชื่อมต่อระหว่างช้างป่าเขาอ่างฤาไนกับป่าผืนใหญ่ของป่ารอยต่อฯ โดยพยายามให้ช้างแต่ละโขลงจำกัดพื้นที่อยู่ในป่าใดป่าหนึ่ง แม้ว่าการทำเช่นนี้จะมีผลในแง่ของการพัฒนาสายพันธุ์ช้างบ้างก็ตาม แต่จะมีผลดีต่อทั้งช้างและคนมากกว่าเมื่อพิจารณาจากด้านของความปลอดภัย
“เราก็พยายามสร้างความสมบูรณ์ในพื้นที่ป่าแต่ละแห่ง ให้มีอาหารพอเพียงสำหรับปริมาณช้างที่สำรวจพบ เพื่อจะได้ไม่ต้องออกมานอกพื้นที่ป่าตรงแนวเขตป่า เราก็ทำคูกันช้าง เพื่อให้ช้างเลี่ยงไปใช้เส้นทางเดินในป่าจะได้ไม่ออกมา แต่ช้างเป็นสัตว์ฉลาด ข้ามไม่ได้ก็พยายามหาทางเลี่ยง ไปจนได้”
คูกันช้างที่อนุชากล่าวถึง ยุคแรกทำแนวลาดเอียงน้อยไป ช้างก็ยังข้ามได้โดย ช่วยกันดันก้นขึ้นมา พอปรับใหม่ให้มีความชันมากขึ้นก็ได้ผลอยู่บ้าง เพราะช้างก็ไม่กล้าเสี่ยง
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าคูกันช้างจะได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ในการกันช้างออกจาก ป่าหรือเดินข้ามไปมาระหว่างป่ารอยต่อฯ แต่สาเหตุที่ปัญหาช้างป่าบริเวณนี้ไม่รุนแรง เท่าแถวกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก็เพราะลักษณะพืชเกษตรที่ชาวบ้านปลูกในบริเวณนี้ ส่วนใหญ่เป็นสวนยางพารา ช้างที่ผ่านไปมาจึงแค่พักและผ่านไป ไม่ทำลาย แต่ที่กุยบุรีพืชส่วนใหญ่ล้วนเป็นอาหารชั้นดีของช้าง ทั้งกล้วย อ้อย สับปะรด ที่มีให้ลุยกัน เป็นไร่ๆ
“ทุเรียน ขนุน ช้างก็ดุนกินบ้างเหมือนกัน แล้วก็มีการปล้นรถอ้อยที่วิ่งผ่าน รถบรรทุกเวลาวิ่งผ่านเส้นนี้จะวิ่งช้าเพราะทางเป็นที่ราบลูกฟูกขึ้นเขาลงเขา ช้างมันเจอก็จะเดินวนรอบรถ ห้ามบีบแตร ห้ามลง จากรถ ห้ามวิ่ง ไม่อย่างนั้นถูกตามกระทืบ ก็ต้องปล่อยให้กินจนพอใจ ตัวผู้ดักหน้าเดินกวนไปมา ตัวเมียกับลูกก็ไปดึง บางทีก็โยกรถเสียอีก”
ไม่อยากเจอแบบนี้ คนนั่นแหละที่จะต้องเป็นฝ่ายเลี่ยงไปเสีย
แต่นั่นก็ไม่ใช่แนวทางการแก้ปัญหา ช้างอย่างยั่งยืน
“ถ้าจะหาวิธีจัดการที่ยั่งยืนกว่านี้ ก็ต้องอพยพ แต่อพยพช้างก็งานช้างดีๆ นั่นแหละ แล้วปัญหาอีกอย่างจะอพยพไปไว้ที่ไหนอีก เพราะช้างก็เหมือนคน ถ้าโตจากที่ไหนก็คุ้นกับที่นั่น ให้ไปอยู่ที่อื่นก็เหมือนปิดตาเดิน จะให้อยู่ได้ก็ต้องฝึกกันก่อน เหมือนคนนั่นแหละ แล้วไหนจะต้องเสี่ยงกับโดนเจ้าถิ่นกระทืบเอาอีก”
หากยังจำกันได้ ภาพการอพยพ พลายถ่าง ได้ชื่อนี้เพราะงาถ่าง ช้างป่าของพื้นที่ป่าเขาอ่างฤาไนที่หลงป่ามาอยู่ในพื้นที่ ของชาวบ้าน ที่ต้องยกพลหมอช้างจาก สุรินทร์มาทำพิธีไล่จับเป็นข่าวใหญ่โตตามหน้าหนังสือพิมพ์ จับได้ก็อพยพไปไว้จังหวัด ตราด ห่างจากจุดเดิม 110 กิโลเมตร หมดเงินค่าจัดการไปราว 2 แสนสำหรับอพยพช้าง 1 ตัว แต่ไม่เกิน 3 เดือนหลังจากนั้น พลายถ่างก็หาทางกลับมาอยู่บ้านเดิมจนสำเร็จ
“การอพยพช้างจริงๆ ถือว่ายังไม่เคยเกิดขึ้นนอกจากกรณีจับพลายถ่าง ถ้าจะต้องทำคงเป็นงานระดับชาติเพราะข้อจำกัดเยอะ การจัดการด้านใดก็ต้องคิดให้รอบคอบ สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดตอนนี้จึงเป็นการดูแลให้ช้างอยู่ในพื้นที่ให้ได้ก่อนเท่าที่ทำได้ ทั้งการทำแนวกัน เพิ่มอาหาร เพิ่มความสมบูรณ์ของป่า แบบที่ดำเนินการอยู่นี้”
คำกล่าวทิ้งท้ายของอนุชาน่าจะเป็นสัญญาณบอกได้ว่า ปัญหาเรื่องช้างป่า เป็นปัญหาใหญ่ระดับช้างๆ ที่หน่วยงานที่เกี่ยว ข้องยังคงต้องระดมความคิดเพื่อหาแนวทาง รวมทั้งเตรียมพื้นที่รองรับให้เพียงพอและเหมาะสมอย่างมีการวางแผนระยะยาวในหลายแง่มุมทีเดียว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|