|
การจัดการพื้นที่ชายแดนในกลุ่มประเทศอินโดจีน
โดย
เจษฎี ศิริพิพัฒน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
การจัดการพื้นที่ชายแดนเป็นปัญหาที่หลายประเทศต้องเผชิญกรณีของ 3 ประเทศในกลุ่มอินโดจีน เป็นรูปแบบของความพยายามบริหารความสัมพันธ์ของประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกันที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และน่าศึกษา
เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา เว็บไซต์ชายแดนอาณาเขตของเวียดนาม ได้นำเสนอรายงานของคณะกรรมการชายแดนแห่งชาติ ว่าด้วยการจัดการพื้นที่ชายแดนในกลุ่มประเทศอินโดจีน อันประกอบด้วยเวียดนาม ลาว และกัมพูชา ซึ่งให้รายละเอียดของการปักปันเขตแดน ของทั้ง 3 ประเทศ ที่ได้กระทำมาตั้งแต่ยังถูกปกครองโดยฝรั่งเศส เมื่อกว่า 100 ปี ก่อน และยังดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นข้อมูลที่น่าสนใจ
รายละเอียดของการจัดการพื้นที่ชายแดนตามรายงานฉบับนี้มีดังต่อไปนี้
ชายแดนเวียดนาม-ลาว
ลักษณะเฉพาะทางภูมิศาสตร์และเงื่อนไขธรรมชาติ
แนวชายแดนระหว่างเวียดนามและลาว ยาวประมาณ 2,340 กิโลเมตร ยืดยาวตลอด 10 จังหวัดของเวียดนามคือ จังหวัดเดี่ยนเบียน จังหวัดเซินลา จังหวัดทาญฮว้า จังหวัดเหงะอาน จังหวัดห่าติ๋ญ จังหวัดกว๋างบิ่ญ จังหวัดกว๋างตริ จังหวัดเถื่อเทียน-เว้ จังหวัดกว๋างนาม และจังหวัด กอนตุม ติดต่อกับ 10 แขวงฝ่ายลาวคือ แขวงพงสาลี แขวงหลวงพระบาง แขวงหัวพัน แขวงเชียงขวาง แขวงบอลิคำไซ แขวงคำม่วน แขวงสะหวันนะเขต แขวงสาละวัน แขวงเซกอง และแขวงอัตตะปือ
แนวชายแดนระหว่างเวียดนามและลาวส่วนใหญ่ผ่านยอดเขาหรือเนินเขาและผ่านป่าทึบโซนร้อน ความสูงจากระดับน้ำทะเลต่ำสุดประมาณ 300 เมตร สูงสุดประมาณ 2,700 เมตร บริเวณช่องทางต่างๆ มีระดับสูงเฉลี่ยประมาณ 500 เมตร บางแห่งสูงเกิน 1,000 เมตร ระหว่างสองประเทศเป็นเทือกเขาสูงเป็นรูปร่างแนวชายแดนธรรมชาติคือ ทิศเหนือตั้งแต่อาปา จ๋าย (สามแยกชายแดนจีน-ลาว-เวียดนาม อยู่ในตำบลสิ๊นเถิ่ว อำเภอเหมื่องแญ้ จังหวัด เดี่ยนเบียน) ลงไปเป็นเทือกเขาภูสามเสา ทิศใต้ตั้งแต่จังหวัดทาญฮว้า เข้ามาเป็นเทือกเขาเตรื่องเซิน
ช่องเขาบางแห่งได้กลายเป็นช่องทางเชื่อมต่อสองประเทศ ส่วนตามช่วงชายแดนต่างๆ เกือบทั้งหมดเป็นภูเขา เต็มไปด้วยสิ่งกีดขวางอันตราย การสัญจรยากลำบาก
พลเมืองทั้งสองฝั่งชายแดน ส่วนมากเป็นชนเผ่า ชนกลุ่มน้อย อยู่กันเบาบาง ตามหมู่บ้านต่างๆ ห่างไกลกันมาก และห่างไกลแนวชายแดน ความเป็นอยู่ทางวัตถุ และจิตใจของเพื่อนร่วมชาติชนเผ่าต่างๆ ส่วนมากของสองประเทศยังขาดแคลนและล้าหลังมาก การคมนาคมไปมาระหว่างสองประเทศและในบริเวณชายแดนของแต่ละประเทศยากลำบากที่สุด ดูเหมือนยัง ไม่มีถนนสำหรับยานยนต์ (ยกเว้นช่องทาง 2-3 แห่ง ตามชุมชน ถนนบางสายมีมาตั้งแต่สมัยสงคราม หรือมีทางเปิดใหม่ตามเส้นทางชักลากไม้ในป่าแต่ทรุดโทรมมาก)
บริเวณใกล้ชายแดนมีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจของสองประเทศ นาน มาแล้วประชาชนสองประเทศที่บริเวณชายแดนมีความสัมพันธ์ทางชนเผ่าเกี่ยวดอง เป็นเครือญาติ และช่วยเหลือกันในการดำเนินชีวิต
ประวัติการเป็นรูปร่างแนวชายแดนเวียดนาม-ลาว
1. สมัยอาณานิคมฝรั่งเศส ได้มีการกำหนดชายแดนระหว่างเวียดนาม-ลาว โดยคำบัญชาของผู้สำเร็จราชการอินโดจีน (คำบัญชาปี 2436, คำบัญชาปี 2438, คำบัญชาปี 2439, คำบัญชาปี 2443, คำบัญชาปี 2447 และคำบัญชาปี 2459)
ขณะเดียวกันกับการปรับปรุงที่ดินตามคำบัญชาต่างๆ ของผู้สำเร็จราชการอินโดจีน อาณานิคมฝรั่งเศสได้ดำเนินการปรับปรุงแนวชายแดน และปรากฏบนแผนที่ Bonne มาตราส่วน 1/100,000 ของสำนักงานภูมิประเทศอินโดจีนพิมพ์เมื่อปี 2488
2. หลังจากปี 2518 สองประเทศพยายามเจรจาเกี่ยวกับชายแดนอาณาเขต (ในเดือนกุมภาพันธ์ 2519) เป็นเอกฉันท์ใน หลักการใช้แผนที่ Bonne มาตราส่วน 1/100,000 ของสำนักงานภูมิประเทศอินโดจีน ปี 2488 เพื่อแก้ไขปัญหาชายแดนระหว่างสองประเทศ สถานที่ใดไม่มีในแผนที่ของสำนักงานภูมิประเทศอินโดจีนปี 2488 ก็ให้ใช้แผนที่ที่พิมพ์หลังหรือก่อนนั้น 2-3 ปี
วันที่ 18 กรกฎาคม 2520 ตัวแทนสองรัฐเวียดนามและลาว ได้ลงนามสนธิสัญญาปักปันชายแดนแห่งชาติระหว่างประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวที่กรุงเวียงจันทน์ การเจรจาเสร็จสิ้นและลงนามสนธิสัญญาปักปันชายแดนแห่ง ชาติ เป็นชัยชนะยิ่งใหญ่ของสองพรรคสองรัฐบาลและประชาชนสองประเทศ ประทับรอยก้าวสำคัญในกระบวนการสร้าง ชายแดนเวียดนาม-ลาว ให้เป็นชายแดนสันติภาพ มิตรภาพ เสถียรภาพ และความร่วมมือพัฒนายั่งยืน
ปี 2521 สองฝ่ายเริ่มดำเนินงานปักหลักเขตตลอดแนวชายแดนเวียดนาม-ลาว และเสร็จสิ้นภารกิจนี้เมื่อปี 2530 บนตลอดแนวชายแดนเวียดนาม-ลาว ได้มี การก่อสร้างระบบหลักเขตแดนแห่งชาติจำนวน 199 หลัก
ขณะเดียวกันในช่วงนี้ สองประเทศ ได้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับชายแดนระหว่างสองประเทศ เช่น การโอนที่ดิน การส่งมอบประชาชนและทรัพย์สินระหว่าง สองฝ่าย สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ แบบธรรมเนียมระหว่างประเทศ และสะท้อนความเป็นจริงของแนวชายแดน ประวัติศาสตร์ระหว่างสองประเทศ
สองฝ่ายได้รับรองผลต่างๆ ข้างต้น ในข้อตกลงเพิ่มเติมสนธิสัญญาปักปันชายแดนแห่งชาติระหว่างประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (24 มกราคม 2529) พิธีสารว่าด้วยการปักหลัก เขตตลอดแนวชายแดนแห่งชาติระหว่างประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (24 มกราคม 2529) ข้อตกลงเพิ่มเติมสนธิ สัญญาว่าด้วยการปักหลักเขตตลอดแนวชายแดนแห่งชาติเวียดนามและลาว (16 ตุลาคม 2530)
หลังจากแล้วเสร็จขั้นต้นในภารกิจปักหลักเขตบนพื้นที่จริงเมื่อปี 2530 สองฝ่ายได้ลงนามเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ชายแดนวันที่ 1 มีนาคม 2533 และพิธีสารเพิ่มเติม ข้อตกลงเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ชายแดนวันที่ 31 สิงหาคม 2540 มุ่งหมายสร้างพื้นฐานทางนิตินัยอย่างครบถ้วนให้แก่ภารกิจป้องกันและบริหารชายแดนระหว่างสองประเทศ
3. ได้มีการก่อสร้างหลักเขตแดนแห่งชาติในช่วงเวลาที่สองประเทศยังประสบความลำบากหลายอย่าง อาทิ เศรษฐกิจยังไม่พัฒนา เทคนิคยังจำกัดจึง ยังตอบสนองความต้องการของระบบหลักเขตให้มีเสถียรภาพยั่งยืนตามแบบแผนไม่ได้
ความหนาแน่นหลักเขตจึงเบาบาง เฉลี่ยกว่า 10 กิโลเมตรต่อ 1 หลักเขต (มีบางแห่งกว่า 40 กิโลเมตรต่อ 1 หลักเขต) เพราะฉะนั้นแนวชายแดนบนพื้นที่จริงในบางแห่งจึงไม่ชัดเจน กองกำลังบริหารและประชาชนสองข้างชายแดนไม่รู้แนวชายแดนชัดเจน
หลักเขตทั้งหลายได้รับการออกแบบและก่อสร้างยังไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขภูมิประเทศ ธรณีวิทยา สภาพอากาศตามบริเวณชายแดน รวมทั้งขนาดหลักเขตเล็กเกินไป คุณภาพไม่ดี หลักเขตเกือบทั้งหมดจึงทรุดโทรมและเสียหาย จนถึงปัจจุบันจึงต้องสร้างฐานรากหลักเขต เกือบทั้งหมดให้แข็งแรง ในห้วงหลายปีผ่านมา สองฝ่ายได้เปิดและยกระดับหลาย ช่องทาง พร้อมกับมีการก่อสร้างโครงการใหม่ๆ ที่กว้างใหญ่ทันสมัย ชุมชนหลายแห่งใกล้ชายแดนพัฒนาแข็งแรง ดังนั้นระบบหลักเขตเก่าจึงไม่เหมาะสมบนพื้นที่จริง โดยเฉพาะตามบรรดาช่องทาง สถานที่ ชุมชนที่มีประชาชนผ่านไปมา ก่ออุปสรรคให้แก่การบริหารชายแดน
เริ่มจากความจริงข้างต้น ความมุ่งมั่นในการบริหารชายแดนอย่างมั่นคงยั่งยืน มีส่วนส่งเสริมความสัมพันธ์พิเศษเวียดนาม-ลาว ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2551 เวียดนามและลาวดำเนินแผนปฏิบัติภารกิจอย่างเป็นทางการ เสริมความหนาและบูรณะ ระบบหลักเขตแห่งชาติระหว่างสองประเทศ ตามทิศทางทันสมัย ยั่งยืน และเอกภาพบนตลอดแนวชายแดน มีหลักเขตที่เสริมความหนาและบูรณะแล้วรวมจำนวน 792 หลัก ประกอบด้วยหลักเขตขนาดใหญ่ 16 หลัก หลักเขตขนาดกลาง 190 หลักและหลักเขตขนาดเล็ก 586 หลัก ระยะเวลาดำเนินการตามแผนเริ่มตั้งแต่ปี 2551 ในนั้น อันดับแรก ให้ปักหลักเขตในบริเวณ ที่มีช่องทางและบริเวณที่มีถนนคมนาคมสัญจรสะดวก มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือ ติดต่อแลกเปลี่ยนการพัฒนาเศรษฐกิจ และความสงบเรียบร้อยทางสังคมบริเวณชายแดน
วันที่ 18 มกราคม 2551 เวียดนามและลาวได้ร่วมกับกัมพูชาปักหลักเขตที่สามแยกชายแดน และวันที่ 26 สิงหาคม 2551 ที่นครฮานอย ได้มีพิธีลงนามข้อตกลง กำหนดชุมทางชายแดนระหว่างสามประเทศ วันที่ 5 กันยายน 2551 ที่ช่องทาง ลาวบ๋าว-แดนสะหวัน สองฝ่ายได้ประกอบพิธีเปิดหลักเขตคู่หมายเลข 605 นี่เป็นหลักเขตแรกเริ่มภารกิจอย่างเป็นทางการสำหรับการเสริมความหนาและบูรณะหลักเขตแดนแห่งชาติระหว่างสองประเทศ นับถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2554 สองฝ่ายได้กำหนดที่ตั้งหลักเขต 462 แห่ง และได้ก่อสร้างที่ตั้งหลักเขต 333 แห่ง สองฝ่ายจะแล้วเสร็จภารกิจปักหลักเขตบนพื้นที่จริง ในปี 2555 และแล้วเสร็จพิธีสาร แผนที่รับรองผลในปี 2557
ล่าสุด สำนักข่าวเวียดนามรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ช่องทางแห่งชาติลาไล (จังหวัดกว๋างตริ)-ลาไล (แขวงสาละวัน ลาว) ได้มีพิธีเปิดหลักเขตแดนแห่งชาติหมายเลข 635 ระหว่างชายแดนสองประเทศ
โห่ เซวิน เซิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม และประธานคณะกรรมการชายแดนแห่งชาติ ประธานคณะกรรมการร่วมปักหลักเขต แดนเวียดนาม-ลาว และบุนเกิด สังสมสัก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศลาว และประธานคณะกรรมการร่วมปักหลักเขตแดนลาว-เวียดนาม ร่วมกับแกนนำจังหวัดกว๋างตริ และแกนนำแขวงสาละวัน พร้อมประชาชนบริเวณช่องทางของสองประเทศได้เข้าร่วมพิธี
ได้มีการเริ่มก่อสร้างหลักเขตแดนแห่งชาติหมายเลข 635 ตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2553 ก่อนหน้านี้หลักเขตใหญ่แห่งนี้เดิมเป็นหลักเขตคอนกรีตหมายเลข R16 ปักอยู่กลางช่องทางแห่งชาติลาไล ถือเป็น 1 ใน 16 หลักเขตใหญ่ตลอดแนวชายแดนเวียดนาม-ลาว และเป็นหลักเขตใหญ่หนึ่งเดียวระหว่างจังหวัดกว๋างตริ และแขวงสาละวัน
ด้วยความพยายามอย่างสูงของคณะกรรมการชี้นำปักหลักเขตจังหวัดกว๋างตริ ท้องถิ่นที่สองประเทศมอบอำนาจ ให้ก่อสร้างหลักเขต ภายใต้การกำกับดูแลของผู้เชี่ยวชาญกฎหมายและเทคนิคของสองประเทศ จนถึงวันนี้งานก่อสร้างหลักเขตใหญ่หมายเลข 635 ได้แล้วเสร็จด้วยคุณภาพดีแน่นหนา แสดงถึงความถูกต้องของที่ตั้งแนวชายแดนระหว่างสองประเทศที่บริเวณช่องทางหลักลาไล-ลาไล สร้างความสะดวกให้แก่ภารกิจบริหารชายแดนที่ยั่งยืน และส่งเสริมการติดต่อสัญจรผ่านช่องทาง
สุนทรพจน์ในพิธีเปิด โห่ เซวิน เซิน เน้นย้ำว่าความสำเร็จของงานนี้เป็นรอยจารึกสำคัญ ส่งเสริมกระบวนการทำขึ้นใหม่ และเพิ่มความหนาของระบบหลักเขตแดนระหว่างสองประเทศเวียดนาม-ลาว โดยเฉพาะระหว่างจังหวัดกว๋างตริกับแขวงสาละวัน เปิดโอกาสใหม่ อนาคตสดใสให้แก่ช่องทางลาไล-ลาไล เปลี่ยนสถานที่แห่งนี้ให้เป็นจุดหยุดแวะและเป็นที่หมายนัดพบสำหรับนักท่องเที่ยว รวมทั้งนักลงทุน ภายในและต่างประเทศ ทำให้พื้นที่เขตแดน แห่งนี้เป็นจุดแสงสว่างตัวอย่างเกี่ยวกับความร่วมมือและการพัฒนา
เหงียน เกวิน จิ๊ญ รองประธานคณะกรรมการประชาชนจังหวัดกว๋างตริ และประธานคณะกรรมการชี้นำปักหลักเขตที่จังหวัดกว๋างตริ กล่าวว่ากว๋างตริเป็นจังหวัดแรกใน 10 จังหวัดที่มีแนวชายแดนร่วมกับลาว ได้รับเลือกให้ดำเนินการนำร่องภารกิจปักหลักเขตแห่งชาติ
ภายหลังพยายามดำเนินงานกว่าสองปี ทั่วทั้งระบบ 31 ใน 35 หลักเขตแห่งชาติระหว่างจังหวัดกว๋างตริ และแขวง สะหวันนะเขต ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จกับเหตุการณ์เปิดหลักเขตใหญ่หมายเลข 635 จังหวัดกว๋างตริและแขวงสาละวันให้คำมั่น สัญญาว่าจะประสานงานแนบแน่นต่อไปใน งานจัดการก่อสร้างบรรดาหลักเขตที่เหลือ จะพยายามจนถึงสิ้นปี 2555 ให้แล้วเสร็จงานปักหลักเขตบนพื้นที่จริงระหว่างสองฝ่าย
ชายแดนเวียดนาม-กัมพูชา
ลักษณะเฉพาะ
ทางภูมิศาสตร์และเงื่อนไขธรรมชาติ
แนวชายแดนทางบกระหว่างเวียดนามและกัมพูชา เริ่มต้นตั้งแต่สามแยก ชายแดนลาว-กัมพูชา-เวียดนาม (ของจังหวัดกอนตุม) จนถึงติดริมทะเลอำเภอห่าเตียน จังหวัดเกียนยาง ผ่าน 10 จังหวัด ชายแดนตะวันตกเฉียงใต้ของเวียดนาม (จังหวัดกอนตุม จังหวัดยาลาย จังหวัดดั๊กลัก จังหวัดดั๊กนง จังหวัดบิ่ญเฟือก จังหวัดเตยนิญ จังหวัดลองอาน จังหวัดโด่งทาป จังหวัดอานยาง และจังหวัดเกียนยาง) ติดต่อกับ 9 จังหวัดชายแดนของกัมพูชา (จังหวัดรัตนคีรี จังหวัดมณฑลคีรี จังหวัดกำปงจาม จังหวัดกระแจะ จังหวัดสวายเรียง จังหวัดเปรยเวง จังหวัดกันดาล จังหวัดตะแก้ว และจังหวัดกำปอต) ด้วยความยาวประมาณ 1,137 กิโลเมตร
สภาพอากาศในบริเวณนี้ได้รับอิทธิพลจากสภาพอากาศโซนร้อน ลมฝน ระดับความชื้นสูง เหมาะกับการปลูกพืชอุตสาหกรรม กสิกรรม เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ปกติฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน-พฤษภาคม ไปจนถึงเดือนกันยายน-ตุลาคม เท่ากับปริมาณน้ำฝนตลอดปี 90% ฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนกันยายน-ตุลาคม ไปจนถึงเดือน เมษายน-พฤษภาคม อุณหภูมิเฉลี่ยทุกปีอยู่ ระหว่าง 26-27 ํC
แตกต่างจากแนวชายแดนเวียดนาม-ลาว และเวียดนาม-จีน แนวชายแดนเวียดนาม-กัมพูชามีภูมิประเทศค่อนข้างราบเรียบ ภูเขากีดขวางน้อย เพราะฉะนั้นจึงมีระบบการคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างสองประเทศทางบก เช่น ถนนระหว่างประเทศ ทางหลวงแห่งชาติ ทางแม่น้ำ และทางเดินเท้าหลายเส้นทาง โดยเฉพาะต่อไปนี้จะเป็นรูปร่างทางรถไฟ ทางรถยนต์ผ่านเอเชีย เชื่อมต่อกับบรรดาศูนย์การค้าใหญ่ๆ ของภูมิภาค ซึ่งมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการติดต่อแลกเปลี่ยน ความเข้าใจซึ่งกันและกัน นำมาซึ่งประโยชน์ แท้จริงทางด้านเศรษฐกิจและการค้าให้แก่พลเมืองสองข้างชายแดน
นอกจากมีการพัฒนาระบบคมนาคม รัฐบาลสองประเทศก็กำลังสนใจลงทุนระบบช่องทางชายแดน นับถึงเดือนมีนาคม 2554 ประเทศเวียดนามและกัมพูชาได้ตกลงเปิดช่องทางนานาชาติ 10 แห่งและช่องทางหลัก 12 แห่ง รวมมีช่องทางทางบก 19 แห่ง และช่องทางทางแม่น้ำ 3 แห่งคือ ช่องทางเถื่องเฟือก (โด่งทาป)-โกกโรกา (เปรยเวง) ช่องทางซงเตี่ยน (อานยาง)-กาออมซามนอ (กันดาล) และช่องทางหวิญโห่ยดง (อานยาง)-กอมปุงกรอซัง (ตะแก้ว) ระบบช่องทางเหล่านี้ได้ช่วยให้การแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างสองประเทศและการติดต่อของพลเมืองสองข้างชายแดนสะดวกและรวดเร็ว
แนวชายแดนทางบกเวียดนาม-กัมพูชา
สมัยอาณานิคมฝรั่งเศสได้มีการกำหนดช่วงตอนบนของชายแดนทางบกระหว่างเวียดนามและกัมพูชาโดยคำบัญชา ของผู้สำเร็จราชการอินโดจีน ช่วงตอนล่าง ของชายแดนทางบกระหว่างเวียดนามและกัมพูชาได้มีการปักปันด้วยสนธิสัญญาต่างๆ ระหว่างราชอาณาจักรกัมพูชาและผู้ว่าราชการเวียดนามใต้และกำหนดชัดเจน โดยคำบัญชาของผู้สำเร็จราชการอินโดจีน
1. ช่วงชายแดนตอนบนได้มีการกำหนดโดยคำบัญชาวันที่ 6 ธันวาคม 2447 และวันที่ 4 กรกฎาคม 2448 ของผู้สำเร็จราชการอินโดจีน
เฉพาะช่วงชายแดนเลียบตามแม่น้ำ ยากยามของจังหวัดดั๊กลัก และช่วงสั้นช่วงหนึ่งตามแม่น้ำเซซาน ของนครเปลกู (จังหวัดยาลายปัจจุบัน) ได้มีการกำหนดโดยคำบัญชาของผู้สำเร็จราชการอินโดจีนลงนามวันที่ 30 มีนาคม 2475 และ 4 มีนาคม 2476 (ข้อกำหนดว่าด้วยเขตบริหาร ทิศตะวันตกของจังหวัดเหล่านั้นตามลำธาร ยากยาม และแม่น้ำเซซาน) ช่วงชายแดนทิศเหนือปัจจุบันยังไม่ได้ปักหลักเขตบนพื้นที่จริง
2. ช่วงชายแดนตอนล่างได้มีการกำหนดและปักหลักเขตดังนี้-
- ตั้งแต่สามแยกกัมพูชา-ตรุงกี่-นามกี่ (ดั๊กลักปัจจุบัน) ถึงจุดบรรจบของแม่น้ำโตนแล้ตรู-แม่น้ำโตนแล้จ่าม (เตยนิญ ปัจจุบัน) ได้มีการกำหนดด้วยคำบัญชาวันที่ 26 กรกฎาคม 2436 ของผู้สำเร็จราชการอินโดจีน
ตั้งแต่จุดบรรจบของแม่น้ำโตนแล้ตรู-โตนแล้จ่าม ถึงหมู่บ้านหว่าถ่าญ (เกืยน ยางปัจจุบัน) ได้มีการกำหนดด้วยสนธิสัญญาฝรั่งเศส-กัมพูชาวันที่ 9 กรกฎาคม 2413 และสนธิสัญญาฝรั่งเศส-กัมพูชาวันที่ 15 กรกฎาคม 2416 ลงนามระหว่างฝ่ายหนึ่งคือผู้ว่าราชการเวียดนามใต้ ตัวแทนดินแดนอาณานิคม และอีกฝ่ายหนึ่งคือราชอาณาจักรกัมพูชา ตัวแทนดินแดนในความคุ้มครอง ชายแดนช่วงนี้ได้มีการกำหนดบนพื้นที่จริงด้วยหลักเขต 124 หลัก ต่อจากนั้นได้ปรากฏในคำบัญชาวันที่ 26 กรกฎาคม 2436 ของผู้ว่าราชการเวียดนาม ใต้และของผู้สำเร็จราชการอินโดจีน (คำบัญชาวันที่ 31 กรกฎาคม 2457, คำบัญชา วันที่ 30 มีนาคม 2475, คำบัญชาวันที่ 6 ธันวาคม 2478 , คำบัญชาวันที่ 11 ธันวาคม 2479 และคำบัญชาวันที่ 26 กรกฎาคม 2485)
ตั้งแต่หลักเขตหมายเลข 124 (หมู่บ้านหว่าถ่าญ) ถึงฝั่งทะเลห่าเตียน ได้มีการกำหนดด้วยบันทึกการปักปันวันที่ 5 เมษายน 2419 บันทึกวันที่ 15 มิถุนายน 2439 และวันที่ 20 มกราคม 2440 บันทึกปรับปรุงการปักปันวันที่ 28 พฤศจิกายน 2431 ข้อ 1 และข้อ 2 ของคำบัญชาวันที่ 31 กรกฎาคม 2457 ของผู้สำเร็จราชการอินโดจีน
สรุปกระบวนการเจรจาปักปัน
แนวชายแดนทางบกระหว่าง
เวียดนามและกัมพูชา
ภายหลังปี 2497 เวียดนามและกัมพูชาได้วางแผนเจรจา แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับชายแดนอาณาเขตระหว่างสองประเทศหลายครั้ง
หลังจากสงครามในอินโดจีนยุติลง สองฝ่ายได้พยายามเจรจาและลงนามข้อตกลงได้ 5 ฉบับเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับปัญหาชายแดนคือ
1. ข้อตกลงสันติภาพ มิตรภาพและความร่วมมือระหว่างประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและประเทศสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา ลงนามวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2522
2. ข้อตกลงว่าด้วยน่านน้ำประวัติ ศาสตร์ของประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและประเทศสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา ลงนามวันที่ 7 กรกฎาคม 2525
3. ข้อตกลงว่าด้วยหลักการแก้ไขปัญหาชายแดนประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและประเทศสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา ลงนามวันที่ 20 กรกฎาคม 2526
4. ข้อตกลงว่าด้วยกฎเกณฑ์ชายแดนระหว่างประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและประเทศสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา ลงนามวันที่ 20 กรกฎาคม 2526
5. ข้อตกลงปักปันชายแดนแห่งชาติระหว่างประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและประเทศสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา ลงนามวันที่ 27 ธันวาคม 2528
ด้วยข้อตกลงปักปันชายแดนแห่งชาติระหว่างเวียดนามและกัมพูชาปี 2528 สองประเทศได้แก้ไขปัญหาขั้นต้นในการปักปันชายแดนทางบก ประทับหลักหมายสำคัญในความสัมพันธ์สองประเทศ นี่เป็นข้อตกลงที่ได้มีการลงนามระหว่างสองชาติเอกราช มีอธิปไตยบนพื้นฐานเคารพบูรณภาพอาณาเขตของกันและกัน สอดคล้องกับกฎหมายและการปฏิบัติสากล ปี 2548 สองฝ่ายลงนามข้อตกลงเพิ่มเติมข้อตกลงปักปันชายแดนแห่งชาติปี 2528 ข้อตกลงนี้ยืนยันคุณค่าประสิทธิภาพของข้อตกลงปี 2528
ภารกิจปักปันหลักเขตชายแดนทางบกระหว่างเวียดนามและกัมพูชา
ควบคู่กับกระบวนการเจรจา สองฝ่ายก็ได้ก้าวสู่การปฏิบัติภารกิจปักปันหลักเขต หลังจากลงนามข้อตกลงปักปันชายแดนแห่งชาติระหว่างเวียดนามและกัมพูชาปี 2528 ตั้งแต่ปี 2529 ถึงสิ้นปี 2531 สองฝ่ายได้ดำเนินการปันเขตได้ประมาณ 212 กิโลเมตร ปักหลักเขตได้ 72 หลัก ถึงปี 2532 การปักปันหลักเขตได้ยุติชั่วคราว วันที่ 22 ธันวาคม 2548 สองฝ่ายได้อนุมัติ แผนทั่วไปว่าด้วยภารกิจปักปันหลักเขต และอนุมัติระเบียบองค์กรปฏิบัติของคณะกรรมการผสมปักปันหลักเขตของสองประเทศ สองฝ่ายก็ได้เป็นเอกฉันท์การปักหลักเขตตลอดแนวชายแดน 371 หลัก (ไม่นับหลักเขตสามแยกเวียดนาม-ลาว-กัมพูชา) วันที่ 27 กันยายน 2549 หน่วยงานตัวแทน ของสองฝ่ายปักหลักเขตแรก (หมายเลข 171) ที่คู่ช่องทางนานาชาติหมกบ่าย (จังหวัดเตยนิญ)-บาแวต (จังหวัดสวายเรียง) เริ่มกระบวนการปักปันหลักเขตแดนตลอดแนว
นับถึงเดือนมีนาคม 2554 สองฝ่ายกำหนดที่ตั้งหลักเขตได้ 209 แห่ง บรรลุ 95.3% ของความยาวชายแดน
ถึงแม้กระบวนการปักปันหลักเขตมีความก้าวหน้ามาก แต่เพื่อให้การปักปันหลักเขตแดนทางบกระหว่างเวียดนามและกัมพูชาถูกต้องสมบูรณ์ก่อนปลายปี 2555 ตามการตกลงของแกนนำสองประเทศ บรรดาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสองฝ่ายต้องพยายามมากขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ที่กำหนดไว้
อาจจะกล่าวได้ว่ากระบวนการเจรจาปักปันหลักเขตชายแดนทางบกเวียดนามและกัมพูชาถึงแม้มีอุปสรรคบางอย่างเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุต่างกัน แต่ด้วยความพยายามของรัฐบาลและการสนับสนุนของประชาชนสองประเทศ แน่นอนว่ากระบวนการปักปันหลักเขตจะบรรลุผลด้วยดี ประกอบส่วนสร้างสิ่งแวดล้อมสันติภาพ เสถียรภาพในภูมิภาค รับใช้การป้องกันและการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ รวมทั้งรับใช้ความต้องการของประชาชนสองประเทศ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|