|
Sustainable Model
โดย
สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย สุภัทธา สุขชู นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
ภาพของโรงงาน บริษัท โรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทย จำกัด บนเนื้อที่ 3 พันไร่ มีทั้งไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล โรงงานไฟฟ้า และโรงงานเอทานอล ณ อำเภอบ่อพลอย กาญจนบุรี สะท้อนให้เห็นธุรกิจอนาคตของกลุ่มเคเอสแอลกำลังไปไกลกว่าสิ่งที่เป็นอยู่
บมจ.น้ำตาลขอนแก่น หรือ KSL เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ในกลุ่ม อุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร หมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ปัจจุบันอยู่ในตลาดมาเป็นเวลา 6 ปี
บมจ.น้ำตาลขอนแก่นเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายรายใหญ่อันดับ 5 ของเมืองไทย เป็นผู้ประกอบการน้ำตาลเพียงรายแรกที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
กลุ่มเคเอสแอล เริ่มต้นธุรกิจเป็นผู้ผลิตน้ำตาลมาค่อนข้างยาวนาน 60 ปี ก่อ ตั้งเมื่อปี พ.ศ.2489 โดย 3 ครอบครัวชินธรรมมิตร์ โตการัณยเศรษฐ์ และโรจนเสถียร ร่วมกันก่อตั้งบริษัท กว้างสุ้นหลี จำกัด มีทุนจดทะเบียน 600,000 บาท โดยคุณชวน ชินธรรมมิตร์ เป็นกรรมการผู้จัดการ ส่วนชื่อ “กว้างสุ้นหลี” นั้นมาจาก พยางค์กลางของชื่อห้างหุ้นส่วน 3 แห่งของผู้ก่อตั้ง
บริษัทยังคงดำรงบทบาทผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายมาจวบจนทุกวันนี้ มีโรงงานน้ำตาลทั้งหมด 6 แห่ง ในประเทศ ไทย 4 แห่ง และในต่างประเทศ 2 แห่ง
ในประเทศไทย 4 แห่ง จะกระจายอยู่ตามภูมิภาค และอยู่ภายใต้การบริหารงาน 4 บริษัท คือในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น มีบมจ.น้ำตาลขอนแก่น ดูแล ส่วนภาคตะวันออกมีบริษัท น้ำตาลกว้างสุ้นหลี จำกัด อยู่ในพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี
ภาคตะวันตกมีโรงงาน 2 แห่ง มี 2 บริษัทบริหารจัดการคือ บริษัท น้ำตาล ท่ามะกา จำกัด อำเภอท่ามะกา และบริษัท โรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทย จำกัด อำเภอบ่อพลอย ทั้ง 2 แห่งตั้งอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี
สำหรับโรงงานในต่างประเทศมี 2 แห่ง คือ สะหวันนะเขต สปป.ลาว ดูแลโดย บริษัท น้ำตาลสะหวันนะเขต จำกัด ส่วนอีก 1 แห่งอยู่ในประเทศกัมพูชา บริษัทได้ก่อตั้งบริษัทลูก 2 แห่งดำเนินงาน คือบริษัท เกาะกงการเกษตร จำกัด ดูแลเพาะปลูกอ้อยที่เกาะกง และบริษัท น้ำตาลเกาะกง จำกัด ผลิตน้ำตาลทรายดิบ
โรงงานทั้ง 6 แห่งสามารถผลิตน้ำตาลได้ 6.5 ล้านตันอ้อย แบ่งเป็นผลิตในประเทศ ประมาณ 6.2 ล้านตันอ้อย ส่วนในลาวและกัมพูชาผลิตได้ 31,000 ตันอ้อย
ส่วนหนึ่งที่ทำให้กลุ่มเคเอสแอลสามารถผลิตน้ำตาลได้ถึง 6.5 ล้านตันในปัจจุบันเป็นเพราะว่าโรงงานใหม่ 3 แห่งที่ก่อสร้างในช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา คือ โรงงานในสะหวันนะเขต โรงงานเกาะกง เริ่มผลิตเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาและล่าสุดโรงงานน้ำตาลบ่อพลอย สามารถเริ่มต้นผลิตได้เป็นปีแรก
ยุทธศาสตร์ในการจัดตั้งโรงงานของเคเอสแอลจะเลือกพื้นที่อยู่ใกล้กับไร่อ้อยที่มีปริมาณการปลูกจำนวนมาก เป็นพื้นที่ราคาไม่แพง เพราะต้องใช้เนื้อที่ขนาดใหญ่ และประการสำคัญเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งของเกษตรกร เพราะน้ำมันเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุน
อ้อย 1 ตัน สามารถผลิตน้ำตาลได้ 100 กิโลกรัม หากพื้นที่โรงงานกับไร่อ้อยอยู่ไกลกันจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น 10 เท่าตัว
การตั้งโรงงานใน สปป.ลาว และกัมพูชามีเหตุผลที่แตกต่างออกไป บริษัทได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเพราะประเทศที่เจริญแล้วมองว่าทั้งสองประเทศนี้เป็นประเทศด้อยพัฒนา และอีกสาเหตุหนึ่งที่เลือกลงทุนเพราะที่ดินมีราคาถูกกว่าประเทศไทย บริษัทใช้เงินลงทุนกว่า 2 พันล้านบาท เช่าพื้นที่ 62,500 ไร่ ในสปป.ลาว
ส่วนเกาะกงลงทุนประมาณ 3 พันล้านบาท เช่าพื้นที่ 125,000 ไร่ ได้รับสัมปทาน นาน 90 ปี ส่วนลาวได้รับสัมปทาน 40 ปี
ส่วนวิธีการจำหน่ายน้ำตาลในลาวและกัมพูชา จะมีบริษัทในประเทศอังกฤษรับซื้อทั้งหมด บริษัททำหน้าที่ผลิตน้ำตาลทรายดิบให้เท่านั้น
ชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจและสายงานผลิตและเทคนิคกลุ่มเคเอสแอล กล่าวกับ ผู้จัดการ 360 ํ ระหว่างให้สัมภาษณ์ในโรงงานน้ำตาลบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรีว่า ปริมาณความต้องการของน้ำตาลในตลาด โลกเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในตลาดภูมิภาคอาเซียนน้ำตาลที่ผลิตในปัจจุบันยังไม่เพียงพอกับความต้องการ และประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลทรายอันดับสองของโลก รองจากประเทศบราซิล จึงมีโอกาสมากมาย โดยเฉพาะจุดที่ตั้งของประเทศไทย อยู่ใกล้ผู้ซื้อสามารถส่งน้ำตาลให้กับประเทศในภูมิภาคได้ภายใน 7-10 วัน แต่ถ้าสั่งของจากบราซิลอาจใช้เวลานับเดือน
ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกน้ำตาล 7.5 ล้านตัน และบริโภคภายในประเทศ 2.5 ล้านตัน อนาคตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะการขยายตัวของธุรกิจทำให้ความต้องการของน้ำตาลเพิ่ม
โอกาสที่เห็นนี้ทำให้บริษัทวางแผนขยับขยายโรงงานเก่าไปตั้งในที่แห่งใหม่ โดยจะย้ายโรงงาน 2 แห่ง คือ โรงงานน้ำตาลในพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ไปอยู่ในจังหวัดสระแก้ว ส่วนโรงงานน้ำตาลขอนแก่นจะย้ายไปจังหวัดเลย ตามแผนดำเนินงานโรงงานทั้งสองแห่งจะสร้างเสร็จในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยจังหวัดเลยจะสร้างเสร็จในปี 2556 ส่วนสระแก้วสร้างเสร็จในปี 2557
เหตุผลหนึ่งในการย้ายโรงงานทั้งสองแห่ง เป็นเพราะว่าจังหวัดชลบุรี และจังหวัดขอนแก่นเริ่มมีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้เกษตรกรละทิ้งการทำไร่ และอาจจะเลือกขายพื้นที่เพราะมีราคาสูง ประกอบกับโรงงานก่อตั้งมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะโรงงานในพนัสนิคม ชลบุรี มีอายุ 50-60 ปี
ในขณะที่จังหวัดเลยยังเป็นจังหวัดที่ปิด และมีเกษตรกรปลูกไร่อ้อย แต่มีปัญหาต้องส่งอ้อยไปโรงงานไกลๆ เช่น ขอนแก่น ชัยภูมิ หนองบัวลำภู ต้องใช้เวลา เดินทางประมาณหนึ่งร้อยกิโลเมตร
หากพิจาณาการลงทุนตลอดระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมาพบว่า กลุ่มเคเอสแอลจะทุ่มเทให้กับการสร้างและย้ายโรงงานใหม่ ถือได้ว่าเป็นการพัฒนาปรับปรุงธุรกิจเพื่อรับมือกับการแข่งขันของตลาดน้ำตาล
ความอยู่รอดของกลุ่มเคเอสแอล ไม่ได้ขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์เพียงด้านเดียว หากอีกด้านหนึ่งบริษัทต้องบริหารจัดการธุรกิจให้ครอบคลุมถึงเกษตรกรชาวไร่อ้อยอีกด้วย เพราะการขยายของเมืองกระจายออกสู่รอบนอก และต่างจังหวัดย่อมเป็นปัญหาสำหรับกลุ่มเคเอสแอล ที่ต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่
ขณะเดียวกันต้องพึ่งพิงเกษตรกรในฐานะผู้ปลูกด้วยการส่งเสริมพันธุ์อ้อย ปุ๋ย หรือการอำนวยความสะดวกการขนส่ง ด้วยการเข้าไปตั้งโรงงานอยู่ใกล้กับไร่อ้อย เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยปลูกอ้อยต่อไป
ส่วนวิธีการจำหน่ายบริษัทจะขายให้กับผู้ประกอบการเกือบทั้งหมด มีลูกค้าบางราย ซื้อจากบริษัทเพียงรายเดียว เช่น เครื่องดื่มกระทิงแดง โค้ก นมดัชมิลล์ สินค้าของยูนิลิเวอร์ มีลูกค้าซื้อบางส่วน เช่น น้ำหวานเฮลท์บลูบอย เอสแอนด์พี สเวนเซ่นส์ เป็นต้น
ผู้ประกอบการบางรายที่ซื้อกับบริษัทเพียงรายเดียว เป็นเพราะว่าน้ำตาลเป็นสินค้า ควบคุม มีการจำกัดโควตา และราคาเดียวกันไม่ว่าจะซื้อจากผู้ผลิตรายใด แต่ราคาน้ำตาลจะอิงกับราคาในตลาดโลก ทำให้ผันผวน ผู้จำหน่ายบางรายจะเปรียบเทียบราคาซื้อขายในและต่างประเทศ และหากราคาดีจะชะลอการขายออกไป ทำให้ลูกค้าไม่มีสินค้า
ดังนั้น การแยกซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการหลายรายจึงไม่มีประโยชน์ แต่การซื้อจากรายเดียวทำให้มั่นใจว่ามีสินค้าอย่างแน่นอน
ความหวานของน้ำตาลมีส่วนสำคัญอย่างมากในการตัดสินใจซื้อน้ำตาลจากผู้ผลิต ดังนั้นการผลิตน้ำตาลจึงต้องมีกระบวนการวัดค่าความหวาน แต่มาตรฐานที่ได้รับการยอมรับความน่าเชื่อถือจากตลาดมากที่สุดก็คือ มาตรฐานวัดน้ำตาลของโค้ก
“เราโฟกัสอุตสาหกรรมน้ำตาล มาตรฐานต้องดี บริษัทต่างชาติเข้ามาเขาจะถามว่า คุณขายโค้กหรือเปล่า กลุ่มธุรกิจเราผ่านโค้ก เขาตรวจทุกปี ประเทศไทยมีโรงงาน 48 แห่ง มีเพียงครึ่งเดียวผ่านมาตรฐานโค้ก”
เหตุผลที่กลุ่มเคเอสแอลเน้นจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการมากกว่าทำตลาด ย่อย เพราะจำหน่ายได้ปริมาณมากและมีความแน่นอนด้านราคา บรรจุถุงเป็นกระสอบ กระสอบละ 50 กิโลกรัม ขณะที่การบรรจุถุงขนาดเล็ก 1 กิโลกรัม มีต้นทุนค่าใช้จ่ายตั้งแต่ค่าแรง ค่าไฟ ค่าแพ็กเกจจิ้ง ค่าโฆษณา ทั้งหมด 75 สตางค์ต่อกิโลกรัม บริษัทมองว่า ไม่คุ้ม อีกส่วนหนึ่งเพราะไม่ต้องการให้ห้างสรรพสินค้าโมเดิร์นเทรดกดราคาสินค้า
หากมองในมุมของการสร้างแบรนด์ บริษัทยอมรับว่าผู้บริโภคอาจไม่รู้จักบริษัทมากนัก แต่ถ้าเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมบริษัท ได้รับการยอมรับ จะเห็นได้ว่าบริษัทจะเน้น ความเป็นคอร์ปอเรทแบรนด์มากกว่า
ธุรกิจน้ำตาลเป็นธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ให้กับกลุ่มเคเอสแอลมาเป็นเวลานาน และเพื่อรักษาให้ธุรกิจอยู่รอดและยั่งยืน บริษัทไม่สามารถพึ่งพิงธุรกิจน้ำตาลเพียงอย่างเดียว แต่ต้องกระจายความเสี่ยงไปสู่ธุรกิจใหม่
จึงทำให้กลุ่มเคเอสแอลเริ่มแสวงหา โอกาสสร้างธุรกิจใหม่ด้วยการต่อยอดธุรกิจเดิม คือ ธุรกิจน้ำตาล และค้นพบว่าวัตถุดิบอ้อย สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้มากมาย
กระบวนการผลิตอ้อยจะมีของเสียหลายประเภท เช่น กากอ้อย กากน้ำตาล กากหม้อกรอง และน้ำเสีย ซึ่งของเสียเหล่านี้ได้ถูกนำไปสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่
กากน้ำตาล และน้ำอ้อย นำไปผลิตเอทานอลผสมกับน้ำมันใช้เป็นเชื้อเพลิง ส่วนกากหม้อกรอง นำไปผลิตปุ๋ยอินทรีย์ หรือกากอ้อยนำไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าและพลังงานไอน้ำ
ผลิตภัณฑ์ใหม่เหล่านี้เริ่มผลิตในโรงงานน้ำตาลขอนแก่น ภายใต้ บมจ.น้ำตาลขอนแก่น น้ำทอง จังหวัดขอนแก่น มีโรงงานทั้ง 4 แห่ง คือ โรงงานน้ำตาลอ้อย โรงงานไฟฟ้า โรงงานเอทานอล และโรงงานผลิตปุ๋ย
แต่เพื่อให้การบริหารจัดการอย่างมีระบบ จึงตั้งบริษัทในเครือเข้าดูแลกิจการไฟฟ้า และเอทานอลโดยเฉพาะ บริษัท ขอนแก่นแอลกอฮอล์ จำกัด ผลิตเอทานอล ส่วนบริษัท โรงไฟฟ้าน้ำตาลขอนแก่น จำกัด ผลิตไฟฟ้าโรงขนาดเล็ก (very small power producer: SPP)
โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้จะขายให้กับบริษัทในเครือก่อน หากมีเหลือจะขายต่อให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตต่อไป ส่วนเอทานอลจะขายให้กับโรงงานสุรา และผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมัน
จากธุรกิจน้ำตาลไปสู่ธุรกิจพลังงาน กลุ่มเคเอสแอลกำหนดวิสัยทัศน์ว่าเป็นผู้ผลิต พลังงานทดแทน (The Renewable Energy Producer) และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม วิสัยทัศน์ดังกล่าวถูกถ่ายทอดออกมา และสร้างให้เห็นภาพ คือ
น้ำตาล เป็นพลังงานให้คน
ไฟฟ้า เป็นพลังงานให้เครื่องจักร
เอทานอล เป็นพลังงานให้รถ
ปุ๋ย เป็นพลังงานให้ดิน
ดิน เป็นพลังงานให้อ้อย
ทุกอย่างจะวนกลับมาเป็นวงจรไม่มีสิ้นสุด จะไม่มีของเสียในระบบอุตสาหกรรม และบริษัท โรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทย จำกัด บ่อพลอย กาญจนบุรี สามารถสื่อให้เห็นวงจรธุรกิจน้ำตาลของกลุ่มเคเอสแอลได้อย่างชัดเจน
โรงงานบ่อพลอยเริ่มผลิตเป็นปีแรก มีโรงงานครบทั้ง 3 แห่งเหมือนกับโรงงานน้ำตาลขอนแก่น ส่วนโรงงานอื่นๆ จะผลิตน้ำตาลอ้อยเพียงอย่างเดียว แต่โรงงานที่บ่อพลอยถูกออกแบบให้ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน โรงงานแต่ละแห่งจะสร้างเชื่อมโยงกันโดยดูจากกระบวนการผลิต เช่น โรงงานเอทานอลจะอยู่ใกล้กับโรงงานปุ๋ย เพราะกากน้ำตาลและน้ำอ้อยที่นำไปผลิตเอทานอล จะส่งต่อไปโรงงานปุ๋ย เพื่อผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพต่อไป
โรงงานในบ่อพลอยมีกำลังการผลิต ใกล้เคียงกับน้ำทอง ขอนแก่น ประมาณ 27,000 ตันอ้อยต่อวัน ผลิตเอทานอลได้ 2 แสนลิตรต่อวัน น้ำทองผลิตได้ 1.5 แสน ลิตรต่อวัน โรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งสามารถผลิตได้ในปัจจุบันแห่งละ 20 เมกะวัตต์ต่อ ชั่วโมง
โรงงานไฟฟ้าและโรงงานเอทานอลในบ่อพลอยจะมีขนาดใหญ่กว่า โดยลงทุนโรงงานไฟฟ้ากว่า 3 พันล้านบาท ส่วนโรงงานเอทานอลลงทุนกว่าพันล้านบาท แต่งบลงทุนทั้งหมดในบ่อพลอยมีมูลค่า 7,300 ล้านบาท ลงทุนโดยบริษัทราว 2 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือกู้จากธนาคารกรุงเทพ
การลงทุนในบ่อพลอยในครั้งนี้ บริษัทได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากบีโอไอ สำหรับโรงงานเอทานอล และโรงงานไฟฟ้า ส่วนโรงงานน้ำตาลไม่ได้รับการส่งเสริมเพราะเป็นธุรกิจเดิม
ใน 5 ปีข้างหน้า บริษัทคาดการณ์ผลผลิตจากโรงงานทั้งหมดที่มีทั้งโรงงานเก่าและโรงงานใหม่อีก 2 แห่งในอนาคตอันใกล้นี้ว่า จะมีปริมาณการผลิตน้ำตาล 10 ล้านตันต่อปี ผลิตเอทานอล 100 ลิตร ส่วนไฟฟ้าผลิตเพิ่มเป็น 60 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง หรือมีรายได้ราว 400 ล้านบาท
รายได้จากคาร์บอนเครดิตเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะรับรู้ได้เร็วขึ้นหลังจากบริษัท ได้ดำเนินการเพื่อขายคาร์บอนเครดิตมาเป็นเวลา 5 ปี คาดว่าจะมีรายได้เข้ามาครั้งแรก ในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ราว 1 ล้านยูโร
ชลัชบอกกับ ผู้จัดการ 360 ํ ว่า การกระจายความเสี่ยงธุรกิจไปสู่ธุรกิจใหม่ ของกลุ่มเคเอสแอลเป็นการแสวงหาโอกาสเพื่อต่อยอดธุรกิจ ทั้งนี้ทั้งนั้นธุรกิจของบริษัท จะมุ่งเน้นธุรกิจน้ำตาลเป็นหลัก เพราะถ้าไม่มีอ้อย ธุรกิจอื่นไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ดังนั้น สัดส่วนรายได้ของธุรกิจน้ำตาลจะอยู่ร้อยละ 60-70 เอทานอลร้อยละ 20 และไฟฟ้าร้อยละ 10
กระบวนการทำธุรกิจของบริษัท หากพิจารณาลึกลงไป บริษัทไม่ได้หวังพึ่งพิงธุรกิจใหม่มากจนเกินไป แต่เป้าหมายของบริษัทคือการรักษาธุรกิจเดิมให้อยู่อย่างยั่งยืนได้ในอนาคต เพราะสิ่งที่ยืนยันได้เกิดจากคำบอกเล่าของชลัช ที่ได้กล่าว มาก่อนหน้านี้
ส่วนธุรกิจใหม่หากมองในมุมยุทธศาสตร์สร้างรายได้เพียงด้านเดียว อาจ ยังไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักของบริษัทก็เป็นได้ แต่จะเห็นว่าธุรกิจใหม่เกิดขึ้นมาจะใช้สิ่งที่เหลือมาสร้าง และของเหลือเหล่านั้นเมื่อในอดีตถูกมองเป็นสิ่งไร้ค่า และสิ่งไร้ค่าบางอย่าง เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำเสีย กากอ้อย ส่งผลกระทบต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อม จนทำให้เกิดการต่อต้าน
แต่หลังจากมีการบริหารจัดการสิ่งไร้ค่าเหล่านั้นได้ นอกจากจะสร้างรายได้เพิ่ม ธุรกิจก็จะกลายเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน วัฏจักรดังกล่าวจะวนกลับไปสู่ธุรกิจของ บมจ.น้ำตาลขอนแก่นให้กลายเป็นองค์กรที่ยั่งยืน
ผลการทำธุรกิจของ บมจ.น้ำตาลขอนแก่น สะท้อนเป็นตัวเลขรายได้และกำไรมีการเติบโตตลอด 4 ปี ปี 2553 มีรายได้ 12,380 ล้านบาท จากปี 2552 มี 12,070 ล้านบาท (ดูตารางประกอบ) โดยเฉพาะปี 2551 แม้จะมีวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ และในภูมิภาคยุโรป แต่รายได้กลับไม่ลดน้อยลง
อย่างไรก็ดี ธุรกิจอ้อยไม่ได้ต่อยอดให้กับบริษัทในเครือของเคเอสแอลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่วัตถุดิบอ้อยยังสามารถเป็นวัตถุดิบให้กับบริษัท ราชาชูรส จำกัด ผู้ผลิตผงชูรสเครื่องหมายการค้า “ราชาชูรส” เป็นธุรกิจเครือญาติในตระกูลชินธรรมมิตร์
ตระกูลชินธรรมมิตร์มีธุรกิจหลากหลายและอยู่ภายใต้ร่มกลุ่มเคเอสแอล หรือ KSL Group มีธุรกิจ 6 กลุ่มที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในปัจจุบัน คือ
1. ธุรกิจเคเอสแอล ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำตาล อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
2. บริษัท ราชาชูรส จำกัด
3. บริษัท Chengteh Chinaware (Thailand) ผู้ผลิตเซรามิกของที่ระลึก ร่วมทุน ระหว่างไทยกับไต้หวัน
4. บริษัท เคเค วู้ดอินดัสตรี จำกัด บริษัทโบรกเกอร์
5. บริษัท เคเอสแอล ไอที เซ็นเตอร์ จำกัด ให้บริการด้านอินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี
6. บริษัท เคเอสแอล เรียลเอสเตท จำกัด ให้บริการโรงแรม รีสอร์ต และอสังหาริมทรัพย์
KSL Group แม้จะประกอบธุรกิจภายใต้เครือญาติ ทว่าได้แยกบริหารงานชัดเจน ธุรกิจส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ฉะนั้นความเคลื่อนไหวจึงไม่ได้นำเสนอออกไปสู่สาธารณชนมากนัก ส่วน บมจ.ขอนแก่น เป็นบริษัทในกลุ่มเพียงรายเดียวที่อยู่ในตลาด หลักทรัพย์ฯ ปัจจุบัน ความเคลื่อนไหวของเคเอสแอลจึงถูกจับตามองผ่านประชาชนทั่วไป ผู้ถือหุ้น แม้กระทั่งคู่แข่งอย่างเช่น น้ำตาลมิตรผล ไทยรุ่งเรือง หรือวังขนาย
การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงชนิดยกเครื่องธุรกิจของกลุ่มเคเอสแอลในรอบหลายปี ว่ากันว่าช่วงเวลานี้เป็น “ยุคทอง” ของกลุ่มเคเอสแอลที่กำลังเริ่มเก็บเกี่ยวดอกผล
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|