ทำเลทองสำหรับที่พักอาศัยในกรุงเทพมหานคร


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

นับวันกรุงเทพมหานครยิ่งหนาแน่นและแออัด การขยายตัวของตัวเมืองออกสู่ชานเมืองรอบนอกเป็นสิ่งที่หลีกหนีไม่พ้น ประกอบกับอาคารชุดลอยฟ้ายังไม่เป็นที่นิยมสำหรับผู้ต้องการที่อยู่อาศัยเท่าที่ควร สิ่งเหล่านี้ได้สร้างให้พื้นที่แถบชานเมืองมีคุณค่าขึ้นมาอย่างรวดเร็ว การเลือกพื้นที่เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยของตนเอง จึงเป็นสิ่งจำเป็นและการเลือกพื้นที่เหล่านี้ จำเป็นต้องมีข้อมูลอยู่บ้าง อย่างน้อยที่สุดก็ต้องทราบว่า ที่ที่จะซื้อนั้นอยู่ในแนวเวนคืนของทางราชการหรือไม่ ต่อไปนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้น

ว่ากันว่าในปี พ.ศ. 2530 จะเป็นปีที่ธุรกิจหมู่บ้านจัดสรรบูมขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งภายหลังจากที่เงียบเหงาและซบเซาไปหลายปี จากปัญหาภาวการณ์ต่าง ๆ ที่โหมกระหน่ำให้ภาวะกำลังซื้อของประชาชนตกต่ำ ปัญหาการลงทุนสำหรับธุรกิจบ้านจัดสรร และปัญหาทางด้านการลงทุนสำหรับผู้ซื้อ กำลังจะเริ่มขึ้นอีกครั้ง ภายใต้กระแสข่าวการตัดถนนสายใหม่ ๆ เพื่อขยายตัวเมืองของกรุงเทพมหานครที่มีให้เห็นเป็นระลอก ๆ

แต่ไหนแต่ไรมา ทั้งคนจีนและคนไทยเราต่างมีความเชื่อกันว่า ทิศเหนือและทิศตะวันออกเป็นทิศที่ดี การจะทำอะไรให้เจริญก็ต้องหันหน้าไปทางด้านนั้น แม้แต่การตั้งบ้านเรือนก็มักจะขยายไปในแนวทางด้านนั้น ตัวเมืองต่าง ๆ จึงมักจะมีความเจริญขึ้นในทิศทางนั้นก่อนอยู่เสมอ

กรุงเทพมหานครของเราก็เหมือนกัน การขยายตัวของโครงการหมู่บ้านจัดสรร โดยส่วนใหญ่พุ่งไปสู่ทางทิศตะวันออกคือแถวลาดพร้าว บางกะปิ มีนบุรี และบางนา บางปู และทางทิศเหนือ คือแจ้งวัฒนะ ดอนเมือง รังสิต รามอินทรา เหล่านี้เป็นต้น

การขยายตัวเช่นนี้จะเป็นด้วยสาเหตุจากความเชื่อดังที่กล่าวข้างต้นหรือไม่ ไม่ขอยืนยัน

แต่มีความจริงอยู่ประการหนึ่งนั่นคือการขยายตัวเหล่านี้ เป็นการขยายตัวในแนวราบไปตามแนวความยาวของถนนสายสำคัญ ๆ ทั้งนั้น ไม่ว่าถนนสายนั้นจะเป็นถนนพหลโยธิน ซึ่งพุ่งไปทางด้านทิศเหนือ ถนนลาดพร้าว ถนนรามคำแหง และถนนบางนาตราดซึ่งพุ่งผ่านไปทางด้านตะวันออก เป็นต้น

และสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้กรุงเทพฯ ทางด้านทิศเหนือและตะวันออกเจริญรวดเร็วกว่าทิศตะวันตกของกรุงเทพฯ คือฝั่งธนบุรีนั้น ก็เนื่องจากว่า เมื่อสิบปีที่แล้วทางฝั่งธนบุรีขาดการพัฒนาทางด้านถนนหนทาง สาธารณูปโภคและบริการของรัฐทางด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จากฝั่งพระนครไปยังธนบุรี ซึ่งเมื่อสิบกว่าปีก่อนมีเพียงสะพานพุทธฯ สะพานกรุงธนบุรี สะพานกรุงเทพฯ และสะพานพระรามหกเท่านั้น ซึ่งเป็นสะพานเก่า ช่องทางแคบ ๆ การไปมาไม่สะดวก

อย่างไรก็ดี ในทุกวันนี้ สภาพต่าง ๆ ของทางด้านทิศตะวันตกคือฝั่งธนบุรี ได้มีการปรับปรุงและมีการเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว มีการตัดถนนสายใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น การกำหนดพื้นที่สีเขียวเพื่อให้เป็นเขตที่พักอาศัยโดยเฉพาะ เหล่านี้เป็นต้น

พื้นที่แถบปิ่นเกล้า-พุทธมณฑลสาย 2

พื้นที่แถบนี้ เหมาะสมที่จะใช้เป็นที่อยู่อาศัยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นเขตพื้นที่สีเขียวจากทางราชการซึ่งหมายถึงว่า ในเขตพื้นที่นี้จะห้ามมิให้มีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมและตึกแถวสูงเกิน 4 ชั้น

ด้วยลักษณะที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สีเขียวเช่นนี้ ทำให้พื้นที่แถบนี้ปลอดจากมลภาวะที่เป็นพิษ ไม่ว่าจะเป็นควันหรือของเสียจากโรงงาน และจากการที่หน่วยงานราชการห้ามมิให้สร้างโรงงานและตึกสูงในแถบนี้ จึงทำให้พื้นที่แถบนี้มีอัตราการทรุดของที่ดินต่ำกว่าเขตอื่น ๆ ประกอบกับน้ำประปาเข้าถึง จึงทำให้พื้นที่นี้มีการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้น้อยหรือแทบไม่มีเลย การทรุดตัวของพื้นดินในแถบนี้จึงต่ำกว่าแถบอื่น ๆ คือประมาณไม่เกิน 5 เซนติเมตรต่อปี

ระดับความสูงของพื้นดินในแถบนี้จึงสูงกว่าแถบอื่น ๆ คือมีความสูงกว่าระดับน้ำทะเล 1.51-2.00 เมตร โอกาสที่จะน้ำท่วมจึงมีน้อยกว่าเขตอื่น ๆ

ภายหลังจากที่มีการตัดถนนสายปิ่นเกล้า-นครไชยศรี ถนนพุทธมณฑลสาย 1 และสาย 2 แล้ว ได้ทำให้พื้นที่แถบนี้มีราคาพุ่งขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการตัดถนนสายวงแหวนรอบนอกของกรุงเทพมหานครทับถนนพุทธมณฑลสาย 1 แล้วยิ่งทำให้การคมนาคมในแถบนี้สะดวกสบายขึ้นมาก โดยเฉพาะถนนปิ่นเกล้า-นครไชยศรีนั้น แทบจะเรียกได้ว่าเป็นทางด่วนพิเศษที่ไม่มีการเก็บเงินก็ว่าได้ เนื่องจากบนถนนสายนี้ จะไม่มีช่องทางย่อย ๆ หรือทางเชื่อมใด ๆ เลย และภายหลังจากที่มีการตัดถนนวงแหวนรอบนอกครบหมดแล้ว ในอนาคตการเดินทางไปต่างจังหวัดก็จะยิ่งสะดวกยิ่งขึ้น เพราะไม่ต้องเดินทางเข้าใจกลางกรุงเทพฯ ให้เสียเวลาเลย

ระยะเวลาการเดินทางจากถนนพุทธมณฑลสาย 2 ถึงสนามหลวงนั้น ใช้เวลาอย่างมาก 15 นาที ในช่วงที่การจราจรไม่ติดขัด

พื้นที่แถบนี้ยังคงมีที่ว่างอยู่ ยังคงพอจะหาซื้อได้ด้วยราคาที่ไม่แพงนัก เมื่อเทียบกับทำเลทองในแถบอื่น ๆ โดยเฉพาะพื้นที่บนถนนพุทธมณฑลสาย 2 นั้น พื้นที่ติดถนนราคา 6,000 บาทต่อตารางวายังคงหาซื้อได้บ้าง แต่ถ้าเป็นส่วนที่ติดถนนจรัลสนิทวงศ์ราคาจะแพงมาก คือถ้าลึกเข้าไปในซอยจากถนนใหญ่ไม่เกิน 40 เมตรแต่ติดถนนส่วนบุคคลที่มีรถยนต์เข้าถึง ราคาประเมินเพื่อการเก็บภาษีจะสูงถึง 25,000 บาทต่อตารางวา และราคาที่ซื้อขายกันในตลาดประมาณ 25,000 บาทเช่นกัน

ในส่วนของถนนปิ่นเกล้า-นครไชยศรี ลึกเข้าไปในซอยแต่รถยนต์เข้าถึงราคาประเมิน 10,000 บาท และราคาตลาดประมาณ 20,000 บาทต่อตารางวา

สรุป พื้นที่แถบนี้จะเป็นทำเลทองเพื่อการพักอาศัยที่ดีที่สุดแหล่งหนึ่ง ด้วยความสะดวกสบายทั้งทางคมนาคมและสาธารณูปโภคทั้งยังอยู่ใกล้มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล โรงเรียน ฯลฯ

พื้นที่แถบถนนธนบุรีปากท่อ

พื้นที่บนถนนธนบุรีปากท่อ เป็นพื้นที่ที่น่าสนใจอีกพื้นที่หนึ่ง เมื่อกล่าวถึงพื้นที่แถบนี้แล้วหลายคนอาจจะบ่นว่าไกล แต่ในอนาคตอันใกล้นี้บนถนนสายนี้จะไม่ไกลเลย เนื่องจากโครงการทางด่วนเฉลิมมหานคร สายดาวคะนอง-ท่าเรือ ซึ่งเริ่มต้นจากถนนธนุรี-ปากท่อ บริเวณดาวคะนองถึงท่าเรือคลองเตยนั้นมีกำหนดการที่จะเสร็จในปลายปี 2530 นี้

ประกอบกับการตัดถนนวงแหวนรอบนอกของกรุงเทพมหานคร ทำให้พื้นที่แถบนี้ยิ่งสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นอีก

นับได้ว่าพื้นที่แถบนี้ก็เป็นส่วนพื้นที่ที่มีโครงข่ายของการคมนาค่อนข้างจะสมบูรณ์ มีถนนวงแหวนรอบนอกตัดเชื่อมทำให้การเดิทางไปสู่ถนนเอกชัยหรือถนเพชรเกษมที่ตัดนานอยู่เดิมแล้วค่อนข้างจะสะดวกสบายมาก

และพื้นที่แถบนี้ถึงแม้ว่าจะไม่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สีเขียวเสียเลยทีเดียว แต่การสร้างโรงงานในพื้นที่แถบนี้นั้นมีกฎเกณฑ์ ข้อกำหนดต่าง ๆ จากทางราชการมาก ทำให้พื้นที่แถบนี้มีโรงงานน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานเก่า ๆ ทำให้พื้นที่แถบนี้มีมลภาวะที่เป็นพิษน้อย การทรุดตัวของพื้นดินก็มีต่ำ แต่ก็ยังสูงกว่าแถบปิ่นเกล้า-พุทธมณฑลบ้าง แต่ก็ไม่มากนัก เยกว่ายังมีการทรุดตัวของดินไม่เกิน 5 เซนติเมตรเช่นเดียวกัน

ตรงแถบทางแยกดาวคะนองไปทางตะวันตกก่อนถึงถนนวงแหวนรอบนอกประมาณครึ่งทางมีความสูงของระดับดินเหนือระดับน้ำทะเล 1.01-1.50 เมตร แต่ถ้าเลยจากนั้นไปแล้วระดับของพื้นดินจะเริ่มต่ำลง เนื่องจากมีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่บ้าง แต่ก็ยังมีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลอยู่ประมาณ 0.51-1.00 เมตร

พื้นที่แถบนี้ยังมีที่ว่างของเนื้อที่อยู่ประมาณ 75% ทางด้านราคาก็ยังไม่สูง ราคาพื้นที่ประเมินเพื่อการเก็บภาษีริมถนนสายธนบุรี-ปากท่อ 12,500-1,500 บาท ต่อตารางวา แต่ราคาที่ดินเพื่อการพักอาศัยในพื้นที่เขตนี้มีราคาประมาณ 10,000-600 บาทแล้วแต่พื้นที่

อัตราการเพิ่มของราคาพื้นที่แถบนี้คาดว่าจะประมาณ 15-80% ต่อปี

อย่างไรก็ตาม โอกาสที่พื้นที่บางส่วนในแถบนี้จะถูกเวนคืนก็มีอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะส่วนของพื้นดินที่อยู่ใกล้ถนวงแหวนรอบนอกและทางด่วน

พื้นที่แถบประชาชื่นถึงงามวงศ์วาน

พื้นที่แถบนี้เป็นแถบที่จะมีอัตราการขยายตัวรวดเร็วมาก ในอนาคตที่ใกล้จะถึงนี้

ในปัจจุบันพื้นที่แถบนี้ หาซื้อก็คงจะยากสักหน่อยแล้ว แต่ก็ยังมีพื้นที่ว่างอยู่ประมาณ 50% ของพื้นที่

ทางด้านการคมนาคม มีถนนงามวงศ์วาน ถนนประชาชื่น ถนนวิภาวดีรังสิต เป็นสายเมนใหญ่ ในอนาคตที่สำคัญก็คือ กรุงเทพมหานครกำลังตัดถนนวงแหวนรอบกลางช่วงวงศ์สว่างถึงถนนวิภาวดีรังสิตอยู่ โดยถนนสายนี้ได้ผ่านขั้นตอนการเวนคืน จัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเรียบร้อยแล้ว ถนนวงแหวนรอบกลางนี้จะวิ่งตัดผ่านชุมชนชวนชื่นทางด้านใต้ ตัดถนนประชาชื่น ตัดผ่านบางส่วนของหมู่บ้านชลนิเวศน์ทางด้านใต้ตรงไปตัดกับถนนวิภาวดีรังสิตซึ่งมีการก่อสร้างถนนส่วนนี้บ้างแล้วในบริเวณนี้

ประกอบกับทางด่วนโครงการ 2 สายบางโคล่-แจ้งวัฒนะ จะต้องผ่านถนนและบริเวณนี้ ไม่ว่าการทางพิเศษจะเลือกเอาทางแยกซ้ายหรือขวา (ในปัจจุบันยังไม่แน่นอนว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจะเลือกเอาพื้นที่ทางด้านซ้ายหรือขวาที่จะตัดผ่าน แต่ทางด่วนโครงการสายนี้ ต้องมีแน่) แต่ไม่ว่าการทางพิเศษฯ จะเลือกเอาสายใด ก็ต้องมีทางขึ้น-ลงทางด่วนบนถนนตัดใหม่สายนี้แน่นอนหนึ่งจุด และทางด้านถนนงามวงศ์วานอีกหนึ่งจุด

ผลจากทางด่วนและถนนวงแหวนรอบกลางนี้ เป็นที่คาดว่าจะทำให้พื้นที่แถบนี้เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว

ทางด้านราคาของที่ดิน ราคาประเมินเพื่อการเก็บภาษี ถ้าเป็นริมถนนวิภาวดีรังสิตราคาประเมิน 20,000-4,500 บาทต่อตารางวา ถนนงามวงศ์วานราคาประเมิน 18,000-3,000 บาท ถนนประชาชื่นราคาประเมิน 10,000-3,500 บาทต่อตารางวา ราคาตลาดที่ซื้อขายกันสำหรับที่ดินเพื่อที่พักอาศัย มีราคาประมาณ 8,000-15,000 บาทต่อตารางวา แถ้าติดถนนใหญ่จะประมาณสองเท่าของราคาประเมินเพื่อการเก็บภาษีของทางราชการ

ทางด้านการทรุดตัวของดิน พื้นที่แถบนี้ยังมีการทรุดตัวของพื้นดินสูงกว่าทางด้านฝั่งธนบุรีดังที่กล่าวมาแล้ว คือมีการทรุดตัวของพื้นดิน 5 เซนติเมตรต่อปี และเป็นพื้นที่ที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1.01-1.50 เมตร ก็เรียกได้ว่าเป็นที่ ๆ น้ำท่วมยากสักหน่อย

พื้นที่แถบถนนแจ้งวัฒนะ

พื้นที่แถบนี้อยู่เหนือถนนงามวงศ์วานขึ้นไป ลักษณะของพื้นที่คล้าย ๆ กับถนนงามวงศ์วานคือด้วยอิทธิพลของทางด่วนโครงการ 2 และถนตัดใหม่ของกรุงเทพมหานคร สายเลียบคลองเปรมประชากรฝั่งตะวันตกตัดขนานกับถนนวิภาวดีรังสิต จะทำให้การคมนาคมในแถบนี้มีความสะดวกและคล่องตัวยิ่งขึ้น

พื้นที่โล่งว่างในแถบนี้ยังมีมากกว่าช่วงประชาชื่นที่กล่าวมาในตอนแรก แต่อยู่ไกลตัวเมืองมากกว่า

ทางด้านราคาที่ดิน ราคาประเมินเพื่อการเก็บภาษีอยู่ในช่วง 1,500-3,500 บาท แต่ราคาที่ซื้อขายกันอยู่ในช่วง 5,000-10,000 บาทต่อตารางวา

ทางด้านการเวนคืนของทางราชการนั้น ยังไม่แน่นอนว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจะเลือกเส้นทางไหนในสามเส้นทางที่วางไว้ (ตามแผนที่) ก็คงจะมีพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใดในสามเส้นทางนี้ถูกเวนคืนในช่วงที่ทางด่วนตัดผ่าน บริเวณที่น่าจะถูกเวนคืนมากที่สุดคือ ส่วนที่เป็นที่อยู่อาศัยที่อยู่ห่างจากหมู่บ้านจัดสรรหรือแหล่งชุมชน เพราะการทางพิเศษฯ คงจะไม่ตัดทางด่วนผ่ากลางหมู่บ้านแน่นอน ดังนั้นหากจะซื้อพื้นที่แถบนี้ต้องดูปัจจัยนี้ด้วย

การทรุดตัวของพื้นดินในแถบนี้ 5 เซนติเมตรต่อปี เช่นเดียวกับแถบประชาชื่น ระดับความสูงของพื้นดินเหนือระดับน้ำทะเล ประมาณ 1.51-2.00 เมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ในแถบที่มีความสูงมากพื้นที่หนึ่ง โอกาสที่น้ำจะท่วมถึงในแถบพื้นที่เหล่านี้จึงน้อย

ก็เป็นพื้นที่แถบหนึ่งที่คาดว่าจะมีอัตราการเจริญเติบโตที่เร็วมากในอนาคตอันใกล้นี้ โดยเฉพาะหลังจากที่ข่าวการเวนคืนจากการทางพิเศษฯ ได้ออกมาแน่นอนแล้วว่า พื้นที่แถบไหนบ้างที่จะถูกเวนคืน

พื้นที่ถนนบางนา-ตราด (ถึงกิโลเมตรที่ 5)

ภายหลังจากมีโครงการอีสเทอร์นซีบอร์ดขึ้นมาได้ทำให้พื้นที่แถบนี้มีราคาพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว จนราคาของพื้นที่แถบนี้สูงกว่าราคาตามสภาพความเป็นจริงไป

ประกอบกับโครงข่ายถนสายสำคัญที่ตัดผ่าน ไม่ว่าจะเป็นถนบางนา-ตราดหรือถนนศรีนครินทร์ หรือทางด่วน เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นถนนสายใหญ่ที่มีผลทำให้การคมนาคมในแถบนี้ไม่ว่าไปไหนมาไหนสะดวกไปหมด ซึ่งเป็นปัจจัยอีกตัวหนึ่งที่ทำให้ราคาในพื้นที่แถบนี้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเรียกได้ว่าเป็นข้อเสียข้อหนึ่งสำหรับผู้ที่จะเข้าไปอยู่ใหม่ แต่ก็มีผลทำให้เจ้าของที่ดินเดิมในพื้นที่แถบนี้รวยไปตาม ๆ กัน

แต่ก็ยังเป็นที่เชื่อกันอยู่ว่าราคาของพื้นที่ในแถบนี้จะยังไม่คงตัวอยู่เพียงแค่นี้อย่างเด็ดขาด คงจะสูงขึ้นไปอยู่อีกเรื่อย ๆ

ข้อเสียในที่ดินพื้นที่แถบนี้ ความจริงแล้วมีอยู่มากทีเดียว แต่ด้วยความสะดวกในการคมนาคมดั่งที่ว่า ได้กลบลบเลือนข้อเสียเหล่านี้ไปหมด

พื้นที่แถบนี้มีการปลูกสร้างของโรงงานมาก มลภาวะเป็นพิษจึงมีสูง และทำให้พื้นที่แถบนี้ค่อนข้างจะมีการทรุดตัวของดินสูงมาก กล่าวคือประมาณ 10 เซนติเมตรต่อปี

ความสูงของระดับดินก็ต่ำกว่าเขตอื่น ๆ คือเป็นพื้นที่ที่มีระดับดินสูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง 0.10-0.50 เมตรเท่านั้นเอง โอกาสที่น้ำจะท่วมจึงมีมาก

ด้านราคาดินในพื้นที่แถบนี้ โดยราคาประเมินเพื่อการเก็บภาษีนั้น ถ้าเป็นริมถนนบางนา-ตราด ก็จะมีราคา 4,000-15,000 บาทต่อตารางวา ถ้าเป็นด้านริมถนนสุขุมวิทก็มีราคาประเมิน 40,000-4,000 บาทต่อตารางวา และทางด้านถนนศรีนครินทร์ราคาประเมิน 4,000-15,000 บาทต่อตารางวา

ทางด้านราคาตลาดที่ซื้อขายกันจริง ๆ หรือราคาตลาดนั้น สำหรับราคาเพื่อที่พักอาศัยจะมีมูลค่าประมาณ 30,000-2,000 บาทต่อตารางวา

แนวโน้มในอนาคตพื้นที่แถบนี้ จะมีบทบาทของการเป็นที่อยู่อาศัยมากขึ้นตามโครงการของกรุงเทพมหานคร ส่วนโรงงานจะถูกกีดกันให้ไปอยู่ทางตอนใต้และตะวันออกหรือบริเวณจังหวัดสมุทรปราการตอนล่างมากขึ้น ตามโครงการที่จะผลักดันให้โรงงานเข้าไปอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรม

พื้นที่แถบรามอินทรา

พื้นที่แถบนี้ได้รับการพัฒนามาหลายปีแล้ว แต่เนื่องจากสภาพของพื้นที่ ดูแล้วยังอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองอยู่มาก อัตราการเจริญเติบโตของพื้นที่แถบนี้จึงยังไม่รวดเร็วนัก

แต่ในปัจจุบัน จากข่าวโครงการตัดถนนหลายสายของ กทม. อย่างเช่นถนนสายรามคำแหง-รามอินทรา ถนนวงแหวนรอบนอก และทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งจะเริ่มจากถนรัชดาภิเษกไปสิ้นสุดที่ถนนรามอินทรานั้น ได้ส่งผลให้พื้นที่แถบนี้เริ่มที่จะคึกคักขึ้นมา ทั้งด้านราคาและทางด้านการซื้อขาย

อย่างไรก็ดี ยังไม่แน่นอนว่าการทางพิเศษฯ จะต้องเวนคืนพื้นที่ดินแถบไหนบ้าง ในบริเวณพื้นที่แถบรามอินทรานี้ โครงการทางด่วนขั้นที่ 2 นี้กำลังสำรวจพื้นที่ที่จะทำการเวนคืนอยู่ เช่นเดียวกับถนนที่กำลังตัดใหม่ของ กทม. ซึ่งยังหาแนวที่แน่นอนยังไม่ได้เช่นกัน

แต่ก็เป็นที่เชื่อกันว่า พื้นที่แถบนี้จะต้องเติบโตเร็วมากในอนาคต ภายหลังจากถนนและทางด่วนได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว เพราะความรู้สึกที่ว่าพื้นที่แถบนี้อยู่ไกลก็คงจะหายไป ประกอบกับถนนที่มีอยู่เดิม ทั้งถนนรามอินทรา ถนนพหลโยธินและวิภาวดีรังสิตทางด้านทิศตะวันตกก็เป็นถนนสายใหญ่อยู่แล้ว พื้นที่แถบนี้จึงเป็นพื้นที่ที่มีความสะดวกมากในการคมนาคมในอนาคต

ทางด้านราคาพื้นที่แถบนี้เรียกว่ายังไม่แพงเกินไป พื้นที่ว่างก็ยังมีอยู่มาก

ราคาประเมินเพื่อการเก็บภาษีของทางการ ถ้าเป็นริมถนนพหลโยธินราคาประเมิน 25,000-5,000 บาทต่อตารางวา ริมถนนรามอินทราราคาประเมิน 8,000-500 บาทต่อตารางวา ถนนลาดปลาเค้าราคาประเมิน 5,000-1,500 บาทต่อตารางวา ริมถนนสุขาภิบาลราคา 10,000-3,000 บาทต่อตารางวา

ทางด้านราคาที่ดินเพื่อที่พักอาศัยนั้น ราคาที่ซื้อขายกันในตลาดอยู่ระหว่าง 20,000-4,000 บาทต่อตารางวา

ข้อเสียของพื้นที่แถบนี้คือ ปัญหาการทรุดตัวของพื้นดินแต่ก็ยังต่ำกว่าแถบบางนา พื้นที่แถบนี้มีการทรุดตัวประมาณ 5 เซนติเมตรต่อปี แต่พื้นดินยังอยู่ในระดับที่สูงมาก คือสูงกว่าระดับน้ำทะเล 1.51-2.00 เมตร โอกาสที่น้ำจะท่วมในเขตนี้จึงนับว่ายังน้อย ประกอบกับพื้นที่รอบข้างยังเป็นทุ่งนาที่โล่งกว้าง น้ำจึงระบายลงทุ่งนาได้ง่าย

พื้นที่แถบถนนศรีนครินทร์

การตัดถนนสายใหญ่คือถนนศรีนครินทร์เข้าสู่บริเวณแถบนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นทุ่งนาโล่งกว้างอยู่นั้น ทำให้พื้นที่ดินแถบนี้ราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และว่ากันว่าความนิยมของประชาชนที่จะใช้พื้นที่แถบนี้เป็นที่อยู่อาศัยนั้นยังสูงกว่าถนนบางนา-ตราดเสียอีก

ประกอบกับถนนสายนี้ ตัดตรงมาจากถนรามคำแหงที่บางกะปิในปัจจุบันสุดทางที่ถนนเทพารักษ์นั้น ทำให้การเดินทางบนถนนสายนี้รวดเร็ว ไม่ต่างกับขึ้นทางด่วนเลยและยังมีถนนสายใหญ่อื่น ๆ ที่ตัดผ่านเช่นถนพัฒนาการซึ่งทำให้การเดินทางเข้าถนนเพชรบุรีเร็วขึ้น และถนนสายอื่น ๆ อย่างเช่นถนนอ่อนนุช ถนนอุดมสุข ถนนบางนาตราด ซึ่งเป็นเส้นทางที่ทำให้ขึ้นทางด่วนสะดวกมาก

ในอนาคต การทางพิเศษฯ ก็จะตัดทางด่วนอีกเส้นทางหนึ่งลงตรงถนนศรีนครินทร์แห่งนี้ตรงเหนือถนนพัฒนาการเล็กน้อย ยิ่งจะทำให้พื้นที่แถบนี้เป็นที่สนใจของผู้ที่กำลังกว้านซื้อที่ดินยิ่งขึ้นอีก

เรียกว่าการคมนาคมในพื้นที่แถบนี้สะดวกมาก

แต่ก็มีข้อเสียตรงที่ น้ำประปายังเข้าไม่ถึงในส่วนใหญ่ของพื้นที่ หมู่บ้านจัดสรรและโรงงานที่มีอยู่เดิมจึงพากันสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ ทำให้พื้นที่แถบนี้มีอัตราการทรุดของพื้นดินอยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่าสูงมาก คือ 10 เซนติเมตรต่อปี

และตั้งแต่ซอยอุดมสุขลงมาถึงสมุทรปราการก็มีความสูงของระดับดินเหนือน้ำทะเลต่ำมาก คือสูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียงแค่ 0.10-0.50 เมตร ส่วนเหนือซอยอุดมสุขขึ้นไประดับดินก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำคือประมาณ 0.51-1.00 เมตร

ทางด้านราคาที่ดินในแถบนี้ ราคาค่อนข้างที่จะใกล้เคียงกับพื้นที่แถบถนนบางนา-ตราด บางคนบอกว่า "มันสูงเกินความเป็นจริงไปหน่อย" ซึ่งก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พื้นที่แถบนี้ยังมีที่โล่งว่างอยู่มาก

ราคาประเมินของทางราชการเพื่อการเก็บภาษีนั้น ถ้าเป็นพื้นที่ริมถนนศรีนครินทร์ราคาประเมิน 15,000-4,000 บาทต่อตารางวา ส่วนที่ติดถนนอ่อนนุช 6,000-1,000 บาทต่อตารางวา ส่วนที่ดินถนนบางนา-ตราด 15,000-4,000 บาทต่อตารางวา และส่วนที่ติดถนนเทพารักษ์ราคาประเมิน 2,500-1,500 บาทต่อตารางวา

ส่วนราคาที่ซื้อขายกันในตลาดสำหรับที่พักอาศัยนั้น มีราคาประเมิน 1,000-8,000 บาท ราคาของพื้นที่แถบนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 15-60% ต่อปี

สรุป

ที่กล่าวมาทั้งหมดทุกวันนี้ มิได้เรียงตามลำดับความสำคัญของพื้นที่ก่อนหลังเนื่องจากการจะซื้อบ้านซื้อที่ดินของและคน ต่างก็มีเหตุผลที่ต่างกัน บางคนเน้นความสำคัญทางด้านคมนาคมเป็นหลัก บางคนก็เน้นเรื่องมลภาวะเป็นหลัก บางคนก็เน้นราคาถูกอนาคตดีเป็นหลัก ฯลฯ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับทัศนะของแต่ละคน

อีกประการหนึ่ง ก็ขอบอกกันไว้ก่อนว่าทำเลทองในกรุงเทพมหานครใช่จะหมดอยู่เพียงแค่นี้ มีอีกหลายพื้นที่ที่ดี ๆ และยังไม่ได้กล่าวถึง หากมีโอกาสในครั้งหลังจะนำมาว่ากันอีก…



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.