ที่นี่มีตำนาน "พลาซ่า แอทธินี กรุงเทพ"

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

ภาพของโรงแรม พลาซ่า แอทธินี กรุงเทพ ซึ่งเป็นตึกกระจกหรูหรา สูงตระหง่าน ริมถนนวิทยุนั้น ลบภาพโรงแรมเก่า "อิมพีเรียล" ที่เคยเคียงคู่ถนนเส้นนี้ มานานกว่า 20 ปี จนหมดสิ้น

จากโรงแรมเดิมที่มีความสูงเพียง 14 ชั้น มีห้องพักประมาณ 400 ห้อง ด้านหน้าจะเป็นลานจอดรถกว้างขวาง เดินเข้าไปจะเจอกับ ล็อบบี้ ที่เมื่อมองผ่านกระจกใสจะเห็นสวน เล็กๆ พร้อมกับสระน้ำ ด้านขวามือเป็นห้อง "นวลจันทร์" ห้องจัดเลี้ยงที่วงสังคมกรุงเทพฯ ล้วนแต่คุ้นเคย และจากทางเดินเล็กๆ ผ่าน คอฟฟี่ชอปและเปียโนตัวใหญ่ ลึกเข้าไปข้างใน ก็จะเป็นห้อง "เพลินจิต" ที่รู้จักกันดี

และแล้วภาพของเจ้าสัวอากร ฮุนตระกูล เจ้าของโรงแรมคนก่อน ซึ่งเป็นชายร่างเล็ก ชอบแต่งตัวแบบสบายๆ ถือแก้วไวน์เดินทักทาย แขกไปมาโดยมีภรรยาสาวสวยชมพูนุชยืน ระบายยิ้มอ่อนๆ เคียงข้างก็ผ่านเข้ามาในความ ทรงจำ

กว่า 60 ปีล่วงมาแล้ว พื้นดินส่วนหนึ่งซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแรมแห่งนี้ เคยเป็นที่ตั้งของพระตำหนักคันธวาสที่สวยงามและร่มรื่นไปด้วยแมกไม้ พระตำหนักคันธวาสนี้เคยเป็นที่ประทับของ สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระราชธิดาองค์ที่ 43 ในพระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี

อากรเจ้าของโรงแรมในเครืออิมพีเรียลทั้งหมดในอดีต มีที่ดินอยู่ประมาณ 4 ไร่ในบริเวณนี้ และด้วยสายตาที่แหลมคม เขามั่นใจว่าในอนาคต ณ ที่แห่งนี้จะกลายเป็นทำเลทองของกรุงเทพฯ อย่างแน่นอน จึงได้ขอเช่าที่ดินตรงวังเก่าและก่อสร้างเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาวขึ้นมา เมื่อปี 2516 พร้อมๆ กับการขยายอาณาจักรของโรงแรมในเครืออิมพีเรียลไปอีกหลายแห่ง

เมื่อกลางปี 2537 อากรรู้ตัวดีว่าเป็นโรคร้าย จึงได้ขายโรงแรมอิมพีเรียลแห่งนี้และโรงแรมในเครืออิมพีเรียล ทั้งหมด 7 แห่งให้กับเจริญ สิริวัฒนภักดี อดีตพ่อค้าขายของโชวห่วยย่านตลาดทรงวาดที่ทะยานตัวเองขึ้นมาเป็น "ราชาน้ำเมา" และในช่วงเวลานั้นหันมารุกงานด้านโครงการอสังหาริมทรัพย์อย่างดุเดือด ด้วยการซื้อโครงการพร้อมๆ กันหลายแห่ง เช่น ภูแก้วรีสอร์ท ของบุญชู โรจนเสถียร โรงแรมโกลเด้นไทรแองเกิ้ลวิลเลจ ของไพโรจน์ เปี่ยมพงศ์ สานต์ เอ็มไพร์ทาวเวอร์ จากกลุ่มฮ่องกงแลนด์ รวมทั้งตึกอีสต์เอเชียติ๊ก ที่สุดแสนโรแมนติกริมแม่น้ำเจ้าพระยา

นับเป็นความโชคดีของอากรอย่างมากที่ขายโรงแรมไปได้ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์วิกฤติทางการเงิน

หลังจากขายกิจการ อากรก็หลีกลี้สังคมไปพักผ่อนและทำกิจการเล็กๆ ที่เหลือไว้คือ โรงแรมบ้านท้องทราย บนเกาะสมุย และแล้วเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2543 ที่ผ่านมาเขาได้เสียชีวิตลงอย่างเงียบๆ ด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โดยทิ้งกิจการให้ภรรยาและลูกชาย "ธนกร" บริหารต่อไป

นับเวลาเพียงประมาณ 1 ปีที่อากรจากไป โรงแรมเก่าที่เขารักมากบนถนนวิทยุแห่งนี้ก็ได้อวดรูปโฉมใหม่ในชื่อโรงแรม "พลาซ่า แอทธินี กรุงเทพ" ด้วยเม็ดเงินปึกหนาของเจริญ

หลังจากอิมพีเรียลมาอยู่ในมือของเจริญได้ประมาณ 2 ปี เขาก็สั่งทุบทิ้งโรงแรมทั้งหมดแบบไม่เหลือซาก เพื่อสร้างให้เป็นโรงแรมชั้น 1 ที่มีคุณภาพแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ และเพียง 3 ปีท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจ โรงแรมก็ได้ก่อสร้างเสร็จ และทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 18-19 มีนาคม 2544 ที่ผ่านมา

ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา แห่ง SJA 3D เป็นผู้ออกแบบงานด้านสถาปัตยกรรม และมีบริษัท P49 Design & Associates เป็นผู้ดูแลการออกแบบตกแต่งภายในที่เน้นความประณีต งดงาม แสดงถึง ความเป็นไทยในรายละเอียด แต่ทันสมัย

ทั่วทั้งโรงแรมได้รับการออกแบบโดยใช้รูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดเป็นหลัก ทั้งแผ่นหินอ่อนปูพื้น ลวดลายของพรม กระจกติดผนัง เพดาน บริเวณล็อบบี้ผสมผสานหินอ่อนสีสว่างกับไม้สีเข้มขรึม จาก ล็อบบี้ บันไดโค้งคู่ทอดขึ้นสู่ห้องจัดเลี้ยงและแกรนด์ ฮอลชั้น 2 สุดขั้นบันไดเป็นภาพจิตรกรรมอันเป็น ผลงานชิ้นเอกของศาสตราจารย์ปรีชา เถาทอง

พลาซ่า แอทธินี กรุงเทพ มีห้องพัก 382 ห้อง เป็นห้องพัก 354 ห้อง ห้องสวีท 28 ห้อง ห้องสวีทนี้ มีการตกแต่งภายในที่แตกต่างกันทุกรูปแบบ เช่น ห้องเรือนไทยที่ตกแต่งด้วยศิลปะไทยที่วิจิตร ห้องรอยัลพิมาย จำลองบรรยากาศแบบเขมร

นอกจากนั้น ยังมีบิสซิเนสเซ็นเตอร์ที่มีอุปกรณ์สื่อสารพวกคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต เครื่อง ถ่ายเอกสาร บริการด้านกีฬา ห้องอาหาร ห้องจัดเลี้ยง สัมมนา ที่ทันสมัย

เสน่ห์ของโรงแรมแห่งนี้ สะท้อนให้เห็นถึง ความเจริญเติบโตล้ำหน้าในศตวรรษที่ 21 แต่ยัง คงรักษาศิลปวัฒนธรรมแห่งชาติไว้อย่างเหนียว แน่น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.