|
ไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เรื่องที่อินเดียต้องทบทวน
โดย
ติฟาฮา มุกตาร์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
ทันทีที่เกิดวิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ หลังภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่น ระลอกความตื่นกลัวส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ทั่วโลก ในอินเดียเอง ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบพากันแถลงให้ความมั่นใจแก่สาธารณชน ถึงระบบและมาตรการรักษาความปลอดภัยในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีอยู่ และย้ำว่าเหตุการณ์นี้ไม่มีผลกระทบต่อแผนการติดตั้งเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพิ่มอีก 36 เตา เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าให้ได้ 63,000 เมกะวัตต์ ในปี 2032 แต่ในห้วงเวลาที่ประชาคมโลกพยายามสรุปบทเรียนจากวิกฤตการณ์ในญี่ปุ่น คำถามมากมายเริ่มผุดขึ้น รวมถึงคำถามว่าอินเดียควรเดินหน้าต่อบนเส้นทางไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์หรือไม่
ปัจจุบันอินเดียมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าอยู่ 20 เตา โดยสองเตาเป็นแบบ Boiling Water Reactors (BWRs) นำเข้าจากสหรัฐ อเมริกาคล้ายกับที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ อีก 18 เตาปฏิกรณ์เป็นแบบ Pressured Heavy Water Reactors (PHWRs) ที่พัฒนาขึ้นโดยอินเดียเอง เตาปฏิกรณ์แรกที่ใช้งานมาแต่ปี 1973 ในรัฐราชสถานนั้น ปิดทำการและอยู่ระหว่างการประเมินว่าจะซ่อมบำรุงเพื่อใช้งานใหม่หรือปิดตายโดยถาวร
ไฟฟ้าถือเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของอินเดีย นอกเหนือจากการตอบคำถามว่าทำอย่างไรจึงจะป้อน ไฟฟ้าแก่พื้นที่ที่มีไฟฟ้าใช้ให้ครบ 24 ชั่วโมงต่อวัน ในอินเดียยังมีประชากรอีกกว่า 400 ล้านครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ปัจจุบันไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ถือเป็นร้อยละ 2.5 ของไฟฟ้าที่ใช้อยู่ทั่วประเทศและรัฐบาล มีเป้าหมายที่จะขยายกำลังผลิตให้เป็นร้อยละ 5 ภายในปี 2032 อันหมายถึงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มอีก 6 แห่ง ซึ่งล้วนแต่ใช้เตาปฏิกรณ์ที่เป็นเทคโนโลยีนำเข้ารวม 36 เตา มีกำลังผลิตรวม 40,000 เมกะวัตต์
หลังวิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่น นายกฯ มานโมฮัน ซิงห์ได้สั่งการให้มีการตรวจสอบระบบรักษาความปลอดภัยในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีอยู่โดย ทันที S.K. Jain ประธานของ Nuclear Power Corporation of India Limited (NPCIL) ก็ขานรับ คำสั่ง แม้ว่าเพิ่งจะมีการตรวจสอบประจำปีไปก็ตาม และย้ำว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกแห่งมีมาตรฐานระบบ ความปลอดภัยที่ดีเยี่ยม และยกตัวอย่างถึงกรณีภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อาทิ เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เมืองภุช โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใกล้เมืองสุรัตก็ไม่ได้รับความเสียหายใดๆ ส่วนกรณี สึนามิปี 2004 ที่ส่งผลกระทบต่อชายฝั่งรัฐทมิฬนาฑู เตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้า Kalpakkam ก็ปิดเครื่องอัตโนมัติอย่างปลอดภัย และเปิดใช้งานใหม่ได้ภายใน 4 วัน เขากล่าวเพิ่มเติมว่าอินเดียอยู่ห่างจากรอยเลื่อน อันตราย จึงไม่น่าจะประสบภัยพิบัติซ้ำซ้อนเช่นที่เกิด กับญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มาตรฐานความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งที่มีอยู่และกำลังดำเนินการสร้าง กลายเป็นเพียงหนึ่งในคำถามที่สื่อ แวดวงสิ่งแวดล้อมและพลังงาน รวมถึงสาธารณชนกำลังตั้งคำถามกับรัฐบาล ในเวลาเดียวกันชาวบ้านในเขตไจตาปุระ รัฐมหาราษฎระ ได้รวมตัวกันอีกครั้ง หลังจากประท้วงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ขนาด 9,900 เมกะวัตต์ ติดต่อมาเป็นเวลา 4 ปี แต่การประท้วงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 18 เมษายนกลับลุกลามไปสู่การปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ทาง การและชาวบ้าน จนมีการยิงเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุมทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 ราย และเสีย ชีวิตหนึ่งราย
การประท้วงเรื่องโรงไฟฟ้าไจตาปุระ นอก จากจะเป็นประเด็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการโยกย้ายชาวบ้าน ยังร้อนอยู่ด้วยประเด็นที่ว่า เตาปฏิกรณ์ 6 เตาที่จะมีการติดตั้งนั้น เป็นเตาปฏิกรณ์นำเข้าแบบ Evolutionary Pressurized Water Reactors (EPRs) จากบริษัท Areva ของฝรั่งเศส ที่ถือกันว่าเป็นต้นแบบที่ยังไม่ผ่านการทดสอบ เพราะปัจจุบันมีเตาปฏิกรณ์แบบนี้เพียง 4 เตาในโลก ซึ่งล้วนแต่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง
อดีตประธานคณะกรรมาธิการกำกับดูแลด้านพลังงานนิวเคลียร์ นาย A. Gopalakrishnan ให้ความเห็นว่าการผลิตไฟฟ้าด้วยเตาปฏิกรณ์นำเข้า EPR จะมีค่าใช้จ่ายรวม 200 ล้านรูปีต่อเมกะวัตต์ ขณะที่เตาปฏิกรณ์ PHWR ของอินเดีย มีค่าใช้จ่ายเพียง 80 ล้านรูปีต่อเมกะวัตต์ หากอินเดียจำเป็นต้องเดินหน้าหาพลังงานนิวเคลียร์จริงๆ แล้ว ทำไมจึงไม่นำเข้าเพียงแร่ยูเรเนียม โดยสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีของอินเดีย
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัย เขากล่าวตรงไปตรงมาว่า หากเทียบกับญี่ปุ่นซึ่งมีมาตรฐานการรับมือภัยพิบัติดีเยี่ยม อินเดียถือเป็นประเทศ ที่ไร้การจัดการและขาดความพร้อมที่จะรับมือเหตุฉุกเฉินไม่ว่าในรูปแบบใด
ไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ โดยตัวมันเองแล้วเป็นเทคโนโลยีที่เต็มไปด้วยอันตราย เรียกได้ว่าเป็นรูปแบบการผลิต ไฟฟ้าที่อาจนำไปสู่อุบัติเหตุที่จะกลายเป็นมหันตภัยที่ร้ายแรง และส่งผลกระทบต่อชีวิต ผู้คนและสิ่งแวดล้อมยาวนานที่สุด นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ ที่อินเดียจะต้องตอบคำถามและเตรียมการในระยะยาว เช่นว่าอินเดีย มีแหล่งแร่ยูเรเนียมสำรองพอเพียงแก่การผลิตไฟฟ้าได้เพียง 10,000 เมกะวัตต์ นั่นหมายถึงจะต้องมีการนำเข้ายูเรเนียมอีกในปริมาณและมูลค่ามหาศาล ในอนาคตยังจะมีปัญหาเรื่องการปิดโรงไฟฟ้าที่หมดอายุทำการ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายราว 1 ใน 3 ถึงครึ่งหนึ่งของการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ รวมถึงปัญหาการจัดเก็บ กากกัมมันตรังสีเป็นระยะเวลานับศตวรรษ
ขณะเดียวกันก็มีตัวเลขที่ชวนคิด ทุกวันนี้กระแสไฟฟ้าในอินเดียราว 28 เปอร์เซ็นต์ รั่วสูญเปล่า ไประหว่างการส่งจ่าย ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับสถิติเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ราว 10 เปอร์เซ็นต์ ทั้งมีหมู่บ้าน จำนวนไม่น้อยในอินเดียที่สามารถผลิตไฟฟ้าใช้เอง ตัวอย่างเช่นหมู่บ้าน Pathanpara ในรัฐเกรละ ซึ่งชาวบ้านรวมตัวกันกู้เงินจากธนาคารมาสร้างโรงไฟฟ้า พลังน้ำขนาด 5 กิโลวัตต์ และในเวลาไม่กี่ปีนอกจากจะมีไฟฟ้าใช้ พวกเขายังสามารถปลดหนี้ธนาคารและมีเงินกองกลางเหลือกว่า 60,000 รูปี ส่วนที่หมู่บ้าน Tanuka ในรัฐพิหาร ชาวบ้านหลายร้อยครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้ราว 6 ชั่วโมงต่อคืน จากโรงปั่นไฟ ที่ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง ความสำเร็จจากโครงการนำร่องที่ริเริ่มในปี 2009 ได้ขยายผลไปสู่หมู่บ้านอีกกว่า 60 แห่งทั่วอินเดีย
อีกตัวอย่างซึ่งเป็นระบบที่นิยมกันมากในประเทศเยอรมนี คือกรณีหมู่บ้าน Uranturai ในรัฐทมิฬนาฑู ที่ชาวบ้านลงขันกันสร้างกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้า โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกป้อนเข้าสู่ระบบ ส่งจ่ายของภาครัฐ นัยหนึ่งคือการขายไฟฟ้าแก่การไฟฟ้า ซึ่งรายได้นั้นจะถูกนำมาคำนวณหักด้วยค่าไฟที่ใช้อยู่ในหมู่บ้าน พบว่าในแต่ละปีหมู่บ้านดังกล่าว มีไฟฟ้าใช้และทำกำไรจากการขายไฟฟ้าราว 8 แสนรูปี
อินเดียก็เหมือนกับประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก ที่ประชาชนมักถูกปั่นหัวด้วยคาถาทำนองว่า เราผลิตไฟฟ้าไม่พอใช้ เราจะมีไฟฟ้าใช้ถ้วนหน้าได้ก็ด้วยพลังงานนิวเคลียร์เท่านั้น แต่ด้วยตัวอย่างเล็กๆ ของพลังงานทางเลือกข้างต้น รวมถึงบทเรียนจากญี่ปุ่น ชาวอินเดียน่าจะสะดุดใจและหันมาทบทวนอย่างจริงจังว่า ควรเดินหน้าไปกับไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์หรือไม่
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|