|
สิ้นบุญ bin Laden
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
การลาโลกของ bin Laden มีความหมายอย่างไรต่อ al-Qaeda ปากีสถาน อัฟกานิสถาน และชาติตะวันตก
ปฏิบัติการเด็ดชีพ Osama bin Laden เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ที่เมือง Abbottabad ซึ่งอยู่ใกล้กรุงอิสลามาบัด เมืองหลวงของปากีสถาน เพียงแค่เอื้อม กินเวลาเพียง 40 นาที แต่ ณ อีกซีกโลกหนึ่งในห้อง Situation Room ที่ทำเนียบขาว ประธานาธิบดี Barack Obama กับทีมงานของเขากำลังจ้องเขม็งเฝ้าดูปฏิบัติการที่เกิดขึ้นสดๆ ทางหน้าจอมอนิเตอร์นั้น แต่ละนาทีดูเหมือนจะผ่านไปอย่างเชื่องช้า แต่ในที่สุด เวลาเช้ามืดของวันที่ 2 พฤษภาคม ตามเวลาปากีสถาน หน่วยรบพิเศษ Navy Seals ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ก็สามารถยิงสังหารชายผู้ซึ่งอยู่เบื้องหลังการฆาตกรรมคนเกือบ 3,000 คน เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 ซึ่งทำให้เขากลายเป็นผู้นำและเป็นสัญลักษณ์ของการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ทั่วโลกเพื่อต่อต้านตะวันตก
เบาะแสแรกเกี่ยวกับที่หลบซ่อนตัวของ bin Laden ปรากฏขึ้นตั้งแต่เมื่อ 4 ปีก่อน จากข้อมูลที่สหรัฐฯ เค้นมาได้ในการสอบสวนนักโทษ ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถระบุตัว “ม้าใช้” ผู้ทำหน้าที่ส่งสาส์นของ bin Laden ซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่คนได้ แต่ต้องใช้เวลาถึงอีก 2 ปีต่อจากนั้น จึงสามารถระบุพื้นที่ปฏิบัติงานในปากีสถานของม้าใช้ผู้นั้นได้ และต้องใช้เวลานานจนถึงเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว จึงได้รู้ว่า บ้านที่ ม้าใช้และน้องชายของเขาอาศัยอยู่นั้น คือบ้านหลังใหญ่ที่สร้างขึ้นในปี 2005 บริเวณชานเมือง Abbottabad ล้อมรอบด้วยกำแพงสูง 18 ฟุต แต่ถึงแม้จะเป็นบ้านหลังใหญ่ราคาแพง แต่กลับไม่มีแม้แต่โทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ต และแทบไม่มีหน้าต่างบานใดที่หันออกด้านนอก แต่นอกจากสองพี่น้องแล้วยังมีอีกครอบครัวหนึ่งที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ หลังจากการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างอดทน สหรัฐฯ ก็สรุปได้ว่า อีกครอบครัวหนึ่งที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ คือครอบครัว bin Laden
รัฐบาลปากีสถานยอมเผชิญกับความโกรธแค้นของประชาชน และการแก้แค้นจาก al-Qaeda เมื่อประกาศว่า ไม่เคยรู้เรื่องปฏิบัติการของสหรัฐฯ มาก่อนเลย และยังยอมรับว่า สายลับของปากีสถานผิดพลาดอย่างร้ายแรงที่ไม่เคยรู้เลยว่า bin Laden อยู่ใกล้แค่ปลายจมูกมานานหลายปี หาใช่กบดานอยู่ในถ้ำทุรกันดารอันห่างไกลติดชายแดนอัฟกานิสถานไม่ หากแต่อยู่อย่างสุขสบายในเมืองชายเขา ที่อยู่ใกล้เมืองหลวงของปากีสถานแค่เอื้อม ปากีสถานต้องกล้ำกลืนยอมรับว่าตัวเองไร้ประสิทธิภาพ ยังดีกว่าที่จะยอมรับว่า ฝ่ายข่าวกรองปากีสถานอันทรงอิทธิพล (Inter-Services Intelligence: ISI) รู้เห็นเป็นใจให้ที่พักพิงแก่ bin Laden ประธานาธิบดี Asif Ali Zardari ผู้นำปากีสถานยืนยันว่า ไม่เคยรู้เรื่องรู้ราวเกี่ยวกับปฏิบัติการครั้งนี้มาก่อน และได้รับแจ้งให้ทราบ เพียงไม่กี่นาทีก่อนหน้าที่สหรัฐฯ จะลงมือเท่านั้น
การหลบซ่อนอยู่ในปากีสถานอย่างสุขสบายเป็นเวลานาน แถมยังมีญาติพี่น้องมากมายจากเยเมนไปมาหาสู่อยู่ตลอดเวลา แสดงว่าต้องมีใครที่คอยช่วย bin Laden ตลอดเวลาที่เขาอยู่ในปากีสถาน การที่เขามียามเฝ้าที่บ้านแสดงว่า bin Laden มีคนที่เขาไว้ใจอยู่ที่นี่
แต่คนที่เงียบอย่างผิดสังเกตคือ พลเอก Ashfaq Kayani ผู้นำกองทัพปากีสถานผู้ทรงอำนาจ ซึ่งยืนกรานตลอดมาว่า bin Laden ไม่ได้หลบซ่อนตัวอยู่ในปากีสถาน เมื่อวันที่ 23 เมษายน หรือเพียงกว่าหนึ่งสัปดาห์ ก่อนปฏิบัติการสังหาร bin Laden พลเอก Kayani เพิ่งปฏิเสธเสียงบ่นตำหนิเป็นครั้งที่นับไม่ถ้วนของสหรัฐฯ ว่า ปากีสถานพยายามน้อยเกินไปในการปราบปรามผู้ก่อ การร้าย ที่แย่ก็คือ การพูดของเขาครั้งนั้นคือที่โรงเรียนนายร้อยปากีสถาน ซึ่งตั้งอยู่ในเมือง Abbottabad และอยู่ห่างเพียงแค่เอื้อม จากบ้านหลังใหญ่ของผู้ก่อการร้ายที่โลกต้องการตัวมากที่สุด
ดวงดาวที่อับแสง
การสามารถหนีพ้นจากเงื้อมมือการไล่ล่าของสหรัฐฯ ที่เทือกเขา Tora Bora ในอัฟกานิสถานมาได้ในเดือนพฤศจิกายน 2001 ทำให้ bin Laden กลายเป็นแรงบันดาลใจของนักรบในสงครามศักดิ์สิทธิ์ทั่วทุกหนแห่ง ทำให้ al-Qaeda กลายเป็นดาวจรัสแสงในวงการก่อการร้ายมุสลิม
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น al-Qaeda ต้องตกอยู่ภายใต้แรงกดดันมากมาย จำนวนสมาชิกที่ลดลง การขาดแคลนเงินและการมีศักยภาพน้อยลงในการก่อการร้ายในประเทศศัตรูที่อยู่ “ไกล” ซึ่งหมายถึงชาติตะวันตก (ส่วนศัตรูที่อยู่ “ใกล้” คือประเทศมุสลิม ที่มีผู้นำทุจริตในสายตาของ al-Qaeda) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตะวันออกกลาง ดวงดาวของ al-Qaeda กำลังอับแสง
การตายของ bin Laden คือข้อพิสูจน์ แม้หนังสือพิมพ์ทั่ว ตะวันออกกลางจะพาดหัวตัวไม้ข่าวการเสียชีวิตของเขา แต่ความสนใจจางหายไปแทบจะในทันที นอกจากบทกวีสรรเสริญการสละชีพของเขาเพียงไม่กี่บทบนเว็บไซต์นักรบจีฮัด และการตำหนิเกี่ยวกับการฝังศพเขาในทะเล ว่าไม่ถูกต้องตามหลักศาสนาแล้ว ก็แทบจะไม่มีน้ำตาให้แก่ผู้นำที่จากไป
ทั้งตัว bin Laden และ al-Qaeda ไม่เคยสามารถดึงดูด เพื่อนชาวอาหรับและมุสลิมได้อย่างยั่งยืน หลายคนมองว่า เขาไม่เพียงเป็นผู้สร้างความหายนะ และเป็นอาชญากรที่ต้องรับผิดชอบ การทำลายชีวิตคนนับพันนับหมื่น แต่ยังทำให้ชาวมุสลิมพลอยเสื่อม เสียชื่อเสียงไปด้วย
เวลาที่ผ่านไปทำให้เห็นได้ชัดเจนแล้วว่า เป้าหมายสงครามจีฮัดของ bin Laden อันได้แก่การกำจัดผู้ยึดครองที่ไร้ศีลสัตย์ในสายตาของ al-Qaeda ออกไปจากแผ่นดินมุสลิมนั้น ไม่ได้เข้าใกล้เป้าหมายเลยแม้แต่น้อย ตรงกันข้าม การนิยมความรุนแรงของเขากลับกลายเป็นข้ออ้างให้ชาติตะวันตกบุกอิรักและอัฟกานิสถาน สนับสนุนชาติพันธมิตรมุสลิมในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย และขยายความแตกแยกระหว่างมุสลิมให้มากขึ้นอีก เช่นระหว่างสุหนี่กับชีอะห์
แม้กระทั่งก่อนที่จะเกิดการลุกฮือของประชาชน ซึ่งทำให้การเมืองในตะวันออกกลางกลับตาลปัตรไปหมด al-Qaeda ก็ลดความสำคัญลงไปมากแล้ว สาวกของ bin Laden ยังคงอยู่ดี ก็แต่เฉพาะในพื้นที่ห่างไกลที่กฎหมายเอื้อมมือไปไม่ถึง อย่างเช่นแถบเทือกเขาในเยเมนและปากีสถาน ทะเลทรายใน Sahel (อยู่ใน แอฟริกา) และพื้นที่ทุรกันดารในอัฟกานิสถานและอิรัก นอกจากนี้ การตามล่า bin Laden อย่างไม่ลดละก็ทำให้ทั้งตัวเขาและบรรดา แกนนำคนอื่นๆ ต้องคอยหลบซ่อนตัวตลอดเวลาและไม่อาจติดต่อ สื่อสารกันได้
ผลก็คือ แกนหลักของ al-Qaeda ซึ่งนำโดย bin Laden และ Ayman al-Zawahiri ผู้นำเบอร์ 2 ของ al-Qaeda ชาวอียิปต์ ซึ่งหลบซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ชนเผ่าในปากีสถาน หลังจากถูกขับออก มาจากอัฟกานิสถาน ต้องตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ ส่วนสมาชิก al-Qaeda ในจังหวัด North Waziristan ในปากีสถาน ก็ถูกถล่มด้วย ขีปนาวุธที่ยิงจากเครื่องบินไร้นักบิน Predator ของ CIA ตลอดสองปีที่ผ่านมา จนล้มตายกันเป็นจำนวนมาก หลายคนเป็นสมาชิก ระดับสูง ความสำเร็จและความแม่นยำในการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ ทำให้สมาชิก al-Qaeda ระแวงกันเองและฆ่ากันเอง เพราะคิดว่าเกลือเป็นหนอน Zawahiri หายเข้ากลีบเมฆไปตั้งแต่ปลายปี 2009 ไม่เคยมีใครเห็นเขาอีกเลยตั้งแต่นั้น เครื่องบินรบไร้นักบินของสหรัฐฯ ยังสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลตามเวลาจริง ซึ่งทำให้พลเอก David Petraeus ผู้บัญชาการกองกำลังต่างชาติในอัฟกานิสถานนำโดยสหรัฐฯ สามารถสั่งการให้หน่วยจู่โจมพิเศษ บุกเข้าโจมตีฐานทัพของ Taliban และ al-Qaeda ได้เกือบทุกคืน คาดว่าสมาชิก al-Qaeda ในปากีสถานและอัฟกานิสถานขณะนี้ คงเหลืออยู่เพียงสองร้อยกว่าคนเท่านั้น บวกกับนักรบรับจ้างต่างชาติที่ไม่ได้อยู่ถาวร เครือข่ายและสาขา
ข้อมูลจากฝ่ายข่าวกรองของชาติตะวันตกระบุว่า ภัยคุกคาม ก่อการร้ายที่มาจากเอเชียใต้ ลดลงจากกว่า 75% เมื่อไม่กี่ปีก่อน เหลือเท่าๆ กับภูมิภาคอื่นๆ ของโลก อย่างไรก็ตาม จุดแข็งของ al-Qaeda คือความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์
การที่แกนนำของ al-Qaeda ถูกกดดัน ทำให้องค์กรนี้ต้องกลายพันธุ์จากองค์กรที่มีการปกครองตามลำดับชั้นแบบพีระมิด ในปี 2001 กลายเป็น “เครือข่ายที่มีการปกครองแบบหลวมๆ และกระจายอำนาจ” ซึ่งมีลักษณะคือ ระดับชั้นของอำนาจการบัญชาการไม่ชัดเจนเหมือนเดิม ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลมีน้ำหนัก มากขึ้น บางครั้งมากกว่าโครงสร้างการบัญชาการระหว่างแกนหลักกับสาขาและเครือข่ายเสียอีก ในโมเดลโครงสร้างอำนาจใหม่ของ al-Qaeda นี้ แกนนำจะลอยตัวจากความรับผิดชอบในการลงมือปฏิบัติการโดยตรง โดยถ่ายโอนอำนาจนี้ไปให้แก่สาขาและเครือข่ายแทน ส่วนแกนหลักจะทำหน้าที่บัญชาการและควบคุมแผนยุทธศาสตร์และอุดมการณ์เท่านั้น
การก่อเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2544 นั้น bin Laden มีจุดประสงค์จะใช้ ความสำเร็จของเหตุการณ์นี้ รวบรวมบรรดานักรบจีฮัดกลุ่มต่างๆ ที่ต่างคนต่างอยู่ และต่างก็ต่อต้านความพยายามใน การรวบรวมขบวนการจีฮัดให้เป็นปึกแผ่นของ bin Laden ให้กลายเป็นหนึ่งเดียว และกลยุทธ์นี้ของเขาได้ผล
โครงสร้างใหม่ของ al-Qaeda ปรากฏให้เห็นชัดเจนเป็นครั้งแรก จากการที่ bin Laden ก่อตั้ง al-Qaeda in the Arabian Peninsula (AQAP) ซึ่งมีฐานอยู่ในเยเมน และมีจุดประสงค์แรกก่อตั้งคือ เพื่อทำลายเสถียรภาพของซาอุดีอาระเบีย บ้านเกิดซึ่ง bin Laden หันหลังให้
แต่สาขาของ al-Qaeda ที่ใหญ่ที่สุดและทรงอำนาจมากที่สุด ยังคงเป็น al-Qaeda in Iraq (AQI) ก่อตั้งในปี 2004 หลังจากที่ Abu Musab al-Zarqawi นำกลุ่มก่อการร้าย Jamaat al-Tawhid wal-Jihad (JTJ) ของเขา เข้าสวามิภักดิ์ต่อ bin Laden
Zarqawi ถูกสหรัฐฯ สังหารในการโจมตีทางอากาศเมื่อปี 2006 แต่ก่อนตาย เขานำกลุ่ม Salafist Group for Preaching and Combat (GSPC) ในแอลจีเรียเข้าสู่ร่มธงของ al-Qaeda กลุ่มนี้ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น al-Qaeda in the Islamic Maghreb (AQIM) ถือเอาฝรั่งเศสซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาณานิคมของอัลจีเรีย และสหรัฐฯ เป็นศัตรูที่สำคัญที่สุด
กลุ่มที่มีแนวโน้มจะเข้าร่วมกับ al-Qaeda เป็นรายต่อไป คือ Shabab กลุ่มติดอาวุธมุสลิมที่เติบโตอย่างรวดเร็วในโซมาเลีย และมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับ AQAP ในโซมาเลียนี้ ยังมีกลุ่มก่อความไม่สงบมุสลิมที่เชื่อมโยงกับ al-Qaeda อีกกลุ่มหนึ่งด้วย คือกลุ่ม Hisbul Islam
สาขาของ al-Qaeda เหล่านี้มีขนาดเล็กมาก AQAP ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทรงพลังที่สุดในเครือข่ายของ al-Qaeda ยังมีสมาชิกเพียง 400 คนเท่านั้น ส่วน AQIM มีนักรบประมาณ 200-300 คน กลุ่ม al-Qaeda ก็แตกกระสานซ่านเซ็น กลายเป็นกลุ่มติดอาวุธมุสลิมสุหนี่เล็กๆ มากมายที่ไร้ผู้นำ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่มีขนาดเล็กยิ่งกว่ากระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในตะวันออกกลาง
AQAP ภายใต้การนำของ Nasser al-Wahayshi อดีตคนสนิทใกล้ชิดของ bin Laden และ Anwar al-Awlaki นักบวชชาวอเมริกันเชื้อสายเยเมนผู้มีบารมีสูง เป็นกลุ่มที่ศักยภาพมากที่สุดของ al-Qaeda ในเวลานี้ และก่อการร้ายเกือบสำเร็จมาแล้ว หลายครั้งเมื่อไม่นานมานี้ ไม่ว่าจะเป็นเหตุ กราดยิงที่ฐานทัพ Fort Hood ของสหรัฐฯ โดย Nidal Malki Hasan การพยายามระเบิดเครื่องบินสหรัฐฯ โดย Umar Farouk Abdulmutallab เมื่อวันคริสต์มาส 2 ปีก่อน ด้วย “ระเบิดกางเกงใน” และแผน การวางระเบิดเครื่องบินขนส่งสินค้า 2 ลำ ที่มีจุดหมายปลายทางที่ชิคาโก เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ด้วยระเบิดที่เล็ดลอดการตรวจจับไปได้ เพราะอยู่ในรูปของตลับหมึก พิมพ์เครื่องปรินเตอร์
al-Qaeda มีพัฒนาการในการบริหารจัดการสาขาและเครือข่ายที่ยืดหยุ่น และได้ผลดี โดยเลิกเน้นกิจกรรมที่สิ้นเปลืองทรัพยากร อย่างเช่น การฝึกรบ การสนับสนุนด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ และการรับสมัครนักรบทั่วโลก แล้วเปลี่ยนมาทำตัวเป็นที่ปรึกษา คอยกำหนดทิศทาง และกระตุ้นในด้านอุดมการณ์ รวม ทั้งให้คำแนะนำด้านการเงิน al-Qaeda ยังให้อำนาจปกครองตนเองอย่างมากแก่สาขา สำหรับการจัดการ “ศัตรูใกล้” แต่ยังคง กุมอำนาจการจัดการกับ “ศัตรูไกล” หรือเป้าหมายในตะวันตก และเป้าหมายแต่ดั้งเดิมของ al-Qaeda อย่างเช่นชุมทางขนส่ง (แต่เป้าหมายเครื่องบินเริ่มเสื่อมความนิยม) สถานที่ราชการ และโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (อันดับหนึ่งคือโรงงานนิวเคลียร์) แผนการก่อการร้ายใหญ่ๆ ต่อเป้าหมายเหล่านี้ หรือการจะใช้กลยุทธ์การโจมตีใหม่ๆ ดูเหมือนว่าจะต้องขออนุญาตจากแกนนำโดยตรงก่อน
ความแตกแยกภายใน
ถึงแม้ bin Laden จะลาโลก แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการก่อการร้ายก็คาดว่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในกอไผ่ ผู้ที่จะขึ้นมาแทนที่ bin Laden คงจะเป็น Zawahiri ซึ่งใกล้ชิดกับการลงมือปฏิบัติการก่อการร้ายมากกว่า bin Laden งานแรกของ Zawahiri ซึ่งไม่เป็นที่นิยมเท่า bin Laden หากได้ขึ้นเป็นผู้นำ al-Qaeda คงจะเป็นการพิสูจน์ตัวเองว่า เขาสามารถเป็นผู้นำที่รวมกลุ่มจีฮัดทั้งหมดให้เป็นหนึ่งเดียวได้เหมือน กับ bin Laden ไม่เช่นนั้น เขาอาจจะต้องถูกปลด
อย่างไรก็ตาม คลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย ที่กำลังสาดซัดไปทั่วทั้งตะวันออกกลาง กำลังบ่อนทำลายจุดยืนของ al-Qaeda การลุกฮือของประชาชนในตะวันออกกลาง ไม่เพียงประสบผลสำเร็จในสิ่งที่ bin Laden ล้มเหลว นั่นคือการโค่น ล้มรัฐบาลที่ทรยศต่อศาสนาในสายตาของ bin Laden อย่างอียิปต์ และตูนิเซีย แต่ยังสามารถทำเช่นนั้นได้ ด้วยวิถีทางสันติและโดยฝีมือของประชาชนคนธรรมดา ซึ่งไม่ได้มีแรงบันดาลใจจากศาสนา แต่จากความต้องการเสรีภาพทางการเมือง
การลุกฮือของประชาชน ประเทศแล้วประเทศเล่าในโลกอาหรับซึ่งประสบความสำเร็จ ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า ความคิดหลักของ bin Laden และ al-Qaeda ที่ต้องการกำจัดการแทรกแซงของต่างชาติให้หมดไปจากอิสลามด้วยวิธีการที่รุนแรงนั้น ยังเป็นวิธีที่สมควรหรือไม่ หรือควรจะโละทิ้งไป
ปากีสถานต้องเคลียร์ตัวเอง
ปฏิบัติการบุกสังหาร bin Laden ของสหรัฐฯ ที่เหมือนการเหยียบจมูกปากีสถาน ทำให้ปากีสถานโดยเฉพาะฝ่ายข่าวกรอง ISI อันทรงอิทธิพล ไม่รู้จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน ศัตรูเก่าอย่างอินเดีย ฉวยโอกาสเยาะเย้ยซ้ำเติมว่า ปากีสถานเป็นประเทศที่ไว้ใจไม่ได้ สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ขู่จะตัดเงินช่วยเหลือปีละ 3,000 ล้านดอลลาร์ ที่สหรัฐฯ ให้แก่ปากีสถาน ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับปากีสถานซึ่งเย็นชาอยู่แล้ว ยิ่งร้าวฉานหนักขึ้น โดยเฉพาะระหว่างฝ่ายข่าวกรองของทั้งสองชาติ เมื่อ ISI ถูกตำหนิอย่างหนัก จากภายในปากีสถาน
เป็นไปได้ว่าเป้าหมายที่สหรัฐฯ ต้องการเด็ดหัวเป็นรายต่อไปต่อจาก bin Laden คงจะเป็น Mullar Omar ผู้นำเฒ่าของกบฏ Taliban ในอัฟกานิสถาน ซึ่ง ISI ก็ถูกกล่าวหาว่าให้การปกป้องเช่นเดียวกัน เหมือนกับที่ปกป้อง bin Laden
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ไม่อาจละทิ้งปากีสถานได้ Lindsey Graham วุฒิสมาชิกอาวุโสพรรค Republican กล่าวว่า ปากีสถานไม่อาจไว้ใจได้ แต่ขณะเดียวกันก็ทิ้งไปไม่ได้ ส่วน David Cameron นายกรัฐมนตรีอังกฤษชี้ว่า ควรให้ความช่วยเหลือผู้นำพลเรือนของปากีสถานต่อไป แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเรียกร้องให้ผู้นำกองทัพปากีสถานเคลียร์ประเด็น ISI ด้วย ว่าแอบช่วย bin Laden จริงหรือไม่
ชนะสงครามอัฟกานิสถาน?
ยังไม่ชัดเจนว่า การตายของ bin Laden จะส่งผลต่ออัฟกานิสถานอย่างไร แต่ที่แน่ๆ คือ ความหวังที่สหรัฐฯ จะผลักดันให้ปากีสถานเริ่มลงมือปราบปรามกลุ่มก่อการร้าย Haqqani network ของอัฟกานิสถานเสียที หลังจากเลื่อนแล้วเลื่อนอีกมานาน คงจะหมดหวังเกือบจะสิ้นเชิงแล้ว กลุ่ม Haqqani ซึ่งมีฐานอยู่ในปากีสถาน เป็นหนามยอกอกที่คอยลอบทำร้ายกองกำลังตะวันตก นำโดยสหรัฐฯ ที่ประจำการอยู่ในอัฟกานิสถาน
การตายของผู้นำ al-Qaeda อาจทำให้ Taliban อยากเปิด ฉากเจรจาสันติภาพกับอัฟกานิสถาน ด้วยความกลัวว่าการสนับสนุน ที่เคยได้รับจากปากีสถาน ต่อไปนี้คงจะไม่มีอีกแล้วเมื่อ bin Laden ตาย อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ การปกป้อง bin Laden ของ Taliban เคยเป็นอุปสรรคใหญ่ของการเปิดเจรจา แต่เมื่อไม่มีเขาแล้วก็หมด อุปสรรค
อย่างไรก็ตาม Taliban อาจจะรอดูก่อนว่า การตายของ bin Laden จะทำให้ตะวันตกอ่อนลงในสงครามอัฟกานิสถานหรือ และจะถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานมากขึ้นหรือไม่ในเดือนกรกฎาคมนี้
หลังจากทำสงครามนองเลือดในอัฟกานิสถานมานานเกือบ 10 ปี ทำให้ชาวอเมริกันรู้สึกเบื่อหน่ายอย่างมาก โดยเฉพาะพรรค Democrats ของ Obama แต่เมื่อ bin Laden จากไปแล้ว ทำให้บางคนเห็นว่า นี่คือโอกาสที่ปรากฏขึ้นอย่างไม่คาดฝัน ในเมื่อการตามล่า bin Laden คือสาเหตุที่ทำให้สหรัฐฯ ต้องเข้าสู่สงครามอัฟกานิสถาน การตายของเขาก็ควรจะเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่สหรัฐฯ จะประกาศชัยชนะในสงครามนี้และถอนทหารกลับบ้าน
แต่ดูเหมือน Obama จะไม่เห็นเช่นนั้น อย่างน้อยก็ในขณะนี้ คำแรกที่ทำเนียบขาวและเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำอัฟกานิสถานกล่าว หลังจากสหรัฐฯ สังหาร bin Laden ได้คือ NATO ยังคงมีงานหนักที่ต้องทำอีกมาก ก่อนที่จะส่งมอบอำนาจคืน แก่รัฐบาลและกองทัพอัฟกานิสถานในปี 2014 ตามแผนที่กำหนดไว้ ขณะนี้ Obama กำลังจะทบทวนสงครามอัฟกานิสถาน และจะตามมาด้วยการเริ่มถอนทหารอเมริกันออกจากอัฟกานิสถานเป็นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคมนี้ แต่ที่น่าจับตาคือ จำนวนทหารที่จะถอนออกเป็นชุดแรกจะมากน้อยเพียงใด ก่อน bin Laden ตาย สหรัฐฯ เคยคิดจะถอนทหารออกเพียงเล็กน้อย คือไม่กี่พันนาย จากทั้งหมด 100,000 นายในอัฟกานิสถาน
การตายของ bin Laden ก่อให้เกิดการถกเถียงครั้งใหม่ในสหรัฐฯ ว่า สมควรจะยังคงกองทหาร 100,000 นายต่อไปหรือไม่ วุฒิสมาชิก Richard Lugar สมาชิกคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ วุฒิสภาสหรัฐฯ กล่าวว่า al-Qaeda ล่าถอยออกจากอัฟกานิสถาน ไปอยู่ในปากีสถานและเยเมนหมดแล้ว จึงเป็นเรื่องไม่ฉลาดเลยที่ สหรัฐฯ จะยังคงกำลังทหาร 100,000 นายในอัฟกานิสถานต่อไป ซึ่งสิ้นเปลืองงบประมาณถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ ต่อปี
แต่วุฒิสมาชิก Graham เตือนว่าจะเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ หากคิดว่าการตายของ bin Laden คือจุดสิ้นสุดของปฏิบัติการในอัฟกานิสถานรวมถึงในอิรักด้วย ส่วนวุฒิสมาชิก Joe Leiberman ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ วุฒิสภาสหรัฐฯ เตือนว่า สหรัฐฯ อย่าทำผิดพลาดซ้ำสอง เหมือนที่เคยทิ้งอัฟกานิสถานให้ตกอยู่ในเงื้อมมือ Taliban หลังจากโซเวียตถอนตัวออกจากอัฟกานิสถาน
คะแนนนิยมของ Obama พุ่งขึ้นทันตาถึง 17 จุด หลังจากปฏิบัติการครั้งนี้ เปิดโอกาสให้เขาสามารถจะถอนทหารจำนวนมากออกจากอัฟกานิสถานได้ในเดือนกรกฎาคมนี้ ถ้าหากเขาต้องการ อย่างไรก็ตาม Obama คงจะต้องระมัดระวัง หากจะทำอะไรที่อาจกระทบกระเทือนภาพลักษณ์ที่เพิ่งค้นพบใหม่ของเขา ในฐานะผู้นำสงครามที่แข็งแกร่งต่อศัตรูของอเมริกา
ภาพสุดท้ายที่ไม่มีใครได้เห็น
แน่นอนว่าปฏิบัติการครั้งนี้เป็นชัยชนะในสงครามสู้รบกับ al-Qaeda แต่ความสำเร็จครั้งนี้ ได้ก่อให้เกิดข้อข้องใจใหม่ๆ หลายอย่าง ทั้งที่เกี่ยวกับตัวปฏิบัติการ และรายละเอียดเกี่ยวกับนาทีสังหาร ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ตัดสินใจปกปิดภาพศพ ด้วยเกรงจะจุดประกายความโกรธแค้นของเหล่าสาวก
แต่คำถามที่สำคัญที่สุดคือ ต่อจากนี้ไป สงครามศักดิ์สิทธิ์จีฮัดจะเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างไร al-Qaeda อาจกำลังถดถอยในหลายๆ ด้าน แต่ยังห่างไกลจากความพ่ายแพ้ al-Qaeda เคยปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงมาแล้วนักต่อนัก และยังคงสามารถเปลี่ยนแปลงต่อไปได้อีก องค์กรที่ให้รางวัลผู้จากไปด้วยสถานะของผู้สละชีพเพื่อปกป้องศาสนา คงจะไม่ปล่อยให้โอกาสอันดีแห่ง การโฆษณาชวนเชื่อ ด้วยความตายของผู้นำองค์กรให้หลุดลอยไปเปล่าๆ
แท้ที่จริงแล้ว คุณค่าของ bin Laden เมื่อตายแล้ว ในการระดมชาวมุสลิมรุ่นเยาว์ให้เข้าร่วมสงครามจีฮัด อาจสูงยิ่งกว่าเมื่อครั้งเขายังมีชีวิตอยู่
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง ดิ อีโคโนมิสต์
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|