ครูศุภวัฒน์...เหยื่อหรือลูกค้าที่ดี?


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

ศุภวัฒน์ หิรัญกาญจน์ ผู้ชายธรรมดา ๆ คนหนึ่ง อายุ 31 ปี ชีวิตครอบครัวในเยาว์วัยเรียบง่าย แต่ไม่ราบรื่นนัก ศุภวัฒน์เป็นลูกชายคนโตของพ่อแม่ มีน้องอีก … คน ระหว่างเรียน มศว. ประสานมิตร ก็สอบเข้ารับราชการเป็นครูอยู่โรงเรียนวัดยางสุทธาราม สังกัดกรุงเทพมหานคร รับราชการมาตลอดระยะเวลา 11 ปี

พ่อแม่ของศุภวัฒน์นับว่าเป็นคนมีหลักฐานดีพอสมควร แต่ก็มีหนี้สินจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการกู้ยืมเพื่อนฝูงมาใช้จ่ายในการดำรงชีวิตและเลี้ยงดูครอบครัว จนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2522 พ่อของศุภวัฒน์มีหนี้สินทั้งสิ้น 2,593,300 บาท ในปีนั้นนอกจากครอบครัวจะมีหนี้สินมากแล้ว พ่อกับแม่ของศุภวัฒน์ยังมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างรุนแรงจนไม่สามารถอยู่ร่วมกันต่อไปได้อีกด้วย จึงตัดสินใจหย่าขาดจากกัน และก่อนที่จะหย่าได้ตกลงร่วมกันว่าจะยกที่ดินโฉนดเลขที่ 428, 4456 เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยร่วมกันมาให้ศุภวัฒน์ โดยที่ศุภวัฒน์ต้องนำเงินจากการขายที่ดินมาใช้หนี้ให้พ่อและแบ่งให้พ่อกับแม่และน้อง ๆ ไว้ใช้อีกด้วย

เมื่อได้รับมอบหมายที่ดินผืนนั้นแล้ว ศุภวัฒน์ได้บอกขายที่ดินผ่านนายหน้า และขายให้โชคชัย ปัญทรัพย์เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2523 ในราคา 6,601,000 บาท โดยเสียค่านายหน้าร้อยละ 5 ให้แก่ฉลอง สำเภาเงินและพวกทั้งสิ้นเป็นเงิน 331,700 บาท เงินที่เหลือศุภวัฒน์ต้องใช้หนี้ให้พ่อ โดยใช้ให้แก่ ร.อ. อาลักษณ์ อนุมาศ เป็นเงิน 1,100,000 บาท, ยิ่งใหญ่ อยู่เจริญ เป็นเงิน 400,000 บาท จำลอง เกิดเรือง เป็นเงิน 250,000 บาท อัครพงษ์ ขำดำรงเกียรติ เป็นเงิน 87,000 บาท, เฉลิม เกตุเอี่ยม เป็นเงิน 756,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,593,300 บาท นอกากนี้ศุภวัฒน์ยังแบ่งเงินให้พ่อกับแม่เป็นเงิน 500,000 บาท และแบ่งให้น้อง ๆ รวมเป็นเงิน 1,000,000 บาท

สุดท้าย ศุภวัฒน์เหลือเงินเป็นของเขาจริงทั้งสิ้น 2,176,300 บาท ซึ่งเป็นเงินที่เขาต้องแลกกับที่ดินและบ้านที่เขาอาศัยอยู่มาตั้งแต่เด็กเป็นเวลาถึง 25 ปี!

หลายคนอาจคิดว่าเขาเป็นชายหนุ่มที่โชคดีเหลือหลาย เมื่ออายุราวเบญจเพสเขามีเงินถึง 2 ล้านกว่าบาท แม้แต่ศุภวัฒน์เองหรือใครก็ตามคงไม่คิดว่าอีก 5 ปีต่อมาเขาจะกลายเป็นผู้โชคร้ายไปได้

จากวันนั้นศุภวัฒน์ได้นำเงินของเขาไปให้กู้ยืมเพาะต้องการผลประโยชน์ให้งอกเงยจากเงินเดือนข้าราชการ วันที่ 6 ธันวาคม 2526 ศุภวัฒน์ได้นำเงินให้นางทัศนีย์ พัฒนะวิบูลย์ แห่งบริษัทสยามแจแปนคอร์ปอเรชั่น จำกัด กู้ยืมเป็นเงิน 1,500,000 บาท โดยทัศนีย์สัญญาจะให้ผลประโยชน์ถึงร้อยละ 2 ต่อเดือน ชำระปีละสองครั้ง และได้ออกเช็คและสั่งจ่ายเช็คล่วงหน้าให้ศุภวัฒน์ถือไว้ 1 ฉบับ จำนวนเงิน 1,500,000 บาท เป็นเช็คของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขายานนาวา หมายเลข 0644312 ลงวันที่ 23 มกราคม 2529 ตลอดระยะเวลา 3 ปี ศุภวัฒน์ไม่เคยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเลย และเมื่อเช็คฉบับนั้นถึงกำหนดศุภวัฒน์ได้นำเช็คฉบับนั้นไปเรียกเก็บเงินตามเช็คจากธนาคาร แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่าย โดยอ้างว่าบัญชีปิดแล้ว บริษัท สยามแจแปคอร์ปอเรชั่น จำกัดล้ม ทัศนีย์หลบหนีไป.. ศุภวัฒน์ถูกโกงครั้งแรกเป็นเงินถึง 1,500,000 บาท

"ดูเขาน่าเชื่อถือมาก ก็เป็นพวก ๆ ที่แนะนำกันมา เห็นรับรองกันดี เวลาไปเมืองนอกกลับมาก็มีของมาฝาก ศุภวัฒน์แกไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมคน" คนใกล้ชิดศุภวัฒน์บอก "ผู้จัดการ" ถึงเรื่องที่ศุภวัฒน์ให้ทัศนีย์กู้ยืมเงิน 1,500,000 บาทเป็นเวลา 2 ปี โดยมีเช็คล่วงหน้าเป็นหลักประกันเพียงใบเดียว

ต่อมาด้วยการชักนำของวันชัยหรือเสถียร ศรีเจริญกิจ ซึ่งเป็นเพื่อนของศุภวัฒน์ เขานำเงินไปร่วมลงทุนแชร์น้ำมันในวงแม่แดงที่กองทัพอากาศดอนเมือง ซึ่งวันชัยอ้างว่าแชร์แม่แดงนี้แยกตัวมาจากแชร์น้ำมันชาร์เตอร์ ให้ผลประโยชน์ร้อยละ 8 ต่อเดือน เป็นแชร์ที่มีคนเล่นมากและได้เงินแน่นอน วันชัยก็เป็นสายหนึ่งทั้งยังเล่นอยู่ด้วยเงินทุนถึง 1,280,000 บาท ถ้าหากศุภวัฒน์จะเล่นก็จะช่วยจัดการให้ ศุภวัฒน์ตกลงใจเล่นด้วย เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2528 ด้วยเงิน 320,000 บาท โดยวันชัยได้ปลอมเอกสารต่าง ๆ ให้ศุภวัฒน์ไว้เป็นหลักฐาน ศุภวัฒน์ได้รับผลประโยชน์จากการเล่นแชร์ในเดือนมีนาคม, เมษายน, พฤษภาคม 2528 รวม 3 เดือน เป็นเงิน 76,800 บาท จากนั้นศุภวัฒน์ไม่ได้รับผลประโยชน์อีกเลย มาทราบภายหลังว่า วันชัยหลอกลวงไม่ได้นำเงินไปลงเล่นแชร์จริง

ความโชคร้ายของศุภวัฒน์ดูจะไม่จบลงเพียงแค่นั้น วันที่ 6 ธันวาคม 2528 ศุภวัฒน์ได้รับแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากกรมสรรพากรย้อนหลังรายได้ของเขาเมื่อ 5 ปีก่อน ต้องชำระภาษีเป็นเงิน 798,033 บาท โดยต้องเสียภาษีตามประมวลรัษฎากรมาตรา 40 (1) จากเงินเดือนเป็นเงิน 23,000 บาท และตามมาตรา 40 (8) จากการขายที่ดินได้ต้องเสียภาษีเป็นเงิน 1,320,000 บาท แต่ศุภวัฒน์ได้รับการลดหย่อน รวมเป็นเงินที่ต้องเสียภาษีทั้งสิ้น 665,028 บาท แต่ถูกปรับตามมาตรา 22 จึงเก็บเพิ่มอีก 133,005 บาท เมื่อรวมแล้วเป็นยอดเงินที่ต้องเสียภาษีทั้งสิ้น 798,033 บาท

ถ้าจะคิดจำนวนเงินที่เหลือของศุภวัฒน์ หลังจากการขายที่ดินเมื่อปี 2523 จนถึงเดือนธันวาคม 2528 ในวันที่ได้รับแจ้งการเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง เขาเหลือเงินเพียง 356,300 บาท (จากเงินที่ขายที่ดินได้ หักเงินใช้หนี้ให้พ่อ แบ่งให้น้องและพ่อแม่ไว้ใช้ ให้เพื่อนยืมเล่นแชร์น้ำมันและถูกโกง)

"ตอนนี้แกไม่เหลืออะไรอีกแล้ว เงินสามแสนกว่าในระยะ 5-65 ปีที่ผ่านมาก็ใช้ไปหมดแล้ว เมื่อตอนขายที่ได้ใหม่ ๆ ว่าจะสร้างบ้านใหม่ก็ไม่ได้สร้าง จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ได้สร้าง ไม่มีอะไรแล้ว บางทีก็นอนบ้านแม่ บ้านเพื่อนบ้าง แทบไม่มีสมบัติอะไร" แหล่งข่าวคนเดิมกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

เมื่อได้รับแจ้งประเมินภาษีย้อนหลังเป็นเงินถึง 798,033 บาท ศุภวัฒน์ได้ยื่นคำอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และคณะกรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยว่า "ตามหลักฐานที่ตรวจสอบไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้อุทธรณ์ (ศุภวัฒน์) มีเงินได้จากการขายที่ดินมาโดยมิได้มุ่งหวังในทางการค้าหรือหากำไร…"

"ซึ่งเมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว ศุภวัฒน์ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีตามที่สรรพากรเรียกเก็บจากศุภวัฒน์ ตามาตรา 40 (8) เพราะไม่ได้ขายที่ดินเพื่อหวังกำไร เขาขายเพื่อใช้หนี้ให้พ่อ และยังต้องแบ่งให้น้อง ๆ กับพ่อแม่ไว้ใช้อีก" ดุสิต แจ่มศรี ทนายของศุภวัฒน์ให้ความเห็น

แต่คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีเพิ่มเติมว่า "…แต่ผู้อุทธรณ์ (ศุภวัฒน์) ไม่ได้นำเงินดังกล่าวไปแจ้งขอยกเว้นภาษีไว้ในแบบ ภ.ง.ด. 9 จึงไม่ได้รับการยกเว้นภาษี"

เมื่อคำวินิจฉัยเป็นเช่นนี้ก็หมายความว่า ศุภวัฒน์ต้องเสียภาษีย้อนหลังเป็นจำนวน 798,033 บาท ตามที่สรรพากรเรียกเก็บมา

จนถึงวันนี้ศุภวัฒน์ไม่สามารถพึ่งใครได้อีกแล้ว จึงต้องตัดสินใจพึ่งอำนาจศาลด้วยการเป็นโจทก์ฟ้อง กรมสรรพากร เป็นจำเลยที่ 1, นายเหลือ สงวนพงษ์ จำเลยที่ 2, นายอำนวย พุทธเมธา จำเลยที่ 3, นายสวัสดิ์ บัวพวงชน จำเลยที่ 4, ในข้อหาผิดประมวลรัษฎากร และขอให้ศาลพิพากษายกเลิกเพิกถอนแบบเจ้งการประเมินภาษีที่ต้องชำระ 798,033 บาทนั้นเสีย เมื่อปลายปี 2529 ที่ผ่านมา



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.