|
แบงก์น้องใหม่เข้าตลาด
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
หลังจากแต่งเนื้อแต่งตัวเรียบร้อยแล้ว แอล เอช แบงก์ก็ได้ฤกษ์เข้าตลาดไปเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นน้องใหม่กลุ่มธนาคารล่าสุดในรอบ 20 ปี
หากเอ่ยชื่อบริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) อาจจะรู้จักไม่มากนัก แต่ถ้ากล่าวถึงธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย น่าจะรู้จักมากกว่าสำหรับบุคคลทั่วไป แต่ธนาคารก็คือบริษัทลูกแห่งเดียวของแอล เอช ในปัจจุบัน โดยมีแอล เอชฯ ถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์
บมจ.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป ก่อตั้งเมื่อปี 2552 เป็นบริษัทโฮลดิ้ง (Non-operating Holding Company) ด้วยทุนจดทะเบียนแรกเริ่มจำนวน 100,000 บาท มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อเป็นบริษัทใหญ่ของกลุ่มธุรกิจการเงิน ไม่ทำธุรกิจของตนเอง (Non-Operation Holding Company) จะเข้าถือหุ้นในบริษัทอื่นเพื่อการมีอำนาจควบคุมกิจการ
บริษัทมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 3 ราย คือ บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ LH ถือ 35.75% บมจ.ควอลิตี้ เฮ้าส์ (QH) 22.45% และ น.ส.เพียงใจ หาญพาณิชย์ 17.33%
มีผู้บริหารที่วงการอสังหาริมทรัพย์รู้จักกันเป็นอย่างดี คือ อนันต์ อัศวโภคิน นั่งในตำแหน่งประธานกรรมการ และมีศศิธร พงศธร เป็นกรรมการผู้จัดการ
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา บริษัทใช้อักษรย่อในตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า LHBANK ซึ่งถือว่าเป็นหุ้นธนาคารล่าสุดในรอบ 20 ปี
เป้าหมายการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อระดมเงินทุน รองรับธุรกิจในอนาคต โดยเฉพาะการลงทุนของธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ เนื่องจากอยู่ระหว่างการขอเป็นผู้ให้บริการธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ คาดว่าจะได้รับอนุมัติในปีนี้
สำหรับแผนธุรกิจจากนี้ไปของ LH BANK คือการขยายสินเชื่อ เงินฝาก และเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม โดยคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตของสินเชื่อและเงินฝากไม่น้อยกว่า 20% และกำไรสุทธิจะมีอัตราการเติบโตไม่น้อยกว่า 15% และขยายสาขา 75 สาขา ในปี 2556
นอกจากนี้ LH BANK มีแผนขยายการให้บริการโดยการเข้าสู่ระบบ ATM POOL ซึ่งจะทำให้บัตร ATM ของธนาคารสามารถใช้กับตู้ ATM ได้กับทุกธนาคาร ส่วนการขยายบริการ INTERNET BANKING TELEPHONE BANKING คาดว่าจะสามารถให้บริการได้ภายในปีนี้
ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ธนาคารมีผลประกอบการ เติบโตเฉลี่ย 30% สำหรับผลการดำเนินงานของธนาคาร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2553 ธนาคารมีสินทรัพย์รวม 62,312 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2552 จำนวน 12,703 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 25.6% มีการเติบโตของสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง
ในปี 2553 มียอดสินเชื่ออยู่ที่ 42,498 ล้านบาท มีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Gross NPL) 1.46% ของสินเชื่อทั้งหมด ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ยิ่งไปกว่านั้น ผลการดำเนินงานของธนาคารยังเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีกำไรสุทธิ (ก่อน หักภาษี) อยู่ที่ 587 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49.0% เมื่อเทียบกับปี 2552
การเข้ามาของแอล เอช แบงก์ น่าจะสร้างสีสันในตลาดการเงินได้อีกรายหนึ่ง โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อาจจะเข้มข้นและดุเดือดขึ้น ขึ้นอยู่กับว่ารุ่นพี่จากธนาคารต่างๆ จะมีวิธีการต้อนรับน้องใหม่อย่างไร
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|