|
คนภูธรเข้าถึงสื่อดิจิตอล จี้ปรับตัวรับ5เทรนด์
ASTV ผู้จัดการรายวัน(27 พฤษภาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
มายด์แชร์ เผยผลวิจัยภูธร สื่อดิจิตอลเริ่มบูม เปิดรับแอพพลิเคชั่นภาษาไทย เข้าถึงง่ายและรวดเร็ว สื่อเคเบิ้ล วิทยุกระจายเสียง ทรงอิทธิพล ชี้ยังมีพฤติกรรมระมัดระวังการจับจ่าย ราคาสินค้า-พรีเซ็นเตอร์ มีผลต่อการตัดสินใจ ระบุต่างจังหวัดมีพฤติกรรมทดลองสินค้าใหม่ โปรโมชันชิงโชคไม่กระตุ้นความสนใจ แนะ 5 แนวทางนักการตลาดปรับตัว
นางสาวปัทมวรรณ สถาพร หัวหน้าฝ่ายวางแผนและพัฒนาธุรกิจ บริษัท มายด์แชร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้ทำวิจัย”Hunt 2011” เข้าใจผู้บริโภคในหัวเมืองต้องตลุยเข้าถึงหัวเมือง ถึงพฤติกรรมการรับสื่อแนวคิดที่มีต่อแบรนด์ของกลุ่มผู้บริโภคในหัวเมืองใหญ่ 3 กลุ่ม คือ แม่บ้าน ผู้หญิงทำงาน และนักศึกษา ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ลำพูน ราชบุรี สกลนคร จำนวน 20 ครัวเรือน พบว่า
สื่อดิจิตอลเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นกลุ่มเป้าหมายที่อายุน้อยเริ่มดูรายการโทรทัศน์ออน์ไลน์ ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ และกลุ่มผู้หญิงทำงานเริ่มซื้อของออนไลน์มากขึ้น อย่างไรก็ตามผู้บริโภคยังนิยมเนื้อหาที่เป็นภาษาไทยเท่านั้น โดยพบว่า เกมที่วัยรุ่นไทยนิยมเล่นในเฟซบุค เป็นเกมแฮปปี้คนเลี้ยงหมู เนื่องจากเล่นง่ายเพราะเป็นภาษาไทย
ทั้งนี้ พบว่า โทรทัศน์ยังเป็นสื่อหลักของทุกบ้านอย่างชัดเจน แต่สำหรับกลุ่มที่อายุน้อยลงมาความสนใจอาจไม่ได้อยู่ที่หน้าจอโทรทัศน์เสมอ ถึงแม้ว่าทีวีจะเปิดอยู่ ดารา คนมีชื่อเสียง เซเรปยังคงเป็นที่นิยม แต่ในเฉพาะบางกลุ่มเป้าหมายและสินค้าบางประเภท อย่างไรก็ตามการใช้ป้ายโฆษณาหน้าร้าน หากมีพรีเซ็นเตอร์ที่เป็นศิลปิน ดารา
จะช่วยชักจูงใจได้ง่ายมากกว่า ส่วนภายในร้านการใช้ป้ายบอกราคาสินค้าหรือโปรโมชันจะกระตุ้นการตัดสินใจซื้อได้เร็วขึ้น
นางสาวปัทมวรรณ กล่าวว่า โทรทัศน์มักจะเป็นสื่อหลักที่ถูกเปิดทิ้งไว้ แม้ว่าจะมีผู้รับชมหรือไม่ก็ตาม ขณะที่สื่อทรงอิทธิพลในตลาดต่างจังหวัด ยังคงเป็นการชอบวิทยุชุมชน เคเบิ้ลท้องถิ่น วิทยุกระจายเสียงประจำหมู่บ้าน รถคาราวาน ที่ถ่ายทอดด้วยภาษาท้องถิ่น ซึ่งพบว่ามีสินค้าเริ่มเข้าไปทำตลาดผ่านวิทยุกระจายเสียงท้องถิ่นบ้างแล้ว ขณะที่สื่อที่ดีอีกอย่าง
คือ เจ้าของร้านโชวห่วยจะเป็นตัวสื่อสารถึงผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี
***ราคา-พรีเซ็นเตอร์มีผลต่อการตัดสินซื้อ***
นางสาวปัทมวรรณ กล่าวว่า พฤติกรรมการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของคนต่างจังหวัด มีความระมัดระวังในการจับจ่าย และเลือกหาสินค้าโดยให้ความสำคัญกับประโยชน์ และความคุ้มค่าของสินค้า นอกจากนี้ยังมีความภักดีต่อสินค้าค่อนข้างสูง โดยซื้อสินค้าใช้ตามพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ยกเว้นแต่จะถูกแนะนำจากเพื่อนหรือคนรู้จัก หรือดารา ศิลปิน ที่เป็นพรีเซ็นเตอร์
โดยเฉพาะการทำโปรโมชันด้านราคา มีส่วนกระตุ้นการตัดสินใจซื้อได้เร็วขึ้น ขณะเดียวกันก็ชอบที่จะลองผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยเฉพาะการเลือกซื้อสินค้าที่มีขนาดเล็ก เพื่อไปทดลองใช้
“แม้ว่าต่างจังหวัดมีความเชื่อในเรื่องโชคลางอยู่มากจากการสังเกตุการมีศาลพระภูมิหลายแห่ง แต่ในทางกลับกันไม่เชื่อในโชคของตัวเองที่เกิดจากการเสี่ยงท้ายรางวัลผ่านกิจกรรมการตลาด และโดยเฉพาะการแจกสมาร์ทโฟน ไอโฟน บีบี เป็นรางวัลที่ไม่ได้จูงใจคนต่างจังหวัด ดังนั้นการทำตลาดต่างจังหวัดจะต้องจัดโปรโมชันที่ซื้อแล้วได้ของแถมจะใช้ได้ผลดีกว่า อาทิ การแจกจาน ชาม ช้อนส้อม”
**คนภูธรยังชอปปิ้งโชวห่วย-ตลาดนัด***
สำหรับพฤติกรรมการซื้อสินค้าในช่องทางจำหน่ายต่างๆ พบว่า แม้ว่าโมเดิร์นเทรดจะมีการเติบโตในตลาดต่างจังหวัด แต่การซื้อสินค้าของคนต่างจังหวัด ยังคงซื้อสินค้าที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันที่ใกล้บ้านมากกว่าการเดินทางเพื่อไปซื้อสินค้าโมเดิร์นเทรด และชื่นชอบความสะดวกสบาย ซึ่งล่าสุดพบว่า มีการบริการส่งสินค้าให้ถึงบ้านด้วย
โดยตลาดสดและตลาดนัดยังคงเป็นที่นิยมในทุกๆ กลุ่ม ดังนั้นแบรนด์ควรจะเข้าไปหาผู้บริโภคตามสถานที่ที่กลุ่มเป้าหมายนิยม
***ชง 5 แนวทางนักการตลาดปรับตัว***
นางสาวปัทมวรรณ กล่าวถึงการทำตลาดที่ต้องคำนึง 5 ประการคือ 1.กรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทย เพราะ 70% ยังคงเป็นตลาดต่างจังหวัด และเมืองใหญ่แต่ละเมืองก็มีความแตกต่างกันไปไม่เหมือนกัน นักการตลาดต้องเข้าใจวัฒนธรรมและค่านิยมของแต่ละชุมชน เช่น กิจกรรมการตลาดใหญ่ๆ อาจใช้ได้ดีกับทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในขณะที่กิจกรรมการตลาดที่อยู่ใกล้และเข้าถึงละแวกบ้านจะเหมาะกับการทำการตลาดในภาคเหนือมากกว่า ประการที่ 2.การสื่อสารด้วยภาพและตัวเลขเป็นเทรนด์ ลองใช้ภาพและตัวเลขให้มากขึ้นในการสื่อสาร
ประการที่ 3 คือ นักการตลาดควรตรวจสอบกฏ “4M” คือ การตลาดที่ทำขึ้นสำหรับและเฉพาะกลุ่ม (made here) การใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือการตลาด (music) คำนึงถึงสถานที่ สำคัญที่กลุ่มเป้าหมายซื้อของ (Market) และเม็ดเงินในการลงทุนในกิจกรรมการตลาด (money) ประการที่4 ดิจิตอลกำลังมาแต่ควรคำนึงถึงความง่ายในการสื่อสารและใช้งาน การใช้ภาษาไทย แอปพลีเคชั่นที่ง่ายๆ
มาใช้ร่วมกับโปรโมชั่นที่ไม่จำเป็ นต้องใช้ผ่านสมารท์โฟนเท่านั้นได้ และประการที่ 5โทรทัศน์ยังเป็นสื่อพื้นฐานในการสื่อสารกับกลุ่มนี้ แต่ต้องเริ่มมองถึง สื่ออื่นๆที่ได้กล่าวถึงในรายงานนี้เช่นสื่อท้องถิ่น และดิจิตอล
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|