โรงงานเซเว่น-อัพ เรื่องของคู่เขยพลิกล็อค


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

จริง ๆ แล้วถึงขณะนี้ก็ยังไม่ทีใครทราบชัดว่าจะเอาอย่างไรกับ บริษัทเซเว่น-อัพ บอตตลิ่ง (กรุงเทพฯ) กิจการผลิตและจำหน่ายน้ำอัดลมที่มีทุนจดทะเบียนเพียง 12 ล้านบาท แต่อุตส่าห์สร้างหนี้ไว้ถึงกว่า 200 ล้านและหยุดชำระหนี้คืนมานานกว่า 2 ปีแล้ว

กระแสข่าวที่ปรากฏออกมานั้น สรุปวิเคราะห์ดูก็ล้วนแต่เป็นการปล่อยข่าว "เกทับบลัฟแหลก" กันระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้เกือบทั้งสิ้น"

"ทั้งนี้ก็เพราะตัวเซเว่น-อัพ มันไม่ใช่ตัวปัญหาใหญ่ ตัวปัญหาใหญ่มันอยู่ที่กลุ่มบริษัทการเงินในเครือสากลเคหะของสุรินทร์ ตุลย์วัฒนจิต ที่กลายเป็นของคลังไปเพราะโครงการ 4 เมษา เรื่องของเซเว่น-อัพ เป็นเรื่องของเกมส์ที่สุรินทร์กับคนของทางการจะต้องใช้เป็นหมากเดินสู้กัน โดยมีบริษัทการเงินในเครือสากลเคหะเป็นเดิมพันและมีไทยพาณิชย์เป็นตัวสอดแทรก…" แหล่งข่าวที่ติดตามเรื่องราวมาตั้งแต่ต้นเปิดเผยให้ฟัง

โรงงานเซเว่น-อัพ มีเจ้าหนี้รายใหญ่เป็นบริษัทการเงินในเครือสากลเคหะ และมีหนี้อยู่อีกราว ๆ 20 ล้านบาทกับธนาคารไทยพาณิชย์โดยหนี้ในส่วนไทยพาณิชย์มีที่ดิน 7 ไร่กว่าและตัวโรงงานเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ส่วนหนี้อีกกว่า 100 ล้านในส่วนของเครือสากลเคหะไม่มีอะไรมาค้ำประกันแม้แต่น้อยนิด

และสาเหตุทีสากลเคหะปล่อยกู้ให้เซเว่น-อัพเมื่อปี 2522 จากเจ้าของเดิมตระกูล "เหตระกูล" ที่ทำมานานจนตอนหลังมีลักษณะเตี้ยลงเอย ๆ ซึ่งที่จริงก็ไม่ใช่สุรินทร์หรอกที่อยากเทคโอเวอร์บริษัทนี้

คนที่เป็นต้นคิดจริง ๆ คือ ดร. พิจิตต รัตตกุล ลูกชายรองนายกฯ พิชัยที่ตอนได้ได้ดิบได้ดีทางการเมืองกลายเป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ "ก็คงจะเป็นเพราะจบทางด้านเคมีชีวะมั้ง เลยอยากจะลองลุ้นดูบ้าง…" คนที่รู้จักกับ ดร. พิจิตต บอกแบบไม่อยากจะเล่ามาก

เผอิญที่ ดร. พิจิตต รัตตกุล เป็นคู่เขยกับสุรินทร์ ตุลย์วัฒนจิต (ภรรยาของ ดร. พิจิตต-ชารียา เป็นพี่น้องกับภรรยาสุรินทร์-ชลาธิป)

และเผอิญหนักเข้าไปอีกที่สากลเคหะของสุรินทร์ตอนนั้น เงินฝากจากประชาชนกำลังไหลเข้า และสุรินทร์กำลังเร่งขยายฐานธุรกิจอย่างรีบด่วน

ภายหลังการส่งคนเข้าไปศึกษาฐานะของเซเว่น-อัพ อย่างทะลุปรุโปร่งและพบว่าน่าเสี่ยงแล้ว สุรินทร์ก็ตัดสินใจร่วมกับ ดร. พิจิตตเอาเงินจากสากลเคหะไปเทคโอเวอร์เซเว่น-อัพ แล้วปล่อยให้ ดร. พิจิตตบริหารไปตามลำพัง

"ตอนที่กลุ่มสุรินทร์เข้าเทคฯ นั้นดูเหมือนเซเว่น-อัพจะมีหนี้อยู่ก็เพียงที่ไทยพาณิชย์ราว 10 กว่าล้านบาท โดยเอาที่ดินกับตัวโรงงานค้ำประกัน เมื่อซื้อมาแล้วก็ต้องเร่งปรับปรุงมาก ทั้งเครื่องจักรและงานด้านการตลาด ซึ่งก็ไม่มีปัญหา เพราะขาดเงินเมื่อไหร่ก็ไปเอามาจากเครือของสากลเคหะซึ่งก็ไม่ต้องมีหลักทรัพย์อะไรไปวาง…" แหล่งข่าวเจ้าเก่าเล่า

เซเว่น-อัพ ตอนั้นกำลังมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

แต่ด้วย "สาเหตุบางประการ" ทำให้ ดร. พิจิตต ต้องวางมือไปและสุรินทร์ต้องเข้ามาดูแลเองภายหลัง ดร. พิจจิตต เข้าไปได้ไม่นานนัก "บางคนก็บอกว่าเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างคู่เขยคู่นี้ บ้างก็ว่า ดร. พิจิตตอยากไปเอาดีทางการเมือง เรื่องจริง ๆ เป็นเพาะอะไรนั้นไม่มีคนนอกทราบ…" คนเคยร่วมงานกับสุรินทร์บอกคร่าว ๆ

ก็นับเป็นการเปลี่ยนแปลงภายใต้สิ่งที่ยังคงเดิมไม่แปรเปลี่ยน คือเซเว่น-อัพยังมีความจำเป็นจะต้องใช้เงินค้ำจุนกิจการต่อไปไม่หยุด

สำหรับสุรินทร์นั้น ก็อาจจะคิดว่าใส่เงินไป เซเว่น-อัพฝ่าพ้นวิกฤตเมื่อไรก็คงพอจะมีกำไรมาใช้หนี้และก็จะเป็นฐานที่มั่นคงในภายภาคหน้าสำหรับกลุ่มเขา

แน่นอน…สุรินทร์คงนึกไม่ถึงหรอกว่า วันดีคืนดีสถาบันการเงินจะมีอันต้อง PANIC แทบล้มคว่ำภายหลังกรณีอีดีทีของกลุ่ม "ตึกดำ" และทำให้เขาต้องคลี่คลายสถานการณ์ด้วยการนำบริษัทการเงินในเครือทั้งหมดเข้าโครงการ 4 เมษา โอนสิทธิความเป็นเจ้าของให้กับกระทรวงการคลังพร้อม ๆ กับการเข้ามาของคนจากทางการ

สุรินทร์ตอนั้นก็คิดว่า การเข้าโครงการ 4 เมษาเป็นทางออกที่ดีที่สุด หาก PANIC หยุดแล้วธุรกิจที่หยุดชะงักรวมทั้งโรงงานเซเว่น-อัพ ที่ขาดแหล่งเงินอย่างกระทันหันก็คงจะเดินหน้ากันต่อไป

แต่เผอิญมันไม่เป็นอย่างที่สุรินทร์คิด!!

การเข้ามาคนทางการนั้น นอกจากจะไม่ยอมปล่อยเงินให้กับเซเว่น-อัพและทุก ๆ กิจการแล้วก็ยังตั้งหน้าตั้งตาบีบรัดให้จ่ายหนี้ลูกเดียวจริง ๆ

"ที่จริงก็คงจะฟ้องเซเว่น-อัพ เหมือนกับลูกหนี้ทั้งหลายนั่นแหละ แต่เมื่อพบว่าขืนฟ้องไปก็จะไม่ได้อะไรเพราะไม่มีอะไรค้ำประกันหนี้ ก็เลยหันมาบีบจะให้แปลงหนี้เป็นหุ้น หาทางเข้าเทคโอเวอร์เลย" ผู้ที่ทราบเรื่องเล่าเองหลังที่สากลเคหะประกาศจะเข้าเทคโอเวอร์เซเว่น-อัพซึ่งจะทำให้โรงงานน้ำอัดลมแห่งนี้มีรัฐบาลเป็นเจ้าของ

มาตรการเช่นนี้ว่ากันว่าสุรินทร์หัวเสียมาก และก็ไม่ใช่เซเว่น-อัพแห่งเดียว ที่ไหนมีหนี้และยังไม่สามารถชำระ คนทางการก็จะบีบรัดหน้าเขียวหน้าเหลืองไปทุกแห่ง

ช่วงแรก ๆ เซเว่น-อัพก็พยายามใช้การเจรจาเพื่อหาทางคลี่คลายปัญหาตัวเอง "มีการออกข่าวว่าจะเพิ่มทุน และพัฒนาทรัพย์สินเพื่อให้มีราคาขึ้นโดยเฉพาะที่ดินกว่า 7 ไร่ที่นนทบุรี ริมถนนงามวงศ์วาน" ซึ่งก็ไม่มีผลทางการปฏิบัติ จนในที่สุดเจ้าหนี้ที่มีจริงอย่างไทยพาณิชย์ก็ตัดสินใจฟ้องศาล

"ไทยพาณิชย์เขาก็ไม่อยากจะฟ้องร้องหรอก แต่เห็นมันคาราคาซัง สากลเคหะที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ก็เอาแต่เงื้อง่า ทำท่าจะบีบ เอาเข้าจริงก็บีบไม่ลงเพราะบีบไปก็ไม่ได้อะไร จะช่วยให้ฟื้นก็ไม่ช่วย ไทยพาณิชย์ก็เลยต้องฟ้อง พูดกันว่าเบื้องหลังนั้นก็ต้องการให้มาเจรจากันว่าจะเอาอย่างไรแน่…ไม่ใช่ปล่อยกันอย่างที่ผ่าน ๆ มา…" แบงเกอร์รายหนึ่งพูดกับ "ผู้จัดการ"

ดูเหมือนเซเว่น-อัพ จะมีทางเลือกไม่มากนัก โดยเฉพาะสุรินทร์ ตุลย์วัฒนจิต แล้ว สิ่งเดียวที่พอจะเป็นไปได้สำหรับเซเว่น-อัพ และอีกหลายกิจการที่ผูกอยู่กับเครือสากลเคหะ ก็น่าจะเป็นการทำให้สากลเคหะกลับมาเป็นของเขาอีกครั้ง เพื่อที่เขาจะสามารถคลี่ลายทุกอย่างได้อย่างที่เขาคิดว่ามันสมควร

หรืออย่างน้อย ก็ให้คนที่พอจะพูดกันรู้เรื่องมาพูดกับเขาแทนคนจากทางการที่เอาแต่ทวงหนี้

ที่กรุงไทยช่วยรับบริษัทการเงินโครงการ 4 เมษา แทนคลังและแบงก์ชาติ บางทีน่าจะช่วยให้สถานการณ์ของเซเว่น-อัพกระเตื้องขึ้น

เพียงแต่สุรินทร์ก็คงจะต้องดูต่อไป พร้อม ๆ กับความพยายามจะเอากิจการกลับคืนก็คงจะต้องดำเนินไปเป็นขั้น ๆ ไม่หยุด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.