ลักษณะพิเศษของโครงการ 4 เมษายนนั้น นอกจากความฉุกละหุกแล้ว ประการสำคัญเห็นจะอยู่ที่ความเป็นสูตรผสมของวัฒนธรรมการคลี่คลายปัญหาแบบไทย
ๆ ที่มีหลายอารมณ์และมีความเป็นสุภาพบุรุษที่ยืดได้หดได้ บางครั้งก็โหด บางครั้งก็ไม่ค่อยจะดีนัก
แต่ก็จบลงด้วยความสบายใจของทุกฝ่ายยิ่งกว่าหนังไทยเสียอีก และไม่แน่นักอาจจะมีภาค
2 ภาค 3 ต่อไปอีกหากผู้ชมเรียกร้อง
สุรินทร์ ตุลย์วัฒนจิต, ธวัชชัย ถาวรธวัช, ไพโรจน์ จิรชนานนท์, วิวัฒน์
สุวรรณภาศรี กับอีกบางคนนั้น ถ้าถามคนแบงก์ชาติหรือคลัง ส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าเป็นพวกที่มาในมาดไม่ต่างไปจากเตียบักฮ้ง
หรือโคว้เฮงท้ง
สุรินทร์ ตุลย์วัฒนจิต กลุ่มของเขาเคยประกอบด้วยบริษัทการเงิน 6 แห่ง บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สากลเคหะ,
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์คอมเมอร์เชียลทรัสต์, บริษัทเงินทุนไฟแนนซ์เชียลทรัสต์,
บริษัทเงินทุนไทยเงินทุน, บริษัทเงินทุนสกุลไทยและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์สากลสยาม
กลุ่มธวัชชัย ถาวรธวัช ก็มีบริษัทเงินทุนแหลมทอง, บริษัทเครดิตฟองสิเอร์
เมืองไทยพาณิชย์ และอาจจะพ่วงบริษัทเรดิตฟองสิเอร์เจริญผลเข้าไปด้วย
กลุ่มไพโรจน์ จิรชนานนท์ มีบริษัทเงินทุนเอราวัณทรัสต์, บริษัทเงินทุนทรัพย์ทวีและบริษัทเงินทุนของสุธรรม
โรจนวรกุล คู่เขยไพโรจน์
ส่วนกลุ่มวิวัฒน์ สุวรรณภาศรี มี 2 แห่ง บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ส่งเสริมเงินทุนไทยกับบริษัทเครดิตฟองสิเอร์ส่งเสริมออมทรัพย์ไทย
มันน่าแปลกที่ภายใต้จินตภาพของคนแบงก์ชาติและคลังเช่นนี้ บริษัทการเงินในเครือเยาวราช
ของสุพจน์ เดชสกุลธร หรือเตียบังฮ้งและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สหไทยของโค้วเฮงท้ง
ถูกคลังใช้ซามูไรเชือดสังเวยไปแล้ว
แต่บริษัทการเงินกลุ่มสุรินทร์, ธวัชชัย, ไพโรจน์และวิวัฒน์เป็น 14 บริษัทในจำนวนทั้งหมด
25 บริษัทที่คลังกับแบงก์ชาติประกาศให้ความโอบอุ้มภายใต้โครงการ 4 เมษายน
ที่เริ่มขึ้นในวันเดียวกับชื่อโครงการนั้นเมื่อปี 2527!!
และนี่อาจจะเป็นรากเหง้าของความยุ่งยากที่เกิดขึ้นกับโครงการ 4 เมษายน
ที่ล้มเหลวไม่เป็นท่าจนต้องค้นหาทางออกกันอุตลุด ซึ่งล่าสุดก็ตกลงให้ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้รับไปสะสางเอาเอง
จะสำเร็จหรือไม่ "ก็ห้าสิบ…ห้าสิบ" คนที่เฝ้าจับตาโครงการ 4 เมษามาตั้งแต่ต้นไม่กล้ายืนยัน
ทัศนะหนึ่งบวกหนึ่งต้องเป็นสองมิอาจเป็นอื่นใดไปได้ของคนคลังและแบงก์ชาติโดยส่วนใหญ่นี้
ดูเหมือนสิ่งที่ตามมาก็คือความ "โหด" และก็เป็นความโหดที่เริ่มตั้งแต่
"หัวเรื่อง" ยัน "หางเครื่อง" ไล่เป็นลูกระนาด
โดยเฉพาะสมหมาย ฮุนตระกูล อดีตรัฐมนตรีคลังที่ขณะนั้นอยู่ในจุดของคนที่มีอำนาจตัดสินใจสูงสุด
สถานการณ์วันนี้ยืนยันชัดเจน ฉายา "ซามูไรโหด" ของเขาเหมาะสมที่สุดแล้วด้วยประการทั้งปวง
เช่นเดียวกับที่ภาพของเริงชัย มะระกานนท์ ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์และผู้ใหญ่อีกหลายคนของคลังกับแบงก์ชาติก็ไม่พร่ามัวอีกต่อไป
หากพิสูจน์ความชัดเจนนี้ ไม่ใช่เป็นการเดิมพันบนเค้าหน้าตักถึง 20,000
ล้านบาท ตามราคาทรัพย์สินของทรัสต์ 4 เมษาทั้ง 25 แห่งรวมกันแล้ว ก็คงจะน่าลองมาก
ๆ?
และควรจะลองต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อความชัดเจนในวิชาความรู้ที่สู้อุตส่าห์ร่ำเรียนมาหลายปีที่หาโอกาสใช้ไม่ง่ายนัก!
โครงการ 4 เมษายนนั้น เห็นได้ชัดว่าเป็นทางออกที่ทำกันฉุกละหุก ซึ่งก็อาจจะเป็นได้ที่เพียงต้องการหยุด
PANIC ส่วนเมื่อ PANIC หยุดเพราะมียันต์จากกระทรวงการคลังไปแปะไว้หน้าบริษัทการเงินแล้วจะต้องทำอย่างไรกันต่อไป
ช่วงนั้นความคิดยังไม่ลงตัวเลยแม้แต่น้อย
เป็นเรื่องฉุกละหุกที่ไม่ใช่เพราะไม่มีเวลา หากแต่เป็นเรื่องความรั้นของคนที่จะต้องตัดสินใจซึ่งว่าไปแล้วก็ค่อนข้างจะเหลือเชื่อ
เมื่อปลายปี 2526 ที่เกิดกรณีอีดีทีของกลุ่มตึกดำนั้น เริงชัย มะระกานนท์
นั่งอยู่ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน ก่อนอีดีทีล้ม
เริงชัยก็ทราบปัญหาและพยายามหาทางช่วยเหลือสุดเหวี่ยงแต่เผอิญไม่สำเร็จ "ตอนนั้นถ้าหาเงินมาใส่สัก
2,000 ล้าน PANIC มันก็จะไม่เกิด ก็เข้าทำนองเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย"
แบงค์เกอร์คนหนึ่งพูดให้ฟัง
ซ้ำร้ายกว่านั้น สมหมาย ฮุนตระกูล ผู้มีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีคลังก็ยังออกมาให้สัมภาษณ์เสียอีกว่า
สมควรให้บริษัทการเงินที่อ่อนแอล้มเพื่อปิดกิจการไปส่วนหนึ่ง เนื่องจากมีมากเกินความจำเป็น
เท่านั้นเองใบปลิวเถื่อนที่บอกว่าทรัสต์นั้นจะล้มทรัสต์นี้จะไปไม่รอดอยู่ในลิสต์รายชื่อที่คลังจะสั่งปิดก็ว่อนไปทั้งเมือง
นักวิเคราะห์สถานการณ์ต่างก็ยืนยันตรงกันว่า ไบปลิวเหล่านี้เป็นผลพวงของการแข่งขันระหว่างสถาบันการเงินด้วยกันที่ผสมโรง
"ยืมดาบฆ่าคน" ซึ่งก็ได้ผลชะงัดมาก ๆ เพราะผู้ฝากเงินก็แห่กันไปรุมถอนเงิน
บริษัทไหนที่ไม่แข็งแรงพอก็เลยล้มไปจริง ๆ ส่วนที่แข็งแรงอยู่บ้างก็บอบช้ำไปตามสภาพ
ที่จริงก่อนหน้าการประกาศจุดยืน (ซึ่งเป็นเจตนาที่ดี) ของสมหมายอย่างโจ่งครึ่มนั้น
ข้ออ่อนที่สำคัญของนโยบายที่จะแก้ปัญหาวิกฤติการณ์สถาบันการเงินที่จุดชนวนขึ้นที่อีดีทีก็คือ
ความคิดที่สวนทางกันระหว่างฝ่ายแบงก์ชาติของผู้ว่าฯ นุกูล ประจวบเหมาะ กับคลังของรัฐมนตรีสมหมาย
ฮุนตระกูล
และคนที่เป็นหนังหน้าไฟ วางตัวลำบากยากยิ่งก็เห็นจะเป็นเริงชัย มะระกานนท์
ผู้ใต้บังคับบัญชาโดยตรงของนุกูลที่เผอิญมีศักดิ์เป็นหลานเขยของสมหมาย
แบงก์ชาติตอนนั้นเสนอหนทางแก้ไขด้วยการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝาก
แบงก์พาณิชย์หลายแห่งที่มีบริษัทการเงินในเครือซึ่งเข้มแข็งไม่มีปัญหาก็คัดค้านด้วยความที่กลัวจะเสียเปรียบ"
(และเสียเงิน)
ที่ปรึกษาสายเหยี่ยวหลายคนของสมหมายก็มองว่าไม่เหมาะเพราะเท่ากับจะไปรักษาบริษัทที่อ่อนแอไม่มีประสิทธิภาพให้อยู่ได้ต่อไป
การแก้ปัญหาที่จะต้องลดจำนวนบริษัทการเงินที่มีเงื่อนไขให้แล้วนี้ก็จะพลาดโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย
อาจจะผสมผสานกับความหัวรั้นด้วย สมหมาย ฮุนตระกูล ก็เขี่ยเรื่องสถาบันประกันเงินฝากตกไปอย่างไม่แยแส
"พวกทรัสต์อิสระที่ร่วมให้ข้อมูลแบงก์ชาติ และเห็นว่าสถาบันประกันเงินฝากจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
เข่าแทบทรุด ไม่มีใครคาดเดามาก่อนว่าสมหมายจะโหดขนาดนั้น…" อดีตผู้บริหารบริษัทการเงินที่ไม่มีธนาคารเป็นหลังพิงบอกกับ
"ผู้จัดการ"
มีบางคนเปรียบเทียบความคิดของสมหมายกับทีมที่ปรึกษาที่แวดล้อมขณะนั้นว่า
เป็นความคิดแบบหมอผ่าตัดที่อยากจะผ่าคนไข้ใจจะขาด "ให้เลือด ให้น้ำเกลือไม่อั้น
ขอให้ผ่าดูสักหน่อยเถอะ ว่ามันเป็นโรคอะไรอยู่ ไม่ต้องมานั่งคิดกันละว่าหมอมีพอกับจำนวนคนไข้หรือไม่
ในที่สุดคนไข้ก็เลยต้องส่งให้เวรเปลไปนั่งวิเคราะห์โรคแทน…"
เมื่อไม่มีสถาบันประกันเงินฝาก แต่วิกฤติการณ์ยังขยายตัวลุกลามไม่หยุด
โครงการ 4 เมษายน ก็ถูกกำหนดขึ้นมาแทนที่เพื่อยับยั้งวิกฤต
สำหรับเริงชัยแล้วนอกจากจะเป็นโครงการที่ว่ากันว่า เขาสรุปบทเรียนมาจากการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินของอังกฤษประเทศ
ที่เขาเคยไปเรียนจนจบปริญญาโทที่สำคัญกว่านั้นเห็นจะอยู่ที่ว่ามันเป็น "ทางสายกลาง"
ที่ทั้งฝ่ายนุกูลและฝ่ายสมหมายพอจะยอมรับได้
นุกูล ยอมรับในแง่ที่โครงการ 4 เมษาจะช่วยยับยั้ง PANIC ไม่ให้ขยายวงกว้างขวางกว่าที่เป็นอยู่ขณะนั้น
ส่วนสมหมายก็คงจะพอใจที่ภายใต้โครงการนี้งานผ่าตัดระบบสถาบันการเงินก็จะดำเนินไปได้อย่างจำแผนก
ที่ไร้คุณภาพก็ล้มไป ทางการรับเปลี่ยนตั๋วให้ ที่แข็งแรงก็สามารถยืนอยู่ได้
ส่วนที่พอจะมีคุณภาพแต่ประสบปัญหาจากวิกฤตการณ์ก็เข้ามารับความช่วยเหลือจากทางการผ่านโครงการ
4 เมษายน ไม่ใช่การช่วยเหลือแบบครอบจักรวาลตามสูตรสถาบันประกันเงินฝากที่เขาไม่เห็นด้วย
ทั้งนี้เงื่อนไขก็คือบริษัทการเงินที่ทางการรับเข้าโครงการจะต้องโอนหุ้น
25% ให้ทางการและเพื่อให้มีสิทธิในการบริหารก็โอนหุ้นอีก 50% เป็นการชั่วคราว
(ทำสัญญาที่จะคืนให้ภายใน 5 ปี) พร้อมทั้งจัดหาหลักทรัพย์มาค้ำประกันทรัพย์สินที่ด้อยคุณภาพให้ครบถ้วน
"ก็นับว่าเป็นเงื่อนไขที่ถ้าบริษัทใดสามารถเข้าโครงการได้ ก็เหมือนทางการได้ออกประกานียบัตรรับรองแล้วอย่างมั่นคง
เพราะถ้าไม่ดีจริงทางการก็คงจะไม่ยอมรับตั้งแต่ต้น" อดีตผู้ถือหุ้นรายย่อยทรัสต์
4 เมษาคนหนึ่งแสดงความเห็น
ขณะนั้นมีบริษัทการเงินจำนวนกว่า 30 รายที่เสนอตัวขอเข้าโครงการ 4 เมษา
ซึ่งรวมทั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไอทีเอฟด้วยรายหนึ่ง
แต่ก็มีเพียง 24 รายที่ทางการยินดีรับและต่อมาก็ได้รับส่งเสริมเงินทุนไทยของวิวัฒน์
สุวรรณภาศรีเข้ามาทำให้กลายเป็น 25 ส่วนที่ไม่รับเข้าโครงการ "บางรายเขายังแข็งแรงพอจะไปได้
ก็ไม่อยากเอามาเป็นภาระ ส่วนบางรายก็อยู่ในฐานะที่กู้ไม่กลับแล้ว รับไปก็ไม่ไหว
ก็เลยไม่รับ" คนแบงก์ชาติพูดกับ "ผู้จัดการ"
บริษัทการเงินที่เข้าโครงการ 4 เมษานี้ เริงชัย ตอนนั้นก็ประกาศว่า จะบริหารภายใต้สิ่งที่เรียก
"แมเนจเม้นท์ พูล" โดยจะแบ่งออกเป็น 3 พูล และจ้าง "มืออาชีพ"
เข้ามารับผิดชอบ ก็เป็นที่กะเก็งกันวุ่นวายพอสมควรว่าคนนั้นคนนี้จะเข้ามาในพูลอย่างเช่นสงบ
พรรณรักษา ที่อยู่เอ็ตโก้ก็เป็นคนหนึ่งที่พูดกันว่าถูกทาบทามจากคลังและแบงก์ชาติ
แต่ยังไม่ทันไปถึงไหน การเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่อย่างเงียบเชียบก็มาพร้อม
ๆ กับการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน
เริงชัย มะระกานนท์ ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคารและผู้ที่ก้าวขึ้นมาแทนเริงชัย
คือ ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ ผู้มาพร้อมกับคำว่า "ไลฟ์ โบต" หรือเรือช่วยชีวิตที่จะต้องช่วย
25 ทรัสต์ที่ยุคเริงชัยคัดเลือกไว้แล้ว
"คนคู่นี้เขาคิดไม่เหมือนกัน เริงชัยนั้นจะจับ 25 แห่งแยกเป็น 3 พูลแล้วจ้างมืออาชีพเข้ามาบริหารซึ่งเมื่อรวมกันแล้ว
แยกเป็น 3 พูลจะทำให้ใช้คนไม่มาก ค่าใช้จ่ายไม่สูงเกินความจำเป็น แต่ศุภชัยเขากลับมองว่า
ทรัสต์ทั้ง 25 แห่ง ต่างแห่งต่างปัญหา จะเอามาพูลกันแล้วใช้คนทีมเดียวดูแลก็อาจจะแก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุด
ศุภชัยก็เห็นว่าต้องแยก ต่างคนต่างบริหารกันไป ทั้งนี้คลังกับแบงก์ชาติก็จะเข้าไปนั่งเป็นกรรมการดูแลทุกแห่งอย่างใกล้ชิด
ใครแก้ปัญหาตัวเองได้ตกเร็วก็โอนกลับให้เจ้าของเดิมได้เร็ว ใครช้าทางการก็จะได้ทุ่มเทฟูมฟักให้ได้เต็มที่"
แหล่งข่าวที่ศึกษาโครงการ 4 เมษาพูดถึงเบื้องหลังที่ "แมเนจเม้นท์ พูล"
หายเข้ากลีบเมฆไปพร้อม ๆ กับการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของเริงชัย
และนั่นเห็นจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินชักแถวเข้าเป็นกรรมการและผู้บริหาร
25 ทรัสต์ โครงการ 4 เมษาของคนคลังและแบงก์ชาติจำนวนกว่า 100 คนตั้งแต่ระดับ
"ผู้ใหญ่" ไปจนถึงระดับ "หางเครื่อง"
"ฝ่ายแบงก์ชาติก็มีฝ่ายของ ดร. ศุภชัย เป็นคนกลั่นกรองเสนอ ส่วนกระทรวงการคลังคนที่ดูแลเรื่องนี้ต้นทางก็คือวีระยุค
พันธุเพชร หัวหน้ากองนโยบายการเงินการธนาคาร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง"
แหล่งข่าวผู้หนึ่งเล่าถึงกลไกการส่งคนของทางการเข้าไปใน 25 ทรัสต์
คนทางการเหล่านี้ ไม่ได้เข้าไปเพื่อบริหารธุรกิจการเงิน กล่าวให้ถูกต้อง
ทุกคนมีหน้าที่เข้าไป "จับผิด" และ "สะสางบัญชี" ที่เจ้าของเก่าและผู้บริหารเดิมทำไว้
"ผมไม่อยากตำหนิ ดร. ศุภชัย หรอกนะ เพราะสิ่งที่ ดร. ศุภชัย ดำเนินการเปลี่ยนแปลงไปจากที่เริงชัยวางเค้าโครงไว้
สำคัญที่สุดก็คือ 25 ทรัสต์ที่เข้าโครงการนั้นหลายแห่งพบเห็นเงื่อนงำผิดปกติเมื่อเข้าไปตรวจสอบภายหลัง
หลักทรัพย์ที่เอามาวางค้ำคุณภาพต่ำกว่าเป็นจริงบ้างและบางแห่งไม่น่าจะรับเข้ามาก็รับ
เพราะฉะนั้น ดร. ศุภชัยก็เลยไม่พูล เดี๋ยวของเสียจะไปดึงของดี ก็ต่างแห่งต่างบริหารและขั้นต้นสุดก็จะต้องล้างครัวกันให้สะอาดเสียก่อน…"
เจ้าหน้าที่คลังรายหนึ่งเล่าให้ฟัง
อาจจะเป็นตรงนี้เองที่จินตภาพ "เจ้าของทรัสต์มันก็เลวเหมือน ๆ กันหมด"
กลับเข้าครอบงำอีกครั้ง แต่ความน่ากลัวก็คือเผอิญเป็นจินตภาพที่เกิดขึ้นกับบริษัทการเงินที่ทางการได้อ้างว่ากลั่นกรองอย่างดีเยี่ยมแล้วก่อนรับเข้าโครงการ
4 เมษา ซ้ำร้ายกว่านั้นมันได้กลายเป็นกิจการที่คลังเป็นเจ้าของ (บอกว่าชั่วคราวตามสัญญา)
และคนของทางการสามารถชี้เป็นชี้ตายได้ทุกขณะ!!
"เป็นเรื่องแปลก เพราะแทนที่คนทางการจะสะสางคนทางการด้วยกันเอง ว่าไปไหน้ามืดตามัวเข้าอีท่าไหนจึงถูกแหกตาได้
กลับเป็นว่าคนที่จะต้องถูกเชือดอย่างเสมอหน้าคือบริษัทการเงินทั้ง 25 แห่ง"
อดีตเจ้าของทรัสต์ 1 ใน 25 แห่งที่เข้าโครงการด้วยความหวังที่เคยเปี่ยมล้นวิจารณ์ดุเดือด
"คือก็ต้องยอมรับว่า ก็มีบางแห่งใน 25 แห่งที่กว่าจะเข้ามาได้ก็ต้องอาศัยบารมีทหารใหญ่บางคน
บางแห่งเคยมีเรื่องตั๋วปลอมวุ่นวายมากก็อาศัยวิ่งเข้าหลังบ้านผู้ใหญ่ และอีกบางรายก็อาศัยบารมีอดีตผู้ใหญ่กระทรวงการคลังที่เล่นการเมืองจนมีตำแหน่งใหญ่โตเมื่อหลายปีก่อนช่วยขอร้องให้
แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นจำนวนมากจะไปมองเขาเลวร้ายไม่ได้ เขาทำธุรกิจก็จะต้องยืดหยุ่นแต่เจตนาโกงหาประโยชน์เข้าตัวหรือเอาเงินไปเล่นการพนันนั้นไม่มี
ทำไมไม่มองอย่างแยกแยะ…" เขาเสริม
จากนโยบายที่จริง ๆ แล้วก็อาจจะต้องแยกแยะ แต่เมื่อลงไปสู่การปฏิบัติโดยคนของทางการที่เคยชินกับกรอบของระเบียบวินัยที่เคร่งครัดอีกทั้งขาดประสบการณ์ทางธุรกิจ
ความเสียหาย ก็เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่พ้น
ตรรกวิทยาง่าย ๆ ก็คือ เมื่อทางการเข้าไป PANIC ก็หยุด เงินที่เคยไหลออกก็เริ่มไหลเข้า
ขณะเดียวกันที่อีกด้านหนึ่งก็ตั้งหน้าแต่ตรวจสอบบัญชี เร่งรัดหนี้สิน ทวงถามหลายครั้งไม่คืบหน้าก็ฟ้องร้องดำเนินคดี
และไม่พิจารณาปล่อยสินเชื่อใด ๆ ทั้งสิ้น
ผลก็คือดอกเบี้ยเงินฝากต้องจ่ายแรายได้ไม่มีเพราะลูกหนี้ส่วนใหญ่เมื่อท่าทีไม่ผ่อนปรน
ก็หาทางหลบเลี่ยงฟ้องได้ฟ้องไป ส่วนกิจการที่เป็นหนี้อยู่เมื่อไม่ปล่อยเงินให้หล่อเลี้ยง
ที่ดีก็ทำท่าจะเสียเอาดื้อ ๆ
"ก็ยิ่งบักโกรกกันหนักเข้าไปอีก อย่างล่าสุดก่อนหน้าที่ที่จะให้กรุงไทยรับไปก็ยืนยันว่าขาดทุนทุกวันอย่างน้อยวันละ
6 ล้านบาทเมื่อรวมทุกแห่ง…" อดีตเจ้าของทรัสต์ฯ คนเดิมสรุป
ดูเหมือนกว่าที่ ดร. ศุภชัย จะทราบชัดว่าเกิดอะไรขึ้น ก็เกือบสายเสียแล้ว
ก่อนหน้าการสละเก้าอี้เพื่อเข้าสู่เวทีการเมือง เขาพยายามหาทางคลี่คลายปัญหาอยู่เหมือนกัน
เขาประกาศเรียกร้องให้คนทางการกลับ
ขณะเดียวกันก็บอกว่ามีทรัสต์บางแห่งที่แก้ปัญหาได้ตกแล้วและพร้อมจะคืนให้เจ้าของเดิม?
และภายหลังการประกาศใช้พระราชกำหนด 3 ฉบับ (ที่กลายเป็นพระราชบัญญัติ…เพิ่มอำนาจให้คลังกับแบงก์ชาติ)
ก็มีการประกาศลดทุนทรัสต์โครงการ 4 เมษาเหลือ 25% พร้อมกับเอาเงินจากกองทุนฟื้นฟูฯ
เพิ่มทุนเข้าไป
การตัดสินใจใช้อำนาจ "ล้นฟ้า" ลดทุนและเพิ่มทุนนี้ ไม่ว่าจะอธิบายว่าเพื่อแก้ปัญหาหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นหรือเหตุผลที่สวยหรูแค่ไหน
สิ่งที่ติดตามมาก็คือสัดส่วนความเป็นเจ้าของฝ่ายเจ้าของเดิมก็มีอันลดลงโดยอัตโนมัติ
หรือว่าเจตนาจริง ๆ แล้วก็คือไม่ต้องการคืน?
สำหรับเจ้าของเก่านั้น สิ่งนี้ก็น่าจะเป็นฟางเส้นสุดท้าย
การใช้มาตรการทางกฎหมายตอบโต้คนทางการได้เริ่มขึ้นแล้วประปรายในช่วงต้นปี
2529 พร้อม ๆ กับการแฉโพยพฤติกรรมไม่ชอบมาพากล ที่ยิ่งแฉสีสันก็ยิ่งเพิ่ม
และในช่วงปลายปี 2529 สมุดปกแดงที่เสนอบทรายงานละเอียดยิบเกี่ยวกับโรงการ
4 เมษาก็ถูดจัดทำขึ้นมาอย่างประณีต
พรรคการเมืองทุกพรรคได้รับสมุดปกแดงฉบับนี้ เช่นเดียวกับที่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ
ก็ได้รับไว้อ่านอย่างน้อยก็เล่มหนึ่ง
มันเป็นการรุกตอบโต้คลังและแบงก์ชาติทั้งด้านเปิดและด้านปิด ทั้งด้านกว้างโดยผ่านสื่อหลายชนิดและด้านลึกผ่านเส้นสายที่ระโยงระยางเชื่อมโยงถึงกลุ่มผู้มีอำนาจ
โดยเฉพาะพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่สามารถนำไปใช้ในปฏิบัติการเชิงรุกต่อรัฐบาลโดยเฉพาะตัวรัฐมนตรีคลังได้อย่างถนัดถนี่
และมันก็เป็นแรงบีบเค้นที่ต้องส่งผ่านมาเป็นทอด ๆ จนมาถึง ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์
รัฐมนตรีช่วยคลังและเริงชัย มะระกานนท์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย
ที่จะต้องหาทางคลี่คลายปัญหาให้ตก ในฐานะที่สร้าง 4 เมษามาคนละครึ่งอีกทั้งฐานะปัจจุบันของคนทั้ง
2 ก็เอื้ออำนวยด้วยประการทั้งปวง
"…ทางเลือกสำหรับการแก้ปัญหาบริษัทการเงิน 25 แห่งในโครงการ 4 เมษายน
ทางการมีทางเลือกได้หลายประการคือ 1. ให้ธนาคารของรัฐรับกิจการต่าง ๆ เหล่านี้ไปบริหารภายใต้โครงสร้างของธนาคาร
2. ให้ผลักภาระให้ธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ รับบริษัทการเงินต่าง ๆ เหล่านี้ไปบริหาร
3. เปิดโอกาสให้กลุ่มธุรกิจอื่นเข้าบริหาร 4. ให้สถาบันการเงินต่างประเทศเข้ารับช่วงการบริหาร
5. รวมกิจการต่าง ๆ ให้เหลือจำนวนน้อยเพียง 3-4 แห่งและเรียกผู้บริหารเดิมกลับมาบริหาร
6. กำหนดเงื่อนไขที่เหมาะสมให้ผู้ถือหุ้นและผู้บริหารเดิมรับกิจการคืนไป
โดยอาจจะมีข้อจูงไจบางประการในการที่จะคืนกิจการ เช่น ทยอยคืนหุ้นให้เต็มจำนวนเต็มมูลค่า
ให้โอกาสและเวลาในการแก้ปัญหาหนี้สิน ให้เวลาในการทยอยซื้อหุ้นคืนหรือช่วยจัดหาแหล่งเงินช่วยเหลือซื้อหุ้นเพิ่มเติม
เป็นต้น โดยที่ผู้บริหารเดิมต้องพยายามคืนเงินลงทุนของทางการในระยะยาว แต่ในเวลาเดียวกันทางการก็ต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมที่เจ้าหน้าที่ของทางการได้ทำให้กิจการเหล่านี้เสียหายเพิ่มเติมขึ้นในช่วงระยะเวลา
2 ปีที่ผ่านมา โดยที่ทางการอาจจะชดใช้หรือหักหนี้ไปบางส่วน…" เนื้อหาตอนหนึ่งภายใต้หัวข้อ
"ทางออก" ของสมุดปกแดงเสนอไว้
ช่วงต้นปี 30 ก็เริ่มเปิดศักราชด้วยข่าวสารระดับวงในว่า เจ้าของเดิมบางคนมีการปรึกษากับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของคลังแบงก์ชาติพร้อม
ๆ กับกระแสทิ่มตำคนทางการเริ่มค่อย ๆ เงียบไปบ้าง
กลางเดือนมกราคม บางกระแสระบุว่า ธนาคารกรุงไทยตัดสินใจรับทรัสต์จำนวนหนึ่งไปดูแลต่อ
โดยส่วนหนึ่งจาก 25 รายนี้ก็จะมีการควบกิจการเข้าด้วยกัน
"เป็นทางออกที่คงจะดีที่สุดแล้ว เพราะพูดกับนักบริหารการเงินด้วยกันที่กรุงไทยจะส่งเข้ามาแทนคนทางการน่าจะรู้เรื่องมากกว่าคนทางการที่ไม่ประสีประสา
เอาแต่ดูบัญชีอยู่นั่นแหละ บอกอาการไม่ได้สักทีว่าจะรักษาโรคกันอย่างไร"
อดีตผู้บริหารบริษัทเงินทุนมีชื่อแห่งหนึ่งให้ข้อคิด
เข้าใกล้ปลายเดือนมกราคมภาพก็ยิ่งแจ่มชัดขึ้นว่ามาตรการแก้ไขนั้นถูกแบ่งเป็น
3 ระดับ
ระดับแรกเป็นการคืนกิจการบางส่วนออกไปจากโครงการด้วยการซื้อคืนโดยเจ้าของเก่าซึ่งก็รวมทั้ง
3 รายที่ประกาศไปแล้วแต่แท้จริงยังคืนให้ไม่ได้เนื่องจากชำระเงินให้ทางการไม่ครบ
(แต่ก็อุตส่าห์ออกมาแถลงข่าวว่าคืนได้แล้วเพื่อโชว์ผลงานกัน)
ไทยรุ่งเรืองทรัสต์ก็คืนให้กลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรืองไป
ส่งเสริมออมทรัพย์ไทยวิวัฒน์ สุวรรณภาศรี หาเงินมาซื้อคืนได้สำเร็จ ส่วนส่งเสริมเงินทุนไทยยังเอาคืนไม่ได้และก็ไม่ง่ายนักหากต้องการเอาคืน
ภายหลังที่วิวัฒน์ต้องประสบปัญหาจากโครงการเมืองมหาวิทยาลัยที่บางนา กรณีธนาคารนครหลวงไทยถูกสั่งลดทุนและโครงการปุ๋ยแห่งชาติที่วิวัฒน์เข้าไปเอี่ยวด้วย
ต้องกลายเป็นโครงการที่ไม่มีอะไรแน่นอนไปแล้วในขณะนี้
หลายคนเชื่อว่าวิวัฒน์จะต้องใช้เวลาในการฟูมฟักธุรกิจตัวเองที่เหลือในย่านปากคลองตลาดอีกพักใหญ่เพื่อจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
นอกจากนี้ก็มีกรุงไทยของกลุ่มโรงน้ำตาล
และอีก 2 รายที่เจรจาสำเร็จเมื่อภายหลังคืนธนไทยของปิยะพงษ์ กนกนันต์ กับบูรพาทรัสต์ที่
วานิช ไชยวรรณ กลุ่มไทยประกันชีวิตตัดสินใจรับซื้อคืนไปในวินาทีสุดท้าย
ระดับที่ 2 เป็นการควบบริษัทที่พอจะมีเงื่อนไขให้ควบกันได้ ซึ่งก็พอจะมีอยู่
3 กลุ่ม
กลุ่มสุรินทร์ ตุลย์วัฒนจิต 6 บริษัท ซึ่งเมื่อรวมสินทรัพย์แล้วก็จะราว
ๆ 9,000 ล้านบาท
กลุ่มเอราวัณทรัสต์ของไพโรจน์ จิรชนานนท์ ที่สินทรัพย์ส่วนใหญ่หนักไปทางที่ดินโดยเฉพาะย่านพระประแดง
(บ้านเกิดไพโรจน์) และบริเวณถนนรัชดาภิเษกที่มีจำนวนกว่า 300 ไร่ จำนวน 3
บริษัท สินทรัพย์รวมกันแล้วประมาณ 5,000 ล้าน
และกลุ่มแหลมทองของธวัชชัย ถาวรธวัช ที่มีอยู่แล้ว 2 คือแหลมทองกับเมืองไทยพาณิชย์และกำลังเจรจากับกลุ่มเจ้าของเก่าเจริญผลเพื่อจะดึงเข้ามาร่วมให้เป็น
3 กลุ่มนี้มีสินทรัพย์ โดยคร่าว ๆ เกือบ 1,000 ล้านบาท
"ถ้าสามารถรวมกันได้สำเร็จก็ดี เพราะลุยแก้ปัญหา 3 กลุ่มนี้สำเร็จ
ทุกอย่างก็เริ่มง่ายแล้ว เพราะ 3 กลุ่มนี้สินทรัพย์รวมกันแล้วก็เกือบ 15,000
ล้านบาทแล้ว ที่เหลือก็แค่รวมกันอีกราว ๆ 5,000 ล้านมันก็สบายมือขึ้น…"
แบงค์เกอร์ผู้หนึ่งวิเคราะห์
ส่วนระดับที่ 3 ก็คือตระเตรียมให้กรุงไทยเข้าไปรับหน้าที่
ซึ่งภายหลังการประชุมร่วมเมื่อบ่ายวันศุกร์ที่ 23 มกราคม สุธี สิงห์เสน่ห์เป็นประธานนั้น
ก็ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการถึงการเข้ามาของธนาคารกรุงไทย ท่ามกลางการแซ่ซร้องสรรเสริญของทุกฝ่าย
โดยเฉพาะกลุ่มสุรินทร์ ตุลย์วัฒนจิต ก็คงจะยินดีไม่น้อย เพราะเป็นกลุ่มเดียวที่พอจะมีเงื่อนไขรวมกิจการทั้ง
6 แห่งเข้าด้วยกันได้ จึงจัดเข้าไปอยู่ในพูลที่ 3 อย่างเป็นเอกเทศไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับบริษัทอื่น
ในขณะที่กลุ่มเอราวัณทรัสต์กับกลุ่มแหลมทองถูกจัดให้อยู่ในอีก 2 พูลที่เหลือโดยคละกันไปกับบริษัทที่เหลือบนพื้นฐานปัญหาที่คล้าย
ๆ กัน "อย่างกลุ่มเอราวัณทรัสต์ก็ไปอยู่ในพูลแรกที่มีทั้งหมด 9 บริษัท
ซึ่งส่วนมากกลุ่มนี้ทรัพย์สินก็จะเป็นพวกที่ดิน รีลเอสเตทพวกนี้" เจ้าหน้าที่กรุงไทยเปิดเผยให้ฟัง
คนแบงก์ชาติระดับผู้อำนวยการฝ่ายคนหนึ่งพูดถึงการเข้ามาของกรุงไทยว่า "มันเป็นบทสรุป"
เขาพูดคล้ายกับว่าได้ถูกกำหนดเป็นขั้นตอนไว้แน่นอนแล้วล่วงหน้า ซึ่งเท่ากับที่ผ่าน
ๆ มานั้นไม่ใช่ความผิดพลาดเลยแม้แต่น้อยนิด
หรือมันเป็นบทบาทหนึ่งที่ถูกกำหนดให้โหด
แล้วก็ยอมก้มหน้าให้ด่าทอว่า "เลว"
เพื่อที่จะได้สรุปลงในฐานะอัศวินม้าขาวที่เปี่ยมด้วยความดี
หากไม่ใช่ นี่ก็คงจะเป็นการเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้งหนึ่งบนสถานการณ์ใหม่ที่จริง
ๆ แล้วก็ยังปกปิดสถานการณ์บางด้านกันอยู่อย่างเป็นกระบวนการ?