อภิรักษ์ ไทพัฒนกุล คนที่จะเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ไทยประกันฯ


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

วานิช ไชยวรรณ ซื้อกิจการบริษัทไทยประกันชีวิตเมื่อปี 2513 ขณะนั้นบริษัทประกันชีวิตอายุเก่าแก่ที่สุดแห่งนี้มีฐานะติดอันดับ "บ๊วย" สุด วานิชโชคดีและก็ตาถึงที่ไปดึงมือเก่าผู้คร่ำหวอดอย่าง อนิวรตน์ กฤตยากีรณ มาช่วยบริหาร กระทั่งพลิกโฉมหน้ากลับเป็นคนละด้านจากอันดับ "บ๊วย" กลายเป็นบริษัทประกันชีวิตชั้นแนวหน้าด้วยอัตราการเจริญเติบโตที่ก้าวกระโดดและไม่หยุดนิ่ง

อริวรตน์ พ่อบังเกิดเกล้าของ ดร. กอปร กฤตยากีรณ นั้น อดีตเคยเป็นผู้บริหารบริษัทประกันชีวิตหลายแห่งก่อนหน้าการเข้าร่วมงานกับไทยประกันชีวิต

วิทยายุทธรวมทั้งประสบการณ์มากมายของเขาถูกใช้ออกไปอย่างเต็มเหยียดภายใต้การสนับสนุนจากวานิช ไชยวรรณ ชนิดใจถึงเอามาก ๆ

และปี 2526 ทุกคนในบริษัทแห่งนี้ก็ทราบดีว่า การปรับปรุงสินค้า (กรมธรรม์) ให้สอดคล้องกับตลาด การสร้างทีมงานและการวางระบบอย่างรัดกุมของอนิวรรค์คือผลงานที่จะต้องจดจำกันไปอีกนาน

เพราะว่าปีนั้นคือปีแรกที่ไทยประกันแซงหน้าบริษัทไทยสมุทรได้สำเร็จหลังจากขับเคี่ยวกันอยู่หลายปี โดยฝ่ายไทยประกันค่อย ๆ ไล่ตามไทยสมุทรกระชั้นติดอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งผลก็คือ ไทยประกันกลายเป็นบริษัทประกันชีวิตอันดับหนึ่งแทนไทยสมุทร โดยเฉพาะทางด้านเบี้ยประกันที่ก็พอจะเปรียบได้กับยอดขายนั่นแหละ

ในปี 2523 นั้นไทยประกันมีเบี้ยประกันเพียง 658 ล้านบาท ขณะที่ไทยสมุทร 982 ล้านบาท ปี 2524 ไทยประกันไล่จี้ขึ้นมาเป็น 8187 ไทยสมุทรหนีไปที่ 1,103 และหนีออกไปเป็น 1,188 ส่วนไทยประกัน 1,029 ในปี 2525

และปี 2526 ที่ไทยประกันแซงไทยสมุทรสำเร็จนั้นเบี้ยประกันของฝ่ายไทยประกันขยับขึ้นไปที่ 1,319 ล้านบาท ทิ้งแชมป์ให้กลายเป็นอดีตแชมป์ตรงที่ 1,299 ล้านบาท

จากนั้นมาไทยประกันก็นำไทยสมุทรโลดกระทั่งปี 2529 ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไปประมาณการกันว่าเบี้ยประกันของไทยประกันชีวิตน่าจะขึ้นไปถึง 1,733 ล้านบาท ส่วนไทยสมุทรจะอยู่ในราว ๆ 1,390 ล้านบาท เป็นอย่างมาก

ถ้าจะว่าไปอนิวรรตน์ก็น่าจะเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์แห่งความเกรียงไกรให้กับไทยประกันขมวดปมสำคัญไว้ตรงปี 2526 ปีเดียวกับที่เขาขอปลดเกษียณตัวเองออกจากวงการปล่อยให้วานิช ไชยวรรณ ควบ 2 เก้าอี้รักษาการไปพลาง ๆ ก่อนตัดสินใจปล่อยตำแหน่งสำคัญที่อนิวรรตน์เคยนั่งให้กับผู้บริหารอีกคนหนึ่งขึ้นมารับช่วงอย่างเป็นทางการเมื่อเร็ว ๆ นี้

คน ๆ นี้ชื่ออภิรักษ์ ไทพัฒนกุล

คนที่หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่าเขาโชคดีที่ได้ขึ้นมาบริหารกิจการที่ถูกวางระบบเอาไว้ดีแล้วเพียงประคองให้ดีก็น่าจะทำงานไปได้สบาย ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่!!

"อาจารย์อภิรักษ์อยู่ในฐานะที่จะต้องเหนื่อยยากไม่แพ้ยุคคุณอนิวรรตน์แน่ ๆ หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ…" ผู้สันทัดกรีวงการประกันชีวิตคนหนึ่งบอก

ก็น่าจะต้องเป็นเช่นนั้นเพราะดูกันง่าย ๆ เป้าหมายการแข่งขันของไทยประกันชีวิตนั้น ไม่ใช่ไทยสมุทรหรือบริษัทประกันชีวิตของไทยอีกต่อไปแล้ว หากแต่เป็นยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ เอไอเอ อย่างเห็นได้ชัด

หากจะบอกว่า ไทยประกันชีวิตมาแรงและมาเงียบจนสามารถแซงหน้าคู่แข่งได้อย่างน่าตื่นตระหนกแล้ว ความแรงและความเงียบของ เอไอเอ ก็น่าจะทำให้หลายคนแทบตกเก้าอี้

ลองพิจารณาตัวเลขเบี้ยประกันระหว่างปี 2523 ถึงปี 2529 นี้ดูเอาเถอะ

ปี 2523 ขณะที่ไทยประกันยังตามไทยสมุทรอยู่ที่ 658 ล้านบาทนั้น เอไอเอ เพิ่งจะมีเบี้ยประกันเพียง 636 ล้านบาท จัดอยู่ในอันดับ 3

ปี 2524 ที่ไทยประกันขึ้นมาเป็น 818 เอไอเอ ก็ตามมาเป็น 786 ก็ยังอันดับ 3

พอปี 2525 ไทยประกันขยับขึ้นมาอีกเป็น 1,029 เอไอเอจี้ติดมาเป็น 1,012

และปี 2526 ที่ไทยประกันภาคภูมิใจนักหนาที่สามารถแซงหน้าไทยสมุทรได้สำเร็จนั้นแท้ที่จริงปีนั้นคือปีที่เอไอเอก้าวขึ้นมานอยู่ในอันดับที่ 1 แล้วด้วยจำนวนเบี้ยประกัน 1,449 ล้านบาท ขณะที่ไทยประกัน 1,319 และไทยสมุทร 1,299 ล้านบาท

ปีต่อ ๆ มาไทยประกันยิ่งโตขึ้นเท่าไหร่ เอไอเอ ก็ยิ่งหนีห่างออกไปเรื่อย ๆ

"อย่างในปี 2529 ที่ไทยประกันน่าจะมีเบี้ยประกันเข้ามาราว ๆ 1,733 ล้านบาทนั้น ก็เป็นที่คาดหมายกันโดยทั่วไปว่า เอไอเอ ก็คงจะหนีห่างไปยืนอยู่ที่ 2,937 ล้านบาท ซึ่งทิ้งห่างมากทีเดียว"แหล่งข่าวคนหนึ่งยืนยัน

เห็นได้ชัดว่า ภาระหน้าที่ของอภิรักษ์ ไทพัฒนกุล หนักเอาการทีเดียว เพียงแต่ถ้ามองอีกด้าน มันก็เป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถอย่างมาก ถ้าอภิรักษ์ทำได้สำเร็จ เขาก็จะกลายเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์อีกยุคให้กับไทยประกันชีวิตเช่นเดียวกับที่อนิวรตน์เคยเขียนไว้ในยุคแรก

และถ้ายุคแรกภายใต้การนำทีมองอนิวรรตน์เป็นยุที่มีแต่การขยายคนขยายองค์กร พร้อมกับเปิดแนวรบบุกไปทั่วทิศ ขายสินค้าให้กับคนทุกระดับ (ตั้งแต่ผู้มีรายได้ต่ำไปจนถึงผู้มีรายได้สูง)

ยุคของอภิรักษ์ก็คงจะเป็นยุคของการ "สร้างความมั่นคง" พัฒนาคุณภาพและสร้างภาพพจน์ที่สามารเอาชนะภาพพจน์ของคู่แข่งโดยเฉพาะ เอไอเอ ที่เป็นจุดแข็งมาก ๆ

"อย่างกำลังคนของเราผมคิดว่าเราก็คงจะไม่เพิ่มไปมากกว่านี้อีกแล้ว เราพยายามจะอยู่ในระดับขนาดนี้ และเพื่อทดแทนงานหลายอย่างก็จะใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย…" อภิรักษ์พูดอย่างเปิดใจภายหลังที่ไทยประกันชีวิตประกาศว่าจะนำระบบไมโครคอมพิวเตอร์ไปติดตั้งทั่วทุกสาขาและทำ "ออนไลน์" ติดต่อเชื่อมโยงกันทั่วราชอาณาจักร ซึ่งปี 30 นี้จะเริ่มใน กทม. ก่อน

เป้าหมายที่เด่นชัดของการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยและจัดทำระบบ "ออนไลน์" ภายใต้โครงสร้างที่กระจายศูนย์ (คือแต่ละสาขาสามารถทำงานของสาขาได้ ขณะเดียวกันก็สามารถสื่อสารกันได้ทุกจุดโดยไม่ต้องผ่านส่วนกลาง) นอกจากเพื่อบริการที่รวดเร็ว อย่างเช่น การออกกรมธรรม์ที่สามารถใช้เวลาเพียงไม่เกิน 15 นาที แล้วก็จะขยับต่อไปถึงงานด้านการจ่ายสินไหมและอื่นได้อีกมาก สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันก็คือ สามารถลดต้นทุนได้อีกด้วย

"อย่างเมื่อก่อนเราอาจจะต้องใช้คนเป็นจำนวนมากในการติดตามเก็บเบี้ย แต่ต่อไประบบคอมพิวเตอร์ของเราจะเชื่อมโยงกับระบบของธนาคารการจ่ายเงินผ่านธนาคารก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายของเราลดลง อันนี้ทำไประดับหนึ่งแล้ว นอกจากนี้งานหลายอย่างที่เคยใช้แมนพาวเวอร์มาก ๆ ก็น่าจะลดลงได้โดยให้เครื่องทำงานแทน ส่วนคนของเราจะได้มีเวลาในการทำงานที่สร้างสรรค์ขึ้น" ผู้บริหารระดับสูงอีกคนหนึ่งของไทยประกันเล่า

ทุกวันนี้อภิรักษ์ ไทพัฒน์กุล ตระเตรียมวางแผนหลายอย่างเพื่อรับมือกับสถานการณ์ใหม่ของการแข่งขัน เขาค่อนข้างเชื่อมั่นมากว่ามันไม่เหลือบ่าฝ่าแรง

ไม่แน่นัก บางทีเขาอาจจะคิดเลยไปถึงการแข่งขันกับสถาบันการเงินอื่น ๆ อย่างเช่นธนาคารพาณิชย์ก็เป็นได้?



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.